xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจตำรวจกับการเลือกตั้ง 50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประจำ ตร.ปฏิบัติหน้าที่ รอง ผบ.ตร.(มค1)ให้สัมภาษณ์พิเศษ ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ ถึงภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้การช่วยเหลือ ตามที่ กกต.ร้องขอ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเข้าไปเท่าไร การหาเสียงก็ดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นทุกขณะ พรรคการเมืองต่างก็งัดกลยุทธ์ต่างๆ ออกมาใช้เพื่อหวังกอบโกยคะแนนเสียง ทำให้ประชาชนต่างหวั่นวิตกว่าจะได้รัฐบาลที่ได้มาจากคะแนนเสียงที่ไม่โปร่งใส จนอาจเกิดความวุ่นวาย หรือเหตุการณ์ไม่ดีในช่วงนี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จึงได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง

ที่ผ่านมาในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ประจำ ตร.ปฏิบัติหน้าที่ รอง ผบ.ตร.(มค1) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ที่ดูแลในเรื่องนี้ก็ถือว่าสอบผ่าน เพราะว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น จึงกลับมารับหน้าที่นี้อีกครั้ง ในการเลือกตั้งคราวนี้ พร้อมทั้งออกมาเปิดเผยมาตรการในการดูแลความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งให้ได้ทราบ

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า หลังจากที่ กกต.ได้มอบหมายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ทำหผ่านมาเพื่อดูแลความสงบก่อนการเลือกตั้ง และ ผบ.ตร.จะเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 20 พ.ย.เพื่อมอบนโยบายให้กับตำรวจที่ร่วมปฏิบัติงานอีกครั้ง

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวอีกว่า ในศูนย์มีทั้งระดับทั่วประเทศ และระดับภาค โดยคราวนี้จะแบ่งหน้าที่ทั้งฝ่ายอำนวยการ กำลังพล สนับสนุน กฎหมาย โดยจะมีฝ่ายสืบสวนที่เพิ่งเพิ่มขึ้นมา เพื่อใช้ในการสืบสวนหาข่าวโดยมุ่งเน้นเพื่อป้องกันระงับเหตุ การซื้อสิทธิขายเสียง และความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการสืบสวนของ กกต. ที่มุ่งเน้นในการให้ใบเหลืองใบแดง โดยจะมีแผนการปฏิบัติ 4 ขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง เช่น การรวบรวมหาข่าวมือปืนหัวคะแนน การจัดเตรียมกำลัง รักษาความปลอดภัยในที่รับสมัครเลือกตั้งและหาเสียง การปราศรัยต้องส่งกำลังไปดูแลซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่เข้าร่วม หรือ ผู้ลงสมัครคิดว่าไม่ปลอดภัยก็กำลังตำรวจไปดูแลได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

“หากมีเหตุวุ่นวายถ้าเราทราบก่อน เช่นในการปราศรัย ก็จะมีการจัดคนไปรักษาความสงบเรียบร้อย ในคราวนี้ทาง กกต. ได้ให้จัดปราศรัยหาเสียงในอำเภอละ 2 แห่ง ถ้ามีคนจำนวน 5 พัน ขึ้นไป ก็จะจัดกำลังลงไปดูแล เพื่อป้องกันคนก่อความวุ่นวายรวมทั้งตรวจอาวุธ และห้ามการดื่มสุรา” พล.ต.อ.วิเชียร กล่าว

ส่วนเรื่องที่หลายฝ่ายเป็นห่วงเกี่ยวกับการใช้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะมีปัญหาสำหรับการทำงานของตำรวจหรือไม่นั้น พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า กฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับนี้มีบทลงโทษที่ค่อนข้างสูงและชัดเจนขึ้น ทั้งผู้ซื้อเสียงหรือผู้สนับสนุนให้มีการจ่ายเงินที่มีโทษจำคุกถึง 10 ปี และถอนสิทธิ์ 10 ปี ส่วนผู้ที่ขายเสียงแม้โทษจะเบาลงแต่ก็มีสิทธิที่จะเข้ามาช่วยตำรวจในการ ปราบปรามคือถ้ามาแจ้งภายใน 7 วัน ก็ไม่ต้องรับโทษและได้รับสินบนนำจับด้วย ส่วนผู้ที่แจ้งความเป็นเท็จเพื่อไม่ให้ประกาศเลือกตั้ง หรือหลอกลวง กกต. โทษจำคุก 5 ปี หรือถ้าพรรคการเมืองให้การสนับสนุน ก็จะเข้าข่ายของ พ.ร.บ. ความมั่นคงซึ่งมีโทษหนักอาจถึงยุบพรรคเลยทีเดียว

“ในส่วนมาตรการในการทำหน้าที่ของตำรวจ ทาง ตร. ได้มีนโยบายให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยทุกคนวางตัวเป็นกลาง หากตำรวจที่วางตัวไม่เป็นกลางก็จะถูกพิจารณาโทษทั้งทางการปกครอง ทางวินัย และทางอาญา โดยทางการปกครองหากร้อง กกต. แล้วพบว่ามีมูลก็สามารถสั่งให้พ้นหน้าที่เป็นการชั่วคราว และห้ามเข้าเขตดังกล่าวได้ ส่วนทางวินัย หาก กกต. สั่งแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าผิดวินัย และหากพบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการให้คุณหรือให้โทษอย่างใดอย่างหนึ่งกับพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร ก็จะยิ่งมีความผิดทางวินัยร้ายแรง มีโทษปลดออกหรือไล่ออกเลยทีเดียว ดังนั้นตำรวจที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องระมัดระวังตัวให้มาก จึงกำชับให้วางตัวเป็นกลางและมอบมาตรการ 4 ไม่ คือ ไม่สนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ไม่ใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งกีดกันผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ไม่นอนหลับทับสิทธิ์ ไม่ปฏิบัติหน้าที่นอกจากที่ได้รับมอบหมาย และโทษทางอาญาตามที่กล่าวไปแล้ว” ผอ.ศูนย์ดูแลความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งกล่าว

พล.ต.อ.วิเชียร ยังเปิดเผยอีกว่า เมื่อก่อนนี้การดูแลหน่วยเลือกตั้งก็มีเจ้าหน้าที่ไม่ครบทุกหน่วยแม้แต่ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านมา แต่ตอนนี้มีคำสั่งชัดเจนว่าต้องมีให้ครบทุกหน่วย อย่างน้อย 1 คน ที่ต้องประจำอยู่ที่หน่วยเลือกตั้ง ถ้าไม่มีก็ต้องจัดกำลังทหารหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองดูแลประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งนอกจากประจำหน่วยแล้วยังต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในหน่วยเลือกตั้งด้วย เช่น กรณีที่มีคนประท้วง หรือความผิดซึ่งหน้าอย่างการฉีกบัตรก็ต้องทำการจับกุมด้วยทันที ซึ่งตำรวจที่ส่งมาดูแลแม้จะเป็นชั้นประทวน ก็ต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน และต้องผ่านการอบรมให้เข้าใจการทำงานก่อนด้วย โดยจะมีนายตำรวจระดับสารวัตรคอยดูแลในแต่ละพื้นที่อีกชั้นด้วย

ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาล ก็เห็นว่ากำลังตำรวจได้ใช้ไปเยอะในการเลือกตั้ง การเลือกตั้งคราวนี้จึงได้มีการสนธิกำลังทั้งทหารตำรวจ พลเรือน อาสาสมัคร อย่างเช่นการจัดกำลัง 1 คน ต่อ 1 หน่วยเลือกตั้งบางหน่วยก็เป็นกำลังจากทหาร หรือฝ่ายปกครองในท้องที่ ก็ได้เช่นกัน

ในส่วนของพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงอย่างภาคอีสาน และภาคเหนือตอนบนที่เป็นฐานเสียงของขั้วอำนาจเก่า ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในการหาเสียงและเลือกตั้งนั้น พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ตำรวจก็พยายามดูว่าพื้นที่ไหนมีปัญหา มีการร้องเข้ามามาก หรือมีข่าวเข้ามา ก็จะกวดขันมากเป็นพิเศษ อย่างเรื่องมือปืนหัวคะแนนก็มีการเฝ้าระวังติดตามอยู่ตลอด อย่างเช่น ตำรวจภูธรภาค 1 ขณะนี้ก็ได้มีการรวบรวมรายชื่อมือปืนส่งเข้ามาหลายรายแล้ว และส่วนอื่นก็กำลังรวบรวมอยู่ โดยส่วนใหญ่บุคคลเหล่านี้ก็มีหมายจับอยู่แล้ว พอออกหมายจับก็มีเร่งรัด และจับตาดูมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งทาง ตร. ได้มีคำสั่งไปก่อนหน้านี้แล้วว่าให้ตำรวจทั่วประเทศดูแลเรื่องมือปืน หัวคะแนน และผู้มีอิทธิพล เพื่อจะได้ป้องกันเหตุได้ ในรายชื่อก็มีการปรับปรุงอยู่ตลอดเพื่อให้ทันสมัยเหตุการณ์ปัจจุบัน เพราะมือปืนปัจจุบันก็มีวัยรุ่นเพิ่มเข้ามาจำนวนมาก

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ส่วนในการดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา ก็จะมีการทำงานคล้ายกับเมื่อตอนลงเสียงประชามติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) เป็นเจ้าภาพในการจัดกำลัง แต่เดิมส่วนที่ประจำพื้นที่ตำรวจรับผิดชอบ ซึ่งใช้กำลังมากกว่าปกติอย่างน้อย 3 เท่า รวมทั้งมีชุดคุ้มครองต่างๆ อีก ทั้งการขนส่ง ลาดตระเวณ

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวอีกว่า หากประชาชนต้องการจะร้องเรียนก็ขอให้แนะนำไปร้องเรียนกับ กกต. ก่อน เพื่อจะได้ให้ กกต. พิจารณาว่าเป็นเรื่องของใบดำใบแดง หรือเป็นเรื่องของอาญาก็จะได้มอบหมายให้ตำรวจรับผิดชอบได้ถูกต้อง ในส่วนของตำรวจการดูแลการเลือกตั้งเป็นงานที่เพิ่มมาใหม่ ไม่มีกองการเลือกตั้งอย่างกองการปกครองดีมั้ย ถ้าหากจะมีศูนย์เลือกตั้งในอนาคดเพื่อเป็นศูนย์ที่ดูแลการเลือกตั้งอย่างถาวร เพราะปัจจุบันก็มีการเลือกตั้งหลายระดับโดยเฉพาะในส่วนส่วนของท้องถิ่น ที่ค่อนข้างมีปัญหา”

“หลังรับสมัครเลือกตั้งความเข้มข้นในการหาเสียงคงมีมากขึ้น ตำรวจก็ต้องทำการดูแลในส่วนนี้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งระดับภาค จังหวัด และสถานีต่างๆ นอกจากนี้ก็มีชุดสืบสวนที่หากได้เบาะแสก็จะเข้าจับกุมได้ทันที รวมทั้งชุดเคลื่อนที่เร็วที่จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ทั่วประเทศคาดว่าจะใช้กำลังกว่า 2 แสนนาย แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานเหตุการณ์รุนแรงเข้ามา เชื่อว่าตำรวจน่าจะรับมือได้ ขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตก” พล.ต.อ.วิเชียร กล่าว

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเกิดขึ้นจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่ร่วมประชามติเห็นชอบ จนเกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งก็อยากเห็นพลังของประชาชนอีกครั้งที่จะนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยย่างแท้จริง ปราศจากอำนาจเงิน ด้วยการไปลงคะแนนเสียงและช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่เพราะ พ.ร.บ. ฉบับบนี้ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมเป็นหูเป็นตา เพราะเพียงกำลังตำรวจ หรือ กกต.เอง ก็คงดูแลไม่ทั่วถึง


กำลังโหลดความคิดเห็น