ส.ส.พลังแม้ว-พรรคร่วมรัฐบาล กินแห้วกันไปตามๆ กัน รัฐธรรมนูญห้ามเป็นเลขาฯ-ที่ปรึกษารัฐมนตรี ต้องก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเพียงอย่างเดียว “มือกฎหมาย” คนใหม่ของรัฐบาลยอมรับไม่อยากเสี่ยงภายหลัง
วันนี้ (8 ก.พ.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ส.ร.ออกมาระบุชัดเจนว่า ส.ส.ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการทางการเมืองได้ โดยเฉพาะตำแหน่งเลขานุการ หรือที่ปรึกษารัฐมนตรีว่า แนวทางก็คงชัดเจนว่าโดยรัฐธรรมนูญหากเปรียบเทียบกับปี 2540 กับปัจจุบันก็ชัดเจนว่าเขาตัดข้อความนั้นออกไป ก็แปลว่าก็เป็นไม่ได้ ก็ต้องไปหาผู้ที่เป็น ส.ส.สอบตกหรือผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางไปเป็นที่ปรึกษาหรือเลขาฯ รมต.
ถามว่าก่อนหน้านี้มีข่าวว่าพรรคพลังประชาชนมีแนวทางจะยื่นให้มีการตีความเรื่องนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า พรรคคงไม่ยื่นเพราะแม้กฤษฎีกาจะตีความอะไรออกมา กฤษฎีกาก็ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่จะชี้ขาดว่าสถานภาพของ ส.ส.เหล่านั้นจะหมดหรือไม่ และมันจะเป็นปัญหาสุ่มเสี่ยง เพราะกฤษฎีกานั้นทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษาให้กับรัฐบาล เขาอาจจะบอกเป็นได้ แต่ท้ายที่สุด หากกฎหมายเห็นว่าเป็นไม่ได้ แล้วพอเป็นเข้าไปแล้วมีคนไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นปัญหายุ่งยาก และท้ายที่สุดก็จะหมดสภาพการเป็น ส.ส.
“ในส่วนของพรรคพลังประชาชนขณะนี้ก็มีความชัดเจนว่าเราไม่ได้นำ ส.ส.ขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาหรือเลขาฯ รัฐมนตรีเลย และพรรคก็ไม่ได้ยื่นต่อศาลใดให้มีการตีความเรื่องนี้เลย” นายชูศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล อย่างเช่นพรรคชาติไทย ที่บอกว่าจะนำ ส.ส.มาเป็นเลขานุการรัฐมนตรี ซึ่งมีการวางตัวไว้แล้ว รมต.ประจำสำนักฯ กล่าวว่า ก็เป็นเพียงข่าว แต่ตนคิดว่าพรรคชาติไทยเองก็ไม่ควรจะเสี่ยง เพราะมีการเขียนโยงกันไว้ว่าหากใครไปเป็นแล้วหมดสมาชิกภาพเลย ความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงเลย เพียงแต่ว่ามันไม่ได้สิ้นสุดลงโดยตัวเอง แต่ต้องมีคนไปยื่นคำร้องหรือสมาชิกจำนวนไม่เกิน 1 ใน 5 ไปยื่นคำร้อง แต่ก็สุ่มเสี่ยงมาก
เมื่อถามว่าทำไมพรรคไม่ยื่นเองเลยจะได้ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกับเรื่องนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรามองว่าแม้กฤษฎีกาจะให้คำปรึกษามาอย่างไรก็ตาม เช่นบอกว่าเป็นได้ ซึ่งเขาก็แค่แนะนำเรา แต่มันก็ไม่ได้สิ้นสุดแค่นั้นหรอก เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกเป็นไม่ได้ก็จบกันเลย แต่ทั้งนี้หากเราจะยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญเลยก็ได้ แต่ต้องมีปัญหาข้อจขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างองค์กรก่อน อยู่ดีๆ เราจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเลยไม่ได้ เมื่อถามว่าประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่อาจจะหยิบยกมาแก้ไขในระหว่างมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ รมต.ประจำสำนักฯ กล่าวว่า เมื่อถึงตอนนั้นค่อยว่ากันอีกทีหนึ่งเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ก็ต้องปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปก่อน
ส่วนที่มี ส.ส.อีสานไม่พอใจที่ไม่มีตำแหน่งเลยนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ก็ดูตำแหน่งอื่นๆ ไป อาจจะเป็นที่ปรึกษาแบบที่ไม่เป็นทางการก็ได้ ก็ช่วยกันไป ทำอย่างไรได้เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนั้น และถ้าเราไปทำผิดรัฐธรรมนูญแล้วท้ายสุดมันก็จะมีผลกระทบหมด โดยเฉพาะสมาชิกภาพซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ
/0110