xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : คดี “ทุจริตโคราช” จะสาวถึง “พปช.” หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

คดีส่อทุจริตซื้อเสียงที่โคราช กรณีตำรวจบุกค้นบ้าน “นายตี๋” แล้วพบเงินสดพร้อมโพยรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชน และโพยรายชื่อชาวบ้าน แม้ กกต.กลางจะยังไม่สั่งฟัน โดยขอสืบทางลึกเพื่อหาความเชื่อมโยงบางอย่าง ก่อนพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง 4 ธ.ค.แต่บางฝ่ายมองว่า จากหลักฐานที่พบ น่าจะเอาผิดผู้ครอบครองเงิน หรือผู้ที่เตรียมจ่ายเงินได้แล้ว เพราะแม้จะอ้างว่าเป็นเงินที่เตรียมไว้จ่ายค่ารถขนคนไปฟังการปราศรัยฯ แต่ถือว่าเข้าข่าย “จูงใจ” ให้ชาวบ้านลงคะแนนเลือกผู้สมัครดังกล่าว ขณะที่อดีต กกต.แนะ กกต.ชุดปัจจุบัน ให้แยกดำเนินคดีผู้ครอบครองเงินดังกล่าวก่อน ไม่จำเป็นต้องรอให้สาวถึงผู้สมัครหรือพรรคการเมือง อย่างน้อยจะได้เป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู”

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

กรณีตำรวจจับเงินพร้อมโพยผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่โคราช ซึ่งส่อเค้าว่าอาจเตรียมทุจริตซื้อเสียงนั้น แม้การบุกจับจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่กว่าเรื่องนี้จะเป็นข่าวต่อสาธารณะก็ปาเข้าไปวันที่ 21 พ.ย.แล้ว หรือ 8 วันหลังเกิดเหตุ โดยวันดังกล่าว พล.ต.ต.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง ผบก.ภ.จังหวัดนครราชสีมา ได้รับรายงานจาก พ.ต.อ.สุขโสภณ มหิศร ผกก.สภ.พระทองคำ อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมาว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ได้รับแจ้งเบาะแสว่า มีประชาชนจากหลายหมู่บ้านเดินทางเข้า-ออกบ้านเลขที่ 315 หมู่ 11 ต.สระพระ อ.พระทองคำอย่างผิดปกติ จึงได้เข้าตรวจค้น พบว่า บ้านดังกล่าวเปิดเป็นปั๊มน้ำมัน และมี นายตี๋ แซ่เหล็ก อายุ 56 ปี รับว่าเป็นเจ้าของปั๊ม

หลังตรวจสอบ พบเงินสดจำนวน 10,700 บาท อยู่ในลิ้นชักโต๊ะ นอกจากนี้ ยังพบธนบัตรใบละ 100 บาท เย็บติดกับกระดาษปฏิทินที่มีบัญชีรายชื่อชาวบ้าน 3 หมู่บ้านของ ต.สระพระ จำนวน 3 ซอง ซองละ 200, 300 และ 500 บาท พร้อมทั้งชื่อผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนจำนวน 3 คน (นายบุญเลิศ ครุฑขุนทด - นายประเสริฐ จันทรรวงทอง - นางลินดา เชิดชัย) รวมทั้งมีใบสมัครสมาชิกพรรคพลังประชาชน ที่มีชาวบ้านกรอกข้อมูลแล้วจำนวนหนึ่ง

จากการสอบสวน นายตี๋ อ้างว่า เงินสด 10,700 บาทนั้น เป็นเงินที่ได้จากการขายน้ำมัน ส่วนเงินสดที่เย็บติดกับปฏิทินที่มีรายชื่อชาวบ้าน และผู้สมัครนั้น นายตี๋ อ้างว่า เป็นเงินที่เตรียมไว้จ่ายเป็นค่ารถที่ขนคนไปฟังการปราศรัยเปิดตัวผู้สมัครของพรรคพลังประชาชน ที่วัดกุดตาดำ ต.ทับรั้ง อ.พระทองคำ เมื่อคืนวันที่ 12 พ.ย.และว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินที่ตนสำรองจ่ายเป็นค่าจ้างรถทั้งหมดก่อน แล้วหัวคะแนนจะนำเงินมาคืนให้ในภายหลัง

หลังเรื่องนี้เป็นข่าวออกมา นายบุญเลิศ ครุฑขุนทด (น้องชาย นายจำลอง ครุฑขุนทด อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี) ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชาชน เขต 3 นครราชสีมา ที่มีชื่อติดกับเงินที่ถูกตำรวจจับกุม ได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่เคยรู้จักนายตี๋ พร้อมเชื่อว่า ผู้สมัครอีก 2 คน คือ นางลินดาและนายประเสริฐ ก็ไม่รู้จักนายตี๋เช่นกัน พร้อมชี้ เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลอยู่เบื้องหลังแน่

แต่คำปฏิเสธของนายบุญเลิศ ดูจะขัดๆ กับคำพูดของโฆษกพรรคพลังประชาชน ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง ที่ออกมายอมรับ(เมื่อ 22 พ.ย.)ว่า เงินที่พบที่บ้านนายตี๋เป็นเงินของพรรคจริง แต่เท่าที่ทราบเป็นการจ่ายเงินให้อาสาสมัครที่มาช่วยพรรคหาเสียง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกเขตต้องมีการจ่ายเงินลักษณะนี้ ร.ท.กุเทพ ยังยืนยันด้วยว่า ไม่มีการซื้อเสียงแน่ เพราะพรรคได้ให้คำแนะนำกับผู้สมัครชัดเจนไปแล้ว

ด้าน กกต.นครราชสีมา ที่มี พล.อ.วีรวุธ ส่งสาย เป็นประธาน กกต.หลังได้รับรายงานการพบเงินพร้อมโพยผู้สมัครที่บ้านนายตี๋จากทางตำรวจเมื่อวันที่ 19 พ.ย.และตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว ก็ได้ประชุมด่วน(22 พ.ย.)แล้วมีมติส่งเรื่องนี้ให้ กกต.กลางวินิจฉัยต่อไป

โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนของ กกต.โคราช ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นหลายประเด็น เช่น พรรคพลังประชาชน เปิดปราศรัยย่อยในพื้นที่ อ.พระทองคำ ในวันที่ 12 พ.ย.จริง ส่วนเงินสด 10,700 บาท ที่ นายตี๋ อ้างว่า เป็นเงินที่ได้มาจากการขายน้ำมันนั้น จากการตรวจสอบปรากฏว่า เงินดังกล่าวเป็นธนบัตรใหม่ทั้งหมด มีลักษณะเป็นปึกๆ และมีเชือกรัดของธนาคาร รวมทั้งอยู่ในสภาพเรียงหมายเลข จึงไม่น่าจะเป็นเงินที่ได้จากการขายน้ำมัน ส่วนเงินที่บรรจุในซองที่นายตี๋อ้างว่า เตรียมไว้จ่ายเป็นค่ารถสำหรับขนคนไปฟังการปราศรัยนั้น เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนมองว่า เป็นเรื่องแปลก ที่มีการจ่ายข้ามวัน หรือจ่ายย้อนหลัง เพราะส่วนใหญ่แล้วพรรคการเมืองจะจ่ายให้ทันทีที่ฟังปราศรัยเสร็จ นอกจากนี้ จากการสอบทางลึกยังพบด้วยว่า นายตี๋ มีพฤติกรรมเป็นหัวคะแนนให้กับนักการเมืองมาก่อนแล้วด้วย!

แม้การตั้งข้อสังเกตของชุดสืบสวนดังกล่าว จะยิ่งเพิ่มน้ำหนักว่าเงินดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายผิดมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใด .....ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด....”

แต่ล่าสุด (27 พ.ย.) กกต.ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยบอกว่า อยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่สอบทางลึกว่าเงินดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหรือไม่ (กกต.จะประชุมพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งวันที่ 4 ธ.ค.) โดยมีรายงานตั้งแต่ก่อนหน้านี้ด้วยว่า เงินของกลางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไว้ขณะเข้าตรวจค้นบ้าน นายตี๋ นั้น ต่อมาทางตำรวจได้คืนของกลางดังกล่าวให้นายตี๋ไปแล้ว โดยอ้างในขณะนั้นว่า กกต.กลางบอกว่า การจ่ายค่ารถขนคนไปฟังการปราศรัย ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งแต่อย่างใด

เพื่อให้หายข้อสงสัย ลองมาฟังความเห็นจากอดีต กกต.และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเลือกตั้งกันว่า การเตรียมเงินเพื่อจ่ายเป็นค่ารถขนคนไปฟังการปราศรัยของพรรคใดพรรคหนึ่งนั้น น่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 53 หรือไม่?

ดร.โคทม อารียา อดีต กกต.ชุดแรก ชุดที่มี นายธีรศักดิ์ กรรณสูต เป็นประธาน บอกว่า การจะชี้ว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ต้องดูว่า มีองค์ประกอบของการเตรียมจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นการพบเงินใส่ซองพร้อมโพยชื่อผู้สมัครและชาวบ้าน ก็ถือว่า เป็นจุดเริ่มที่ดีที่จะต้องตรวจสอบต่อไป เพราะอาจเข้าองค์ประกอบของความผิดได้

“มันต้องมีองค์ประกอบของการเตรียมที่จะจูงใจ ก็ต้องดู คือ กฎหมายเขียนว่า แม้กระทั่งเตรียมนี่ก็อาจจะผิด แต่ก็ต้องดูว่าหลักฐานข้อเท็จจริงเป็นยังไง และเข้าองค์ประกอบความผิดตาม กม.หรือเปล่า คือ มีการเตรียมที่จะจูงใจ (ถาม-เงินที่พบนี่มี 2 ส่วนคือ 1 หมื่นกว่าบาท และเงินที่ใส่ซอง 3 ซองพร้อมชื่อผู้สมัครและชื่อชาวบ้าน ตรงนี้เพียงพอหรือยังที่จะเรียกว่าเตรียมจูงใจ?) เพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เป็นจุดเริ่มที่ดีที่จะสอบว่า เป็นเงินของใคร มาจากไหน เอาไปทำอะไรต่างๆ ก็ต้องสืบสวน อาจจะเข้าองค์ประกอบความผิดได้”

ด้าน นายยุวรัตน์ กมลเวชช อดีต กกต.ชุดแรกเช่นกัน บอกว่า ปกติแล้วผู้สมัครหรือหัวคะแนนจะให้เงินหรือจ่ายเงินเพื่อให้ผู้ใดให้คะแนนหรือไม่ให้คะแนนใครไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นความผิดตามมาตรา 53 ของกฎหมายเลือกตั้ง พร้อมแนะว่า เมื่อเกิดกรณีจับเงินพร้อมโพยผู้สมัครและชาวบ้านโดยอ้างว่าเพื่อจ่ายเป็นค่ารถขนคนไปฟังปราศรัยของพรรคดังกล่าวนั้น หาก กกต.กลางต้องการทำงานให้เร็ว และต้องการหยุดการกระทำแบบนี้ไม่ให้มีขึ้นอีก ควรแยกดำเนินการเป็นส่วนๆ คือ ดำเนินการในส่วนของผู้ที่เก็บเงินหรือครอบครองเงินดังกล่าวก่อน ไม่จำเป็นต้องรอให้สาวถึงผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเพื่อรวมเป็นคดีเดียว จะทำให้การวินิจฉัยล่าช้า และว่า การจะสาวถึงผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ก็สามารถตรวจสอบได้จากที่มาและลักษณะของเงิน

“ต้องแยกประเด็น แยกผู้กระทำผิดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะมี 3 คนด้วยกัน คือ 1.คนที่เก็บเงิน 2.ผู้สมัคร 3.พรรคการเมือง ทีนี้ปกติ ทั้ง 3 อันนี้ ถ้าเป็น กม.ธรรมดา เขาจะพิจารณารวมกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องเลือกตั้ง เรามักจะพิจารณาแยกกัน เพื่อให้สามารถทำได้เป็นเรื่องๆ ไป อย่างคนแจกเนี่ย ถ้าสมมติว่า ข้อเท็จจริง มันมีเบอร์ของผู้แจก มีใบโฆษณาติดไปด้วย มันพอที่จะเชื่อได้แล้วว่าเขาทำเพื่อช่วยเหลือนายคนนี้ ซึ่งมันจะผิดมาตรา 53 ทันที ถึงจะไปแจกหรือไม่แจก ก็ต้องว่าไป จะฟ้องฐาน"พยายาม"ก็อาจจะสามารถวินิจฉัยได้ มันก็เชื่อได้ เพราะมันทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว และเจ้าตัวเองก็รับใช่มั้ยว่า ทำไว้แจกคนที่ไป (ฟัง) หาเสียง คนที่จะฟัง เพราะการจ่ายเงินกับการเลี้ยงอาหารนี่ทำได้เฉพาะคนของตัวเอง ตรงนี้มันจะเป็นส่วนหนึ่ง”

“ส่วนผู้สมัคร-ต้องไปดู เวลาจับมันต้องดู เงินตรงนั้น ถ้าเป็นแบงก์เรียงตามนัมเบอร์ มันก็จะเป็นฟ่อน นึกถึงตอนเราไปแลกเงินแบงก์ 20 มั้ย 100 ใบเนี่ย ถ้ารันนิ่งนัมเบอร์ มันจะบอกเลย รันนิ่งนัมเบอร์จะอยู่ที่แบงก์ไหน และเราไปสอบที่แบงก์ได้ว่าใครเป็นคนเบิก และถ้าเป็นแบงก์เก่า มันจะมีที่รัด เพราะเวลาเอาแบงก์เก่าไปส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย  เขาจะมัด ที่แบงก์เองก็จะมัดเป็นมัดๆ มัดนี่ก็จะรู้ว่า แบงก์ของใคร นั่นยิ่งง่ายใหญ่ว่าแบงก์ของใคร ตรงนี้ก็จะสาวถึงเจ้าของเงินและก็เปิดโอกาสให้เราสามารถส่ง ปปง.ได้ แค่นี้ก็ขยายผลได้ ส่วนจะถึงผู้สมัครหรือไม่ถึง ก็อยู่ตรงนี้ และจะถึงพรรคการเมืองหรือไม่ถึง ก็จะอยู่ตรงนี้ แต่วิธีการที่จะให้เร็วทันใจ จะรวมกันไม่ได้ ต้องแยกเป็นตอนๆ กันไป”

ขณะที่ ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ อดีตเลขาธิการ กกต.พูดถึงกรณีเจ้าหน้าที่พบเงินพร้อมโพยผู้สมัคร ส.ส.และบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่บ้าน นายตี๋ แต่ นายตี๋ อ้างว่า เตรียมไว้เป็นค่ารถขนคนไปฟังการปราศรัยของผู้สมัครพรรคพลังประชาชนว่า หากสามารถพิสูจน์ได้ว่า บุคคลที่เตรียมจ่ายเงินเป็นหัวคะแนนหรือผู้รับใช้ใกล้ชิดผู้สมัครดังกล่าว ผู้สมัครคงปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องไม่ได้

“กรณีที่หนีบเงินพร้อมกับหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอะไรต่างๆ ถ้าข้อเท็จจริงมันสอบไปถึงว่าคนที่จับได้ คนนี้เป็นหัวคะแนนให้ใคร ใกล้ชิดรับใช้ใคร เป็นต้นว่า เป็นคนขับรถอยู่ในบ้านของผู้สมัคร ก.อย่างนี้ นาย ก.บอกฉันไม่รู้เห็นฉันไม่เกี่ยวข้อง คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเงินทองจำนวนมากเป็นหมื่นเป็นแสนอย่างนี้ คงไม่มีใครที่จะเอาเงินตัวเองไปออกให้ว่า จะไปจ้างคนมาฟังการหาเสียง และการหาเสียงนั้นก็ต้องสอบไปถึงว่าการหาเสียงของใครในวันนั้น ของพรรคใคร มันจะได้พุ่งประเด็นไปว่าจะแจกเงินซื้อเสียงให้แก่ใคร อย่างไร”

“(ถาม-สมมติว่า กกต.สอบแล้วสามารถเอาผิดนายตี๋และผู้สมัครได้ จะสามารถโยงถึงพรรค พปช.ได้มั้ย เพราะ ร.ท.กุเทพ โฆษกพรรค ยอมรับว่า เงินดังกล่าวเป็นของพรรคจริง แต่บอกว่าเป็นการจ่ายเงินให้อาสาสมัครที่ช่วยพรรคหาเสียง?) ร.ท.กุเทพ เป็นโฆษกพรรค แล้วยอมรับว่า เป็นเงินของพรรค ก็เป็นคำกล่าวที่ทำให้พรรคเสียประโยชน์ ก็เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องชั่งใจว่า ถ้า ร.ท.กุเทพกล่าวเช่นนั้นจริง ก็อาจจะไปสอบต่อว่า แล้วตกลงมีหลักฐานการโอนเงินไปอย่างไรหรือไม่ ถ้าหากว่าคำกล่าวที่เป็นการเสียผลประโยชน์นั้น มีหลักฐานมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น มันก็ไปกระทบถึงพรรคหรือผู้บริหารพรรค”

ด้าน อ.คมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเคยเป็น ผอ.ฝ่ายวินิจฉัยด้านกิจการสืบสวนสอบสวนของ กกต.ชุดแรก ยืนยันว่า กรณีพบเงินที่บ้าน นายตี๋ และนายตี๋ ยอมรับว่า เป็นเงินที่เตรียมไว้เป็นค่ารถขนคนไปฟังการปราศรัยเปิดตัวผู้สมัครพรรคพลังประชาชนนั้น ถือเป็นความผิดตามมาตรา 53 ของกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งบรรทัดฐานความผิดตรงนี้ได้ถูกวางมาตั้งแต่ กกต.ชุดแรกแล้ว และเคยให้ใบแดงผู้สมัครไปแล้ว

“มาตรฐานของ กกต.ชุดที่ 1 เขาวางไว้แล้วว่าเป็นความผิด และเป็นความผิดในลักษณะของการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพราะการจ่ายนั้นจะกล่าวว่าเป็นการจ่ายเพื่อขนคนไปฟัง(ปราศรัย)ก็ตาม แต่มันมีลักษณะของการจูงใจเพื่อไปลงคะแนนอยู่ เพราะฉะนั้นเขาก็วินิจฉัยมาตลอด กกต.เขาเคยให้ใบแดงด้วยซ้ำไป ผมจำชื่อไม่ได้ (ถาม-มีข้อสังเกตมั้ยว่า จูงใจเนี่ย มันอยู่ตรงไหน?) จูงใจเนี่ย ไม่จำเป็นจะต้องบอกว่า ไปใช้สิทธิไปเลือกวันนั้นก็ได้ เพียงแต่ว่าจูงใจเพื่อให้เขาเห็นค่าตอบแทนว่าได้รับมาจากผู้สมัครคนนี้ ซึ่งมันมีผลต่อการที่จะจูงใจให้เลือกคน โดยไม่จำเป็นต้องบอกให้ไปเลือกในวันนั้น แต่จ่ายเงินค่ารถเพื่อให้ไปฟัง มันมีลักษณะของการจ่ายในลักษณะจูงใจให้ไปฟังเพื่อหวังผลในคะแนนเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยลักษณะของการกระทำ เขาห้ามไม่ให้ไปจ่ายเงินในลักษณะเช่นนี้ เข้าลักษณะของกฎหมายอยู่แล้ว”

“(ถาม-แต่จะสาวถึงตัวผู้สมัครมั้ย?) คือ อย่างน้อย ถ้าตัวนี้มีหลักฐานแน่ชัด ถ้า กกต.มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า ผู้สมัครเป็นคนจ่าย หรือผู้สมัครมีส่วนเกี่ยวข้องในการจ่ายอย่างนี้ถึงตัวผู้สมัครแน่ เช่น ในระหว่างการปราศรัยมีการพูดถึงเรื่องนี้ว่า ได้มีการอำนวยความสะดวกพี่น้องไปขึ้นรถที่นี่อย่างนี้ หรือมีหลักฐานพบว่า(คนที่เตรียมจ่ายเงิน)เป็นคนของผู้สมัครที่เป็นผู้ทำงานที่เขาแจ้งชื่อไว้ได้เป็นคนไปบอกว่าให้ไปขึ้นรถที่นี่อย่างนี้ๆ อันนี้ก็เป็นหลักฐานที่อาจจะโยงใยไปถึงตัวผู้สมัครได้”

อ.คมสัน ยังกล่าวถึงกรณีที่ กกต.กลางบางคนออกมาพูดก่อนหน้านี้ทำนองว่า การจ้างรถขนคนไปฟังการปราศรัยอาจไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งว่า คงเป็นเพราะ กกต.ชุดนี้ไม่ได้เช็คมติของ กกต.ชุดเก่าที่เคยมีกรณีแบบนี้ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า กกต.ชุดนี้ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจในเรื่องของการเลือกตั้ง ส่วนในเชิงการเมืองนั้น คิดว่า กกต.ชุดนี้ยังไปไม่ถึงจุดของความเข้าใจในเรื่องของกลโกงทางการเมืองทั้งหลาย ดังนั้นการวินิจฉัยอาจมีปัญหาได้ ส่วนกรณีที่ตำรวจคืนเงินของกลางให้นายตี๋ไปแล้วนั้น อ.คมสัน ให้ข้อคิดแก่ กกต.กลางชุดนี้ว่า ไม่อยากให้ กกต.หวังพึ่งตำรวจมากนัก เพราะต้องเห็นใจตำรวจเหมือนกันที่ถูกครอบงำตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ดังนั้นอาจไม่ค่อยกล้าใช้อำนาจดำเนินคดี เนื่องจากกลัวกลับมาเช็กบิล

อ.คมสัน ยังบอกด้วยว่า สมัย กกต.ชุดแรก คดีที่ตรวจสอบแล้วเห็นผลจนต้องมีมติให้ใบเหลือง-ใบแดงนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เกิดจาก กกต.กลางลงพื้นที่หรือส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเอง ไม่ใช่รอการตรวจสอบของตำรวจ หรือ กกต.จังหวัด และหลายครั้งที่ปรากฏว่า กกต.จังหวัดบอกว่าไม่ผิด แต่ กกต.กลางเห็นว่าผิด และบางครั้ง กกต.จังหวัดบอกว่าควรให้แค่ใบเหลือง แต่ กกต.กลางเห็นว่าความผิดถึงขั้นต้องให้ใบแดง!!




สภาประชาชน จ.นครราชสีมา มอบช่อดอกไม้ให้กำลังใจ กกต.โคราช พร้อมเร่งให้สอบเอาผิดผู้สมัครฯ ส.ส.และพรรคการเมือง กรณีจับเงินแนบโพยรายชื่อผู้สมัครฯ(27พ.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น