ส.ว.เข้าหารือ ปธ.วุฒิฯ เห็นชอบชะลอการการก่อสร้างรัฐสภาเกียกกาย ชี้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงขัด รธน. เรียกร้องให้ทำประชามติก่อน ระบุหากดื้อรั้นอาจถึงขั้นยื่นถอดถอน เมินเซ็นเอ็มโอยูแค่นิติกรรมทางปกครอง
วันนี้ (25 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า คณะกรรมการประสานงาน ส.ว.เสวนาหารือ ประกอบด้วย ส.ว.เลือกตั้งและสรรหาประมาณ 40 คน เช่น นายตวง อันทะไชย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายคำนูณ สิทธิสมาน นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง ร่วมกันหารือปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย
ภายหลังการหารือประมาณ 1 ชั่วโมง นายตวง แถลงว่า คณะ ส.ว.ส่วนหนึ่งเห็นด้วยในการสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แต่ถ้าจะสร้างที่ใดแล้วประชาชนเดือดร้อนเช่นบริเวณเกียกกายก็ต้องฟังเสียงประชาชน โดยต้องทำตามรัฐธรรมนูญ คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ พื้นที่สร้างสภาใหม่มีให้เลือกหลายทาง เช่น กรมสรรพาวุธ จ.นนทบุรี ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ส.ว.จึงคัดค้านการดำเนินการในพื้นที่เกียกกาย โดยเห็นว่าควรชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน เนื่องจากประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง หากถึงเวลาที่เหมาะสม ได้พื้นที่ที่ลงตัวจึงค่อยสร้าง และหากดำเนินการต่อไปโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และไม่ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมคงสร้างไม่ได้ และพวกตนได้แจ้งประธานวุฒิสภาแล้ว ประธานก็เห็นด้วยว่าควรชะลอไว้ก่อนเพราะมีความเดือดร้อนเกิดขึ้น ทั้งนี้จะนำผลการหารือแจ้งไปยังคณะกรรมการจัดหาสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่ไปเซ็นเอ็มโอยูด้วย เพื่อให้มีการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง และส.ว.จะจัดเสวนาขยายผลต่อไปหากรัฐบาลเดินหน้าก่อสร้างโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
นายวรินทร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้การจัดทำโครงการใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบต้องฟังเสียงประชาชน กรณีนี้ประชาชนร้องขอมาได้ว่าให้รัฐบาลฟังเสียงก่อนดำเนินการ ส.ว.จะช่วยดูว่าประชาชนเสียหายอย่างไร รัฐบาลตัดสินใจบนพื้นฐานอะไร ส่วนที่มีการเซ็นเอ็มโอยูไปแล้ว เรื่องนี้เป็นนิติกรรมทางปกครอง หากโครงการมีผลกระทบต่อประชาชน และรัฐบาลไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถยกเลิกได้ และหากดำเนินการไม่โปร่งใสก็สามารถถึงขั้นถอดถอนได้
นายคำนูณ กล่าวว่า รัฐบาลต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ บริเวณเกียกกาย สมาคมสถาปนิกสยาม ศึกษามา 16-17 ปี เคยเชื่อว่าเหมาะที่สุดเพราะภูมิทัศน์สวยงาม รับกับประวัติศาสตร์ แต่เมื่อประชาชน ชุมชน โรงเรียน คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจนต้องย้ายออกไปโดยไม่มีการให้ข้อมูล จึงไม่น่าสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยในปัจจุบัน การสร้างสภาใหม่กระบวนการต้องสวยงามด้วย แต่วันนี้ทำข้ามขั้นตอนกันไปหน่อย