xs
xsm
sm
md
lg

“ธีรยุทธ” ชี้ พปช.รุกหนัก-ใช้อามิสสินจ้าง-ส่อเกิดสงครามกลางเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีรยุทธ บุญมี
“ธีรยุทธ” เผยวิกฤตชาติส่อบานปลาย เหตุ “พลังแม้ว” รุกหนัก มุ่งแก้ รธน.พร้อมรุกเข้าครอบงำกองทัพจนเกิดแรงต้านจากพันธมิตรฯ และกลุ่มจารีตนิยม ทำการเมืองถึงจุดตีบตัน กลไกสภาล้มเหลว วาจาผู้นำก้าวร้าวเติมไฟความรุนแรง ความขัดแย้งขยายวงร้าวลึก กลุ่มโกงกินใช้อามิสสินจ้างมาซ้ำเติม แนะทางออกต้องสร้างประชาธิปไตยแบบสมดุล หนุนศาลลงโทษนักการเมืองโกง พร้อมชี้พันธมิตรฯ เป็นพลังทางคุณธรรมและต่อต้านอำนาจบาตรใหญ่ แต่ควรปรับกลยุทธ์ให้มีทั้งรุกทั้งผ่อน เคลื่อนไหวทางความคิดสลับกับแนวทางมวลชน

วันนี้ (26 ก.ค.) นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง 'ทบทวนทิศทางประเทศไทย' เนื่องในวาระ 35 ปี 14 ตุลา วันสืบสานประชาธิปไตย ณ อาคารสนามกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชน กทม.

นายธีรยุทธ เห็นว่า สังคมไทยมีวิกฤตเนื่องมาจากปัญหาการคอร์รัปชันที่มีมากเป็นประวัติการณ์มีการครอบงำองค์กรตรวจสอบและขัดขวางกระบวนการยุติธรรมในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนเกิดการยึดอำนาจ วันที่ 19 ก.ย.49 ต่อมาเมื่อพรรคพลังประชาชนมาเป็นรัฐบาลก็พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อผลงาน คมช.จนเกิดการประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกหน และขยายตัวกว้างไปตามจังหวัดและภูมิภาคต่างๆ ขณะเดียวกันพันธมิตรฯ ได้ยกระดับการต่อสู้จากการเป็นกลุ่มต่อต้านเป็นขบวนการทางการเมืองที่มีเป้าหมายไม่เพียงให้ลงโทษนักการเมืองโกงกิน แต่ต้องการปรับโครงสร้างการเมืองใหม่

นายธีรยุทธ ชี้ว่า สถานการณ์ขณะนี้การเมืองไทยได้มาถึงจุดตีบตัน เมื่อความชอบธรรมของสถาบันทางปกครองลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รัฐสภาไม่ได้รับศรัทธาว่าจะนำพาประเทศชาติได้ เพราะแทนที่จะแก้ไขวิกฤตกลับจุดชวนวิกฤตด้วยการดึงดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะอำนาจตุลาการรับภาระหนักจนเกิดอาการล้า เนื่องจากมีการยื่นฟ้องศาลอย่างมากมาย ซึ่งศาลจะต้องเร่งพิจารณาคดีคอร์รัปชันของนักการเมืองที่เป็นต้นตอของวิกฤตอย่างเร่งด่วนให้ทันกาล

ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลกลับกระตุ้นสนับสนุนความรุนแรง ก้าวร้าว สร้างศัตรูไปทั่ว สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ประเทศไทยอยู่บนขอบเหวแห่งอนาธิปไตยและความรุนแรงใหญ่กว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ เพราะความขัดแย้งขวายวงกว้างและลงลึกระดับมวลชน จะเกิดการใช้ความรุนแรงอย่างไร้เหตุผล โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มโกงกินบ้านเมืองใช้อามิสสินจ้างมาซ้ำเติม ปัญหาจะมากกว่าการบาดเจ็บล้มตาย ขยายเป็นบาดแผลของประวัติศาสตร์และสังคม ซึ่งจะลึกซึ้งกลายเป็นการแบ่งข้าง แบ่งพวก แบ่งภาค ถาวรยาวนาน มีความเจ็บปวด ความเคียดแค้น ล้างแค้นระหว่างกัน ซึ่งมีโอกาสลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งแม้แต่การรัฐประหารก็อาจจะควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่

นายธีรยุทธ ชี้ว่า วิกฤตการเมืองปัจจุบันเลวร้ายที่สุดเนื่องจากเกิดขึ้นเพราะการประจวบเหมาะของหลายรากเหง้าที่รุมเร้าในช่วงนี้พอดี คือ รากเหง้าความคิดโลกาภิวัตน์นิยมขัดแย้งกับความคิดชาตินิยม สถาบันนิยม ชุมชนนิยม เช่น เกิดการถกเถียงกันเรื่องการเปิดเสรีทางการเงิน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ รากเหง้าอำนาจทุนผนวกอำนาจการเมืองอย่างสามานย์ เกิดกลุ่มทุนที่ร่ำรวยใหญ่โตกว่าในอดีตผันอำนาจเงินเข้าสู่การเมืองกลายเป็นทุนสามานย์ที่หวังครองอำนาจเบ็ดเสร็จยาวนาน

นอกจากนี้ วิกฤตการเมืองไทยยังมีรากเหง้าจากคอร์รัปชันในประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้คนจำนวนมากหมดความอดทนอดกลั้น ขณะที่ชนชั้นนำในวงการการเมืองการปกครองไทย แก้ปัญหาแบบผัดผ่อนหมักหมม ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะพยายามตัดประชาชนออกจากการมีอำนาจการเมืองมาตลอด แม้ประชาชนจะมีบทบาทในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่กลไกตรวจสอบนักการเมืองก็ไม่ทันกาล เมื่อเกิดระบอบทักษิณ นำไปสู่การรัฐประหาร 2549 แต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์แก้ปัญหาแบบผัดผ่อน จนในที่สุด พปช.เข้ามามีอำนาจและมีกลุ่มต่อต้านทักษิณขึ้นมาอีกในปัจจุบัน

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า วิกฤติการเมืองยังมีรากเหง้าจากปัญหาคนไทยไม่อยู่กับปัญญาความรู้ แต่อยู่กับศรัทธาปลอมๆ บางคนยึดมั่นประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยเลือกตั้งที่มีแต่การซื้อเสียง และผลลัพธ์ก็คือชาวบ้านไม่ได้อะไร แต่กลุ่มทุนการเมืองเป็นผู้เสวยประโยชน์ระบอบประชาธิปไตยแบบทุนสามานย์รุ่งเรือง บางคนก็อ้างว่ายึดมั่นในอุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ แต่ไม่ได้ใช้ปัญญาที่จะทำให้สถาบันหลักของชาติก้าวหน้าเกิดประโยชน์ที่สถาพรต่อบ้านเมืองและประชาชนจริงๆ

นายธีรยุทธได้ตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการทบทวนทิศทางสังคมไทย 4 คำถาม คือ 1.คำถามว่าการปกครองเผด็จการ หรือระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ยังใช้ได้หรือไม่ ซึ่งประเทศไทยควรได้ข้อสรุปจากเหตุการณ์ช่วง 14 ตุลา การยึดอำนาจของ รสช.เมื่อปี 34 และ 19 กันยายน 2549 แล้วว่า รูปแบบดังกล่าวแก้ไขปัญหาไม่ได้

2.แนวคิดประชาธิปไตยสมดุล คือให้มีประชาธิปไตยเลือกตั้ง แต่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล แต่การเกิดระบอบทักษิณ ซึ่งองค์กรอิสระรวมทั้งข้าราชการ กองทัพ ถูกครอบงำ กระบวนการยุติธรรมและศาลทำงานไม่เต็มที่ ทำให้เกิดคำถามใหญ่ขึ้นมาว่า ประชาธิปไตยสมดุลนั้นสมดุลจริงหรือไม่ ทำงานได้จริงหรือไม่ แก้ปัญหาคอร์รัปชันได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่มีประชาชนและพลังส่วนอื่นๆ คอยประคับประคอง

3.ประเทศไทยควรใช้ระบอบประชาธิปไตยประชานิยมตามแนว ทรท.หรือ พปช.หรือไม่ แนวนี้จะเน้นเสรีนิยมสุดขั้ว สลายอำนาจดั้งเดิมของข้าราชการ ศาล กองทัพ องค์กรตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้ทุนการเมืองจัดแจงผลประโยชน์ให้กลุ่มตนเองเต็มที่ ชาวบ้านอาจได้ผลประโยชน์จากประชานิยม ได้ความฉับไวในการแก้ปัญหา แต่แลกมาด้วยการคอร์รัปชัน ทับซ้อนผลประโยชน์กว้างขวาง แนวทางประชานิยมมีฐานหนักแน่นในหมู่รากหญ้าจึงจะยังคงมีบทบาทสูงในการเมืองไทยต่อไป ทั้งในทางรัฐสภาและการเคลื่อนไหวรากหญ้า

4.ประเทศไทยควรปฏิรูป “การเมืองใหม่” ตามแนวของพันธมิตรฯ หรือไม่ แนวคิดนี้มุ่งแก้ปัญหาคอร์รัปชัน นำพาประเทศไปสู่วิถีความเจริญ “แบบเอเชีย” โดยอาศัยความมุ่งมั่นของ “คนดี” ในบ้านเมือง โดยไม่สนใจประชาธิปไตยเลือกตั้งมากนัก โดยอาจใช้การผสมผสานระหว่างการสรรหา การเลือกจากอาชีพ กับการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากนับวันการเมืองไทยจะยิ่งไม่มีทางเลือก มีโอกาสที่คนจะหันไปสนับสนุนแนวทางนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้มีข้ออ่อนคือเป็นการสวนทางประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมานาน และจากประสบการณ์ของการปฏิวัติทั่วโลก คนดีมักมีความคิดสุดขั้วและอยู่ในกรอบจำกัดในระยะยาวคนดีก็เสื่อมได้เพราะอำนาจและผลประโยชน์ ประเทศจึงมีความเสี่ยงสูงเช่นกันถ้าจะเดินไปในเส้นทางนี้

นายธีรยุทธ ได้มองอนาคตว่า ความรุนแรงในสังคมไทยจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ 1.ความรุนแรงย่อยๆ ระหว่างมวลชน 2 ฝ่ายจะเกิดถี่มากขึ้น และมีโอกาสขยายตัวตามสถานการณ์โดยรวมในช่วง 6 เดือนข้างหน้า 2.พปช.จะรุกหนักในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะขยายการต่อต้านกว้างขึ้นอีก 3.หาก พปช.รุกหนักในการขยายอำนาจเข้าครอบงำกองทัพ จะทำให้พลังจารีตนิยมตื่นตัว เพิ่มความแหลมคมของความขัดแย้ง 4.หากเกิดประเด็นคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ความขัดแย้งจะขยายตัวทันที ช่วงเวลาภายใน 1-2 ปีข้างหน้าจึงเป็นช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงมากต่อการเกิดสถานการณ์ความรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้ และอาจตามมาด้วยการรัฐประหารที่เป็นเผด็จการเต็มรูป

นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ตุลาการภิวัตน์อาจส่งผลเป็นรูปเป็นร่างได้บ้างในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งเมื่อถึงช่วงนั้นมีโอกาคลี่คลายวิกฤติ แต่ก้ำกึ่ง เพราะคนอาจมองว่าบรรลุผลน้อยเกินไปและหันไปมุ่งแก้ปัญหาอย่างสุดขั้ว

ส่วนการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น นายธีรยุทธ มองว่า ได้ยกระดับมาเป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความคิดและโครงสร้างอำนาจการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวมาก จึงควรปรับวิธีการต่อสู้ของตน คือมีทั้งการเคลื่อนไหวทางความคิด สลับกับการเคลื่อนไหวมวลชน ทั้งผ่อนสลับกับรุก และเนื่องจากพันธมิตรเริ่มต้นจากการเรียกร้องลงโทษนักการเมืองโกงกินบ้านเมือง เป็นพลังทางคุณธรรมและพลังต่อต้านการใช้อำนาจบาตรใหญ่ให้สังคม จึงยิ่งต้องจำแนกวิธีการต่อสู้ให้ชัดเจนว่าเป็นแนวสันติวิธี หลีกเลี่ยงการดึงดันที่อาจดูคล้ายแนวอำนาจนิยม ไม่ควรเป็นการรุกไปข้างหน้าตลอด จนดูคล้ายการตะลุมบอนกับฝ่ายโกงกินบ้านเมือง ซึ่งจะทำให้คนแยกแยะและเลือกฝ่ายสนับสนุนได้ลำบาก

ที่สำคัญในการเสนอความคิดใหม่ทางการเมืองไม่ควรสวนทางประชาธิปไตย ควรเคารพประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมานาน ควรหาวิธีเปิดกว้างขวางสร้างเวทีความคิดสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งต้องมีเวลา ขั้นตอน จังหวะก้าวที่เหมาะสม

นายธีรยุทธ เสนอว่า ในช่วงอย่างน้อย 1 ปีข้างหน้าคนไทยต้องเจริญสติ มองการแก้ปัญหาทีละเปลาะๆ เชื่อว่าทางเลือกที่มั่นคง ถาวร และดีที่สุดสำหรับระยะยาวของประเทศ คือการสร้างประชาธิปไตยสมดุล ทั้งยังเป็นหนทางที่เสี่ยงน้อยที่สุด สังคมควรสนับสนุนการทำงานของศาลในการลงโทษนักการเมืองที่คอร์รัปชัน และสร้างกรอบวินัยทางจริยธรรมให้กับนักการเมือง นักวิชาการ สื่อ คนชั้นกลางและสังคมทั่วไปยังควรต้องขยายพื้นที่ของการถกเถียงวิจารณ์ที่เป็นเหตุเป็นผล และขยายองค์ความรู้ในด้านประชาธิปไตยสมดุลมากขึ้น

ทบทวนทิศทางประเทศไทย

                                                                          ธีรยุทธ บุญมี



(1)
วิกฤติการเมืองไทยขยายตัว



1. วิกฤติการเมืองไทยเกิดจากการคอร์รัปชั่นเป็นประวัติการณ์ มีการครอบงำองค์กรตรวจสอบและขัดขวางกระบวนการยุติธรรมในยุครัฐบาลทักษิณ เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น แต่ พปช. ดึงดันแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อรื้อล้างผลงานการตรวจสอบของ คมช. จึงเกิดการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกหน และขยายตัวกว้างไปตามจังหวัดและภูมิภาคต่างๆ

2. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยกระดับการต่อสู้จากกลุ่มต่อต้าน (protest group) เป็นขบวนการทางการเมือง (political movement) ซึ่งหมายถึงการเป็นกลุ่มการเมืองที่มีพื้นฐาน เครือข่าย และกำลังสนับสนุน ซึ่งเป็นชาวบ้านและพลังจารีตนิยม มีสื่อเผยแพร่ความคิดที่สำคัญคือ ASTV จนเป็นขบวนการที่ตั้งอยู่ได้โดยตนเอง และเคลื่อนไหวได้ยืดเยื้อยาวนาน มีเป้าหมายไม่เพียงเพื่อลงโทษนักการเมืองโกงกิน แต่เพื่อปรับโครงสร้างอำนาจการเมืองใหม่

สองส่วนนี้ทำให้ปัญหาการเมืองไทยทวีความยุ่งยาก คลี่คลายลำบากยิ่ง


ประเทศไทยถึงทางตันของการแก้ปัญหา


ปัญหายุ่งยากขึ้น แต่หนทางและวิถีทางแก้ปัญหากลับตีบตัน เพราะ

1. สังคมไทยเผชิญภาวะที่สุดแห่งวิกฤติศรัทธา เนื่องจากความชอบธรรมของสถาบันการปกครองต่างๆ ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น ภาคการเมือง รัฐสภา ไม่ได้รับศรัทธาว่าจะนำพาประเทศชาติได้ เพราะแทนที่จะดับชนวนกลับจุดชนวนวิกฤติ ด้วยการดึงดันแก้รัฐธรรมนูญ สื่อ สถาบันวิชาการก็มีศรัทธาต่ำลง กองทัพ อดีตบุคคลชั้นนำก็ไม่ได้รับศรัทธาว่าจะมีบทบาทแก้ปัญหาได้

2. สังคมไทยขาดเครื่องมือแก้ปัญหา จมอยู่ในภาวะอับจนไร้ทางออก เครื่องมือและวิธีการแก้ปัญหาของสังคมไทยลดน้อยลง เช่น การแก้ปัญหาโดยเวทีรัฐสภาไม่ได้ผล การยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ได้ผล การแก้ปัญหาโดยการเสนอเหตุผลทางวิชาการ ถกเถียงทางสื่อสาธารณะและภาคสังคมไม่ได้ผล วิธีการแก้ปัญหาโดยการรัฐประหารก็ไม่ได้ผล

3. อำนาจตุลาการรับภาระหนักมากจนอาจเกิดอาการล้า อาจพาประเทศฟันฝ่าวิกฤติไม่ทัน หัวใจของตุลาการภิวัตน์มีสองอย่าง คือการเปิดช่องทางให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมมากขึ้น และการปรับกระบวนการยุติธรรมให้สามารถทำหน้าที่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ การยื่นฟ้องต่อศาลอย่างมากมายจากทุกฝ่ายเป็นปรากฏการณ์ปกติ เช่น ในยุคสงครามเวียดนามของสหรัฐ หรือในประเทศยุโรปตะวันออกเปลี่ยนการปกครองใหม่เมื่อแยกตัวจากโซเวียต ในที่สุดจะมีวิธีการกลั่นกรองเกิดขึ้นเอง อย่างไรก็ตาม สภาพปัจจุบันเหมือนกับทุกๆ ฝ่ายผลักภาระมาให้ศาล จนจะเกิดแรงกดดันต่อสถานภาพความน่าเชื่อถือของศาลขึ้นได้ ศาลควรเร่งพิจารณาคดีคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤติอย่างเร่งด่วนให้ทันกาล เพราะการคลี่คลายวิกฤติของบ้านเมืองก็เป็นภาระของสถาบันศาลเช่นเดียวกับสถาบันอื่นๆ ทั้งยังจะช่วยธำรงศรัทธาของสังคมต่อศาลได้ดี ส่วนคดีความที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้ง 2 ฝ่ายว่ากฎหมายเขียนมายุติธรรมหรือไม่ ศาลก็ควรคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านอย่างถี่ถ้วน เพื่อเกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

4. รัฐบาลกลับกระตุ้นสนับสนุนความรุนแรง จากคำพูดก้าวร้าวสร้างศัตรูไปทั่ว นายกฯ สมัครไม่ควรเติมไฟความรุนแรงด้วยคำพูดเช่น “ให้คนของผมลุกขึ้นมาฆ่าบ้าง เพราะว่าถูกฆ่ามาเยอะแล้ว” เพราะกลุ่มสนับสนุนทักษิณมีจำนวนมากที่เป็นกลุ่มก๊วนที่มีอำนาจอิทธิพล มีผลประโยชน์ในท้องถิ่น จึงพร้อมจะออกมาใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว ซึ่งยิ่งจะทำให้สังคมถลำสู่ความรุนแรง ไร้ความเป็นพี่น้อง ความมีมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น



ประเทศไทยอยู่ขอบเหวแห่งอนาธิปไตยและความรุนแรง
ระวังเกิดบาดแผลประวัติศาสตร์ซ้ำรอยลึกซึ้งยิ่งกว่า 6 ตุลา


ผลจากสภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดมิติต่างๆ ดังนี้ขึ้นในประเทศไทย

1. จะเกิดการเขย่าทางความคิดและนำไปสู่การปฏิรูปความคิดครั้งใหญ่ในสังคมไทย วิกฤติการเมืองไทยยกระดับจากประเด็นตัวทักษิณ ไปเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนความคิดและโครงสร้างการเมือง พปช. ต้องการเปลี่ยนอำนาจองค์กรตรวจสอบต่างๆ ให้มีการลดอำนาจสถาบันตุลาการ ส่วนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสนอความคิดการเมืองใหม่ นพ.ประเวศ วะสี เสนอแนวคิดการปฏิวัติประชาธิปไตยใหม่โดยประชาชน ภาวะเช่นนี้จะทำให้ทุกกลุ่มทุกสถาบันอำนาจในสังคมไทยต้องทบทวนความคิดของตน ตั้งคำถามใหม่ และหาคำตอบที่ชัดเจนขึ้นสำหรับบทบาทตัวเองและทิศทางการเมืองไทย

2. เมื่อเกิดวิกฤติรากหญ้าและประชาชนถูกกีดกันออกไปจากสมการการแก้ปัญหามาโดยตลอดปัญหาถูกแก้โดยระดับสถาบันหรือชนชั้นนำของประเทศ และมุ่งแก้โครงสร้างอำนาจระดับบนของสังคม โดยที่ชาวบ้านถูกทอดทิ้ง ไม่เคยได้รับการถ่ายโอนอำนาจให้ตัดสินปัญหาของตัวเองและท้องถิ่นอย่างจริงจัง การเคารพและส่งเสริมความต่างทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมก็ทำได้ไม่ดีพอ วิกฤติปัจจุบันกำลังดึงรากหญ้าให้มามีส่วนร่วมทั้งในทางที่ถูกและที่ผิดๆ ซึ่งปมปัญหานี้จะขยายตัวและอาจเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดของบ้านเราได้ ถ้าไม่แก้ไขจริงจัง

3. สังคมไทยอาจเผชิญความรุนแรงขนาดใหญ่กว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือพฤษภา วิกฤติทักษิณที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี ทำให้ความขัดแย้งกว้างและลึกขึ้น กลายเป็นระดับมวลชนทั่วประเทศ และลึกลงสู่ความเชื่อในระดับการดำรงอยู่ของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สถาบันยุติธรรม ศักดิ์ศรีของตัวตนหรือภูมิภาคนิยม ฯลฯ ความขัดแย้งในระดับอุดมการณ์นี้จะทำให้คนมองโลกที่ซับซ้อนเป็นมิติเดียว เช่น เรา-เขา ดี-ชั่ว รักชาติ-ขายชาติ รักพวกพ้องอย่างสุดขั้ว มีโอกาสเกิดภาวะอนาธิปไตยที่ไม่มีใครฟังใคร ใช้ความรุนแรงอย่างไร้เหตุผล โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มโกงกินบ้านเมืองใช้อามิสสินจ้างมาซ้ำเติม ขณะนี้ความรุนแรงย่อยๆ ระหว่างมวลชนได้เกิดขึ้นแล้วหลายจังหวัด และมีโอกาสขยายเป็นความรุนแรงยืดเยื้อในวงกว้างขึ้น อาจถึงขั้นจลาจล ซึ่งรัฐบาลสมัคร ทุกองค์กร ทุกสถาบันของประเทศจะต้องตระหนักว่าปัญหามากเกินกว่าผู้คนบาดเจ็บล้มตาย แต่จะขยายเป็นบาดแผลของประวัติศาสตร์และสังคม ซึ่งจะลึกซึ้งกลายเป็นการแบ่งข้าง แบ่งพวก แบ่งภาค ถาวรยาวนาน มีความเจ็บปวด ความเคียดแค้น ล้างแค้นระหว่างกัน ซึ่งมีโอกาสลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งแม้แต่การรัฐประหารก็อาจจะควบคุมสถานการณ์ไว้ไม่อยู่



(2)
6 รากเหง้าของปัญหา


วิกฤติการเมืองปัจจุบันเลวร้ายที่สุด เนื่องจากเกิดขึ้นเพราะการประจวบเหมาะของหลายรากเหง้าที่รุมเร้าในช่วงนี้พอดี คือ

1. รากเหง้าความคิดโลกาภิวัตน์นิยมขัดแย้งกับความคิดชาตินิยม สถาบันนิยม ชุมชนนิยม ทำให้ทุกประเทศมีการถกเถียงว่าควรเปิดเสรีการเงินหรือไม่ ควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ควรเปิดกว้างด้านวัฒนธรรม ข่าวสาร อินเทอร์เน็ตแค่ไหน ห้างค้าส่ง-ปลีกขนาดยักษ์ทำลายชุมชนหรือไม่ หลายประเทศแก้ปัญหาได้ดี แต่ประเทศไทยปัญหารุนแรงเพราะนักการเมืองไทยโกงกินมาก จึงเกิดกังวลใจว่า พวกเขาจะแสวงประโยชน์ท่ามกลางการสูญเสียอำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ

2. รากเหง้าอำนาจทุนผนวกอำนาจการเมืองอย่างสามานย์ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาทุนการเงินโลกเคลื่อนไหวเข้าออกประเทศต่างๆ เพื่อลงทุนในกิจการที่กำไรดี เช่น โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน ฯลฯ ทำให้เกิดวิฤกติเศรษฐกิจ และทำให้เกิดกลุ่มทุนที่ร่ำรวยใหญ่โตกว่าในอดีต ในประเทศไทยกลุ่มทุนดังกล่าวได้ผันอำนาจเงินเข้าสู่การเมือง กลายเป็นทุนสามานย์ที่หวังครองอำนาจเบ็ดเสร็จยาวนาน

3. คอร์รัปชั่นในประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้คนจำนวนมากหมดความอดทนอดกลั้น ทุนการเมืองสามานย์ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นโดยตรงและโดยนโยบาย การทับซ้อนผลประโยชน์ การฉกฉวยประโยชน์จากนโยบาย โครงการ และทรัพยากรทุกด้านของรัฐอย่างขนานใหญ่ และไร้ความละอาย

4. ชนชั้นนำในวงการการเมืองการปกครองไทย แก้ปัญหาแบบผัดผ่อน หมักหมม ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะพยายามตัดประชาชนออกจากการมีอำนาจการเมืองมาตลอด ซึ่งสรุปภาพกว้างๆ ได้ดังนี้ ชนชั้นนำใช้วิธีปกครองแบบเผด็จการทหารมายาวนาน จนนักศึกษา ประชาชนไม่สามารถอดทนต่อไป ต้องใช้ความจริงจังเด็ดขาดจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้น ซึ่งชนชั้นนำก็ใช้รูปแบบของประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นเครื่องมือผัดผ่อนปัญหา หมักหมมปัญหาใหม่ คือการซื้อเสียง การคอร์รัปชั่นของนักการเมืองต่อมานับสิบปี เมื่อเปิดเป็นประชาธิปไตยเต็มใบในปี พ.ศ. 2532 ก็พิสูจน์ว่าแนวทางหมักหมมปัญหาไม่ได้ผล เกิดบุฟเฟ่ต์คาบิเนต จนต้องมีรัฐประหารของ รสช. ในปี 2534 แต่ก็รอมชอมกันเองจนไม่แก้ปัญหาอะไรอีก ในที่สุดภาคประชาชนก็ต้องออกมาใช้วิธีการเด็ดขาด คือเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ 2540

รัฐธรรมนูญสีเขียวสร้างกลไกตรวจสอบนักการเมืองได้ไม่ทันกาล เพราะได้เกิดวิกฤติระบอบทักษิณ นำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐบาลสุรยุทธ์ ซึ่งก็ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบผัดผ่อนเช่นเคย ในที่สุด พปช. กลับคืนสู่อำนาจและขัดแย้งกับกลุ่มต่อต้านทักษิณในปัจจุบันอีก

5. ปัญหาคนไทยไม่อยู่กับปัญญาความรู้ แต่อยู่กับศรัทธาปลอมๆ เพราะไม่เคยมีอำนาจจริงจัง ไม่เคยแก้ปัญหาตัวเองและของประเทศด้วยหลักเหตุผล คนไทยจึงสอพลออุดมการณ์มานาน เช่น ยึดมั่นประชาธิปไตยเลือกตั้งที่มีแต่การซื้อเสียง และผลลัพธ์ก็คือชาวบ้านไม่ได้อะไร แต่กลุ่มทุนการเมืองเป็นผู้เสวยประโยชน์ระบอบประชาธิปไตยแบบทุนสามานย์รุ่งเรือง บางส่วนก็ยึดมั่นในอุดมการณ์ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ แบบปลอมๆ คือไม่ได้เน้นการยึดมั่นแบบใช้ปัญญาที่จะทำให้สถาบันหลักของชาติก้าวหน้า เกิดประโยชน์ที่สถาพรต่อบ้านเมืองและประชาชนจริงๆ เมื่อมีวิกฤติทุกหนก็เกิดการขัดแย้งทางความคิดปลอมๆ ซึ่งไม่ได้เกิดจากแก่นสารทางปัญญา จึงคลี่คลายไม่ได้

6. ปัญหาความกังวลและความไม่มั่นคงของสังคมไทย เนื่องจากประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในการเปลี่ยนผ่านทั้งในด้านความคิด ความตื่นตัวของประชาชน จนเกิดแรงกดดันต่อองค์กร สถาบันต่างๆ ของประเทศ ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านโดยธรรมชาติก็เกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น การเปลี่ยนรุ่นบุคคลในสถาบันต่างๆ ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อความไม่แน่นอนในอนาคต ที่ส่งผลให้ความขัดแย้งในสังคมไทยยิ่งมีความเข้มข้นสูง



(3)
4 คำถามท้าทายการทบทวนทิศทางประเทศไทย


ภาวะดังกล่าวเป็นการตั้งคำถามที่แหลมคมและท้าทายสังคมไทยทั้งหมด ใน 4 คำถามใหญ่คือ

1. คำถามว่าการปกครองเผด็จการ หรือระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ยังใช้ได้หรือไม่ เพราะมีคนส่วนน้อยที่ยังรำลึกถึงการใช้อำนาจเด็ดขาดแก้ปัญหา แต่ประเทศไทยควรได้ข้อสรุปจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม การปฏิวัติ รสช.และเหตุการณ์พฤษภาคม การปฏิวัติ 19 กันยายน และรัฐบาลสุรยุทธ์ ได้แล้วว่า ทั้งสองรูปแบบการปกครองแก้ไขปัญหาไม่ได้และเกิดผลเสียกับประเทศ

2. ประเทศไทยได้เลือกเส้นทางการปกครองแบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในปี 2540 มีความพยายามแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องการซื้อเสียงและการคอร์รัปชั่น ด้วยแนวคิดประชาธิปไตยสมดุล คือให้มีประชาธิปไตยเลือกตั้ง แต่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดีด้วย กล่าวคือตรวจสอบถ่วงดุลแต่ไม่แทรกแซงอำนาจบริหาร เป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจถูกตามกฎหมาย (legality) อยู่ในกระบวนการใช้อำนาจที่ถูกต้อง (procedural propriety) ตามหลักสมเหตุสมผล (rationality) ตามหลักความเป็นธรรม (fairness) หรือไม่

แต่การเกิดระบอบทักษิณ ซึ่งองค์กรอิสระรวมทั้งข้าราชการ กองทัพ ถูกครอบงำ กระบวนการยุติธรรมและศาลทำงานไม่เต็มที่ ทำให้เกิดคำถามใหญ่ขึ้นมาว่า ประชาธิปไตยสมดุลนั้นสมดุลจริงหรือไม่ ทำงานได้จริงหรือไม่ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้จริงหรือไม่? ถ้าไม่มีประชาชนและพลังส่วนอื่นๆ คอยประคับประคอง? ในอีกมุมหนึ่งคนสนับสนุนแนวทางนี้แม้จะเป็นวงกว้าง แต่ไม่เป็นขบวนการการเมืองหรือเป็นแม้แต่กลุ่ม วิธีการของพวกเขาคือการถกเถียงให้ความเห็นด้วยเหตุและผล ซึ่งอาจใช้ได้ดีในประเทศตะวันตก แต่ได้ผลน้อยในประเทศไทย นอกจากนี้ยิ่งบ้านเมืองมีวิกฤติแหลมคม คนไทยมักหันเข้าหาอำนาจเป็นเครื่องมือหรือวิธีการหลักของการแก้ปัญหา

3. ประเทศไทยควรใช้ระบอบประชาธิปไตยประชานิยมตามแนว ทรท. หรือ พปช. หรือไม่ แนวนี้จะเน้นเสรีนิยมสุดขั้ว คือการปลดล็อกหรือสลายอำนาจดั้งเดิมของข้าราชการ ศาล กองทัพ องค์กรตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้ทุนการเมืองจัดแจงผลประโยชน์ให้กลุ่มตนเองเต็มที่ ชาวบ้านอาจได้ผลประโยชน์จากประชานิยม ได้ความฉับไวในการแก้ปัญหา แต่แลกมาด้วยการคอร์รัปชั่น ทับซ้อนผลประโยชน์กว้างขวาง? แนวทางประชานิยมมีฐานหนักแน่นในหมู่รากหญ้า จึงจะยังคงมีบทบาทสูงในการเมืองไทยต่อไป ทั้งในทางรัฐสภาและการเคลื่อนไหวรากหญ้า

4. ประเทศไทยควรปฏิรูป “การเมืองใหม่” ตามแนวของพันธมิตรหรือไม่? แนวคิดนี้มุ่งแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น นำพาประเทศไปสู่วิถีความเจริญ “แบบเอเชีย” โดยอาศัยความมุ่งมั่นหรือเจตนารมณ์ของ “คนดี” ในบ้านเมือง โดยไม่สนใจประชาธิปไตยเลือกตั้งมากนัก โดยอาจใช้การผสมผสานระหว่างการสรรหา การเลือกจากอาชีพ กับการเลือกตั้งทั่วไป (นพ.ประเวศ ก็ได้เสนอการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยประชาชน เป็นการกระจายอำนาจสู่รากหญ้า ชุมชน การมีส่วนร่วม เสรีภาพสื่อ การตรวจสอบ และการเมืองภาคประชาชน แต่ไม่เสนอชัดเจนว่าอำนาจของประชาชนโดยการเลือกตั้งมีฐานะเช่นไร) เนื่องจากนับวันการเมืองไทยจะยิ่งไม่มีทางเลือก มีโอกาสที่คนจะหันไปสนับสนุนแนวทางนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้มีข้ออ่อนคือ เป็นการสวนทางประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมานาน และจากประสบการณ์ของการปฏิวัติทั่วโลก คนดีมักมีความคิดสุดขั้วและอยู่ในกรอบจำกัด ในระยะยาวคนดีก็เสื่อมได้เพราะอำนาจและผลประโยชน์ ประเทศจึงมีความเสี่ยงสูงเช่นกันถ้าจะเดินไปในเส้นทางนี้



(4)
อนาคต



1. ความรุนแรงในสังคมไทย จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ หนึ่ง ความรุนแรงย่อยๆ ระหว่างมวลชน 2 ฝ่ายจะเกิดถี่มากขึ้น และมีโอกาสขยายตัวตามสถานการณ์โดยรวมในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สอง พปช. จะรุกหนักในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะขยายการต่อต้านกว้างขึ้นอีก สาม หาก พปช. รุกหนักในการขยายอำนาจเข้าครอบงำกองทัพ จะทำให้พลังจารีตนิยมตื่นตัว เพิ่มความแหลมคมของความขัดแย้ง สี่ หากเกิดประเด็นคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ความขัดแย้งจะขยายตัวทันที ช่วงเวลาภายใน 1-2 ปีข้างหน้าจึงเป็นช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงมากต่อการเกิดสถานการณ์ความรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้ และอาจตามมาด้วยการรัฐประหารที่เป็นเผด็จการเต็มรูป ส่วนกลุ่มสนับสนุนทักษิณมีโอกาสน้อยมากที่จะบรรลุเป้าหมาย กลุ่มพันธมิตรก็มีโอกาสน้อยกว่า 50% ที่จะบรรลุเป้าหมายของตน

2. ตุลาการภิวัตน์ ซึ่งอาจส่งผลเป็นรูปเป็นร่างได้บ้างในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งเมื่อถึงช่วงนั้นมีโอกาสก้ำกึ่งที่จะคลี่คลายวิกฤติ เพราะคนอาจมองว่าบรรลุผลน้อยเกินไป และหันไปมุ่งแก้ปัญหาอย่างสุดขั้ว

3. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งยกระดับมาเป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความคิดและโครงสร้างอำนาจการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวมาก จึงควรปรับวิธีการต่อสู้ของตน คือมีทั้งการเคลื่อนไหวทางความคิด สลับกับการเคลื่อนไหวมวลชน ทั้งผ่อนสลับกับรุก และเนื่องจากพันธมิตรเริ่มต้นจากการเรียกร้องลงโทษนักการเมืองโกงกินบ้านเมือง เป็นพลังทางคุณธรรมและพลังต่อต้านการใช้อำนาจบาตรใหญ่ให้สังคม จึงยิ่งต้องจำแนกวิธีการต่อสู้ให้ชัดเจนว่าเป็นแนวสันติวิธี หลีกเลี่ยงการดึงดันที่อาจดูคล้ายแนวอำนาจนิยม ไม่ควรเป็นการรุกไปข้างหน้าตลอด จนดูคล้ายการตะลุมบอนกับฝ่ายโกงกินบ้านเมือง ซึ่งจะทำให้คนแยกแยะและเลือกฝ่ายสนับสนุนได้ลำบาก

ที่สำคัญในการเสนอความคิดใหม่ทางการเมือง ไม่ควรสวนทางประชาธิปไตย ควรเคารพประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยที่ต่อสู้กันมานาน ควรหาวิธีเปิดกว้างขวางสร้างเวทีความคิดสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งต้องมีเวลา ขั้นตอน จังหวะก้าวที่เหมาะสม

ในช่วงอย่างน้อย 1 ปีข้างหน้าคนไทยต้องเจริญสติ มองการแก้ปัญหาทีละเปลาะๆ ผู้เขียนเชื่อว่าทางเลือกที่มั่นคง ถาวร และดีที่สุดสำหรับระยะยาวของประเทศ คือการสร้างประชาธิปไตยสมดุล ทั้งยังเป็นหนทางที่เสี่ยงน้อยที่สุด สังคมควรสนับสนุนการทำงานของศาลในการลงโทษนักการเมืองที่คอร์รัปชั่น และสร้างกรอบวินัยทางจริยธรรมให้กับนักการเมือง นักวิชาการ สื่อ คนชั้นกลางและสังคมทั่วไปยังควรต้องขยายพื้นที่ของการถกเถียงวิจารณ์ที่เป็นเหตุเป็นผล และขยายองค์ความรู้ในด้านประชาธิปไตยสมดุลมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น