ผู้จัดการออนไลน์ - “รสนา” ไล่ ‘เตช’ ไม่สมควรดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เหตุเมินเฉยถอนพาสปอร์ตแดงแม้วอ้างตัวเองไม่ใช่นักการเมืองทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ อัดรัฐอย่าสุมเชื้อไฟ เรียกคนมาชุมนุมเพิ่มด้วยการแก้ไขปัญหาพันธมิตรฯ ด้วยการยัดข้อหา “กบฏ” ชี้กรณีนี้ต้องแก้ด้วยการเมืองมิฉะนั้นอาจนองเลือด
ช่วงสายวันนี้ (28 ส.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ได้ให้สัมภาษณ์กับคลื่นวิทยุประชาธิปไตย เอฟเอ็ม 92.25 MHz เปิดเผยว่า วานนี้ (27 ส.ค.) คณะกรรมมาธิการต่างประเทศวุฒิสภา ได้เข้าพบนายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยตอนหนึ่งทาง ส.ว.ได้สอบถามว่า เหตุใดนายเตชจึงไม่เร่งดำเนินการถอนพาสปอร์ตการทูต (พาสปอร์ตแดง) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาหนีหมายจับของศาลไปอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ทว่า ส.ว.กลับได้รับคำตอบจากนายเตชว่าไม่ใช่เรื่องของเขา
“ดิฉันก็ต้องขออภัยคุณเตชไว้ล่วงหน้าที่กล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะฉันไม่ได้เข้าพบท่านด้วยตัวเอง แต่มีเพื่อน ส.ว.ที่เข้าพบมาเล่าให้ฟังว่า ส.ว. ถามว่าทำไมคุณเตช ในฐานะรมต.ต่างประเทศ ไม่ถอนพาสปอร์ตแดงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ แต่คุณเตชกลับให้คำตอบมาว่า ‘ผมไม่ใช่นักการเมือง’” ส.ว.กทม.กล่าว พร้อมระบุว่า การที่นายเตชทำอย่างนี้ถือว่าปัดความรับผิดชอบ และไม่สมควรดำรงตำแหน่ง รมต.ต่างประเทศ
น.ส.รสนา กล่าวต่อว่า กรณีการปฏิเสธการถอนพาสปอร์ตแดงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ข้างต้นนั้นเป็นเพียงตัวอย่างการกระทำของรัฐบาลที่สร้างความคลางแคลงใจให้กลุ่มพันธมิตรฯ และชาวไทยโดยส่วนรวม ว่ากำลังเลือกปฏิบัติกับประชาชน และในกรณีดังกล่าวยิ่งเป็นการสุมเชื้อไฟให้คนเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ มากขึ้น เป็นเรือนหมื่นเรือนแสน
อัดรัฐสุมเชื้อไฟ ยัดข้อหากบฏให้พันธมิตรฯ
น.ส.รสนา ยังกล่าวถึงการที่กลุ่มพันธมิตรฯ เข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเวลา 90 กว่าวันพิสูจน์แล้วว่ากลุ่มพันธมิตรฯ มีจุดประสงค์ในการชุมนุมโดยสันติ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลแทนที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ กลับสุมเชื้อเพลิงให้ไฟนั้นแรงขึ้น
โดย น.ส.รสนา ยกตัวอย่างว่า กรณีล่าสุดคือ การที่รัฐบาลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปแจ้งข้อกล่าวหาว่า กลุ่มพันธมิตรฯ มีการกระทำซึ่งเป็นกบฎ ซึ่งจริงๆ โดยความเห็นส่วนตัวเห็นว่าเป็นข้อหาที่ร้ายแรงเกินไป ทั้งนี้การจะดำเนินคดีอื่นๆ เช่นบุกรุกสถานที่ราชการทางเจ้าหน้าที่ก็สามารถจะทำได้ แต่ไม่ใช่ข้อหากบฏ
“กรณีนี้เป็นกรณีทางการเมืองที่ต้องแก้ไขด้วยการเมือง ไม่ใช่ใช้กฎหมายเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมืองซึ่งไม่มีวันจะแก้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์เมื่อเกือบสามสิบกว่าปีก่อน ก็ต้องใช้มาตรการทางการเมือง คือ ใช้คำสั่งที่ 66/23 ซึ่งสุดท้ายก็สำเร็จ รัฐบาลนี้ชอบใช้วิธีผิดๆ ในการแก้ไขปัญหา อย่างเช่น กรณีคุณทักษิณที่ต้องใช้กฎหมายเข้ามาแก้ปัญหากลับใช้การเมืองเข้ามาแก้ไข และก็ยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับสังคม”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าปัญหาจะจบลงเมื่อไร ส.ว.กรุงเทพฯ ตอบว่า ตนไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัดได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะรู้สึกตัวและดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุเมื่อไหร่ ทั้งนี้ทั้งนั้นตนไม่อยากจะเห็นเหตุการณ์จบลงด้วยการนองเลือดเหมือนในอดีต