วิปรัฐบาลและกมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.งงเป็นไก่ตาแตก “หมัก” ร้อนรนเสนอแก้ รธน.ม.63 ยอมรับพูดเองเออเองร่าง กม.ติดหนวด สงสัยแก็งลูกกรอกรับลูก ชงร่างฯ การควบคุมการชุมนุมเข้าสู่สภาในวันพรุ่งนี้แค่เรื่องบังเอิญ ส่ายหน้ายังมี กม.หลายฉบับที่สำคัญกว่าต้องเร่งพิจารณา
วันนี้ (5 ส.ค.) นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 63 เรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมว่า ที่ประชุมวิปรัฐบาลยังไม่เคยหยิบยกมาตราดังกล่าวมาพิจารณา และแม้แต่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ไม่เคยพิจารณาเรื่องนี้
“การประชุมกรรมาธิการวิสามัญฯ วันนี้ (5 ส.ค.) อาจจะหยิบยกมาพิจารณาและประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกมาโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนด้วย ดังนั้น วิปรัฐบาลจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาด้วย” นายสามารถ กล่าว
นายสามารถ กล่าวว่า กรณีที่มีผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เท่าที่ได้ถามกับนายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน ผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว พบว่าเป็นความบังเอิญที่มาประจวบกับการหยิบยกประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ของนายกรัฐมนตรี
“นายจุมพฏบอกว่าเป็นร่างกฎหมายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดทำขึ้น และเห็นว่ามีความเหมาะสม จึงเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เรื่องนี้ต้องฟังเหตุผลจากทุกฝ่าย เวลานี้ผมยังไม่ได้ฟังเหตุผลจากนายกฯ และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบก็ไม่ทราบเรื่อง” นายสามารถ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสามารถ กล่าวว่า วิปรัฐบาลจะทบทวนเรื่องร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะอีกครั้ง ในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (6 ส.ค.) แม้จะมีการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ วันพรุ่งนี้แล้ว เพราะเมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับที่รอพิจารณาอยู่ ถือว่ามีความสำคัญมากกว่า
ด้าน นายกระมล ทองธรรมชาติ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กล่าวว่า กรรมาธิการวิสามัญฯ ยังไม่เคยหยิบยกมาตราดังกล่าวมาพิจารณา และไม่เคยมอบหมายให้อนุกรรมาธิการไปศึกษาด้วย แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีหยิบยกขึ้นมา กรรมาธิการวิสามัญฯ คงจะนำมาหารือด้วย
ส่วนความคืบหน้าในการศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ นายกระมล กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญฯ วันนี้จะรับทราบรายงานของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้าง การจัดหมวดหมู่ การใช้ภาษาของรัฐธรรมนูญ และบทเฉพาะกาล คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ หน้าที่และการมีส่วนร่วมของประชาชน
“หลังนี้จะมอบหมายให้เลขาธิการ ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองแต่ละพรรคกลับไปยกร่างผลการศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ กลับมาเสนอต่อกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อสรุปปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญทั้งหมดในวันที่ 12 ส.ค.” นายกระมล กล่าว