xs
xsm
sm
md
lg

“ทิพาวดี” ชี้ พนง.ทีไอทีวีสถานะเท่ากัน-อยากทำงานต้องสมัครใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทิพาวดี” ระบุรายชื่อ กก.ชั่วคราว 5 คนที่มีชื่อปรากฎทางสื่อยังคลาดเคลื่อน มั่นใจพนักงานเดิมมีการปรับตัว เนื่องจากมีการแจ้งเตือนล่วงหน้านานเกือบปีแล้ว ชี้สถานะทุกคนต้องเริ่มต้นใหม่เหมือนกันหมด และขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าว


วันนี้ (15 ม.ค.) ที่ทำเนียบฯ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการปิดสถานีทีไอทีวี เมื่อ 24 น.ของวันที่ 14 ม.ค.ว่า เมื่อ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและสาธารณะแห่งประเทศไทยที่มีผลบังคับใช้แล้ว และเมื่อได้ชื่อคณะกรรมการชั่วคราว 5 คนแล้วก็จะเริ่มดำเนินการและรับผิดชอบให้ทีวีสาธารณะเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนพนักงานทีไอทีวีจำนวนกว่า 800 คนนั้น ที่ผ่านมาก็ได้มีการเตรียมการและแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้ามาโดยตลอดระยะเวลา 7 เดือนของการยกร่างกฎหมาย จึงเชื่อว่าในส่วนของพนักงานก็น่าจะมีการเตรียมตัวอยู่แล้ว และเมื่อคณะกรรมการชั่วคราว 5 คนได้รับผิดชอบแล้วก็จะไปเจรจากับพนักงานว่าจะจ้างใครบ้าง โดยวิธีใด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมการชั่วคราวทั้ง 5 คนนี้มีการตั้งกรอบเวลาที่ชัดเจนหรือไม่ว่าจะให้ทีวีสามารถเผยแพร่ได้อีกเมื่อไหร่ คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า คิดว่าคณะกรรมการชุดนี้คงต้องรีบทำให้เร็วที่สุดเพื่อให้สถานีสาธารณะแพร่ภาพได้เลย แต่อาจจะขลุกขลักบ้าง เมื่อถามว่ารายชื่อคณะกรรมการ 5 คนยังเป็นชื่อเดิมที่เคยเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้หรือไม่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และที่ผ่านมาตนไม่เคยให้สัมภาษณ์ใดๆ เลย หรือแม้แต่ข่าวว่าจะมีการลดจำนวนพนักงานลงเหลือ 400 คนก็ไม่เคยพูด ข่าวที่ออกมาเป็นข้อมูลคลาดเคลื่อน

“เจตนารมณ์ของทีวีสาธารณะนั้นต้องการให้เป็นสื่อสาธารณะจริงๆ ที่ให้ความรู้เพื่อส่งเสริมด้านคุณธรรม จึงอยากให้สังคมให้โอกาสเพราะเป็นครั้งแรกที่องค์กรนี้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง” คุณหญิงทิพาวดี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่นายสุทธิชัย หยุ่น จะมาเป็นผู้บริหารทีวีสาธารณะช่องนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คุณหญิงทิพาวดี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข่าวลือ ไม่ใช่คุณสุทธิชัย แน่นอน เมื่อถามว่าการปล่อยให้ทีไอทีวี ต้องจอดับเมื่อคืนนี้ ถือเป็นการหักดิบเลยหรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่การหักดิบ แต่เราจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามมาตรา 57 ที่ระบุว่า ให้โอนภารกิจ ทรัพย์สินและหนี้สินของคลื่นความถี่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และกรมประชาสัมพันธ์ในวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ไปเป็นขององค์กร ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องดำเนินการ และความจริงก็ต้องเห็นใจอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพราะหากไม่ดำเนินการตามกฎหมายก็จะมีความผิด แต่หากดำเนินการไปก็อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน

เมื่อถามว่า คณะกรรมการ 5 คนนี้จะให้ความเป็นธรรมกับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างหรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ต้องห่วง ตนเชื่อว่าคณะกรรมการทั้ง 5 คน จะต้องพิจารณาเรื่องการให้ความเป็นธรรมก่อน ทั้งนี้เมื่อมีคณะกรรมการชั่วคราวแล้วก็จะมีการเปิดกว้างให้ทุกคนที่ประสงค์จะทำงานในองค์กรนี้ มีโอกาสสมัครและคัดเลือก ซึ่งทุกคนก็ต้องเริ่มต้นใหม่หมด และยืนยันว่าไม่มีการล็อกสเป็กรายการต่างๆ ตามผังใหม่แน่นอน ทุกคน ทุกรายการถือว่าใหม่หมด ซึ่งผังรายการใหม่นี้จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรรมการทั้ง 5 คน

“ดิฉันไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาว่าจะจ้างใครบ้าง หรือจะรับจำนวนเท่าไหร่ แต่เชื่อมั่นว่ากรรมการชั่วคราวจะดำเนินการให้สถานีเดินหน้าต่อไปได้ และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลนี้มอบคืนคลื่นความถี่อันเป็นของสาธารณะให้กับสาธารณะ ดังนั้นก็ต้องให้โอกาสกรรมการชั่วคราวดำเนินการและพวกเราก็ช่วยกันเสนอแนะกรรมการทั้ง 5 คนอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์ ก็น่าจะทำให้กรรมการทั้ง 5 คนมีกำลังใจในการทำงานต่อไป” คุณหญิงทิพาวดี กล่าว

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น