xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “111 ทรท.” มีสิทธิ “จุ้นการเมือง” ได้แค่ไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ยิ่งวันเลือกตั้ง (23 ธ.ค.) ใกล้เข้ามาเท่าไหร่ 111 อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทยที่เป็น”ตัวจักร”สำคัญในการขับเคลื่อนพรรคต่างๆ ขณะนี้ก็ยิ่งเคลื่อนไหวกันให้ขวักไขว่ ราวกับว่าตนไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีอย่างไรอย่างนั้น ผู้ที่ดูจะมีบทบาทเกินหน้าเกินตาใครที่สุด คงไม่พ้น “เนวิน-สุดารัตน์” ที่มีข่าวว่าลงมา “ล้วงลูกเปลี่ยนโผ” ผู้สมัคร ส.ส.แบบสัดส่วนของพรรค พปช. ราวกับตนเป็น กก.บห.พรรคก็ไม่ปาน สร้างความกังขาแก่ผู้คนในสังคมว่า ตกลง “การถูกตัดสิทธิทางการเมือง” ไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้มีคุณธรรม-จริยธรรม หรือรู้ว่าอะไรควรทำ-ไม่ควรทำบ้างเลยหรือ? หรือการตัดสิทธิทางการเมือง เป็นแค่การห้ามลงเลือกตั้ง-ห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนกิจกรรมทางการเมืองอย่างอื่นทำได้หมด ขอแค่ให้ “แอบๆ” ทำหน่อยเท่านั้น

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ


จากปัญหาหลายชีวิตที่อยู่ใน 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เข้าไปมีบทบาทอยู่ในหลายพรรคการเมืองขณะนี้ ทั้งที่ตนเองถูกตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสิทธิเลือกตั้งตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากกรณีพรรคไทยรักไทยถูกยุบ เช่น พรรคเพื่อแผ่นดินก็มีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย, นายพินิจ จารุสมบัติ และนายปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ เป็นที่ปรึกษาอยู่ ขณะที่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ก็มีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นที่ปรึกษา, พรรคมัชฌิมาธิปไตย ก็มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นที่ปรึกษา

ส่วนพรรคพลังประชาชน ยิ่งไม่น้อยหน้า เพราะไม่เพียงมีอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างนายเนวิน ชิดชอบ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นที่ปรึกษาเท่านั้น แต่ยังมีข่าวว่า บุคคลทั้งสองได้แสดงบทบาทราวกับเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชาชนเสียเองด้วยการร่วมกำหนดตัวผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วน โดยตัดโผผู้สมัครเดิมในกลุ่ม 6 พื้นที่กรุงเทพฯ-นนทบุรี-สมุทรปราการ ทิ้ง 2 คน(นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และนายคณวัฒน์ วศินสังวร) แล้วนำชื่อ 2 แกนนำ นปก. นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ มาเสียบแทน ส่งผลให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรคพลังประชาชนไม่พอใจเป็นอันมาก

และบทบาทของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเหล่านี้ กำลังจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่เพียงแต่ตั้งท่าช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครพรรคที่ตนเชียร์หรือเป็นที่ปรึกษาอยู่ ด้วยการเดินสายช่วยหาเสียง หรือถ่ายรูปคู่กับผู้สมัครเพื่อทำป้ายหาเสียง หรือเตรียมขึ้นเวทีเพื่อช่วยปราศรัยเรียกคะแนนให้กับผู้สมัคร แต่ในส่วนของพรรคพลังประชาชนนั้น ถึงกับประกาศก่อนหน้านี้ว่า เตรียมต่อสายให้ พ.ต.ท.ทักษิณปราศรัยสดตรงจากลอนดอนสู่ท้องสนามหลวงเพื่อเรียกคะแนนให้พรรคเลยทีเดียว!?!

ร้อนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องมอบหมายให้คณะกรรมการด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ของ กกต.ที่มีนายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นประธาน ประชุมชี้ขาดว่า 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ สามารถเข้ามามีตำแหน่งใดใดในพรรคการเมืองต่างๆ ดังที่เป็นอยู่ขณะนี้ได้หรือไม่ และสามารถแสดงบทบาททางการเมืองได้เพียงใด?

แต่ดูเหมือนผลการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 พ.ย.จะได้ข้อสรุปในบางประเด็นเท่านั้น ไม่สามารถยุติปัญหาหรือความคลุมเครือทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้

นายบุญทัน ดอกไธสง รองประธานคณะกรรมการด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมแทนนายนรนิติที่ติดภารกิจ เผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า นอกจาก 111 อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทยจะไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคใหม่ได้ตามมาตรา 97-98 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 แล้ว บุคคลเหล่านี้ต้องไม่เข้าไปกระทำการหรือใช้อำนาจเสมือนเป็นผู้บริหารพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคต่างๆ ด้วย มิฉะนั้นอาจขัดต่อกฎหมาย

“มติที่ประชุมก็เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้ง เราก็คงจะต้องยึดมาตรา 97 และ 98 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป(ต้องไม่ไปมีส่วนในการจัดตั้งพรรคใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค) แต่ในมาตรานี้ไม่ปรากฏว่าห้ามการกระทำในเรื่องอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 17-18-19 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น บุคคลที่ไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีตำแหน่งที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นในพรรคการเมือง ได้เข้าไปใช้อำนาจหน้าที่หรือกระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับกรรมการบริหารพรรค ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำเช่นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งอาจถือได้ขัดมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550”

ส่วนประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ยังคลุมเครืออยู่ ไม่ว่าจะเป็น 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยสามารถถ่ายรูปคู่กับผู้สมัครพรรคต่างๆ เพื่อใช้หาเสียงได้หรือไม่? หรือช่วยผู้สมัครปราศรัยหาเสียงได้หรือไม่? หรือถ้าผู้สมัคร ส.ส.มีสามีเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะใส่ชื่อสามีในป้ายหาเสียงได้หรือไม่? ฯลฯ คณะกรรมการด้านกิจการพรรคการเมืองฯ ขอเก็บไว้ประชุมต่อในวันที่ 21 พ.ย. ซึ่งยังไม่แน่ว่า จะได้ข้อสรุปสักกี่ประเด็น เพราะคณะกรรมการฯ บอกว่า มีเรื่องที่ร้องเข้ามาให้พิจารณามากกว่า 70 ประเด็น และคณะกรรมการฯ คงทำอะไรมากไม่ได้ เพราะมีหน้าที่แค่ให้คำแนะนำ กกต.เท่านั้น ซึ่ง กกต.ก็เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอยู่แล้ว

ขณะที่ นายศรีราชา เจริญพานิช 1 ในคณะกรรมการด้านกิจการพรรคการเมืองฯ และเป็น 1 ใน 35 คณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.2550 พูดถึงบทบาทของ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองว่า ส่วนตัวแล้วมองว่าควรยึดเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ชั้นกรรมาธิการยกร่าง รธน.คือไม่ต้องการให้ “คนชั่ว” หรือคนไม่ดีเข้ามาเล่นการเมือง ดังนั้นต้องพิจารณาว่าอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ เพราะการถูกตัดสิทธิทางการเมือง ก็เพื่อลงโทษไม่ให้คนเหล่านี้เข้ามาก่อกวนหรือทำอะไรในกิจกรรมการทางเมือง หากตนเองทำผิดกติกาแล้ว ยังจะมาหลีกเลี่ยงกฎหมาย ใช้ความเป็น “ศรีธนญชัย” เข้ามาขอมีส่วนร่วมทางการเมือง ก็จะทำให้เมืองไทยไม่เจริญหากมีคนแบบนี้อยู่

ด้าน นายเดโช สวนานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ มองบทบาทของ 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิว่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้แค่ไหนว่า ในแง่ตัวบทกฎหมายหรือลายลักษณ์อักษร อาจจะมีข้อห้ามแค่ 10 กว่าข้อ ไม่ได้รวมถึงว่าอดีตกรรมการบริหารเหล่านี้สามารถช่วยผู้สมัครหาเสียงได้หรือไม่ หรือเข้าไปมีบทบาทในพรรคต่างๆ ได้หรือไม่ แต่ก็เป็นเรื่องของ “มารยาท-คุณธรรม-จริยธรรม” ที่ผู้ถูกตัดสิทธิเหล่านี้ควรจะทราบดีว่า ทำอะไรได้แค่ไหน

“ถ้ามองในตัวกฎหมายจริงๆ เขากำหนดไว้เสร็จว่า ให้ทำอะไรไม่ได้บ้าง กฎหมายลูกเขียนไว้เรียบร้อย รวมทั้ง รธน.กำหนดไว้ ทำไม่ได้ประมาณ 12 รายการ สมัครผู้แทนไม่ได้, ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่ได้ ,สมัคร ส.ว.ไม่ได้, ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติไม่ได้, จัดพรรคการเมืองไม่ได้ เป็นต้น แต่ที่เหลือจากอันนั้นเนี่ย ไม่พูดไว้ มันเป็นเรื่องของมารยาท มันเป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องมารยาท เมื่อเขาไม่ให้(ผู้ถูกตัดสิทธิ) ยุ่งเกี่ยว(กับกิจกรรมทางการเมือง) ก็ไม่น่าจะต้องไปยุ่งเกี่ยว ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

“(ถาม-แล้ว 111 คนที่ถูกตัดสิทธิ ไปขึ้นเวทีช่วยปราศรัยหาเสียงได้มั้ย?) ก็เถียงกันอยู่ตรงนี้ล่ะ หลักการเดิมก็คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเนี่ย จะห้ามกันเหรอ ห้ามไม่ให้พูดหรือ การห้ามไม่ให้พูดเป็นเรื่องใหญ่มากนะ อย่างเสรีภาพของหนังสือพิมพ์เนี่ย ห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ เราบอกว่าห้ามไม่ได้ ขัดกับ รธน.เลยทีเดียว รธน.บอก ห้ามไม่ให้ห้าม เป็นเสรีภาพที่บริบูรณ์ นี่ก็เหมือนกัน แสดงความคิดเห็น บอกว่าพรรคนี้เขาดี เราเชียร์พรรคนี้ ถ้าเขาขึ้นพูดอย่างนั้น มันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานอยู่เหมือนกัน นี่ก็เป็นเรื่องที่ อ.นรนิติจะต้องตัดสินให้ได้ ชี้แจงออกมาให้ได้ว่า ทำได้หรือไม่ได้ ตัวผมเองคิดว่าเป็นเรื่องมารยาท คือหลักการทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้ามารยาทน่ะ ไม่ควรทำ โธ่! เขาบอกว่าตัดสิทธิ 5 ปี ก็อย่าไปยุ่งกับเขา(พรรคการเมือง) 5 ปีก็เท่านั้นเอง ทีนี้คนเราถ้า “เอาสีข้างเข้าถู” ดูแต่ตัวลายลักษณ์อักษร ไม่ดูเจตนารมณ์ ก็ตีความไปได้ต่างๆ นานา มันก็ร้อนไปถึงกรรมการต้องเป็นผู้ชี้ขาด นั่นก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ขาด”

นายเดโช ยังยกตัวอย่างด้วยว่า จริงๆ แล้ว อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง น่าจะดู “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” อดีตหัวหน้าพรรคมหาชนเป็นตัวอย่าง เพราะเคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเช่นกัน แล้วก็อยู่อย่างเงียบๆ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด

ขณะที่ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเคยเป็น 1 ในกรรมาธิการที่พิจารณากฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.-พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง-พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.) มองบทบาทของ 111 อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิว่า สามารถช่วยผู้สมัครพรรคต่างๆ ปราศรัยหาเสียงได้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถใช้อำนาจหรือทำหน้าที่เสมือนกรรมการบริหารของพรรคนั้นๆ ได้

“ในเรื่องของการช่วยหาเสียง ทำได้ เพราะเขาก็ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นคนที่รักชอบ มีความรู้สึกถูกใจในพรรคและมาช่วยงานพรรค อันนั้นเนี่ยทำได้ จะเป็นสมาชิกพรรค เขาก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องถือเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งในการที่คุณจะมาช่วยให้ใครที่คุณรักคุณชอบในการหาเสียง แต่ในส่วนที่เป็นการไปกำหนดตัวผู้สมัคร ไปจัดโผ ไปเข้าร่วมประชุม ไปทำตัวเป็นที่ปรึกษา ไปทำอะไรก็ตามที่มันเป็นไปในลักษณะที่คุณทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นกรรมการหรือทำหน้าที่ในพรรคในฐานะที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่คนที่อยู่ในพรรคคนหนึ่งหรือสมาชิกพรรคธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่ส่อไปในทางที่เป็นกรรมการอะไรพวกนี้ มันก็ต้องตีความว่าเป็นกรรมการ เพราะฉะนั้นอย่างนี้ทำไม่ได้ ถ้าเกิดทำต้องถือว่ามีความผิด เพราะเขาห้ามคุณเป็นกรรมการแล้ว ถ้าเกิดคุณไปเป็นกรรมการก็ถือว่าผิด”

ดร.เจษฎ์ เผยด้วยว่า ตอนพิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมือง มีผู้เสนอด้วยว่า ให้กำหนดไปเลยว่า “ห้ามนอมินี” - “ห้ามผู้ที่ถูกตัดสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่ากรณีใด” แต่คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าน่าจะปฏิบัติเช่นเดียวกับประเทศอื่น คือให้เป็นเรื่องของ “มารยาท” ที่ผู้ถูกตัดสิทธิน่าจะทราบดีว่าควรทำอะไรแค่ไหน

“เรื่องนี้เรียนตรงๆ ว่ามีผู้เสนอเข้ามาว่าให้กำหนดไปเลยว่า ห้ามนอมินี ให้กำหนดไปเลยว่า ห้าม 111 คน หรือห้ามคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองไปพร้อมๆ กับการยุบพรรค เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองใดใดทั้งสิ้นเลย มีคนเสนอเข้ามา แต่เราอภิปรายกันแล้วเรามองว่า เรื่องราวเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ประเทศอื่นๆ เขาเป็นเรื่องมารยาท ถ้าเราจะพัฒนา เราก็ควรจะให้มันเป็นเรื่องของมารยาท และมาดูกันไป ถ้าเกิดปล่อยไว้แล้ว คนเหล่านี้มันไร้มารยาท ก็อาจจะต้องไปออกเป็นกฎหมาย เนื่องจากว่าสูตรของประเทศไทยอาจจะใช้แบบประเทศอื่นไม่ได้ คนอื่นเขาอาจจะมีมารยาท คนไทยเราอาจจะไม่มี เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตามนั้น แต่ก็ต้องขอให้ได้ลองให้สังคมพัฒนาขึ้นบ้าง”

ด้าน รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองบทบาทของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คนว่า จริงๆ เมื่อถูกตัดสิทธิแล้ว ก็ไม่ควรจะโผล่หน้ามาข้องเกี่ยวกับนโยบายของพรรคต่างๆ หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับหลายๆ พรรคดังเช่นขณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดมากที่สังคมและฝ่ายยุติธรรมปล่อยให้มีสภาพเช่นนี้มาได้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นเมื่อถึงตอนนี้ หากจะเล่นงานอดีตกรรมการบริหารเหล่านี้ ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน คือทุกคนต้องโดนหมด ไม่ใช่เล่นงานเฉพาะอดีตกรรมการบริหารในพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น

“ผมคิดว่า (111 กก.บห.พรรคไทยรักไทย) ไม่ควรจะโผล่หน้าออกมาให้เห็นในเวทีหรือมีบทบาทในการมาข้องเกี่ยวกับนโยบายหรือเกี่ยวกับเรื่องของการเป็นที่ปรึกษา (พรรค) ผมว่าก็ไม่ได้ และทุกพรรคด้วย ผมคิดว่ามันมีอะไรทะแม่งประหลาดมาตั้งแต่ปล่อยให้มี เช่น พรรคเพื่อแผ่นดินก็ท่านสุรเกียรติ์ ท่านสุรนันทน์ เป็นต้น ซึ่งไม่ควรจะมีบทบาท อย่างนั้นเหมือนกับว่าตัดสิทธิแค่การลงรับสมัครเลือกตั้งเท่านั้นเอง อย่างอื่นก็ยังมีอิทธิพลอยู่พอสมควร และจะสังเกตได้เวลาสื่อจะทำข่าวเกี่ยวกับพรรคเนี่ย พรรคเพื่อแผ่นดินหรืออะไร กลับกลายเป็นว่าไปสัมภาษณ์คุณพินิจ คุณปรีชาบ้าง ไม่ได้สัมภาษณ์นักการเมืองที่จะลงสมัครจริงๆ สักเท่าไหร่เลย แทนที่จะสัมภาษณ์ตัวกรรมการ เลขาธิการพรรค กลับกลายไปสัมภาษณ์คนที่เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นเงาใหญ่แผ่คลุมรัศมีพรรค ไม่มีความหมายเลยสำหรับคนที่มาเป็นเลขาธิการพรรคหรือกรรมการพรรค”

“ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา รวมใจไทยฯ เนี่ยบทบาทของหัวหน้าพรรคก็ไม่ชัดเจน คือถึงแม้ว่า พล.อ.เชษฐาจะเป็นคนที่น่าเคารพ รวมใจไทยฯ ก็ถูกมองไปในเรื่องของนักการเมืองชุดเก่าพอสมควร แต่ผมว่าชัดๆ เลย พรรคเพื่อแผ่นดินเนี่ยชัดมากเลย การที่ปล่อยให้คนที่ถูกตัดสิทธิไปแล้ว 111 คน มามีบทบาท รวมทั้งเรื่องของพรรคมัชฌิมาฯ เอง บทบาทของคุณสมศักดิ์ก็ยังอยู่เยอะทีเดียว คิดว่าอย่างนี้เหมือน”เล่นปาหี่” ทีนี้พอถึงเวลาจะมีคนไปเล่นงาน(ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ) จะไปเล่นงานพรรคพลังประชาชนฝ่ายเดียวเนี่ย ก็ไม่ถูก จริงๆ ต้องห้ามหมด ไม่ให้มายุ่งเกี่ยว อยู่เฉยๆ ไม่ได้หรือไง (ถูก) ตัดสิทธิไปแล้วน่ะ ...ต้องโดนหมด กฎหมายมันต้องบังคับเท่ากันหมด จะมาบอกว่าอันนี้มีบทบาทในการกำหนด ส.ส.คุณเนวินมาทำ คุณสุดารัตน์มาทำอย่างนี้ไม่ได้ แล้วพรรคอื่นเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ ไม่รู้จักว่าเมื่อถูกลงโทษ บทบาทหน้าที่ของคนที่ถูกตีกรอบมันคืออะไร”

ส่วนกรณีที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองเลขาธิการและฝ่ายกฎหมายของพรรคพลังประชาชน แถลงยืนยัน (13 พ.ย.) ว่า 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ทุกประการ ยกเว้นที่กฎหมายห้ามไว้ 14 ประการ รวมทั้งยืนยันว่า การที่นายเนวิน ชิดชอบ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรค เข้าให้คำปรึกษาหรือช่วยดูตัวผู้สมัคร ส.ส.ก็ไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมายนั้น อ.ไชยันต์ ชี้ว่า ก็เป็นการยึดลายลักษณ์อักษรอีกตามเคย โดยไม่ดูเจตจำนงของกฎหมายว่าต้องการให้ทำอะไร

อ.ไชยันต์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทุกวันนี้หลายคนเริ่มพูดกันแล้วว่านักการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ทั้งนั้น ทั้งที่การตัดสิทธิทางการเมือง หมายความว่า จะได้เปิดโอกาสให้คนที่เป็น “น้ำใหม่” ได้เข้ามา ไม่ใช่ให้คนเก่ายังมีอำนาจยังมีอิทธิพลอยู่แบบนี้ แล้วอย่างนี้จะมีประโยชน์อะไรจากการตัดสิทธิทางการเมืองที่ผ่านมา!!

เนวิน ชิดชอบ 1 ใน 111 ทรท.ที่มีข่าวว่าร่วมจัดโผผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วนของพรรค พปช.
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 1 ใน 111 ทรท.มีข่าวว่าร่วมเปลี่ยนโผผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วนพรรค พปช.เช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น