xs
xsm
sm
md
lg

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน-ไทยรักไทย กับ Carnation Revolution แห่งศตวรรษที่ 21

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง


การปฏิวัติคาร์เนชั่น - Carnation Revolution คือการทำรัฐประหารโดยปราศจากความรุนแรง สร้างรากฐานให้โปรตุเกสเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ยั่งยืนมาถึงปัจจุบัน

สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตประจำโปรตุเกส พูดถึงเรื่องนี้ มาตั้งแต่ มีนาคม 2549

ปัจจัยภายนอกมีผลส่งให้โปรตุเกสตั้งหลักเป็นประชาธิปไตยเต็มตัวเร็วขึ้น --ยุโรปเมื่อปี 2517 เป็นยุโรปที่กำลังทำสงครามเย็น โปรตุเกสเองก็เข้าเป็นสมาชิก NATO มาตั้งแต่ พ.ศ. 2492

ยุโรปตะวันตก อยู่ภายใต้กระแสหลักของอุดมการณ์การสร้างประชาธิปไตยเพื่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยหลังจากโปรตุเกสปฏิวัติคาร์เนชั่น สเปน และ กรีซ ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกัน

กระแสหลักของยุโรปตะวันตก และความตื่นตัวของประชาชนช่วยพยุงให้โปรตุเกส กรีซ สเปน เป็นประชาธิปไตยยั่งยืนอย่างรวดเร็ว

บริบทแวดล้อมภายนอกและภายในของเอเชียอาคเนย์ ไม่เหมือนโปรตุเกส ในยุคเดียวกันนั้นไทยนั้นเพิ่งผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และอยู่ในกระแสขัดแย้งทางอุดมการณ์ นำมาสู่ยุคขวาจัด-ประชาธิปไตยครึ่งใบ มีรัฐประหารหลายครั้งระหว่างสู้กับ พคท. ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นเผด็จการทหารที่ตะวันตกชูขึ้นเพื่อต้านคอมมิวนิสต์เช่นกัน

แตกต่างจากยุคนี้สิ้นเชิง

......................

การรัฐประหารรอบล่าสุด 19 กันยายน 2549

เหตุการณ์นี้ละม้ายกับการปฏิวัติคาร์เนชั่น มีประชาชนจำนวนมากแซ่ซ้อง นำดอกไม้-อาหาร-คาวหวาน มอบให้ ทหารเองก็ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่กี่วันต่อจากนั้นก็ระมัดระวังการใช้อำนาจอย่างยิ่ง จนมีผู้กล่าวว่า พยายามดำเนินการด้วยวิถีทางประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลก่อนหน้าเสียอีก

หลายคนตั้งความหวังว่า นี่จะเป็นการถอยหลังเพื่อวางรากฐานประชาธิปไตยยั่งยืน

เป็น Carnation Revolution แห่งศตวรรษที่ 21 ?

เป็น-ได้ หรือ เป็น-ไม่ได้ ไม่ได้ขึ้นกับทหารฝ่ายหนึ่ง และประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง !

การปฏิวัติในศตวรรษที่ 21 มีความซับซ้อนและต้องระมัดระวังในการจัดการ-ปฏิบัติการ แตกต่างจากยุคก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด

พัฒนาการของสังคมไทย ที่ผ่านบทเรียนการนองเลือดบนท้องถนนมา 3 รอบ,สังคมเคยชินกับการได้รับสิทธิเสรีภาพตามวิถีทางประชาธิปไตยมาก่อน,สื่อสารมวลชนก้าวหน้ากว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และผ่านประสบการณ์การเมืองแบบประชาธิปไตยในสภาฯ มานานพอ ..ฯลฯ

บรรทัดฐานการต่อสู้ด้วยมวลชน ก็ยกระดับขึ้นอย่างชัดเจนผ่านการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ทหารเอง ก็มีบทเรียนผิดพลาดในอดีต – จึงระมัดระวังการใช้อำนาจอย่างที่สัมผัสได้ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะทหารเองก็รู้ว่า ทันทีที่กระสุนนัดแรกลั่นขึ้น เป็นอันปิดฉากตัวเองได้ทันที

นี่จึงเป็นเหตุให้มวลชนฝ่ายต่อต้าน ที่แรก ๆ สวมวิญญาณม็อบกระหายเลือดวิ่งไล่กระทืบ อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ถูกกระแสสังคมกดดันให้ปรับกลวิธีที่สันติ-สงบ อยู่ในกรอบมากขึ้น

แล้วหันมาใช้กลยุทธ์ที่เป็นอารยะ (มากขึ้น) มาต่อสู้ เช่น การใช้สื่อและข่าวสาร รวมถึง กลวิธีอื่น ๆ ที่พอยอมรับได้

เหล่านี้เป็นสัญญาณด้านบวก เพราะทุกฝ่ายไม่ต้องการย้อนไปสู่บทเรียนเจ็บปวดในอดีต

และที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าฝ่ายไหนต่างรู้ว่า หากไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน-เขาจะอยู่ไม่ได้ !!!

ทหารถูกเหนี่ยวรั้งและกำจัดการใช้อำนาจเผด็จการ โดยสิ่งที่เรียกว่า การยอมรับจากประชาชน

ม็อบ และเครือข่ายอำนาจเก่า ก็เช่นกัน ...หนทางการกลับสู่อำนาจของพวกเขาคือ เสียงและการยอมรับจากประชาชน

ดังนั้นต้องระมัดระวังที่จะไม่ใช้ปฏิบัติการใด ๆ ที่ประชาชนไม่ยอมรับ เพื่อช่วงชิงอำนาจกลับ

สังคมไทยในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าเผด็จการจากกระบอกปืน ไม่ว่าจะเป็นม็อบต้านรัฐบาลเลือกตั้ง หรือ ม็อบต้านทหาร มีส่วนที่เหมือนกันอย่างยิ่งประการหนึ่ง ก็คือ

การยอมรับจากประชาชน และ...
ต้องปฏิบัติตนให้ “อยู่ในกรอบ” ที่ประชาชนยอมรับ

ภายใต้บรรยากาศของการเมืองที่สับสนอลหม่านระยะเปลี่ยนผ่าน..อย่างน้อยที่สุด เหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นเหล่านี้ เป็นสัญญาณด้านบวกพอจะให้ประชาชนฝันถึงอนาคตที่สดใสภายหน้าได้ - - ไม่ถึงกับเลวร้าย หดหู่ สิ้นหวัง ไปเสียทีเดียว

......................

การเปิดปม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เรื่องการตัดสินใจเล่นการเมืองหลังเกษียณ เป็นเกมที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อก่อให้เกิด “กระแส” อย่างแน่นอน

เวที นปก. ย้ำประเด็น ว่าที่ ส.ส.ลพบุรี ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ นำมาสู่การยิงคำถามผ่านผู้เกี่ยวข้องให้เกิดกระแส

อาศัยกระแสสังคมกดดันอีกฝ่ายปริปากพูดความจริงที่ประชาชนอยากรู้ !!

นี่เป็นเรื่องที่ถูกแล้ว !!
แม้ว่าจะเป็นเกม ที่อาศัยความใคร่รู้และความหวาดระแวงของประชาชนมาเป็นเครื่องมือ แต่มันก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชนด้วย

มันเป็นความหวาดระแวงสืบมาแต่ยุค เสรีมนังคศิลา-สามัคคีธรรม โน่น

แม้เป็นสิทธิ์โดยชอบของ พล.อ. สนธิ จะตอบเช่นไรแต่ก็มีผลต่อกระแสและการเมืองภาพรวมเช่นกัน

ดูจากท่าทีแล้ว พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ระมัดระวังอย่างยิ่งสำหรับเรื่องนี้

เพราะจากประสบการณ์ในอดีต ทหารรู้ว่า หากพลาดไป-ประชาชนรับไม่ได้- จะนำมาสู่ความพ่ายแพ้ในบั้นปลาย

......................

อำนาจเก่าเล่นเกม-ชูความใคร่รู้ของสังคมมาเป็นกระแสกดดันหัวขบวน คมช.

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า “ความอยากรู้ของประชาชน-สิทธิ์ที่เจ้าของประเทศควรรู้” นั้นครอบคลุมถึงฝ่ายอำนาจเก่าด้วยเช่นกัน

สังคมไทย ไม่เคยให้น้ำหนักม็อบกลับกลอก แรกสุดบอกสู้เพื่อเสรีสื่อ ต่อมาประกาศสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบรักแม้ว

สังคมไทย รู้เช่นเห็นชาติกับกลุ่มบางกลุ่มที่ใช้เงินเป็น 10 ล้านบาทเพื่อโฆษณาคว่ำรัฐธรรมนูญว่าได้เงินมาจากไหน ไม่มีการจี้ไชคาดคั้นถาม เพราะรู้ว่าถามไปก็เท่านั้น

แต่สังคมไทย จะให้น้ำหนักกับ กลุ่มการเมืองที่ชื่อว่า ไทยรักไทย เพราะถือว่ามีที่มาที่ไป !!

เกมคว่ำรัฐธรรมนูญ เพื่อจะหยิบรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ ที่ดำเนินการอยู่เป็นสิทธิ์โดยชอบก็จริง

แต่สังคม ยังต้องการคำอธิบายเพิ่ม !

- หากผลประชามติไม่รับ และหยิบ รธน.40 มาใช้ - - กลุ่มไทยรักไทยมีเงื่อนไขเพิ่มอีกหรือไม่ ?
-แต่หากผลออกมารับล่ะ - - กลุ่มไทยรักไทย จะทำอย่างไรต่อ ?
-จะบอยคอตเลือกตั้งใช่หรือไม่ ?
-หรือจะกลืนน้ำลาย ก้มหน้าเลือกตั้งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ?

นี่เป็นเรื่องเดียวกับที่ ประชาชนอยากรู้ว่า พล.อ.สนธิ จะสืบทอดอำนาจหรือไม่ วิธีไหน รับได้ หรือ รับไม่ได้

ถูกต้องตามหลักกลยุทธ์แล้ว - ที่ กลุ่มไทยรักไทย เล่นเกมโดยใช้ความอยากรู้ ความกังวล ความรู้สึกของประชาชนเป็นเครื่องมือ

หากมีคำพูดมัดไว้- ทันทีที่ประชาชนรู้สึกว่า ถูกหลอก– อำนาจนั้นจะตั้งอยู่ไม่ได้

ในทางกลับกัน…
กลุ่มไทยรักไทยเองก็ต้องเคารพประชาชนเช่นกัน ...ไม่ควรบอกความจริงครึ่ง ๆ กลาง ๆ กั๊ก ๆ

ประกาศแคมเปญแบบเปิดไม่หมด
เชิญชวนประชาชนคว่ำรัฐธรรมนูญแต่อมไต๋ไม่ยอมบอกว่าเมื่อผลออกมาจะทำอย่างไรต่อ !

ระวังจะถูกข้อหา หลอกใช้ และ ดูถูกประชาชน เหมือนกัน !!!
จะผูกขาดใช้กลยุทธ์อาศัยกระแสสังคมกดดันอีกฝ่ายปริปากพูดความจริงที่ประชาชนอยากรู้ –ฝ่ายเดียวไม่ได้หรอก !!

นี่ไม่ใช่การย้อนเกล็ดใช้ดาบนั้นคืนสนอง.. แต่เป็นหลักทั่วไปของสังคมการเมืองไทยที่ยกระดับขึ้นมาแล้ว

รัฐประหารในแบบที่ต้องพยายามวางตัวเองบนฐานการยอมรับประชาชนให้ได้ของศตวรรษที่ 21 จะนำมาสู่ประชาธิปไตยยั่งยืนได้หรือไม่ – ยังเหลือเวลาอีกไกลที่จะตัดสิน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเวลานี่แล้วคือ.. แต่ละฝ่ายแข่งกันทำให้ประชาชนยอมรับ-จะทำสิ่งใดต้องสังเกตกระแสยอมรับ !!

นี่เป็นกติกาพื้นฐานของเกมอำนาจยุคใหม่ ที่ฝ่ายทหารรู้และพยายามทำ - มาตั้งแต่ 19 ก.ย.49

(สำเร็จหรือไม่ไม่ทราบ-หรือจะตกม้าตายตอนใกล้จบ?)
เช่นเดียวกันที่ กลุ่มอำนาจเก่าจะต้องรู้และเข้าใจกติกาดังกล่าวด้วย
ท่องไว้ อย่าดูถูกประชาชน.!
กำลังโหลดความคิดเห็น