คตส.ตามล่าอายัดเงิน “โอ๊ค-ยิ่งลักษณ์” เพิ่มอีก 232 ล้าน ขณะที่กรมสรรพากรเตรียมปิดหมายประจานเรียกเก็บภาษี “โอ๊ค-เอม” หมื่นกว่าล้านหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า แต่บริวาร “แม้ว” รู้ทันรีบเซ็นรับหมายแทน โฆษก คตส.ลั่น ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ไม่งั้นเจอยึดทรัพย์ขายทอดตลาด
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในช่วงบ่ายมีการประชุมคณะกรรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อพิจารณาความคืบหน้าในคดีต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยภายหลังการประชุม นายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. แถลงว่า คตส.มีมติอายัดทรัพย์ในบัญชีเงินฝากในธนาคารและสถาบันการเงินที่ครอบครัวบุตร บริวาร ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติม เนื่องจากพบว่ามีการเคลื่อนย้ายเงินหลังจากที่ คตส.มีมติอายัดทรัพย์ไปก่อนหน้านี้จำนวน 232 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีเงินฝากของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ วงเงิน 202 ล้านบาท ที่มีการนำไปลงทุนในกองทุนเปิดแอสเซทพลัส นิปปอนโกรท ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแอสเซทพลัส จำกัด และในส่วนของ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นแคชเชียร์เช็ค ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขานานาเหนือ สั่งจ่ายบริษัท ไวท์แอนด์เคส (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 12 ฉบับ เป็นเงิน 30 ล้านบาท
นายสัก แถลงด้วยว่า นอกจากนี้ นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ กรรมการ คตส.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ได้รายงานการประเมินเรียกเก็บภาษีนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร โดยอธิบดีกรมสรรพากรได้ประเมินภาษีของบุคคลทั้งสองเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.โดยเรียกเก็บภาษีของนายพานทองแท้ 5,900 ล้านบาทเศษ น.ส.พิณทองทา 5,900 ล้านบาทเศษ โดยมีการคิดเงินเพิ่มถึงวันที่ 31 ส.ค.ซึ่งกรมสรรพากร ได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวไปให้บ้านเลขที่ 472 จรัญ 69 บางพลัด กทม.แล้ว แต่ปรากฏว่า ไม่มีผู้รับ มีการส่งหนังสือกลับคืนมา จากนั้นได้เชิญทนายมารับแทน ก็ไม่มีใครมารับ
นายสัก กล่าวว่า ดังนั้น ในวันเดียวกันนี้ กรมสรรพากรได้เตรียมไปปิดหนังสือประเมินภาษีที่บ้านเลขที่ดังกล่าว แต่ได้มีคนมาเซ็นรับหนังสือแทน ดังนั้น บุคคลทั้งสองจะต้องยื่นอุทธรณ์ภาษีภายใน 30 วัน ซึ่งจะต้องวางเงินประกันในการอุทธรณ์เท่าจำนวนทรัพย์ที่ถูกประเมิน คือจำนวน 1.1 พันล้านบาท หากไม่มีการอุทธรณ์และวางหลักทรัพย์ค้ำประกันใน 30 วัน จะถือว่าเป็นภาษีค้าง อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจยึดทรัพย์สินแล้วนำมาขายทอดตลาด เพื่อชำระค่าภาษี โดยอาจอายัดทรัพย์ที่เป็นเงินในสถาบันการเงิน หรือที่ดินก็ได้ แต่ไม่มีอำนาจไปยึดเงินในต่างประเทศได้ ทั้งนี้ บุคคลทั้งสองจะนำเงินที่ถูก คตส.อายัดทรัพย์มาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือจ่ายเป็นค่าภาษีไม่ได้ เพราะเงินดังกล่าวไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ได้ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ทรัพย์เป็นที่สิ้นสุด
นายสัก กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อนุมัติออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในคดีจงใจหนีนัดศาลในคดีที่ดินรัชดาฯ โดยให้อัยการนำตัวส่งศาลภายในวันที่ 25 ก.ย.ว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เดินทางเข้าประเทศ หรือมีใครพบตัวที่ไหนในประเทศ ก็สามารถจับได้เลย เนื่องจากศาลมีหมายจับแล้ว แต่ถ้าอยู่นอกประเทศก็เป็นหน้าที่ของอัยการที่จะต้องประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาใช้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน และติดตามหาตัวจำเลยทั้งสองในประเทศที่พำนักอยู่ โดยจะต้องพิจารณาว่าประเทศที่อยู่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ซึ่ง คตส.ไม่เกี่ยวข้องในขั้นตอนดังกล่าว แต่พร้อมเป็นพยานในกรณีที่ถูกเรียกไปสอบ