“พลังแม้ว” แย่งเก้าอี้ประธานวิป ส.ส.แบ่งข้างถือหางกันวุ่น ดัน “ชูศักดิ์-สามารถ” ชิงเก้าอี้นั่งแทน “พ่อเนวิน” ขณะที่ “สุขุมพงศ์” งอนลั่นไขก๊อกถ้าไม่ได้ตำแหน่ง
วันนี้ (15 พ.ค.) นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาล กล่าวถึงแคนดิเดทผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานวิปรัฐบาลแทน นายชัย ชิดชอบ ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการหารือในกรณีนี้ โดยส่วนใหญ่เห็นว่าผู้ที่จะมาเป็นประธานวิปรัฐบาลนั้นควรมาจาก ส.ส.ระบบเขต มีบารมีและได้รับความเคารพนับถือจาก ส.ส.ทุกพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้วิปรัฐบาลมีการหยิบยกรายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมขึ้นมาพิจารณา คือ 1.นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ 2.นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคพลังประชาชน ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล
นายสุชาติ อ้างว่า ได้พูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมถึงพรรคพลังประชาชนเอง ต่างก็เห็นว่า 2 คนนี้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาในรัฐบาลของไทยรักไทยก็เคยแต่งตั้งให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มาเป็นประธานวิปรัฐบาล ส่วนนายสามารถนั้นมีความขยันและมีความแม่นยำในข้อกฎหมายอย่างมาก
สำหรับกรณีที่ นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาลระบุว่าหากไม่ได้รับการแต่งตั้งจะยุติบทบาทการทำหน้าที่ในวิปรัฐบาลนั้น นายสุชาติ กล่าวว่า ถ้านายสุขุมพงศ์ไขก๊อกโดยการหยุดการทำหน้าที่อีก นายสุขุมพงศ์ก็จะเสียคนเอง เพราะเคยยุติบทบาทไปแล้วครั้งหนึ่ง ยืนยันว่าเรื่องนี้วิปรัฐบาลต้องมองที่คุณสมบัติ สามารถประสานงานกับพรรคการเมืองต่างๆ ได้ ไม่ใช่มาเอะอะโวยวายว่าทำงานในวิปมา 7-8 ปี เก่งกฎหมายแล้วจะมาทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาล
ด้าน นายชูศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องการเลือกประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ว่า พรรคกำลังพิจารณาอยู่ เพราะคนในพรรคเรามีมาก แต่ละตำแหน่งจึงต้องดูให้รอบคอบ เมื่อถามว่านายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รองประธานวิปรัฐบาลขู่ว่าจะลาออกหากไม่ได้ตำแหน่งประธานวิป นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คนมีความรู้ในพรรคก็มีมาก เมื่อตั้งคนไหนขึ้นมา สื่อก็วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีคนอื่นที่ดีกว่า ดังนั้นจึงสุดแต่คนจะมอง แต่อยู่ที่ว่าตั้งขึ้นมาแล้วให้ทำหน้าที่ได้ก็พอ
นอกจากนี้ นายชูศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาที่มาและการต่ออายุของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องหรือมีผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ให้ศาลว่าไปขั้นตอน ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของสภา
เมื่อถามว่าหากศาลตัดสินว่า คตส.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชาชนจะชะลอเวลาในการแก้รัฐธรรมนูญออกไปหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า กรณีคงคาดเดาลำบาก เพราะเป็นดุลยพินิจของศาล ดังนั้นคงไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่ากรณีการยื่นตีความที่มาของ คตส.จะมีผลต่อองค์กรอื่นที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตั้งขึ้นมา เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สนช.ตั้งมาตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่มาคนละอย่างกับ คตส. เรื่องนี้เป็นคนละประเด็นกัน คตส.นั้นไม่ถูกต้องเพราะเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นหลักการที่ตนพูดมาหลายครั้งแล้ว ดังนั้นไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรอื่น
ต่อข้อถามว่าหากมองในมุมกลับกันว่าเมื่อมีมาตรา 309 อยู่ ซึ่งจะรับรองที่มา คตส. ทำให้จำเป็นต้องยิ่งเร่งแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลยพินิจของศาล ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ ศาลจะพิจารณาอย่างไร เราต้องถือเป็นสิทธิ ไม่ควรให้ความเห็น
เมื่อถามถึงกรณีที่มีผู้ยื่นตีความคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เนื่องจากไปรับทำรายการชิมไปบ่นไปนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การทำรายการเป็นสิ่งที่มนุษย์ปุถุชนทำได้ จะไปมองว่าทำอะไรก็ผิดหมดไม่ได้ เพราะวัตถุประสงค์ของเรื่องนี้คือไม่ให้มีผลประโยชน์ทางการเมือง อย่างตนเองบางชั่วโมงก็ไปบรรยายพิเศษตามสถาบันการศึกษา จะมองว่าเรื่องนี้ก็ผิดอย่างนั้นหรือ
/0110