xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสมุดปกเหลือง คตส.อึ้ง! โกงยุค “แม้ว” ทำชาติสูญ 1.9 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คตส.เปิดสมุดเหลืองสุดอึ้ง แฉ “ยุคแม้ว” โกงมโหฬาร ทั้งเลี่ยงภาษี-ที่ดินรัชดาฯ ฉาว-สนามบินสุวรรณภูมิ-บ้านเอื้อาทร-หวยบนดิน ชี้ทำประเทศชาติเสียหายกว่า 2 แสนล้าน

สรุปการดำเนินงานของ
คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ คตส.


-------------------------

คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 30 กันยายน 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

คตส.มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบเกี่ยวกับสัญญา สัญญาสัมปทาน การจัดซื้อจัดจ้าง การเอื้อประโยชน์ ของฝ่ายต่างๆ ตลอดจนการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงภาษีอากร ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ผลการดำเนินงานของ คตส.จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 มีดังต่อไปนี้

1. กรณีภาษีเงินได้เกี่ยวกับการซื้อขายและโอนหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ได้ส่งให้กรมสรรพากรดำเนินการ 3 กรณี

(1) กรณี นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ รับหุ้นจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้แต่มิได้ชำระภาษี

ได้สรุปผลการตรวจสอบ ส่งให้กรมสรรพากรดำเนินการประเมิน เรียกเก็บภาษีเงินได้จำนวน 546 ล้านบาทเศษ

นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยวางหลักประกันค่าภาษี ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมสรรพากร

(2) กรณีนายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ จากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนท์ จำกัด คนละ 164.6 ล้านหุ้น รวม 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท และบุคคลทั้งสองได้ขายหุ้นให้กลุ่มเทมาเส็กในราคา 49.25 บาท มีภาษีเงินได้ที่ต้องเรียกเก็บโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มเป็นเงิน 5,691 ล้านบาทเศษ

ได้สรุปผลการตรวจสอบส่งให้กรมสรรพากรดำเนินการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้ดังกล่าวแล้ว

กรมสรรพากรได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของบุคคลทั้งสองไปแล้วเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550 เป็นจำนวนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงิน 11,809,294,773.42 บาท

(3) บริษัท Ample Rich Investments Limited (ARI) กรณีประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

กรณี ARI ประกอบกิจการในประเทศไทยต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากกิจการสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2546-2549 รวม 4 ปี เป็นเงิน 15,381,391,722.47 บาท แต่ ARI มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงต้องรับผิดตามมาตรา 67 ตรีแห่งประมวลรัษฎากรอีก 476,437,782.70 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,857,829,505.17 บาท

นอกจากนี้ ARI ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากร กรณีขายหุ้น SHIN ให้แก่นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร คิดเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 4,036,787,885.83 บาท และเงินเพิ่ม 1,029,380,910.90 บาท รวมเป็นเงิน 5,066,168,796.73 บาท และได้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษี เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2550 กรมสรรพากรอยู่ในระหว่างดำเนินการ

สรุปเงินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายและโอนหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด เป็นเงิน 33,279,413,075.32 บาท

2. กรณีการหลีกเลี่ยงภาษี

กรณีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1) (2)

คตส. ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดดำเนินคดี

อสส. ได้ฟ้องศาลอาญา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 คดีหมายเลขดำที่ อ.1149/2550 ได้สืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ปัจจุบันอยู่ในระหว่างสืบพยานจำเลย

3. กรณีไต่สวนทางวินัยและอาญา

ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการไต่สวนข้าราชการกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร (นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล และพวก) ที่ได้แถลงข่าวและตอบข้อหารือกรณีไม่เรียกเก็บภาษีเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของนายพานทองแท้ ชินวัตร และ นางสาวพินทองทา ชินวัตร จากบริษัท Ample Rich Investment Limited

คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปยังผู้ถูกกล่าวหา ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอคำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหา และดำเนินตามขั้นตอนการไต่สวน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ เดือนธันวาคม 2550

4. กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและภริยาเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ที่ดินถนนรัชดาภิเษก)

การตรวจสอบพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดทางอาญาที่ก่อให้เกิด ความเสียหายแก่รัฐเท่ากับมูลค่าของที่ดินจำนวน 4 โฉนด เนื้อที่ 33-0-78.9 ไร่ บริเวณถนนรัชดาภิเษก ซึ่งยังประมาณราคาตลาดมิได้ ราคาที่ปรากฏตามสัญญาที่เป็นส่วนของการกระทำผิดเป็นเงิน 772 ล้านบาท คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง โดยอัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ฟ้องคดี จำเลยไม่มาศาล โดยให้ทนายจำเลยยื่น ขอเลื่อนคดีต่อศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยไม่อาจรับฟังได้ จึงไม่มีเหตุที่จะเลื่อน การพิจารณาคดีออกไป จำเลยทราบเรื่องที่ถูกฟ้องและได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว แต่ไม่มาศาล พฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยหลบหนี จึงให้ออกหมายจับ

ในการพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550 โจทก์ยังไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ ศาลจึงได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว

การจำหน่ายคดีชั่วคราวหมายความว่าระหว่างที่ยังไม่ได้ตัวจำเลยมาศาล จะหยุดการพิจารณาคดีไว้ก่อน ได้ตัวมา เมื่อใดก็หยิบยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาต่อไปได้ภายในอายุความ 15-20 ปี เพราะฉะนั้น มิใช่ว่าจำเลยหลุดพ้น ไปจากคดี

5. โครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบ วัตถุระเบิด ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดโดย นักการเมือง ข้าราชการ บุคคลอื่น ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ทำให้บริษัทท่าอากาศยานสากล กรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และประชาชนได้รับ ความเสียหายจากการจัดหาและติดตั้งสายพานลำเลียง กระเป๋าและสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบ วัตถุระเบิด CTX 9000 DSi ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในราคาแพงกว่าปกติไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อช่วยเหลือผู้รับจ้างมิให้เป็นฝ่ายประพฤติ ผิดสัญญาและไม่ต้องเสียค่าปรับ ทำให้บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท

คณะอนุกรรมการไต่สวน สอบคำพยานบุคคลไปแล้วทั้งสิ้น 45 ปาก ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด รวมทั้งสิ้น 38 รายเข้าชี้แจงเสร็จสิ้นทุกรายแล้ว คณะอนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมและแปลเอกสาร เพื่อสรุปสำนวน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2550

6. โครงการจัดซื้อจัดจ้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สนามบินสุวรรณภูมิ

ผลการตรวจสอบการดำเนินการออกแบบและ กำหนดเงื่อนไขในเอกสารประกวดราคาของโครงการ ดังกล่าว มีการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน และมติ ค.ร.ม. หลายประการ ก่อให้เกิด ความเสียหายต่อรัฐ สมรู้ร่วมกันกระทำ โดยกลุ่มบุคคล และนิติบุคคลหลายฝ่าย ได้แก่ บริษัทผู้ขายท่อร้อย สายไฟฟ้า บริษัทผู้รับจ้างออกแบบ และเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องของ บทม.

คณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ ผู้ถูกกล่าวหารับทราบทุกรายแล้วและผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ขาดผู้ถูกกล่าวหา ที่ยังไม่ได้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอีก 10 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหา และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กรอบระยะเวลาในการสรุปสำนวนฯ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน เดือนพฤศจิกายน 2550 เนื่องจากต้องรอคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาและรอเอกสารการตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องคำแปลเอกสารภาษาอังกฤษจากกระทรวงการต่างประเทศ

7. โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่ง

การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บี.กริมฯ วงเงินค่าก่อสร้าง 25,907,000,000 บาท ค่าธรรมเนียมทางการเงิน 1,666,214,700 บาท ดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ MLR-2.00 ภายใต้เงื่อนไขให้ผู้รับจ้างเป็นผู้หาแหล่งเงินที่ใช้ในการก่อสร้างเอง แล้วการรถไฟฯ กำหนดจะชำระค่าก่อสร้าง ค่าธรรมเนียมทางการเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับกลุ่มธนาคาร ผู้สนับสนุนทางการเงิน เมื่อครบกำหนด 990 วัน (วันที่ 5 พฤศจิกายน 2550)

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการกระทำร่วมกันของเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนดำเนินการ โดยทุจริตซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐประมาณ 1,200 ล้านบาท

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบถ้อยคำพยานและตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อความชัดเจน ในข้อเท็จจริงและการขยายผลไปสู่ผู้ร่วมกระทำผิดอื่นที่ประกอบด้วย พนักงานขององค์การ ข้าราชการ และกลุ่มเอกชน

8. กรณีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักร และพัฒนาการประเทศแก่รัฐบาลสหภาพพม่า

กรณี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ให้เงินกู้แก่ประเทศสห ภาพพม่าเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท โดยคิด ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 ต่อปี เป็นการดำเนินนโยบายแอบแฝง เกี่ยวกับการหาประโยชน์สำหรับธุรกิจของครอบครัวอดีตนายก รัฐมนตรีกับพวก (บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุให้ กระทรวงการคลังเสียหายโดยต้องจ่ายเงินชดเชยอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จ่ายให้ธนาคารออมสินและ ตั๋วสัญญาใช้เงิน กับอัตราดอกเบี้ยที่จะได้รับจากรัฐบาลพม่า ให้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เฉพาะจำนวนเงินให้กู้เพื่อซื้ออุปกรณ์ดาวเทียมฯ จาก บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 596,330,270.30 บาท ตามสัญญาเงินกู้ 12 ปี คิดเป็นความเสียหายจากการให้กู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุนเป็นเงิน 99,962,037.61 บาท

คาดว่าจะเสนอผลการไต่สวนต่อคณะกรรมการ คตส. ได้ประมาณเดือนธันวาคม 2550

9.โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

การตรวจสอบพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับพวก รวม 49 คน กระทำการที่เป็นความผิดทางอาญา และก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ โดยมีความเสียหายเบื้องต้นดังนี้

ความเสียหายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นเงิน 16,027,505,235.94 บาท

ความเสียหายของกระทรวงการคลังในส่วนที่ไม่ได้ภาษีอากรที่จะต้องได้ตามประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 8,970,740,822.62 บาท

กระทรวงมหาดไทยต้องขาดประโยชน์ในการที่ไม่ได้รับภาษีการพนันตามพระราชบัญญัติการพนันฯ เป็นเงิน 12,792,152,581.50 บาท

รวมเป็นความเสียหายของรัฐทั้งสิ้นในการกระทำผิดทางอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับพวก เป็นเงินทั้งสิ้น 37,970,398,640.06 บาท

คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหา ทราบ และผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหาครบทั้ง 49 คนแล้ว และคณะอนุกรรมการไต่สวนได้สอบพยาน ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างเป็นพยานหมดแล้ว ได้กำหนดประเด็นที่จะพิจารณาตามข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหา โดยจะกำหนดวันที่จะพิจารณาในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม 2550 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอต่อ ที่ประชุมได้ภายในเดือนตุลาคม 2550 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบพยานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา และสรุปคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2550

10. โครงการจัดซื้อต้นกล้ายาง และการดำเนินการโครงการปลูกยาง 90 ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การตรวจสอบพบว่า การอนุมัติโครงการและอนุมัติการใช้เงินกองทุน รวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุน รวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. 2534 และการขอรับการสนับสนุนจาก สกย. ใช้เงิน CESS ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 โดยมูลค่าของการอนุมัติให้ใช้เงินในโครงการเฉพาะที่เกี่ยวกับ การผลิตพันธุ์ยาง 1,440 ล้านบาท มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทางอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ รวม 90 ราย

คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบ และผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาครบถ้วนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบพยานบุคคลตามคำร้องขอของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งอ้างพยานเพิ่มเติม จำนวน 8 คน คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2550 จะสามารถเสนอเรื่อง ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดได้

11. โครงการจัดก่อสร้างและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของ บริษัท ห้องปฎิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตร และอาหาร จำกัด (Central Lab)

เป็นโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้ง บริษัทเอกชนโดยใช้เงินของทางราชการ มีข้อมูลเบื้องต้นว่า การจัดซื้อจัดจ้าง มีผู้ยื่นซอง 2 บริษัท เป็นรายเดียวกัน กก.กำหนดคุณสมบัติ ทีโออาร์ และ กก. ตรวจรับ เป็นชุดเดียวกัน ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง กับนักการเมืองได้รับประโยชน์

การตรวจสอบพบพยานหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ และพยานบุคคลจำนวน 100 ปาก เชื่อได้ว่ามีการกระทำ ความผิดตามกฎหมายเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และพบว่า นักการเมือง ข้าราชการ และเอกชน กลุ่มเดียวกันได้ร่วมกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันในโครงการอื่นด้วย คณะอนุกรรมการตรวจสอบ จึงได้ตรวจสอบโครงการของกรมวิชาการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 3 โครงการ

คาดว่าจะสามารถเสนอผลการตรวจสอบต่อ คตส.ได้ภายในเดือนธันวาคม 2550

12. กรณีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคารแห่งประเทศไทยร้องทุกข์ กล่าวโทษว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติเงินกู้ให้แก่บริษัท ในเครือกฤษดามหานคร เกินวงเงินที่ต้องใช้จริงเป็นจำนวน 3,500 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้ตรวจสอบพยาน เอกสารต่าง ๆ และได้สอบพยานบุคคลจำนวน 129 ปาก

คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาจำนวน 37 ราย ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาพร้อมเอกสารประกอบคำชี้แจงจำนวน 28 ราย ผู้ถูกกล่าวหาไม่ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 9 ราย

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบปากคำพยานเพิ่มเติมและสรุปความผิดของกลุ่มต่าง ๆ โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณเดือน ธันวาคม 2550

13.โครงการบ้านเอื้ออาทร

คณะอนุกรรมการตรวจสอบ เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างเอกชนโดยการเคหะแห่งชาติ ในโครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 4 เริ่มตรวจสอบโครงการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 จนถึงปัจจุบัน

จากการตรวจสอบสามารถแบ่งพฤติการณ์ทุจริตออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การทุจริตในการอนุมัติโควตา และเงินล่วงหน้า 1 คดี ซึ่งอยู่ในระหว่างการไต่สวน และการทุจริตเป็นรายโครงการ 4 คดีซึ่งอยู่ในระหว่าง การไต่สวน 1 คดี และการตรวจสอบ 3 คดี

การทุจริตในโครงการอนุมัติโควตาและเงินล่วงหน้า

จากการตรวจสอบและไต่สวนการทุจริตในการอนุมัติโควตาและเงินล่วงหน้า กรณีบริษัท พาสทิญ่า ไทย จำกัด พบว่า มีบริษัทผู้ประกอบการในโครงการบ้านเอื้ออาทรอีกหลายราย ที่มีพฤติการณ์ฟอกเงินต้องสงสัยว่าผ่านบริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด ในลักษณะเดียวกันกับ บริษัท พาสทิญ่า ไทย จำกัด (บริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายข้าว ซึ่งมีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในขณะนั้น) คณะ อนุกรรมการไต่สวนฯ จึงขยายผลการตรวจสอบให้ครอบคลุมการ อนุมัติโควตาและเงินล่วงหน้าให้แก่ผู้ประกอบการทุกราย ขณะนี้อยู่ใน ระหว่างการตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของ บริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด และเส้นทางเงิน ที่สั่งจ่ายโดยการเคหะแห่งชาติให้แก่บริษัทผู้ประกอบการที่ต้องสงสัยในโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งในเบื้องต้นพบว่ามี บริษัทผู้ประกอบการในโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 3 ราย จ่ายเงินให้กับบริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด รวมเป็นเงิน 149 ล้านบาท ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า บริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด จะเป็นแหล่งฟอกเงิน คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ คาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนเพื่อส่งสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2550

กรณีโครงการเมืองใหม่บางพลีและโครงการร่มเกล้า 2

คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กรณีโครงการเมืองใหม่บางพลีและโครงการร่มเกล้า 2 ซึ่งการเคหะฯ ว่าจ้าง บริษัท เดวา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรทั้งสองโครงการ รวม 11,664 หน่วย เป็นเงิน 4,898.88 ล้านบาท โดยมีพฤติการณ์เป็นการทำนิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดินของการเคหะฯ ทำให้การเคหะฯ ต้องจ่ายเงินเพิ่มและ บริษัท เดวาฯ ได้ประโยชน์เป็นเงินประมาณ 781.872 ล้านบาท ทั้งนี้ มีผู้ถูกกล่าวหารวม 13 ราย

คณะกรรมการไต่สวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหารับทราบแล้ว 9 ราย และอยู่ในระหว่าง การติดต่อเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาอีก 4 ราย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2550 และจะสามารถ สรุปสำนวนเพื่อส่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ภายในเดือน ธันวาคม 2550

กรณีโครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิต คลอง 9

จากการร้องเรียนว่ามีการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดทำ โครงการบ้านเอื้ออาทร รังสิต คลอง 9 ในราคาสูงเกินจริง คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้ตรวจสอบและพบข้อเท็จจริง ว่า การเคหะฯ จัดซื้อที่ดินขนาด 99 ไร่ จากบริษัท ผู้ประกอบการ โดยจัดซื้อที่ดินในราคาสูงเกินจริงเป็นเงิน ประมาณ 39 ล้านบาท นอกจากนี้ยังปรากฏพฤติการณ์ว่า เป็นการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของการเคหะฯ และบริษัท ผู้ประกอบการ โดยพบการปลอมแปลงเอกสารการประเมินราคาที่ดิน ทำให้การเคหะฯ รับซื้อที่ดินในราคาที่ผิดปกติ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบเส้นทางเงินค่าที่ดิน เพื่อขยายผลผู้ร่วมกระทำผิดต่อไป คาดว่าจะสามารถสรุป สำนวนเพื่อเสนอ คตส. ได้ภายในเดือนตุลาคม 2550 เพื่อนำสำนวนไปสู่ขั้นตอนการไต่สวนต่อไป

กรณีโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง 2

จากการร้องเรียนว่ามีการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง 2 ในราคาสูงเกินจริง คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้ตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงว่า การเคหะฯ จัดซื้อที่ดินขนาด 100 ไร่ จากบริษัทผู้ประกอบการ โดยจัดซื้อที่ดินในราคาสูงเกินจริงเป็นเงินประมาณ 130 ล้านบาท ซึ่งปรากฏพฤติการณ์ว่าเป็นการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ของการเคหะฯ และบริษัทผู้ประกอบการเพื่อให้การเคหะฯ รับซื้อที่ดินในราคาที่ผิดปกติ โดยมีการไม่ปฏิบัติตามระเบียบหลักเกณฑ์โครงการ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบเส้นทางเงินค่าที่ดิน เพื่อขยายผลผู้ร่วมกระทำผิดต่อไป คาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนเพื่อเสนอ คตส.ได้ภายในเดือนตุลาคม 2550 เพื่อนำสำนวนไปสู่ขั้นตอนการไต่สวนต่อไป

กรณีโครงการกบินทร์บุรีและโครงการอรัญประเทศ

จากการตรวจสอบเอกสารรายงานการประเมินราคาที่ดินของบริษัทผู้ประกอบการในโครงการบ้านเอื้ออาทร คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้ข้อเท็จจริงว่า บริษัทผู้ประกอบการได้ปลอมแปลงเอกสารการประเมินราคาที่ดิน โครงการบ้านเอื้ออาทร กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และโครงการบ้านเอื้ออาทร อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประกอบกับปรากฏพฤติการณ์ว่าเป็นการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของการเคหะฯ และบริษัทผู้ประกอบการ ทำให้การเคหะฯ จัดซื้อในราคาสูงเกินจริง เป็นเงินประมาณ 18 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการาตรวจสอบ เส้นทางเงินค่าที่ดิน เพื่อขยายผลผู้ร่วมกระทำผิดต่อไป คาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนเพื่อเสนอ คตส. ได้ภายในเดือนตุลาคม 2550 เพื่อนำสำนวนไปสู่ขั้นตอนการไต่สวนต่อไป

14. การจัดซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร

การดำเนินการจัดซื้อยานพาหนะดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งดำเนินการโดยบุคคลหลายฝ่าย มีมูลน่าเชื่อว่าเป็นการกระทำร่วมกัน มีเป้าหมายอันเดียวกัน ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ และกฎหมาย โดยมีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของสินค้า วิธีการ และราคาไว้ล่วงหน้า ส่อไปในทางมีเจตนาทุจริต เป็นเหตุให้มีการจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 1,900 ล้านบาทเศษ

คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนเพื่อพิสูจน์การกระทำ ความผิดของบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวน 5 คน คือ นายโภคิน พลกุล นายประชา มาลีนนท์ นายสมศักดิ์ คุณเงิน นายสมัคร สุนทรเวช และ พล ต.ต. อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ และได้ดำเนินการแสวงหา ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดเพิ่มเติมหรือไม่ โดยในชั้นไต่สวน ได้ดำเนินการสอบถ้อยคำบุคคลไปแล้วจำนวน 24 คน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสรุปข้อเท็จจริงเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา แก่ผู้ที่ถูกชี้มูลความผิด

15. การกระทำผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจตนเองและพวกพ้อง โดยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

15.1) ในส่วนมาตรการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจโทรคมนาคม ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ตรวจสอบพบว่า

(1) มีการแก้ไขสัญญาข้อตกลงลดสัดส่วนแบ่งรายได้ค่า บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid) เพื่อประโยชน์ แก่บริษัทเอกชนซึ่งเป็นการแก้ไขสัญญาโดยมิได้ดำเนินให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการ ของรัฐ พ.ศ. 2535 ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ตลอดอายุสัมปทานเป็นเงิน ประมาณ 71,677 ล้านบาท

(2) มีการแก้ไขสัญญาข้อตกลงปรับเกณฑ์การตัดส่วนแบ่ง รายได้ให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชน ทำให้รัฐเสียหายประมาณ 700 ล้านบาท

(3) มีการตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการ โทรคมนาคม และได้มีมติคณะรัฐมนตรีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสียหายประมาณ 30,667 ล้านบาท

(4) เรื่องบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)ท เกี่ยวกับดาวเทียม IPstar และการได้ยกเว้น ภาษีจากคณะกรรการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ อยู่ในระหว่างการรวบรวมเอกสารหลักฐาน และสอบปากคำ ผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสนอผลการไต่สวนได้ภายในเดือนธันวาคม 2550

15.2) ในส่วนที่เกี่ยวกับการคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป ได้ตรวจสอบพบหลักฐานน่าเชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหายังคงถือไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ทั้งในชื่อบุคคลและในชื่อบริษัทจดทะเบียนต่างประเทศ ซึ่งเป็นการ ผิดกฎหมาย และขณะเดียวกันก็เป็นเหตุเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และพฤติการณ์ร่ำรวยผิด ปกติอีกส่วนหนึ่งด้วย

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างข้อกล่าวหาต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถเสนอผลการไต่สวนได้ภายใน เดือนธันวาคม 2550
 
16. การอายัดทรัพย์สินที่ครอบครัว บุตร บริวาร ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรได้รับจากการขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกองทุนเทมาเส็ก

ทำไมต้องมีการอายัดทรัพย์

คตส. ตรวจสอบเส้นทางเดินของเงินที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ พบว่าเงิน 73,000 ล้านบาท ถูกจำหน่ายจ่ายโอน โยกย้าย เหลือประมาณ ห้าหมื่นกว่าล้านบาท ถ้าไม่อายัด รอให้คดีเสร็จ อาจจะติดตามทรัพย์สินไม่ได้ เหมือนอดีตรัฐมนตรีที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้ใช้เงินหลายสิบล้านบาท แต่พอถึงขั้นบังคับคดี ปรากฏว่าไม่มีทรัพย์สินที่จะให้บังคับคดีได้ เพราะฉะนั้น เมื่อปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ผิดปกติเพราะมูลค่าหุ้นกลุ่มชินฯ ก่อนที่อดีตนายกฯ เข้าดำรงตำแหน่งมีมูลค่า ห้าหมื่นกว่าล้านบาท ถึงปี 2549 ขายไปเจ็ดหมื่นสามพันล้านบาท เพิ่มขึ้นเพราะอะไรเพราะที่ผมรายงานไป ทั้งหมดน่ะครับ ขายสัมปทาน แก้ไขสัญญา ออกกฎหมายภาษีสรรพสามิต สุดท้ายออกกฎหมายการถือหุ้นของ ต่างชาติในธุรกิจโทรคมนาคม จาก 25 เป็น 49 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายมีผลบังคับใช้ วันต่อมาก็ทำสัญญา ซื้อขายให้กับเทมาเส็กทันที ถ้าไม่แก้ไขกฎหมาย เทมาเส็กซื้อไม่ได้ เพราะฉะนั้น เงินที่ร่อยหรอไปอย่างมาก ต้องอายัดครับ เพื่อประโยชน์ของรัฐ เพื่อประโยชน์ของการดำเนินคดีต่อไป เราไม่ได้อายัดทรัพย์สินของเขาทั้งหมด อายัดเฉพาะเงินในบัญชี ทรัพย์สินอื่นไม่ได้แตะต้อง บ้านจันทร์ส่องหล้า ไม่ได้ยุ่ง ทรัพย์สินในส่วนอื่น หรืออยู่ในต่างประเทศ ไม่ได้แตะต้อง อยู่ในกองทุนต่าง ๆ อีกเยอะรวมทั้งเงินที่เอาไปซื้อแมนซิติก็ยังไม่ได้อายัด

ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบ ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2550 และ 12 มิถุนายน 2550 ให้อายัดทรัพย์สินที่ครอบครัว บุตร บริวาร ของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรได้รับจากการขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกองทุนเทมาเส็ก นั้น การตรวจสอบทรัพย์สินที่ถูกอายัด ดังกล่าวปรากฏดังนี้

วันที่ 26 มกราคม 2549 ครอบครัว บุตร บริวารของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้รับเงินจากการ ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกองทุนเทมาเส็ก จำนวน 73,075,200,847.56 บาท

วันที่ 11 มิถุนายน 2549 คณะกรรมการตรวจสอบได้มีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และหน่วยลงทุนในบัญชีกองทุนเปิด รวม 21 รายการ และได้แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งลงวันที่ 12 มิถุนายน 2550 จำนวนเงินที่อายัดไว้ 45,798,359,045.71 บาท

คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้ติดตามเส้นทางการเงินที่ครอบครัว บุตร บริวารของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้รับเงินจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกองทุนเทมาเส็ก พบว่าได้มีการเคลื่อนย้ายเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นดังกล่าวในรูปแบบต่าง ๆ

คณะกรรมการตรวจสอบจึงมีคำสั่งให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารและทรัพย์สินอื่นของ ครอบครัว บุตร บริวารของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เพิ่มเติม รวม 11 ครั้ง

วงเงินที่คณะกรรมการตรวจสอบมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารและทรัพย์สินอื่นทั้งหมด รวม 72,310,292,181.55 บาท แต่คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ ได้รับหนังสือยืนยันจากธนาคารและสถาบันการเงินอื่นแจ้งยืนยันการอายัดจำนวน 65,508,466,422.54 บาท เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายเงินจากบัญชีที่มีคำสั่งอายัดก่อนที่คำสั่งอายัดมีผลบังคับ

คณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินเพื่อขอให้เพิกถอนการอายัด ได้รับคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินไว้ ตั้งแต่วันมีคำสั่งจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 20 คำร้อง

คณะอนุกรรมการฯ ได้ไต่สวนไปแล้ว 3 คำร้อง ดังนี้

1. มูลนิธิไทยคม นำสืบสอบพยานได้ 4 ปาก อยู่ระหว่างสอบทานเอกสารประกอบการพิจารณา

2. บริษัท เอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัด นำสืบสอบพยานได้ 1 ปาก นัดนำสืบพยานเพิ่มเติมอีก 2 นัด วันที่ 14 และ 21 กันยายน 2550

3. บริษัทที่ปรึกษากฎหมายธีรคุปต์ จำกัด นำสืบพยานได้ 2 ปาก กระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สินเสร็จสิ้นแล้ว คณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินฯ มีมติเพิกถอนการอายัด บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดา-ลาดพร้าว บัญชีเลขที่ 177-0-42112-9 ซึ่ง คตส. มีมติเห็นชอบการ เพิกถอนการอายัด

กำลังโหลดความคิดเห็น