“หมัก” ลั่นขอต่อเวลากู้ทุ่นระเบิดอีก 10 ปี เหลือ 500 ตร.กม. หั่นงบให้ปีละ 1,400 ล้านบาท เริ่มปี 53 เข้มสั่งหาเทคโนโลยี หากทำได้ 10 เปอร์เซ็นต์ของบต่อได้
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่คาดคิดมาก่อนว่าการเก็บกู้ทุ่นระเบิดจะมีความยุ่งยาก ซึ่งไทยได้ลงนามเป็น 1 ใน 150 ประเทศที่จะต้องเก็บกู้ระเบิด และได้ดำเนินการมาแล้ว 10 ปี แต่ยังเหลือพื้นที่ที่ต้องเก็บกู้อีก 500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผู้เกี่ยวข้องของบประมาณในการดำเนินการในอีก 10 ปีข้างหน้าอีก 14,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่สามารถให้เป็นงบประมาณผูกพันทั้ง 14,000 ล้านบาทได้ โดยจะอนุมัติงบประมาณในปี 2553 วงเงิน 1,400 ล้านบาทให้ก่อน ซึ่งหากสามารถเก็บกู้ระเบิดได้ 10 เปอร์เซนต์ หรือมากกว่า ก็จะพิจารณางบประมาณให้ในปีต่อไป นายกรัฐมนตรียอมรับว่าที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องเทคโนโลยีที่ไม่มีความทันสมัยเพียงพอทำให้เกิดล่าช้าในการทำงาน
“ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะยุ่งยากขนาดนี้ ดำเนินการมาแล้ว 10 ปี เซ็นสัญญา 150 กว่าประเทศ เราอยู่ในลำดับที่ 33 ทำงานมา 10 ปีได้ผลหมด เหลืออยู่ 500 ตารางกิโลเมตร เลยเจรจาความกันขอต่ออีก 10 ปี โดยใช้เงินงบประมาณทั้งหมด 14,000 ล้านบาท ปีละเฉลี่ยแล้ว10 ปี ประมาณปีละ 1,400 ล้านบาท ผมบอกว่ามันน่ากลัวเกินไป จึงขอต่อรองกันทำนองว่า 1 ปีหน้าจะขอให้เขาปีละ 1,400 ล้านแล้วดำเนินการถ้าทำได้ 1 ใน 10 ก็ขยับต่อไป หากทำได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ขัดข้องดำเนินการต่อไป แต่ 14,000 ล้านบาทคงจะให้ผูกพันไม่ได้ แต่ให้ได้ 1,400 ล้านบาทในปี 2553 จะดำเนินงาน หาเทคโนโลยีมาทำให้หมดไปโดยเร็ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมว่านายกรัฐมนตรีพร้อมให้การสนับสนุนการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในอนาคต เพราะในห้วง 10 ปีที่ผ่านมาเราทำงานน้อยในเรื่องดังกล่าว จึงขอยืดเวลาไปอีก 9 ปีครึ่ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกมาก โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจะเก็บกู้ระเบิดประเภทสังหารบุคคลให้หมด
“เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี แต่ทำไปได้เพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะได้รับงบประมาณน้อยมากไม่กี่สิบล้านบาทขณะที่ต้องใช้เป็นพันล้านบาท โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ต้องเก็บกู้คือตามแนวชายแดน และบริเวณที่มากที่สุดคือทางด้านกัมพูชา โดยเฉพาะแนวเขาพระวิหาร ขณะนี้ยังเหลือพื้นที่ที่ต้องเก็บกู้อีกทั้งหมด 98 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานให้มากขึ้น 10-20 เท่าตัว และเมื่อเก็บกู้แล้วเราก็จะปลูกป่าในพื้นที่นั้นแทน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปอยู่ได้” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าว