xs
xsm
sm
md
lg

อำมาตยาธิปไตยตายแล้ว (จักรภพ ทราบหรือยัง ?)

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

ขอแสดงความเสียใจกับ จักรภพ เพ็ญแข ที่อุตส่าห์ประกาศสงครามประชาชน มุ่งมั่นจะล้มล้าง ระบอบอำมาตยาธิปไตย ลงให้ได้ …นั่นก็เพราะ อำมาตยาธิปไตย ได้ตายไปแล้วพร้อม ๆ กับ รัฐบาลขิงแก่ และ คมช.

จักรภพ เพ็ญแข น่าจะเอาเวลาและความรู้ที่ร่ำเรียนมาไปทำอย่างอื่นเถิด..อย่าได้จมปลักหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้เลย หนึ่งปีที่ผ่านมา ก็ได้ทำเรื่องไม่เข้าท่าไปหลายเรื่องแล้ว

หาก อำมาตยาธิปไตย หมายความถึงระบอบการปกครองที่เหล่าขุนนางอำมาตย์เทคโนแครต กุมอำนาจหลัก กุมทิศทางการบริหารพัฒนาประเทศ อันเป็นระบบที่ครอบงำประเทศไทยมายาวนานกว่า 60 ปี มาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องเพราะพรรคการเมืองอ่อนแอ ดังนั้นระบบราชการและทหารโดยเฉพาะ สภาพัฒน์ฯ เป็นผู้กุมนโยบาย ล่ะก็ .. ขอให้ทราบว่า ระบอบดังกล่าวได้จบสิ้นลงแล้ว

โดยมีการตอกฝาโลงดอกสุดท้ายด้วยน้ำมือของเหล่าขุนนาง อำมาตย์เอง !!

รัฐบาล ขิงแก่ + คมช. เป็นตัวแทนของ อำมาตยาธิปไตยรุ่นสุดท้าย ที่เข้ามาบริหารประเทศ และ ก็เป็นเครื่องยืนยันด้วยตัวของมันเองว่า อำมาตยาธิปไตย ไม่สามารถนำพาประเทศให้เคลื่อนไปข้างหน้า ก้าวข้ามโลกาภิวัตน์ ทั้งยังไม่สามารถวางตัวเองอยู่บนสังคมไทยยุคใหม่ได้

ระยะ 5-6 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา พิสูจน์ได้ในระดับสำคัญว่า สังคมไทยกำลังปรับตัวเองครั้งใหญ่ !

เมื่อสังคมไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เผด็จการทุนธนาธิปไตย กับ อำมาตยาธิปไตย ต่างเผชิญชะตากรรมในลักษณะเดียวกัน สังคมไทยกำลังคัดสรร เพื่อหาระบบที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของมันเอง

เริ่มจาก สังคมไทยได้ปฏิเสธระบอบทุนธนาธิปไตย ที่ใช้เงินเป็นใหญ่ ใช้อำนาจบริหารเบ็ดเสร็จโดยทำลายกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล และหลักเหตุผล

ทุนธนาธิปไตย-ทุนสามานย์ ถูกรัฐประหารโดย อำมาตย์ขุนศึก แต่หากย้อนมองกลับไป ทุนธนาธิปไตยหมดความชอบธรรมและถูกปฏิเสธจากสังคมมาก่อน ไม่สามารถวางตัวเองอยู่บนสังคมเปิด อันประกอบด้วยชนชั้นกลาง ที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร มีความรู้และเท่าทันได้ จึงเป็นช่องให้อำมาตย์ขุนศึกโค่นล้ม

เช่นเดียวกัน อำมาตยาธิปไตย อันเป็นพลังรากฐานแข็งแกร่งยาวนาน ได้ถูก ทุนธนาธิปไตย ลดทอนอำนาจและครอบงำเพื่อใช้เป็นฐานทางการเมืองของตน แม้ว่าจะพยายามพลิกฟื้นสถานะด้วยการสร้างกลไกและกติกาใหม่ หลายอย่างป้องกันมิให้ ฝ่ายการเมืองแทรกแซง โยกย้าย และ ครอบงำ เช่นที่เคยเกิดระหว่างปี 2544-2548 แต่ที่สุดแล้ว อำมาตยาธิปไตย กลับไม่สามารถนำพาและบริหารประเทศเฉกที่เคยทำมาในอดีต

จุดอ่อนที่สุดของ อำมาตยาธิปไตย อยู่ที่เป็นระบบกึ่งปิด ไม่เคยถูกฝึกให้ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ไม่มองประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก ไม่เหมือนกับฝ่ายการเมืองที่ดี ๆ ชั่ว ๆ ก็ยังยึดประชาชนที่เป็นฐานเสียงเป็นหัวใจ เพราะฝ่ายการเมืองรู้ว่า อำนาจจะตั้งอยู่ได้ “ก็ต่อเมื่อ” ประชาชนยอมรับ

อำมาตยาธิปไตย ในความหมายที่ อำมาตย์ ขุนนาง เทคโนแครต กุมอำนาจและทิศทางของประเทศ เหนือ ฝ่ายการเมือง (พรรคการเมือง) มีพลังที่ดูดให้ทุนวิ่งเข้าหานั้น สิ้นสลายไปแล้วโดยปริยาย แม้จะมีนักวิชาการบางกลุ่มพยายามจะชี้ว่า รัฐธรรมนูญใหม่สถาปนาอำมาตยาธิปไตยให้กลับฟื้นคืนชีพก็ตาม เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว กติกาใหม่เอื้ออำมาตยาธิปไตยในประการสำคัญเรื่องเดียวเท่านั้นคือ สร้างเกราะป้องกันมิให้ ฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารเข้ามาครอบงำ แทรกแซง เหมือนเช่นที่เคยเกิดระหว่างปี 2544-2548

หากเหล่าอำมาตย์ ขุนนาง ยังคิดกุมอำนาจ กำหนดทิศทาง นโยบาย เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนประเทศเช่นที่เคยเป็นในศตวรรษที่ 20 ... รัฐบาลดังกล่าวก็จะมีสภาพที่ย่ำแย่กว่ารัฐบาลขิงแก่เป็นอยู่ และจะเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถตั้งอยู่บนฐานอันกว้างใหญ่ไพศาลของประชาชนได้-และต้องถูกปฏิเสธในทางใดทางหนึ่ง !!

จักรภพ เพ็ญแข และพวก กำลังคิดฝันเรื่องใดกันอยู่ ? จะล้มล้างซากศพอำมาตยาธิปไตย เพื่อสถาปนา ทุนธนาธิปไตย ให้กลับฟื้นคืนมาหรือ ?

ขอให้ จักรภพ เพ็ญแข ทราบด้วยว่าสังคมไทยยุคใหม่ ไม่เอาทั้ง อำมาตยาธิปไตย และ ทุนธนาธิปไตยสามานย์

แต่เป็นสังคมประชาธิปไตยที่กำลังปรับตัวครั้งใหญ่โดยมีพลังการเมืองภาคพลเมืองรวมอยู่ในโครงสร้างใหม่ดังกล่าว

...............

การรับสมัครรับเลือกตั้งกำลังดำเนินไปตามครรลองของมัน ซึ่งก็เป็นธรรมชาติที่บางพื้นที่ บางเขต มีผู้ผิดหวังเมื่อตนไม่อยู่ในโผสุดท้าย ใช้เวลาที่เหลือวิ่งหาพรรคใหม่ เหมือนกับการเลือกตั้งหลาย ๆ ครั้งในยุคโน้น ซึ่งเป็นการเมืองที่ ยึดบุคคล และ ฐานคะแนนสนับสนุนในพื้นที่เป็นสำคัญ นโยบาย อุดมการณ์ การรับผิดชอบต่อประชาชน เป็นเรื่องรองลงมา

อย่าได้แปลกใจ เพราะสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 อาจได้เห็นภาพข่าวผู้พลาดหวังเปลี่ยนสีเสื้อย้ายพรรคกะทันหันภายในวันเดียว เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น – กันอีกสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ใครจะเป็นรัฐบาล ใครผสมกับใคร – เป็นแค่ละครสั้น ๆ อีกฉากหนึ่งในปลายปีนี้ หากไม่มีอะไรไปเปลี่ยนกำหนดเดิม แต่ขอให้ทราบว่า สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศทางการเมืองใหม่ ถูกกำหนดโดยปัจจัยของกติการัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอยู่ค่อนข้างมาก เป็นกติกาที่เปิดช่องให้เกิดการต่อรอง ดุล และ ถ่วงอำนาจ มากกว่าฉบับที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรองรับพลังทางการเมืองของภาคพลเมือง

ย้อนกลับไปครั้งที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ใหม่ ๆ ผู้ที่ฉวยโอกาสใช้กติกาใหม่เพื่อประโยชน์ตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดคือ ไทยรักไทย มีประสิทธิภาพถึงขนาดที่มองเห็นจุดอ่อน ช่องโหว่ ใช้วุฒิสภาเป็นช่องทางเปิดประตูเพื่อเข้าไปแทรกแซง และ ครอบงำ องค์กรอิสระ ทำลายระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล จนถึงขนาดที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวต้องกล่าวว่า รัฐธรรมนูญตายแล้ว

กติกาใหม่ สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศทางการเมืองใหม่ ได้เริ่มขึ้นด้วยการเลือกตั้ง แต่ทั้งหมดมันเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย กำลังอยู่ในรอยต่อของการปรับตัวเองครั้งใหญ่ ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างการสร้างบ้าน อาจมีนั่งร้าน เศษอิฐปูน คนงานก่อสร้างสกปรกรกรุงรัง ขอให้ทำใจเพราะมันเป็นธรรมชาติเพราะที่สุดแล้วกระบวนการสร้างย่อมมีของสกปรก ปฏิกูลเหล่านี้เป็นผลพลอยได้ออกมา สักวันก็ต้องกำจัดปัดกวาดออกไป

อย่าได้คาดหวังว่าจะได้การเมืองเหมือนดั่งใจหลังการเลือกตั้ง หวังมาก ก็ย่อมผิดหวังมากเป็นธรรมดา-ใช่ไหม !!

...............

หมายเหตุปิดท้าย – กราบเรียนท่านผู้อ่าน เนื่องด้วยผู้รับผิดชอบติดภารกิจซึ่งจะไม่สามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อน คอลัมน์คนปนข่าว โดย เซี่ยงเส้าหลง และ ทีมข่าวการเมือง ได้อย่างราบรื่นต่อเนื่องเป็นปกติ จึงขออภัยที่ต้องหยุดการนำเสนอเป็นการชั่วคราวสักระยะหนึ่ง – จนกว่าจะได้พบกันใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น