xs
xsm
sm
md
lg

ว่าแต่ “แม้ว” โกงชาติ ขิงแก่เป็นเอง ออกกฎหมายขายชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ว่าแต่ “แม้ว” โกงชาติขิงแก่เป็นเอง ออกกฎหมายแปรรูปทั้งโคตรสาธารณูปโภคไทย ผช.โฆษกเผย “ฉลองภพ-สมเกียรติ ทีดีอาร์ไอ” อยู่เบื้องหลังกฎหมายขายชาติ อึ้ง!!! ตอบไม่ถูกเหตุไม่มีหลักประกันถูกการเมืองแทรก

นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำหนดกิจการ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมานี้เป็นการกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาภายใต้การดูตรวจสอบอย่างละเอียดจากนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง โดยมีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เป็นผู้ช่วยยกร่าง โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดชัดเจนในเรื่องการกระจายหุ้นที่ไม่จะไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง รวมถึงยังจะเพิ่มหลักเกณฑ์ต่างเพื่อทำให้การแปรรูปมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์ที่จะไม่ทำให้เกิดการผูกขาด เพราะจะทำให้การแข่งขันที่เป็นธรรม

เมื่อถามว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีวิเคราะห์กันหรือไม่ว่า หากมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะทำให้เกิดการต่อต้านจากภาคประชาชนเหมือนรัฐบาลที่แล้ว นายโชติชัย กล่าวว่า ได้มีการหารือเช่นกัน แต่คิดว่าแนวทางและหลักเกณฑ์ที่เขียนขึ้นนี้มีความรัดกุมพอสมควร เพราะมีคณะกรรมการกลั่นกรองหลายชั้น อีกทั้งมีการคานอำนาจและการถ่วงดุลอยู่ในตัวเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทีมงานโฆษกรัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีที่ว่ามีหลักประกันอะไรที่จะไม่ทำให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการกระจายหุ้นและการผูกขาดได้ โดยทีมงานโฆษกรัฐบาลได้แต่นิ่งเงียบและค้นเอกสารอยู่นาน จนกระทั่งนายโชติชัยตอบคำถามว่า เท่าที่สัมผัสผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนายฉลองภพ และนายสมเกียรติ ต่างมีความตั้งใจดีและเขียนกฎหมายอย่างรัดกุมที่สุดแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่คณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะพิจารณาเพิ่มเติมหรือปรับแก้กฎหมายฉบับนี้อย่างไรหรือไม่

สำหรับคำถามที่ว่า หากร่าง พ.ร.บ.นี้ประกาศใช้เท่ากับว่าการแปรรูป กฟผ.จะยังต่อไปใช้หรือไม่ ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามดังกล่าวว่า เข้าใจว่าการแปรรูป กฟผ.ก็อยู่ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ก่อนหน้านี้ พ.ร.ฎ.การแปรรูป กฟผ.ได้ล้มเลิกไป ซึ่งต้องพิจารณาว่า กฟผ.อยู่ใน พ.ร.บ.นี้ด้วยหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งหมด 36 มาตรา โดยมีสาระสำคัญว่า รัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปนั้นจะต้องเป็นกิจการที่มีลักษณะที่เป็นการค้าและให้บริการทั่วไป กิจการที่เป็นการจัดทำและให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน และกิจการซึ่งโดยสภาพของกิจการหรือการลงทุนทำให้มีผู้ประกอบการได้น้อยรายในตลาด การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจึงต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกว่ากิจการใดของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปได้ แต่ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจปัจจุบันนั้น กำหนดเพียงหลักเกณฑ์การแปรรูปให้เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นทุนของบริษัทที่รัฐถือหุ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ยังมีสาระสำคัญอีกว่า โดยมิได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการพิจารณาว่ากิจการใดของรัฐวิสาหกิจที่จะสามารถแปรรูปได้ และมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ ในการกระจายหุ้นแก่ประชาชนหรือบุคคลใดๆ ตลอดจนหลักเกณฑ์อื่นที่จำเป็นในการแปรรูป เป็นต้นว่า การศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบของการแปรรูป การกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลในกิจการที่มีการแปรรูป การรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการแปรรูป การกระจายหุ้นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นจากการแปรรูปแก่ประชาชนหรือบุคคลใดๆ และการแยกสิทธิพิเศษและอำนาจมหาชนออกจากบริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากการแปรรูปเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการที่มีการแปรรูป

“เพื่อให้มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ชัดเจน อันจะทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า และคุ้มครองสิทธิผู้บริษัทจึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้” เอกสารระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น