xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.นัดถกยื่นถอดถอน รมต.หวย จี้ต่อมสำนึกจริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย แสวงการ
ส.ว.นัดหารือเข้าชื่อยื่นถอดถอน 3 รมต.หวยบนดินพรุ่งนี้ ถามหาต่อมสำนึกจริยธรรมทางการเมือง “กฤษฎีกา” เปิดช่อง ส.ว.เสนอถอดถอน องค์กรอื่นหมดสิทธิ์ และไม่ยืนยัน 3 รมต.สามารถลงนามเอกสารราชการระหว่างนี้ได้หรือไม่ อ้างไม่มีใครยืนยันได้

วันนี้ (29 ก.ค.) นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่ 3 รัฐมนตรียังไม่ยอมหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองรับฟ้องคดีหวยบนดินว่า ทาง ส.ว.จะมีการหารือกันในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค.) ว่าจะมีการลงชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ ซึ่งการดำเนินการของ ส.ว.มีเจตนาที่จะทำให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกับที่ ส.ว.เคยยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเห็นว่าควรจะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมทางการเมือง ซึ่งตนเห็นว่า 3 รัฐมนตรีควรที่จะมีกาแสดงสปิริตลาออกไม่ใช่มายื้อเวลาส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกามาตีความอีก

โดยก่อนหน้านี้ นางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถามกรณีหากมีการเสนอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าใครควรจะเป็นเจ้าภาพในการเสนอ ตัวรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐบาล คุณพรทิพย์ กล่าวว่า เรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญนั้น ดูตามรัฐธรรมนูญแล้วองค์กรที่จะยื่นไปได้ก็เห็นมีเพียงวุฒิสภา ที่หากมีคนร้องเรียนไปที่วุฒิสภาเพื่อให้ถอดถอน แต่ในส่วนของ ป.ป.ช.ไม่เห็นมีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ นอกจากนั้นก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นหน่วยงานใดที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

“เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเองก็คงไม่ได้ ซี่งถ้าเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญถึงจะไป แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นมีความขัดแย้งอะไร” คุณพรทิพย์ กล่าว

เมื่อถามว่าถ้าเป็นการยื่นในนาม ครม.ได้หรือไม่ เพราะถือว่ามีข้าราชการระดับสูงอยู่ด้วยที่ถูกกล่าวหา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า จะมีปัญหาเหมือนกันว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่สำคัญตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่า ครม.จะขอให้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นว่ามีความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีแนวทางไหนที่จะสามารถยื่นเรื่องได้บ้าง คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบเช่นกัน แต่อย่างที่บอกไปว่าช่องทางนั้นก็มีช่องทางของการถอดถอนเท่านั้น โดยต้องเป็นการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชนที่รวบรวมชื่อได้ตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อยื่นมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การให้ความเห็นเรื่องนี้คงต้องรอบคอบเพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงต้องนำความเห็นต่างๆ มาประกอบด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในระหว่างนี้ 3 รัฐมนตรีสามารถลงนามในเอกสารราชการ หรือประชุม ครม.ได้หรือไม่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กรณีนี้รู้สึกว่ามีผู้ให้ความเห็นแล้วว่า หากช่วงนี้ 3 รัฐมนตรีจะทำงานต่อไปก็ยังไม่ทราบว่าใครจะไปโต้แย้งได้ เมื่อถามว่าหาก ครม.ขอความเห็นทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจะแนะนำอย่างไร คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ก็ต้องส่งไปที่คณะกรรมการฯ เพราะเป็นองค์กร ไม่ใช่สำนักงาน ซึ่งคงต้องใช้เวลาบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น