xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านหลักไมล์ 19 สิงหาคม 2550 สู่ Mission impossible?

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง


.
ณ เวลาปิดต้นฉบับการลงคะแนนเสียงยังไม่แล้วเสร็จ.. อย่างช้าเช้ามืด จันทร์ 20 สิงหาคม 2550 ชาวไทยคงทราบผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญกันถ้วนหน้า และจะทำให้มองแนวโน้มการเมืองไทยระยะต่อจากนี้ได้ชัดเจนขึ้น

ช่วงสุกดิบโค้งสุดท้าย มีข่าววงใน “ผลโพลภายใน” จากมหาดไทยหลุดออกมา ทำให้หน่วยงานที่ต้องวิเคราะห์ข่าวต่อทั้งหน่วยงานภายใน รวมไปถึงบรรดาสถานทูตต่างประเทศ ซึ่งต้องสรุปแนวโน้มสถานการณ์สำคัญ ๆ เตรียมไว้ - ต้องหยิบมาใช้อ้างอิงในเอกสารแนบ จัดเป็น แนวโน้มที่สำคัญที่อ้างอิงได้ หากสังเกตจะสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่หยิบผลโพลนี้มารายต่อ-ตรงกัน

ผลสำรวจภายในโดยสรุปก็คือ คะแนนประชามติจะชนะกันไม่มาก – สูสียิ่ง!

ภาคใต้ – แม้จะรับร่างมาก แต่มีประชากรน้อย และ มีคนมาลงคะแนนน้อย

ภาคกลาง – สูสีมาก รับ ไม่รับ ก้ำกึ่ง

ภาคอีสาน – กลุ่มอีสานใต้ฝั่งชายแดน แนวโน้ม ไม่รับ เหนือกว่า อีสานเหนือ อุดรธานีปักธงแดง

ภาคเหนือ – กลุ่มเหนือตอนบนที่มั่นไทยรักไทยเดิม แนวโน้ม คว่ำร่างมากกว่า

กรุงเทพฯ – รับ มากว่า ผ่านแน่นอน

............................

สมมติ หากผลการลงประชามติ เป็นไปตามโพลนี้ นั่นคือ กลุ่ม - บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ กลุ่ม หนองบัวลำพู อุดรธานี กลุ่มภาคกลางรอบกรุงเทพฯ และภาคเหนือตอนบน ไม่รับ เป็นหลัก หรือคะแนนสูสีต้องใช้ภาพถ่าย-วัดกันถึงบัตรชุดสุดท้าย ก็ต้องยกนิ้วให้กระทรวงมหาดไทย – ยอมรับความขลังของวิทยากรแม่ไก่ และลีลาดั้งเดิมที่สังคมยอมรับว่าวิทยายุทธ์งานด้านมวลชนของชาวคลองหลอดนั้นไม่ได้มาด้วยโชคช่วย

มหาดไทย เป็นกระทรวงที่มีเครือข่ายแผ่ลงไปถึงระดับราก คลุมไปทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร นั่นคือ กลไกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ..

วิธีการสำรวจใช้แบบฟอร์มให้ ผู้ใหญ่บ้าน หรือ ผู้ช่วยฯ หรือ คนที่ใกล้ชิดและนายอำเภอไว้ใจซึ่งก็คือด้านหนึ่งของเครือข่ายไม่ไก่ ไปกรอก.. คนเหล่านี้เป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับคนแทบทุกคน รู้ว่าบ้านไหนเอียงข้างกลุ่มใดเป็นอย่างดี ถามว่า จะไปลงคะแนนจำนวนเท่าไหร่ รับกี่คน และ ไม่รับกี่คน ...

วิทยายุทธ์แบบนี้ได้รับการยอมรับมาแต่ดั้งเดิม ก็คือ ตั้งแต่ยุค พิศาล มูลศาสตร์สาทร เรื่อยมาถึงยุคปลัดกระทรวงที่ชื่อ อารีย์ วงศ์อารยะ ว่า แม่นยำกว่าการสุ่มสำรวจโดยใช้กลุ่มตัวอย่างตามหลักสถิติที่ต้องไปร่ำเรียนจากเมืองนอกเมืองนา หลายเท่าทีเดียว

แต่นั่นเอง – หากผลประชามติครั้งนี้ ไม่เป็นไปตามโพลมหาดไทยล่ะ !!!!

คนมหาดไทยต้องทบทวนครั้งใหญ่ว่าอิทธิฤทธิ์และความขลังของระบบกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและต้องทบทวนความเชื่อถือเดิม ๆ ที่ว่า หากเป็นงานมวลชนต้องยกให้มหาดไทยไปทำถึง - -ขั้นต้องยกเครื่องครั้งใหญ่

สำรวจความเห็นคนในวงการวิเคราะห์ข่าว จากหลากหลายหน่วย – บางส่วนเขาไม่เชื่อน้ำมนต์ของมหาดไทยหรอก

เหตุผล - การสำรวจโดยใช้กลไกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน แม่นยำเฉพาะในเขตชนบทเท่านั้น จังหวัดเล็กน่าเชื่อถือมากเช่น แพร่ น่าน หนองบัวลำพู พัทลุง ฯลฯ

แต่สำหรับจังหวัดใหญ่ ประเภทหัวเมือง ได้แก่ สงขลา นครสวรรค์ โคราช ขอนแก่น เชียงใหม่ อุดรธานี ฯลฯ เชื่อว่าโพลมหาดไทยไม่แม่นพอ

นั่นเพราะว่าในหลายจังหวัด ตัวเมืองได้ขยายจากเขตอำเภอเมือง ออกไปสู่อำเภอรอบ ๆ ยกตัวอย่างเช่นที่ เชียงใหม่ – ตัวเมืองขยายออกไปคลุม แม่ริม สันทราย ดอยสะเก็ด สันกำแพง หางดง มีหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ตั้งแต่ ระดับ 100ไปถึง 1,000 หลังคาไปตั้งอยู่ในพื้นที่ –ประชากรครึ่งหนึ่งของจังหวัดอยู่ในเขตนี้

ตัวเมืองของขอนแก่น กระจายไปยัง ชุมแพ น้ำพอง บ้านไทย ส่วนโคราช มีชุมชนใหม่อยู่ทั้งสูงเนิน โชคชัย

ไม่มีทางที่กำนัน หรือ ผู้ใหญ่บ้านจะรู้จักชนชั้นกลางคนทำงาน - เช้าเข้าเมือง เย็นเข้าบ้าน ซึ่งมีฐานะเป็น “ลูกบ้าน”ของพวกเขาได้เลย

แม้จะพยายามทำหน้าที่พนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายฉบับใหม่ตอบสนองเจ้านายมหาดไทยอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม

ประชากรประมาณครึ่ง หรือ เกือบครึ่งของจังหวัดที่กระจุกอยู่ในเขตเมือง กระจายอยู่ในหลายอำเภอ ดังนั้นชนชั้นกลางกลุ่มนี้เองที่ทำให้โพลมหาดไทยไม่ขลัง

และที่สำคัญการเร่งจัดตั้งเครือข่ายวิทยากรแม่ไก่ มีการสอดไส้ชื่อปลอม -มีไข่ลม แฝงมาจำนวนหนึ่ง

ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ที่ผลจากการลงประชามติครั้งนี้ผิดไปจากโพลภายในไปคนละทิศเลย.. อาจจะต้องให้ชาวมหาดไทย...ไปทบทวนตนเองครั้งใหญ่ ..!

..........................

การลงประชามติครั้งนี้ คือ ด่านสำคัญ- ก่อนการคืนอำนาจให้ประชาชน เหลือเวลาอีกไม่มาก ...รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พยายามจะนำเสนอภาพตนเองว่า เข้ามาเพื่อวางรากฐานให้สังคมไทยก่อนจะส่งคืนอำนาจและให้ประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

ภายใต้ระยะเวลาที่เหลือเพียงไม่กี่เดือนจากนี้ ยากจะเชื่อได้ว่า ภารกิจวางรากฐานให้กับสังคม ที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศไปนั้นจะสัมฤทธิ์ผล

จากความวุ่นวายทางการเมืองตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีมานี้ ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าฝ่ายไหนล้วนกล่าวถึงเป้าหมาย การปฏิรูปการเมือง เพื่อจะทำให้สังคมหลุดพ้นจากวังวนปัญหาเก่า ปัญหาเดิม หากแต่เงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่ การปฏิรูปการเมือง-การพัฒนาประชาธิปไตย นั้นก็คือจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญว่าด้วย

>> การปฏิรูปสื่อ – ซึ่งยังไม่ไปไหน แม้แต่กรณีทีไอทีวี.ก็ยังคาราคาซัง

>> การสร้างค่านิยมใหม่เรื่องคุณธรรม ปฏิเสธการทุจริต

>> การสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน สร้างการเมืองภาคพลเมืองให้เป็นจริง

หากสังคมไทยยังคิดว่า โกงไม่เป็นไร ขอให้ทำงาน – เป็นปกติของนักการเมืองที่จะมีโกงกินบ้าง - รวยจากโกงดีกว่าซื่อสัตย์แล้วยากจน หรือแม้แต่ หากรักจะก้าวหน้าต้องยอมโกงตามนายสั่ง ... ฯลฯ

หากยังเป็นเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ยากที่จะสกัดกั้นขบวนการการทุจริตฉ้อฉลทางอำนาจ การร่วมมือกัน
ระหว่าง ทุน+นักการเมือง+ระบบราชการ อำมาตย์ ขุนนาง แบบที่เคยเป็นมา ...

ระบอบทักษิณไม่ได้หายไปไหนเลย !!!!

..........................

จริงอยู่ที่ ขบวนการสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมใหม่ให้กับสังคมเป็นงานใหญ่-ยาก ต้องทุ่มเททรัพยากรและพลังแรงกายจากทุกฝ่าย ระดับที่ต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติ มิใช่ภารกิจของหน่วยงานหนึ่งใด
หากขิงแก่ คิดจะลงจากเก้าอี้อย่างสง่างาม อย่างที่หลายคนในรัฐบาลคิดฝันกันอยู่ แบบที่ไม่กล้าไปแตะต้องข้องแวะกับเรื่องหักหาญ หรือไล่ตรวจสอบทุจริต …

ก็ไม่ต้องมาประกาศว่า รัฐบาลนี้จะวางรากฐานให้กับสังคมไทย

กระทรวงเกษตรฯ แตะแค่เรื่องกล้ายางเล็ก ๆ ไม่ยุ่งเรื่องอื่น ตั้งกรรมการสอบซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ เช่น กรณีทุจริตพืชสวนโลก

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เด็กของรัฐมนตรีเก่ายังเสวยอำนาจเรียกรับเงินโยกย้ายเลื่อนตำแหน่ง รอเวลาผงาดรับนักการเมืองจากการเลือกตั้งรอบหน้า

หรือแม้กระทั่งกระทรวงเล็ก ๆ งบประมาณน้อย ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีที่ภาพลักษณ์สะอาดอย่าง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ รองฯไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นั่งกำกับอยู่ ก็ไม่เว้น...งบน้อยก็กินคำน้อยตามอัตภาพ - ซี. 8 ซี. 9 สายประชาสงเคราะห์คนใดเข้าข่าย คนในกระทรวงรู้กันดี

น่าเสียดาย ..รองนายกรัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้มีภาพลักษณ์สวยงาม พยายามสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้กว้างขวาง แต่มีจุดอ่อนสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่พยายามแตะต้องการเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น เช่น การส่อว่ามีการทุจริตและการใช้อำนาจมิชอบ ใน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) อย่างกรณี งาบส้วม 8 หลังเล็ก ๆ 11 ล้านบาท การใช้อำนาจเกินขอบเขตละเมิดกฎหมายใหญ่กว่า ฯลฯ ..หลีกเลี่ยง-ไม่แตะ

เป้าหมายต้องการลุกออกจากเก้าอี้อย่างพ่อพระ หลีกเลี่ยงการปะทะ สร้างความขุ่นแค้น เป็นเป้าหมายส่วนตัวที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางการวางรากฐานด้านคุณธรรม-ป้องกันทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลที่ประกาศต่อสาธารณชน

ที่สำคัญ นี่คือ หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสร้างรากฐานใหม่ให้สังคมไทย !

..........................

การเมืองไทยผ่านหลักไมล์สำคัญไปแล้ว...นับเวลาถอยหลังเหลือไม่กี่เดือน

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อล้างความไม่ดีงามของสังคม และความคาดหวังของประชาชนที่แซ่ซ้องต้อนรับรัฐบาลขิงแก่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว การแถลงนโยบายรัฐที่สวยหรูอลังการ โปร่งใส ประสิทธิภาพ ประหยัด เป็นธรรม และปฏิรูปการเมือง วางรากฐานใหม่ให้สังคม คือ คำมั่นสัญญา-ภารกิจที่ให้ไว้ต่อปวงประชาชนชาวไทย

น่าสงสัยยิ่ง...ที่ผ่านมาหลายเดือนนั้น …..

ทำไม่ได้ หรือ ไม่ทำ !!

……………


กำลังโหลดความคิดเห็น