xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “อดีต ทรท.” โกงเลือกตั้ง...ยังกล้า “อ้างสิทธิ” จุ้นการเมืองอีกหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

การออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมติ 5 ข้อของ กกต.โดยอดีต กก.บห.ทรท.หลายคน ใน 111 คน ไม่เพียงน่าสังเกตว่า คนที่ออกมาดิ้นทุรนทุราย ส่วนใหญ่เป็นอดีต กก.บห.ที่หนุนพรรคพลังประชาชน โดยอ้างว่า สิทธิทางการเมืองของตัวเองต้องคงอยู่ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีตาม รธน.ทั้งที่สิทธินั้นควรจะหมดไปตั้งแต่ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทรท.แล้ว ...อดีตนักการเมืองเหล่านี้กำลังทำราวกับลืมไปว่า เหตุแห่งการถูกตัดสิทธิ ก็ไม่ได้มาจากใคร แต่มาจากการกระทำของตัวเองนั่นเอง ที่ไปโกงการเลือกตั้งเมื่อปี ’49 -จ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อเลี่ยงเกณฑ์ 20% แล้ววันนี้ ยังกล้ามาอ้างสิทธิว่าตนเองต้องมีเทียบเท่ากับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้อย่างไร

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องออก “กฎเหล็ก” 5 ข้อ ห้าม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง, ห้ามถ่ายรูปคู่ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อนำไปใช้ในการหาเสียง, ห้ามเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมือง, ห้ามเป็นวิทยากรพูดถึงเรื่องการเมือง และห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ก็เพราะมีแกนนำพรรคบางพรรค และบางคนใน 111 กก.บห.ไทยรักไทย ทำหนังสือสอบถามไปยัง กกต.ว่า 111 คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากกรณีพรรคไทยรักไทยถูกตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบนั้น สามารถดำรงตำแหน่งต่างๆ ในพรรคการเมืองขณะนี้ได้หรือไม่ และสามารถดำเนินกิจกรรมการทางการเมืองได้แค่ไหน?

หลังพิจารณาข้อกฎหมายแล้ว กกต.จึงให้ความเห็นออกมาในลักษณะดังกล่าว (เมื่อ 16 พ.ย.) ทำเอาหลายคนใน 111 อดีต กก.บห.ไทยรักไทย รีบออกมาโวยว่า กกต.กลั่นแกล้งบ้าง ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นบ้าง ละเมิดสิทธิทางการเมืองบ้าง

โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 1 ใน 111 กก.บห.ไทยรักไทย (ที่ตกเป็นข่าวว่า เข้าไปร่วมจัดโผผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วนของพรรคพลังประชาชน) อ้างว่า มติ 5 ข้อของ กกต.ละเมิดสิทธิมากเกินไป เพราะวันนี้ 111 กก.บห.ไทยรักไทย ก็เป็นประชาชนชั้น 2 แล้วจะไล่ออกนอกประเทศเลยหรือ

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง 1 ใน 111 กก.บห.ไทยรักไทยเช่นกัน ตำหนิมติ กกต.ว่า เป็นมติที่ขี้ขลาด เพราะ กกต.ไม่กล้าพอที่จะออกเป็นประกาศ หรือระเบียบที่ชัดเจน เพราะจะผูกพันต่อตัว กกต.และว่า มติดังกล่าวออกมาเพื่อกลั่นแกล้งสกัดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของอดีต กก.บห.ไทยรักไทย นอกจากนี้ ยังเป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 45 ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และขัดต่อมาตรา 30 ที่บัญญัติให้บุคคลมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย นายจาตุรนต์ ยังได้พยายามท้าทาย กกต.ด้วยการเตรียมเปิดเวทีปราศรัยกับประชาชนในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ที่สวนลุมพินี เพื่อยืนยันว่าจะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตน

ขณะที่ นายอดิศร เพียงเกษ 1 ใน 111 กก.บห.ไทยรักไทยอีกคน ก็เตรียมเปิดปราศรัยใหญ่เช่นกัน โดยอ้างว่าการกระทำของตนไม่เกี่ยวข้องกับพรรคใด หรือนักการเมืองคนใด นายอดิศร ยังโจมตี กกต.ด้วยว่า ได้ทำให้ตนเป็นกลายเป็นลูกอกตัญญูไปแล้ว เพราะตนส่งบิดาลงสมัคร ส.ส.แต่ไม่สามารถไปช่วยบิดาหาเสียงได้!?!

ไม่เพียงอดีต กก.บห.ไทยรักไทยดังกล่าว จะเตรียมเคลื่อนไหวปราศรัยใหญ่ท้าทาย กกต.เท่านั้น แต่ยังได้ยกขบวนไปร้องขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวันนี้ (20 พ.ย.) โดยอ้างว่า มติ กกต.ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งร้องเรียนต่อองค์การนิรโทษกรรมสากล ที่มีหน้าที่ดูแลคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลกด้วย โดยแนวร่วมในการร้องเรียนครั้งนี้ ไม่ได้มีเฉพาะอดีต กก.บห.ไทยรักไทย ที่เอ่ยชื่อไปแล้ว แต่ยังมี นายสุธรรม แสงประทุม, นายปองพล อดิเรกสาร ที่อยู่ใน 111 คนเช่นกัน รวมทั้ง นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ที่ถูก สนช.ขับพ้นตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังถลำลึกกับบทแกนนำ นปก.เกินเหตุ

ด้าน นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ยืนยันมติของ กกต.ไม่ได้ต้องการกลั่นแกล้งพรรคใด และไม่จำเป็นต้องทบทวนมติดังกล่าว หรือออกเป็นประกาศหรือระเบียบ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมาย ระบุอยู่แล้วว่า การถูกตัดสิทธิก็เป็นเสมือนการถูกลงโทษ จึงต้องถูกจำกัดสิทธิบ้าง แต่คงไม่จำกัดสิทธิทั้งหมด

ส่วนกรณีที่ นายจาตุรนต์ และบางคนใน 111 กก.บห.ไทยรักไทยจะเปิดปราศรัยนั้น นายอภิชาต บอกว่า สามารถทำได้ในฐานะประชาชน แต่หากมีการพูดหาเสียงให้พรรคการเมืองใดหรือพาดพิง กกต.จะถือว่ามีความผิด ต้องถูกดำเนินคดี

ขณะที่ 111 กก.บห.ไทยรักไทยในส่วนที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนพยายามเคลื่อนไหวต่อต้านมติ 5 ข้อของ กกต.โดยอ้างว่า สิทธิทางการเมืองดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี ปรากฏว่า สังคมก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวที่แตกต่างจากอีกฟากหนึ่ง คือ อดีต กก.บห.ไทยรักไทย บางคนที่เป็นที่ปรึกษาให้กับพรรคต่างๆ แสดงออกซึ่งการน้อมรับมติ กกต.ด้วยการทยอยลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เช่น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคเพื่อแผ่นดิน, นางปวีณา หงสกุล ลาออกจากที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นต้น

การที่มติ 5 ข้อของ กกต.ถูกอดีต กก.บห.ไทยรักไทย ดึงเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรมี ทั้งที่ตนเองถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีนั้น ลองมาดูกันว่า หลายฝ่ายในสังคมจะมองเรื่องนี้อย่างไร?

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ มองว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ต้องการแยกคนที่ถูกลงโทษออกจากสังคม เมื่อ 111 คนเหล่านี้ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี ก็ต้องห้ามลงสมัครหรือใช้สิทธิเลือกตั้ง และห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีวาระแอบแฝง หรือเป็นนอมินี และว่า หากศาลหรือตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินว่าบุคคลเหล่านี้ทำผิด แต่คนที่ถูกตัดสินกลับไม่ยอมรับผิด แล้วบ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร

“ต้องดูว่าเป้าหมายของการที่กฎหมายเขียนเอาไว้ว่าคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเนี่ยเจตนารมณ์เพื่ออะไร เจตนารมณ์ ก็คือ ไม่ให้คุณไปใช้สิทธิลงคะแนนก็ดี ไปสมัครเป็นกรรมการบริหารพรรคก็ดี เพราะคุณทำผิด เพราะฉะนั้นเมื่อทำผิดแล้ว ก็ถูกลงโทษ กฎหมายเขาไม่ต้องการให้คุณเข้าไปยุ่งกับการเมือง ...ถ้าเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานจริงๆ ผมว่ามันก็ทำได้นะ โดยไม่มีเจตนาไปทำอย่างอื่นให้ผิดไปจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผมว่าทำได้ แต่ถ้าทำแล้วมันมีเรื่องอื่นมาแอบแฝงว่า เป็นนอมินี ทำแล้วพยายามที่จะส่งคนของตัวเองเข้ามาในทางการเมือง และจะมาแก้กฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจกลับคืน ผมว่าตรงนี้มันอาจจะผิด …ผมว่าก็ต้องเข้าใจเจตนารมณ์ว่าในทางกฎหมายบ้านเรานิติรัฐอย่างที่ว่าเนี่ย เมื่อมีการลงโทษอะไร คือเขาพยายามแยกคนออกจากสังคมใช่มั้ย ทีนี้คุณยังบอกผมไม่ได้ผิด คุณยืนยันตรงนั้น แต่ในทางกฎหมายเนี่ย เขาตัดสินว่าคุณผิด คุณก็ต้องยอมรับ ใช่มั้ย ไม่อย่างนั้นนักโทษก็มาเย้วๆๆ ใช่มั้ย ผมไม่พอใจคำพิพากษาศาลอย่างนี้ แล้วศาลบอกว่าผิด ผมบอกผมไม่ผิดน่ะ แล้วมันอยู่ได้มั้ยบ้านเมือง มันอยู่ไม่ได้”

ด้าน รศ.ดร.พรชัย เทพปัญญา ผอ.วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า มองว่า จริงๆ แล้วถ้า กกต.จะออกมติดังกล่าว ก็ควรออกเป็นประกาศ หรือระเบียบไปเลย ไม่ใช่ทำเหมือนไม่มีความมั่นใจว่าที่ตนออกมติไปนั้นถูกหรือผิด หรือถ้าไม่กล้าออกเป็นประกาศ ก็ไม่ควรจะออกมติใดใดมาเลย ปล่อยให้ 111 คนนี้เคลื่อนไหวไป เพราะส่วนตัวแล้วมองว่า 111 คนดังกล่าว เป็นคนที่ “เน่า” แล้ว ทำไมต้องไปใส่ใจบุคคลเหล่านี้มากมาย และไม่เข้าใจว่า ทำไมสังคมต้องกลัวคนเหล่านี้นักหนา

“ผมจะมองกลางๆ ว่า กกต.ไม่ควรจะมีมติอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ปล่อยเขาทำอิสระไป คือ เรื่องขัดหรือไม่ขัด เราไม่รู้ คือ พูดง่ายๆ ว่า ถ้า กกต.จะทำเนี่ย มันก็ต้องทำในลักษณะว่า ออกมาเป็นคำสั่ง คุณทำอย่างนี้มันไม่ถูก คุณไม่กล้าที่จะฟันว่าเป็นคำสั่ง ...ถ้าคุณจะไม่ทำก็ไม่ทำ แล้วก็ให้คนไปฟ้องกับศาลรัฐธรรมนูญว่า มันขัดหรือไม่ขัดกับมาตราไหน ตรงไหน ไม่รู้นะ ผมว่า กกต.มันไม่กล้าทำ คือเขาไม่แน่ใจ ไม่มีความมั่นใจว่าเขาถูกหรือผิดน่ะ (ถาม-คือ ไม่อยากมีความผิด เผื่อใครไปฟ้อง กกต.เข้า?) ถูก ไม่รู้นะ ถ้าเป็นผม ผมไม่กลัวนะพวกนี้ (111 ทรท.) ผมไม่เข้าใจควรจะกลัวทำไม เขาจะออกมาเต้นแร้งเต้นกา จะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไปสิ ถูกมั้ย คนเน่าแล้ว คุณจะไปใส่ใจอะไรล่ะ ก็ปล่อยไป อยากจะไปถ่ายรูปใคร ถ้าเรายิ่งไปนั่นมาก ก็หมายความว่า ไอ้พวกนี้ถือว่ายังมีอำนาจยังมีพลังอยู่ ผมไม่เข้าใจ ทำไมสังคมกลัวไอ้ 111 คนนี่จังเลย”

ขณะที่ รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองการตัดสิทธิทางการเมือง 111 อดีต กก.บห.ไทยรักไทยว่า ต้องไม่ลืมว่า การที่กระบวนการยุติธรรมหรือตุลาการรัฐธรรมนูญต้องมาเข้ามาแก้วิกฤตของบ้านเมือง โดยมีการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคนั้น ถือเป็นประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาก่อน ดังนั้น ก็เป็นหน้าที่ที่ กกต.จะต้องทำบรรทัดฐานตรงนี้ให้ชัดเจนว่า อดีต กก.บห.ไทยรักไทย 111 คนนี้ทำอะไรหรือทำอะไรไม่ได้บ้าง หากเรื่องใดไม่ชัดเจน จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็ควรทำให้กระจ่าง

ส่วนกรณีว่า มติ 5 ข้อของ กกต.ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของ 111 กก.บห.ไทยรักไทยหรือไม่นั้น อ.สุริชัย มองว่า แม้สิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องใหญ่ก็จริง แต่ในบางกรณีก็สามารถถูกเพิกถอนได้ และแม้ว่าการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจะกระทบสิทธิตาม รธน.ของนักการเมืองทั้ง 111 คน แต่ก็เป็นการตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญที่อยู่บนพื้นฐานของความผิดที่ยิ่งใหญ่ของพรรคไทยรักไทยเช่นกัน

“สิทธิขั้นพื้นฐานของ รธน.เป็นเรื่องใหญ่จริง แต่สิทธิขั้นพื้นฐานของ รธน.ในบางกรณี มันก็มีการถูกพิพากษาให้เพิกถอนได้ แต่กรณีพิเศษมากๆ นะ ไม่ใช่ว่าเพิกถอนได้ง่ายๆ ทีนี้ถ้าเขาคิดว่าถูกละเมิด เขาก็ควรจะเรียกร้องไปถึงศาลนะ ศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่ประหลาดใจที่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพียงแต่ผมอยากจะยืนยันว่า การตัดสินของศาลที่รวมเป็นตุลาการชุดใหญ่แก้วิกฤตการเมืองคราวที่แล้วเนี่ย แน่นอนมันก็กระทบสิทธิตาม รธน.ของนักการเมืองแน่นอน แต่ก็บนพื้นฐานที่ว่า การตัดสินใจนั้นถือว่าได้ทำความผิดที่ยิ่งใหญ่ทางการเมือง ที่จะต้องมีการตัดสิน แต่ครั้งกระนั้นอุทธรณ์ไม่ได้ นอกเสียจากการตัดสินใจครั้งหลังของ กกต.ครั้งนี้ อุทธรณ์ก็อุทธรณ์กันไป”

“แต่ผมคิดว่ามันกลายเป็นว่า ฝ่ายซึ่งอยากจะเอาวิถีทางทุกอย่างที่แก้คนที่ถูกพิพากษาหรือชวนให้คนที่ถูกพิพากษารวมทั้งคุณทักษิณเนี่ย เข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองไทย ยังหาวิธีต่างๆ ซึ่งผมคิดว่ายังไม่ได้ยอมรับการตัดสินใจของศาลนะ ผมคิดว่ายอมรับ-ไม่ยอมรับ มันก็ปรากฏในการที่ใช้ความเป็นกลุ่มเดิมมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยที่อ้างการกระทำเดิมๆ ของพรรค(ทรท.)ว่าถูกต้อง โดยทำอะไรก็ตามเพื่อใช้ความผูกพันที่เรียกว่าความผูกพันทางอารมณ์ของคนที่คนชอบคุณทักษิณหรืออะไร ก็เหมือนกับที่คุณทักษิณเล่นเอาฟุตบอลมาให้ปรากฏข่าวอยู่ประจำ ผมก็คิดว่าอันนี้ก็พยายามจะเล่นในเวทีที่นอกเหนือการกำกับดูแล เวทีข้ามประเทศข้ามชาติเวทีไซเบอร์โน่น”

ด้าน รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นด้วยกับมติ 5 ข้อของ กกต.และไม่เห็นว่ามติดังกล่าวจะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของ 111 อดีต กก.บห.ไทยรักไทยแต่อย่างใด เพราะถ้าจะว่าไป ผู้บริหารพรรคไทยรักไทยเสียอีกที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานก่อนด้วยการโกงเลือกตั้ง (จ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง) เมื่อปี 2549 เมื่อเล่นโกง ก็ต้องถูกห้ามลงมาเล่น ห้ามมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา

“ที่เขาห้ามเพราะว่าที่คุณทำเนี่ย คุณเล่นโกงน่ะ โกงเลือกตั้ง เมื่อเล่นโกง เขาก็ห้ามเล่น เพราะฉะนั้นคุณจะมาแนะนำว่า เดินตาซ้ายเดินตาขวาสิ อย่างนี้มันก็ไม่ได้สิ เพราะที่คุณเคยเดินมาก่อนเนี่ย คุณเดินแบบโกงเขา เพราะฉะนั้นใครจะไว้วางใจให้คุณมาสอนคนอื่นหรือมาชี้นำ (ถาม-ใน 111 คนบางคนบอกว่า พ่อฉันลงสมัคร ฉันไม่สามารถช่วยหาเสียงได้ ฉันกลายเป็นลูกเนรคุณไปแล้ว?) จริงๆ แล้วเราต้องถามว่า แกไม่ควรจะให้พ่อแกลงสมัคร อย่างนี้เราเห็นธาตุแท้เลยว่า เขาไม่ให้คุณลงเนี่ย เพราะเป็นอย่างนี้ มันก็กลายเป็นว่า ส.ส.นี่คือลูกหลานจริงๆ เห็นมั้ย คือ พ่อ-แม่-ลูก-เมียจริงๆ เลย ไม่เคยคิดว่า ตัวไม่ได้ลง ก็น่าจะตั้งคนใหม่ๆ ขึ้นมา เปลี่ยน “น้ำดี” เข้ามา ก็ไม่คิด ก็เอาลูกเมียลง แสดงว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยิ่งยืนยันว่าตัดสินถูกแล้ว เพราะแกไม่รู้สึกเลยว่าตัวผิด”

อ.ทวีเกียรติ ยังเปรียบเทียบพฤติกรรมของบางคนใน 111 อดีต กก.บห.ไทยรักไทยที่ไม่ยอมรับผิดและไม่ยอมรับการถูกตัดสิทธิทางการเมืองว่า เหมือน “ปลวก” ที่พยายามจะกินเสาเรือนให้ได้ พร้อมแนะให้ 111 คนเหล่านี้ดูนักการเมืองอาชีพอย่าง “เสธ.หนั่น” เป็นตัวอย่าง

“เมื่อสั่งห้ามแล้วก็ควรจะเงียบลง ควรจะสงบลง ไม่งั้นบ้านเมืองจะมีกฎหมายไว้ทำไมก็ไม่รู้ คนโกงยังห้ามไม่ได้ ผมเปรียบเทียบเหมือน โทษนะ เหมือน “ปลวก” เนี่ย เอาละ! อาชีพเขาเนี่ยต้องกินไม้ แต่เมื่อปลวกมากินเสาเรือนเนี่ย เราก็ต้องสกัดออกไป คือ กม.เขาบอก ห้ามมากินเสาเรือน แต่แกอยากจะกิน แกก็ไปกินกองไม้ข้างบ้านตรงไหนก็ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ฆ่าไม่ได้แกง ก็สามารถกินได้ตามนิสัย แต่อย่ามากินเสาเรือน ทีนี้คนนี้ยังเข้าใจว่าฉัน อาชีพฉันเคยกินไม้ เพราะฉะนั้นจะกินไม้ที่ไหน มันเป็นสิทธิเสรีภาพของฉัน แกจะมาห้ามฉันมากินที่เสาเรือนได้ยังไง นี่คือความเข้าใจของเขา และประชาชนมองไม่ออก ความจริงตอนนี้ถ้าเขาเป็นอาชีพนักการเมืองจริงๆ เขาต้องไปกินกองไม้ข้างบ้านนะ เขาควรจะจบบทบาท เหมือนกับสมัย เสธ.หนั่น ผมไม่เห็น เสธ.หนั่น แกดิ้นรนอะไรขนาดนี้เลย แกก็อยู่เงียบๆ เลยจน 5 ปีน่ะ แล้วก็มาเป็นพรรคมหาชน นั่นคือ นักการเมืองที่เป็นมืออาชีพ”

อ.ทวีเกียรติ ประเมินด้วยว่า ต่อให้มีการส่งเรื่องมติ กกต.ให้ตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตุลาการฯ ก็คงวินิจฉัยตามที่ กกต.มีมติออกมา เพราะตุลาการฯ ได้วินิจฉัยตัดสิทธิ 111 คนนี้ไปแล้ว

อ.ทวีเกียรติ ยังแนะด้วยว่า แม้ระบอบประชาธิปไตยจะให้สิทธิเสรีภาพ แต่กฎหมายก็ต้องเคร่งครัด เหมือนกับเราดูฟุตบอล กรรมการต้องเฉียบขาด ถ้ากรรมการยังเหยาะแหยะอยู่ ปล่อยให้มีคนมาเย้วๆ หรือขว้างกระป๋องอยู่ข้างสนาม ก็คงไม่ถูก ดังนั้นการตัดสิทธิ 111 อดีต กก.บห.ไทยรักไทย เราควรมอง”หลักการ”มากกว่า”ตัวบุคคล”ไม่ควรมองว่า บางคนใน 111 คนยังมีภาพพจน์ที่ดีอยู่ น่าจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไป แต่ควรมองว่า บุคคลเหล่านี้เป็นผู้บริหารพรรคที่ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคฐานโกงเลือกตั้งเมื่อปี 2549 เมื่อโกงเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคก็ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ก็ควรจะออกมาอยู่วงนอกเงียบๆ สักพัก เหมือนนักฟุตบอลเมื่อถูกห้ามไม่ให้ลงเล่น แล้วจะมาตะโกนโหวกเหวกอยู่ข้างสนามเพื่อทำลายสมาธิผู้เล่นคนอื่นอีกอย่างนั้นหรือ?

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 1 ใน 111 กก.บห.ทรท.อ้าง มติ กกต.ละเมิดสิทธิมากไป
เนวิน ชิดชอบ 1 ใน 111 กก.บห.ทรท.มีข่าวกับคุณหญิงสุดารัตน์จุ้นโผ ส.ส.สัดส่วนของพรรคพลังประชาชน
สุธรรม แสงประทุม 1 ใน 111 กก.บห.ทรท.นำทีมยื่นหนังสือร้องเรียนมติ กกต.ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(20 พ.ย.)
จรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำ นปก.ที่ถูกขับพ้นตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก่อนหน้านี้ ก็ออกโรงป้อง 111 กก.บห.ทรท.เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น