xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ไม่น่าเชื่อ! กม.ปิดช่อง”ประชัย”เป็นนายกฯ-รมต. แต่เปิดช่อง”สมัคร”เป็นได้!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

การตัดสินใจไม่ลาออกจากสมาชิกและ หน.พรรคมัชฌิมาฯ ของ”ประชัย” อาจมีทั้งคนถูกใจ-ไม่ถูกใจ แต่อย่างน้อยการเลือกที่จะไม่ลาออก ก็ช่วยลดข้อถกเถียงทาง กม.ไปเปลาะหนึ่งว่า ถ้าเขาอยากลาออกจริงๆ จะสามารถลาออกได้หรือ? ในเมื่อ กม.ห้ามผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ถอนตัว ไม่ว่ากรณีใดใด ยกเว้นผู้สมัครเสียชีวิตเท่านั้น นอกจากประเด็นดังกล่าว น่าจะยังมีข้อสงสัยและนำไปสู่การเปรียบเทียบว่า ถ้าการถูกศาลตัดสินจำคุก เป็นการดับฝัน”ประชัย”ให้ไม่สามารถเป็นนายกฯ หรือ รมต.ได้แล้ว แล้วคนที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญาเช่นกันอย่าง”สมัคร สุนทรเวช”ควรหมดสิทธิเป็นนายกฯ – รมต.เช่นกันใช่หรือไม่? คำตอบน่าจะ”ใช่” แต่กลับ”ไม่ใช่”เพราะ กม.มีข้อยกเว้นไว้


คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

หลังศาลชั้นต้นพิพากษา(เมื่อ 3 ธ.ค.)ว่า นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยมีความผิดในคดีปั่นหุ้นทีพีไอ โพลีน โดยสั่งจำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญา และปรับเป็นเงินเกือบ 7 พันล้าน แม้นายประชัยจะน้อมรับคำพิพากษา แต่ได้ขอใช้สิทธิอุทธรณ์สู้คดีต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าตนไม่ผิด แต่ถึงกระนั้นนายประชัยก็ได้แสดงสปิริตที่จะลาออกจากหัวหน้าพรรคมัชฌิมาฯ และลาออกจากสมาชิกพรรค เพื่อไม่ให้พรรคและสมาชิกได้รับผลกระทบจากคดีหรือศัตรูที่อาจจะยังจ้องเล่นงานนายประชัยอยู่

แต่พลันที่สมาชิกต่างอ้อนวอนให้นายประชัยเป็นหลักให้พรรคมัชฌิมาฯ ต่อไป นายประชัยจึงได้ขอเวลาตัดสินใจ 2 วัน ในที่สุด วันนี้(6 ธ.ค.) นายประชัยก็ได้ให้คำตอบแล้วว่า พร้อมจะรับใช้สมาชิกทุกคนต่อไป นั่นหมายถึง นายประชัยจะยังคงรั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคมัชฌิมาฯ ต่อไป แม้นายประชัยจะทราบดีว่า อนาคตทางการเมืองของตนหลังเลือกตั้ง จะเป็นได้แค่ ส.ส.(หากได้รับเลือกจากประชาชน) หมดสิทธิหวังเป็นรัฐมนตรี-นายกฯ แล้วก็ตาม

เพราะผลจากคำพิพากษาของศาลที่สั่งจำคุก ไม่ว่าจะรอลงอาญาหรือไม่ก็ตาม หรือแม้ว่าคดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ถือว่าบุคคลนั้นเข้าข่ายต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีและนายกฯ ตามมาตรา 182 (3) แต่ยังสามารถเป็น ส.ส.ได้ ซึ่ง กกต.ได้ส่งสัญญาณออกมาก่อนหน้านี้ให้นายประชัยทราบแล้วว่า นายประชัยยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งต่อไปได้ และเป็น ส.ส.ได้หากได้รับเลือก แต่เป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีไม่ได้

แต่กระนั้น ลูกพรรคมัชฌิมาฯ ก็ยังอยากให้นายประชัยอยู่เป็นเสาหลักนำทัพพรรคมัชฌิมาฯ ต่อไป เพราะเชื่อว่าเป้าหมายของนายประชัยไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งบริหารในรัฐบาล แต่อยู่ที่นโยบายเร่งด่วนและนโยบายรัฐสวัสดิการที่นายประชัยต้องการผลักดันมากกว่า

นายอมร อมรรัตนานนท์ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 12 กทม.พรรคมัชฌิมาฯ จึงเป็นลูกพรรคคนหนึ่งที่พยายามโน้มน้าวนายประชัยว่าอย่าลงจากการเป็นผู้นำพรรค เพราะบ้านเมืองวันนี้อยู่ท่ามกลางวิกฤตที่ไม่ธรรมดา ดังนั้นนายประชัยควรอยู่ร่วมขับเคลื่อนภารกิจประวัติศาสตร์นี้ รวมทั้งสร้างพรรคให้เติบโตแข็งแกร่งต่อไปเพื่อรองรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีก 1 ปีข้างหน้า

“ผมก็เสนอคุณประชัยในที่ประชุมพรรคว่า ในสถานการณ์วันนี้ ท่านจะลงจากการเป็นผู้นำของพรรคไม่ได้ เพราะมันเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ ไม่ใช่แค่เลือก ส.ส.หรือเลือกนายกฯ ธรรมดา สถานการณ์บ้านเมืองเราอยู่ท่ามกลางวิกฤต 2 วิกฤตใหญ่คือ วิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง และที่สำคัญที่สุดคือ วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ว่า เราจะนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในทิศทางไหน 1.ความมั่นคงของ เศรษฐกิจที่เราจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีหลักการพึ่งตัวเอง ยืนบนลำแข้งของตัวเอง มีความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจ 2.เราจะนำประเทศเข้าสู่โลกาภิวัฒน์แบบไม่แบ่งแยกทำให้ประเทศเรากลายเป็นอาณานิยมหรือตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนต่างชาติ”

“เพราะฉะนั้นวันนี้ท่านเป็นท่านเดียวที่จะนำพาประเทศ ผมให้กำลังใจว่า ถึงแม้การเลือกตั้งครั้งนี้ เราไม่อาจจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ในวันนี้ขอให้พรรคมัชฌิมาฯ และท่านได้นำพาพลพรรค ใช้เวลาที่มีอยู่เป็นสนามในการที่จะเรียนรู้และสรุปบทเรียนและทำการเมืองสร้างพรรคมัชฌิมาฯ เราจะ”คัดแก่นทิ้งกาก”ในอนาคต และมีการประเมินกันว่า การเลือกตั้งในอนาคตอย่างช้าที่สุดก็ปีครึ่ง อย่างเร็ว บางคนบอก 8 เดือน-1 ปี ก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ เพราะการเมืองในอนาคตไม่มีความมั่นคงแน่นอน เพราะฉะนั้นขอให้ท่านนำพาพรรคต่อไป และใช้เวลาข้างหน้าประมาณ 1 ปีสร้างพรรคขึ้นมาด้วยอุดมการณ์ และรวบรวมผู้คนที่มีจุดยืนเดียวกัน ใครที่มีความคิดแตกต่าง ถ้าเกิดว่ามันแตกต่างในเชิงอุดมการณ์อุดมคติ ก็ให้กระบวนการต่อสู้ กระบวนการพรรคคัดกรองคน ซึ่งท่านเองก็มองเห็นอนาคตมากขึ้น และหลายคนก็เชื่อมั่นว่า ภายใต้ความขัดแย้งเนี่ย เมื่อใช้การแก้ด้วยประชาธิปไตย พรรคจะมีความมั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้น”

ขณะที่ นางมาลีรัตน์ แก้วก่า ผู้สมัคร ส.ส.แบบสัดส่วน อันดับ 1 ของกลุ่ม 3 คือพื้นที่ 10 จังหวัดอีสานเหนือ พรรคมัชฌิมาฯ บอกว่า ในแง่กระบวนการยุติธรรม คงต้องน้อมรับคำตัดสินของศาลที่ตัดสินนายประชัย แต่ส่วนตัวก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมศาลต้องมาตัดสินคดีในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงก่อนเลือกตั้ง และถ้ายิ่งเปรียบเทียบคดีนายประชัยกับคดีเสี่ยสองปั่นหุ้นด้วยแล้ว ยิ่งอดข้องใจไม่ได้ว่า มีใครจงใจสกัดดาวรุ่งหรือไม่ ผลของคดีทั้ง 2 คดีนี้จึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“ในเรื่องของคดีก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่น่าสังเกตก็คือ ทำไมคดีจะต้องเจาะจงตัดสินก่อนการเลือกตั้งไม่นานนัก 2.คดีของเสี่ยสอง ซึ่งปั่นหุ้นเสียหายเป็นวงกว้างและรู้กันทั้งโลก ส่วนคดีของท่านเป็นคดีที่มันเหมือนมีอำนาจที่อยากได้ของท่านน่ะ และก็เหมือนหาเรื่อง เสร็จแล้ววันหนึ่งตัดสินมาแบบนี้ เราไม่ได้ตัดสินถูก-ผิดนะ แต่เมื่อตัดสินแบบนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับคดีทำนองเดียวกันในห้วงเวลาการบริหารที่ต่างกัน ไปคนละเรื่องเลย วันนี้เสี่ยสองก็ยังผงาดในสังคมได้ โดยที่เกือบจะไม่มีแผลใดใดเลย ก็เลยสงสัยว่า มันเกิดอะไรขึ้น มันมีอะไรมั้ย? มันมีใครจงใจสกัดดาวรุ่งหรือเปล่า? แต่ก็ไม่เป็นไร เอาล่ะ! เมื่อเป็นแบบนี้ถือว่าเป็นวิบากกรรมของท่านที่ท่านจะต้องสู้ พร้อมที่จะให้กำลังใจท่าน ต้องใช้คำผู้สมัคร ส.ส.ที่สกลนคร เขาขึ้นป้ายรถเขา เขาใช้คำว่า “ปัญหาชาติยิ่งใหญ่ ขอคุณประชัยอย่าท้อถอย” แล้วก็ เราพร้อมที่จะให้กำลังใจคุณประชัยตลอดไป”

หลังนายประชัยตัดสินใจแล้วว่า จะเป็นหัวหน้าพรรคมัชฌิมาฯ ต่อไป ไม่ลาออกจากสมาชิกพรรคแล้ว เท่ากับตัดปัญหาในแง่ข้อกฎหมายว่า ถ้านายประชัยจะลาออกจากสมาชิกพรรคจริงๆ จะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะกฎหมายห้ามผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วถอนตัว ส่วนการลาออกจากสมาชิกพรรค แม้ไม่มีกฎหมายห้ามโดยตรง แต่เมื่อการลาออกจากสมาชิกพรรคจะส่งผลให้ขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะผู้ลงสมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค กรณีดังกล่าวย่อมเป็นที่ถกเถียงได้ว่า ผู้สมัคร ส.ส.จะสามารถลาออกจากสมาชิกพรรคได้หรือไม่ เพราะถ้าให้ลาออกได้ ต่อไปใครที่อยากลาออกหรือหากรู้ว่าตนจะแพ้การเลือกตั้ง ก็สามารถชิงลาออกก่อนได้ ระบบเลือกตั้ง-บัญชีรายชื่อ-ป้ายหาเสียงคงมีปัญหาแน่

แม้ประเด็นดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาแล้ว แต่ก็ยังมีข้อที่น่าสนใจและเกิดการเปรียบเทียบได้ว่า หากนายประชัย ซึ่งถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปีโดยไม่รอลงอาญาในคดีปั่นหุ้น ไม่สามารถเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีได้หากได้รับเลือกตั้ง แล้วกรณีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่ก่อนหน้านี้ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญาเช่นกันในคดีหมิ่นประมาทอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.(นายสามารถ ราชพลสิทธิ์) จะต้องหมดสิทธิเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีเช่นเดียวกับนายประชัยหรือไม่ แล้วทำไมรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มาตรฐานคุณสมบัติการเป็น ส.ส.และเป็นรัฐมนตรีหรือนายกฯ แตกต่างกัน ทำไม ส.ส.ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก สามารถเป็น ส.ส.ต่อไปได้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดให้จำคุก แต่รัฐมนตรีหรือนายกฯ ทำไมต้องพ้นจากตำแหน่งทันที แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด

อ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ 1 ในกรรมาธิการยกร่าง รธน.ปี’50 ให้ความกระจ่างในข้อกฎหมายเรื่องนี้ว่า เหตุที่ รธน.เข้มงวดความเป็นรัฐมนตรี-นายกฯ มากกว่า ส.ส. โดยให้รัฐมนตรีหรือนายกฯ ต้องพ้นตำแหน่งทันทีที่ศาลตัดสินจำคุก แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด เพราะรัฐมนตรีหรือนายกฯ มีอำนาจของฝ่ายบริหารที่อาจสั่งการหรือแทรกแซงการสอบสวนและการสั่งคดีให้บิดเบี้ยวไปจากที่ควรจะเป็นได้ จึงต้องให้พ้นตำแหน่งทันที ส่วนกรณีนายประชัยกับนายสมัครนั้น อ.คมสัน บอกว่า นายสมัครถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกในคดีหมิ่นประมาท ยังสามารถเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีได้ เพราะ รธน.มาตรา 182(3) ยกเว้นความผิดคดีหมิ่นประมาทไว้ว่าไม่ต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี หากคดียังไม่ถึงที่สุด

“เรื่องหมิ่นประมาท เป็นข้อยกเว้นของ(มาตรา) 182 ถ้าโดนคำพิพากษาจำคุกฐานหมิ่นประมาท นี่ไม่(ต้อง)พ้น(ตำแหน่ง รมต.-นายกฯ) เพราะประเด็นหมิ่นประมาทเนี่ย คนที่เป็นบุคคลสาธารณะ มันมีโอกาสจะพูดอะไรต่ออะไรที่ผิดพลาดออกไปได้บ่อยๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ได้ผิดพลาดจริง แต่ศาลชั้นต้นไปมองว่าผิด ศาลสูงอาจจะยก(ฟ้อง)ก็ได้ ประเด็นนี้ก็เลยกลายเป็นข้อยกเว้น”

อย่างไรก็ตาม ถ้าคดีถึงที่สุด โดยศาลฎีกาตัดสินว่านายสมัครหมิ่นประมาทอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.จริง และศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ให้จำคุกนายสมัครเมื่อใด นายสมัครก็ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีหรือนายกฯ ได้เช่นกัน

อ.คมสัน ยังแสดงความเห็นด้วยที่นายประชัยตัดสินใจไม่ลาออกจากสมาชิกพรรคมัชฌิมาฯ เพราะหากลาออก จะส่งผลกระทบต่อระบบเลือกตั้ง เพราะ กกต.ไม่สามารถถอนชื่อผู้สมัคร ส.ส.หรือตัดชื่อนายประชัยออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครได้ เพราะทุกอย่างดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว ต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการจนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ พร้อมกันนี้ อ.คมสัน ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทำไมศาลจึงได้ตัดสินคดีนายประชัยในช่วงนี้ ทั้งที่น่าจะตัดสินก่อนหน้านี้ก็ได้ หรือเลื่อนไปตัดสินหลังเลือกตั้งก็ได้ ส่วนตัวแล้วจึงไม่แน่ใจว่า มีปัจจัยอะไรทำให้ศาลตัดสินในช่วงนี้ นับเป็นคำพิพากษาที่ออกมาไม่ได้จังหวะ และทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพการเมืองและระบบการเลือกตั้งโดยรวม

"ส่งผลกระทบในทางการเมืองระดับชาติเลย เพราะมัชฌิมาฯ เอง ถึงแม้เสียงจะไม่เท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พรรคมัชฌิมาฯ จะไม่มีเสียง ก็หมายความว่า พรรคมัชฌิมาฯ เองก็อาจจะมีคะแนนเสียงบางส่วน ซึ่งส่งผลต่อการที่อาจจะเข้าไปรวมกับพรรคบางพรรคในการจัดตั้งรัฐบาลได้ (การที่ศาลตัดสินคดีนายประชัยในช่วงก่อนเลือกตั้งนี้)ก็ส่งผลกระทบทางการเมือง ทำให้เรื่องของฐานของคะแนนเสียง(ของพรรคมัชฌิมาฯ)อาจจะต้องสวิงไปอยู่พรรคใดพรรคหนึ่งเข้า และถ้าเกิดเตะเข้าลูกพรรคใหญ่ที่ไม่ต้องการ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก"

ด้าน นายเดโช สวนานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ รธน.ยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า หากคดียังไม่ถึงที่สุดให้จำคุก ยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ดังนั้นนายสมัครจึงไม่ขาดคุณสมบัติเหมือนนายประชัยว่า แม้กฎหมายจะกำหนดเช่นนั้น แต่ส่วนตัวแล้วมองว่า กฎหมายควรจะเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ถ้าต้องคำพิพากษาให้จำคุกแล้ว ไม่ว่าคดีใด ก็ไม่ควรเป็นรัฐมนตรีหรือนายกฯ ได้ เพราะรัฐมนตรีไม่ควรมีมลทินหรือมีความมัวหมอง และว่า การที่ รธน.ปี ’50 เขียนไว้ชัดเรื่องการพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ก็เป็นผลสืบเนื่องจากคดีนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ดึงดันอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ยอมลาออก

“ที่มาของเรื่องนี้คงต้องคิดถึงกรณีของคุณเนวิน คือถกเถียงกันมากตอนนั้น ที่ศาลตัดสินจำคุก แต่ไม่ถูกจำคุก ซึ่งคือการรอลงอาญา แล้วคุณเนวินก็ไม่ลาออกอะไรทั้งสิ้น กลายเป็นรัฐมนตรีอย่างสบายทุกอย่าง เพราะฉะนั้นสังคมก็ถามกันทีเดียวว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นคราวนี้ รธน.เขียนกำหนดไว้เลยว่า ถ้าศาลจำคุก ไม่ต้องรอให้ถึงศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา เพราะถือว่าความผิดเกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยศาลหนึ่ง เพราะฉะนั้นความมีมลทินได้เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง แต่ตำแหน่ง รมต.-นายกฯ เป็นไม่ได้แน่ มลทินเกิดขึ้นแล้ว แม้ศาลชั้นต้นก็ตาม ความจริงอาจจะลึกไปกว่านั้นด้วยซ้ำ แม้ไม่ฟ้อง แต่มีเรื่องมีคดีเกิดขึ้น เขาก็สำนึกกันแล้ว เขาก็ไม่สมัครแล้ว อย่างสหรัฐฯ เนี่ย (เจฟ) เคเนดี้ พาสาวเลขาฯ ไปตกน้ำ ก็ไม่สามารถสมัครประธานาธิบดีได้ เพราะเขารู้เลยทีเดียว และไม่เป็นคดีในโรงในศาลด้วยนะ แต่ได้พาสาวไปตกน้ำตาย เขาก็รู้ทันทีว่า ชีวิตทางการเมืองของเขาหมดสิ้น ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้แน่นอน”

นายเดโช ยังชี้ด้วยว่า กรณีนายประชัยและนายสมัคร คงต้องอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละบุคคลว่า เมื่อรู้ว่าตนมีมลทินจากคดีที่ศาลตัดสินแล้ว จะยังคงเป็น ส.ส.หรือไม่ หากได้รับเลือกเข้ามา และว่า หากถึงเวลานั้น นายประชัยลาออก ก็น่าจะช่วยสะกิดความรู้สึกของนายสมัครให้ลาออกได้บ้าง เพราะไม่เช่นนั้นคนก็จะเกิดการเปรียบเทียบทันที และเรียกร้องให้นายสมัครพิจารณาตนเองเช่นกัน

นายเดโช ยังทิ้งท้ายถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ด้วยว่า ส่วนตัวแล้ว รู้สึกเสียดายอะไรหลายๆ อย่าง เพราะคิดว่า การที่ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยถูกตัดสิทธิไป น่าจะทำให้ได้คนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการเมืองมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า กระแสหรือเกมการเมืองเกิดปั่นป่วนและพลิกผันอย่างไรไม่ทราบทำให้รู้สึกว่า คนหนุ่มสาวเลือดใหม่ไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควร ทั้งที่อาสาเข้ามามากพอสมควรในหลายๆ พรรค ซึ่งตามปกติแล้ว จากสถิติที่ผ่านมา การเลือกตั้งแต่ละครั้ง จะมีนักการเมืองหน้าเก่าได้รับเลือกประมาณ 60% และหน้าใหม่ 40% แต่ครั้งนี้ดูแนวโน้มแล้ว คนรุ่นใหม่จะเข้ามาได้ไม่ถึง 10% ซึ่งหากผลเลือกตั้งออกมาเช่นนี้จริง โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะได้เข้าสู่การเมืองนับวันก็จะยิ่งยากมากขึ้น!!




ผู้สมัคร ส.ส.และสมาชิกพรรคมัชฌิมาธิปไตย เฮด้วยความดีใจที่นายประชัยไม่ลาออก(6 ธ.ค.)
สมัคร สุนทรเวช หน.พรรคพลังประชาชน ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน แต่กลับไม่หมดสิทธิเป็นนายกฯ - รมต.เหมือนนายประชัย เพราะ กม.เปิดช่องให้
กำลังโหลดความคิดเห็น