xs
xsm
sm
md
lg

จาก 'ปฐพี 149' ถึง 'พิทักษ์ 1' แผนรับมือ “ม็อบยุบพรรค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพื่อรับมือกับความเคลื่อนไหวของมวลชนจากทั่วประเทศที่จะเข้ามาชุมนุมในช่วงของการตัดสินคดียุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 และการประกาศชุมนุมของกลุ่มพีทีวีในวันถัดไป (31 พ.ค.) วันจันทร์ที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แถลงผลการประชุม คมช.ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธาน คมช.เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีที่ตุลาการรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตัดสินคดียุบพรรคการเมืองในวันที่ 30 พ.ค.นี้ ซึ่งจากงานด้านการข่าวระบุว่าจะมีมวลชนเดินทางมาชุมนุมใน กทม.ในวันดังกล่าว 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และกลุ่มการเมือง ทาง คมช.จึงเตรียมการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี โดยนำ 'แผนพิทักษ์ 1' มาใช้แทน 'แผนปฐพี 149' เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น

แผนปฐพี 149 คือ แผนการรักษาความสงบเรียบร้อย ในลักษณะของแผนเผชิญเหตุ ซึ่งแต่เดิมทางทหารใช้สำหรับควบคุมดูแลผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในช่วงปี พ.ศ.2549 แต่เปลี่ยนมาใช้ในการรัฐประหารในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 แทน โดยกองกำลังหลักที่สำคัญในการรัฐประหารครั้งนี้ คือ กองทัพภาคที่ 1 ของ พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และกองทัพภาคที่ 3 ของ พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร

สำหรับรายละเอียดของ 'แผนปฐพี 149' นั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองภารกิจหลัก คือ เข้าควบคุมสถานการณ์ และรักษาความสงบเรียบร้อยใน กทม. และปริมณฑล โดยปฏิบัติการจะรักษาความปลอดภัย และถวายความปลอดภัยในสถานที่ต่างๆ และบุคคลสำคัญ คลี่คลายสถานการณ์ ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

แนวคิดในปฏิบัติการ กำหนดเป็น 3 ขั้นตอน คือ

1. ขั้นเตรียมการ - ตรวจความพร้อมสายการบังคับบัญชารวมถึงการส่งกำลังเข้าไปเตรียมการรักษาความปลอดภัยรวมถึงกำลังปฏิบัติการ (Force protections)
2. ต่อต้านข่าวกรอง และเตรียมมาตรการควบคุมดูแลสถานการณ์ พร้อมเตรียมชุดนายทหารติดต่อ (นตต.) พร้อมเครื่องมือสื่อสารประจำ บก.ควบคุม
3. ขั้นปฏิบัติการ - เมื่อมีการเตรียมการเสร็จจะมีการเคลื่อนย้ายกำลังเข้าควบคุม และรักษาความสงบเรียบร้อย ณ ที่หมาย บริเวณพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน

ขั้นปฏิบัติการ แบ่งเป็น 2 ระลอก
ระลอกที่ 1 คือ การปฏิบัติการของหน่วยในกรุงเทพฯกับร.31รอ.เพื่อเข้าปฏิบัติการต่อจุดศูนย์ดุล(ทำเนียบ,ถ.พิษณุโลก,ถ.ศรีอยุธยา,ถ.ราชดำเนินนอก,ลานพระบรมรูปทรงม้า, วังปารุสกวัน, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ) ควบคุมพื้นที่ต่างๆ และเข้าควบคุมพื้นที่หมายสำคัญในกรุงเทพฯ ตอนเหนือพร้อมๆ กันโดยจะใช้หน่วยปฏิบัติการ คือ ม.พัน.4 รอ. ร่วมกับ พัน. สห.11จำนวน 2 กองร้อยโดยมี ผบ.ม.พัน.4 รอ.เป็นบก.ควบคุมโดยจะมีการตั้งศูนย์ควบคุมอยู่ในพื้นที่สวนมิสกวัน ภายในกองทัพภาคที่ 1 ผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ ที่หมายถูกปิดล้อม งดใช้อาวุธ แต่ก็มีการรักษาความปลอดภัยจากกำลังปฏิบัติการ โดยมีการแสดงสัญลักษณ์ด้วยการยึดครอบครองฐานที่ตั้งของจุดศูนย์ดุล

ชุดควบคุมพื้นที่จะแยกเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ คือ C, D, H, I, J, S

พื้นที่ C - จะให้ร.1พัน.2รอ.รับผิดชอบในพื้นที่ด้วยการยึดและรักษาวางกำลังตามเส้นทางคมนาคมที่เข้าสู่จุดศูนย์ดุลรวมถึงสถานที่สำคัญทั้งระบบสาธารณูปโภคและระบบการสื่อสารรวมถึงสถานีวิทยุโทรทัศน์ผลลัพธ์ที่ต้องการคือให้เห็นภาพลักษณ์การควบคุมการรักษาช่องว่างในการสกัดกั้นเป้าหมายผ่านเข้าออก และมีกำลังเป็นกองหนุนในการแก้ไขปัญหา

พื้นที่ D - จะให้ ร.1 พัน. 1 รอ. เป็นหน่วยรับผิดชอบด้วยการยึด และการวางกำลัง เพื่อรับผิดชอบเขตพระราชฐาน ตามที่หน่วย ร.1 รอ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชามอบหมายในการควบคุม รปภ. สถานที่สำคัญ รวมถึงสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ ส่วนผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ ต้องการรักษาเกียรติของสถานที่ และดูแลความความปลอดภัยจากกลุ่มไม่ทราบฝ่ายตอบโต้

พื้นที่ H, I, J - จะมีหน่วยรับผิดชอบ คือ ร.11 พัน. 1, ร.11 พัน. 2 และ พัน. ร.มทบ.11 จะรับผิดชอบด้วยการยึด รักษา วางกำลัง และแสดงกำลัง จะดูแลในพื้นที่ประทับ วัง และที่ประทับต่างๆ รวมถึงเส้นทางที่เข้าสู่จุดศูนย์ดุล และดูแลสถานที่สำคัญ ทั้งวิทยุโทรทัศน์ พื้นที่สาธารณะทั้งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ,สนามม้านางเลิ้ง และบ้านพิษณุโลก ซึ่งผลที่ต้องการเช่นเดียวกับพื้นที่ C

พื้นที่ S - จะมีหน่วยรับผิดชอบ คือ ร. 31 รอ. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการวางกำลัง โดยหน่วยกำลังอากาศโยธิน ตามเส้นทางที่เข้าสู่พื้นที่ตอนใน รวมถึงการดูแลสถานที่สถานีโทรทัศน์ และวิทยุ ผลที่ต้องการ คือ ความปลอดภัยจากการตอบโต้ของกองกำลัง และเพื่อควบคุมสกัดกั้นเป้าหมายผ่านเข้าออก รวมถึงเป็นการออมกำลังเพื่อเป็นกองหนุน พร้อมสนับสนุนกำลังเพิ่มเติมจากพื้นที่ D จำนวน 1 กองพัน สำหรับการควบคุมพื้นที่เป้าหมายบริเวณกรุงเทพฯ ตอนเหนือจะให้ พล.ปตอ. และหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบก มีการวางกำลังสกัดกั้น และควบคุมพื้นที่ บก.สส. ,กสช. และสถานที่สำคัญของระบบสาธารณูปโภค การสื่อสาร และสถานีไทยคมส่วนสะพานพระราม 7 พล.ปตอ. และพัน.1 รอ. จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบตามเส้นทางดังกล่าว โดยมีกำลัง ม.พัน.3 รอ. เข้าไปช่วยเสริม ผลที่ต้องการ คือ ความปลอดภัยจากกำลังตอบโต้ และมีการออมกำลังเป็นกองหนุนเพื่อเตรียมสนับสนุนกำลังเพิ่มเติมอีก 1 กองพัน

ระลอกสอง จะเป็นการปฏิบัติการของหน่วยนอกพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีการเตรียมกำลังจาก พล.9 และ พล.2 รอ. เพื่อเข้ามาควบคุมเส้นทางคมนาคมสำคัญๆ และ รปภ.เป้าหมายที่สำคัญในเรื่องสาธารณูปโภค และการสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่ C, D และในพื้นที่ F และ G และ H, I, J, K, L ซึ่งจะดูแลฝั่งตะวันตก โดยในพื้นที่ A, B, E จะมีหน่วยรับผิดชอบ คือ 3 พัน.ร. จาก พล.ร.9 ในพื้นที่พุทธมณฑลจะใช้ 2 พัน.ร. จาก พล.ร.9 และพื้นที่ที่แสดงกำลังฝั่งตะวันตกจะใช้ 2 พัน.ร.จาก พล.ร.9 ดูแลบริเวณสนามหลวง ถ.พระอาทิตย์ ถ.ราชดำเนินกลาง ศาลาว่าการกรุงเทพฯ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทยพื้นที่ฝั่งตะวันออก ใช้กำลังทั้งหมด 9 กองพัน ดูแลในพื้นที่ F, G, K, L จะใช้ 4 พัน จาก พล.ร.2 รอ. พื้นที่ควบคุมฝั่งตะวันออกใช้ 2 พัน จาก พล.ร.2รอ. ดูแลเส้นทางรังสิต-องครักษ์, มอเตอร์เวย์ และบางนา-สุวรรณภูมิ พื้นที่ที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม คือ H, I, J โดยใช้กำลัง 3 พัน. จาก พล. ร 2 รอ. เพื่อเตรียมรับมอบพื้นที่เมื่อมีคำสั่งจากหน่วยเหนือทันที ผลที่ต้องการ คือ ดูแลความปลอดภัยจากกองกำลังตอบโต้ รวมถึงกำลังกองหนุนในการแก้ไขปัญหา เฝ้าระวัง และคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่รอบนอก

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกำลังเพิ่มเติมใน ระลอกที่สาม โดยใช้กำลังจาก กองทัพภาคที่ 2, กองทัพภาคที่ 3 และ หน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพบกเพื่อเข้าวางกำลังเสริม และควบคุมพื้นที่ และเป็นกองหนุนบริเวณพื้นที่ S โดยในพื้นที่ดังกล่าวจะมี กองทัพภาคที่ 2 เข้าไปดูแลในพื้นที่ โดยใช้กำลัง จาก ร.11 รอ. สำหรับผลที่ต้องการ คือ รับมอบพื้นที่ S จาก ร.31 รอ. ส่วนพื้นที่ A ,B จะกำลังใช้กำลังจาก กองทัพภาคที่ 3 ดูแลในพื้นที่เมืองทองธานี ส่วนผลที่ต้องการ คือ รับผิดชอบพื้นที่ A, B จาก พล.ร. 9

หลังจากปฏิบัติการต่อเนื่องจากการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม 'แผนปฐพี 149' ก็ถูกนำมาปรับใช้อีกครั้งวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2550 ถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกรณีการชุมนุมขับไล่คมช. โดยกลุ่มพีทีวี กระนั้นสำหรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดสืบเนื่องจากกรณีตัดสินคดียุบพรรคนั้นทางคมช.ได้มีการปรับจาก 'แผนปฐพี 149' มาใช้ 'แผนพิทักษ์ 1' แทน

แผนพิทักษ์ 1 - พ.อ.สรรเสริญ โฆษก คมช. อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างแผนปฐพี 149 กับ แผนพิทักษ์ 1 ว่า “แผนปฐพี 149 เป็นแผนที่มีวัตถุประสงค์หลักเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของสถานที่ และบุคคลสำคัญในเขต กทม.รวมไปถึงปริมณฑล ซึ่งเป็นแผนการปฏิบัติเฉพาะในส่วนของกองทัพบกเท่านั้น แต่แผนพิทักษ์ 1 เป็นแผนการปฏิบัติที่มีการผสมผสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้ง 3 เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมอบหมายพื้นที่ความรับผิดชอบให้แต่ละเหล่าทัพ เช่น กองทัพอากาศรับผิดชอบเขตพื้นที่ดอนเมือง และเขตสายไหม กองทัพเรือ ดูแลฝั่งธนบุรี ที่เหลือกองทัพบก และตำรวจ จะดูแล รวมทั้งเขตภูมิภาคด้วย”

ทั้งนี้ กำลังตำรวจและทหารที่ตระเตรียมเอาไว้เพื่อตอบสนองต่อแผนพิทักษ์หนึ่งนั้นประกอบไปด้วย กองกำลังจากกองทัพเรือและกองทัพอากาศ เหล่าละ 400-500 นาย กำลังตำรวจใช้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองปราบปราม และกองบัญชาการตำรวจภูธร 1-9 อีกทั้งกำลังของกองทัพบกประมาณ 10,000 กว่านาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะไม่มีการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ร้ายแรงแต่อย่างใด

สำหรับขั้นตอนในการปฏิบัติการของ 'แผนพิทักษ์ 1' แบ่งได้ตามลำดับดังนี้ คือ

ขั้นที่ 1 การป้องกัน - เป็นการทำความเข้าใจกับประชาชนในแต่ละภูมิภาคให้เข้าใจต้นเหตุของปัญหา โดยสถานการณ์วันที่ 30 พ.ค.นี้จะชี้แจงเรื่องหลัก 3 เรื่อง คือ เรื่องการตัดสินคดียุบพรรค ขอให้ประชาชนรับฟังผลการตัดสินที่บ้าน เพราะจะมีการถ่ายทอดทั้งทางสถานีโทรทัศน์ และวิทยุ เรื่องสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน และวิธีการของกลุ่มผู้หวังผลประโยชน์ทางการเมืองในการชักชวนประชาชนเข้ามาชุมนมใน กทม.เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน

ขั้นที่ 2 ขั้นการตรวจสอบความเคลื่อนไหว - โดยการตั้งจุดตรวจตามเส้นทางต่างๆ ที่จะมุ่งเข้า กทม.เพื่อป้องกันไม่ให้นำอาวุธร้ายแรงต่างๆ จากกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาก่อเหตุความวุ่นวายใน กทม. ซึ่งเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจ สามารถแยกแยะออกว่า ใครที่มาด้วยความตั้งใจจริง หรือถูกชักชวนมาโดยไม่ได้สมัครใจจากการสนทนากับประชาชนที่เดินทางเข้ามา ซึ่งถ้าหากใครที่ไม่ได้มาด้วยความสมัครใจ ก็จะเชิญกลับภูมิลำเนาของตัวเอง

ขั้นที่ 3 ขั้นควบคุม - เป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังทหารอยู่ในที่ตั้งปกติ ซึ่งจะมีการกำหนดห้วงระยะเวลาในการออกปฏิบัติภารกิจ

ขั้นที่ 4 ขั้นปฏิบัติการ - หากผู้ชุมนุมมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นก็คงต้องนำกำลังที่เตรียมไว้เข้าคลี่คลายสถานการณ์ แต่จะต้องหลังจากมีการประกาศ ใช้ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้วเท่านั้น

สำหรับศูนย์กลางสั่งการหรือศูนย์ควบคุมอำนวยการจะอยู่ที่กองบัญชาการกองทัพบกเช่นเคย โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช.เป็นผู้ควบคุม โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้สมาชิก คมช.รับผิดชอบชัดเจนในด้านต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทาง คมช.ระบุว่า ในเชิงปฏิบัติจะดำเนินการจากมาตรการขั้นเบาไปหาขั้นหนัก โดยจะเน้นการเจรจา และประชาสัมพันธ์เป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ซึ่งถ้าไม่จำเป็น คมช.ขอยืนยันว่าจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรง แต่ถ้ามีสถานการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น ก็มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ทั้งนี้ 'แผนพิทักษ์ 1' มีลักษณะใกล้เคียงกับ 'แผนพิทักษ์เมือง' ของตำรวจ แต่ครั้งนี้เป็นการสนธิกำลังของตำรวจและทหารในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องป้องกันการรวมตัวของประชาชนที่เข้ามาตามนัดหมายตามแผน “ดาวกระจาย” ด้วยการพิทักษ์เส้นทางที่จะเข้าสู่เป้าหมายให้ได้

ในขั้นต้น คมช.วางแผนไว้ว่าจะใช้ ‘แผนพิทักษ์ 1’ จนถึงวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน 2550 นี้ หรือจนกว่ามั่นใจว่าสถานการณ์คลี่คลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น