พรรคไทยรักไทย
24 ก.พ. 49 - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาฯ และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเปิดรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อวันที่ 2-3 มี.ค. และส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 4-8 มี.ค.
27 ก.พ. 49 - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เชิญประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคที่อาคารวุฒิสภา โดยมีหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็ก 15 พรรคฯเข้าร่วมประชุม
12 มี.ค. 49 - นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นำนางรัชนู ต่างสี นายสุวิทย์ อบอุ่น นางนิภา จันทรโพธิ์ ที่ถูกนายทักษนัย กี้สุน พาไปสมัครลงรับเลือกตั้งส.ส. ในนามพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มาแถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า ถูกนายทักษนัย หลอกพาไปสมัครทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติ
16 มี.ค. 49 - นายสุเทพ แถลงข่าวเปิดโปงขบวนการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งโดยระบุว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ได้ให้คนสนิท และพล.ต.ไตรรงค์ อินทรทัต พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ และผู้อื่น ประสานไปยัง นายชวการ โตสวัสดิ์ นายสุขสันต์ ชัยเทศ และนายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์ เพื่อให้ติดต่อไปยังผู้บริหารพรรคเล็กคือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แผ่นดินไทย พัฒนาชาติไทย ให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ โดยมีการจ่ายเงินให้หัวละ 1 แสน ถึง3 ล้านบาท
19 มี.ค. 49 - นายสุเทพ พาพยาน 3 คน คือ นายชวการ นายสุขสันต์ น.ส.มณทิรา พิมพ์จันทร์ ผู้ช่วยนายสุขสันต์ มาแถลงข่าวโดยทั้ง 3 คนยืนยันว่า ได้รับการติดต่อจากคนใกล้ชิดของผู้บริหารพรรคไทยรักไทยให้จัดหาผู้สมัครพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง และช่วงวันที่ 2-9 มี.ค.มีการใช้โรงแรมย่านสะพานควายเป็นสถานที่ในการปลอมแปลงเอกสารการลงสมัคร
21 มี.ค. 49 - นายสุเทพ พร้อมคณะ เข้าให้ข้อมูลและร้องเรียนต่อ กกต.ว่ามีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งโดยมีเจ้าหน้าที่กกต.ให้ความร่วมมือในการแก้ไขฐานข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อจะได้มีการคุณสมบัติครบถ้วนในการลงสมัคร โดย กกต.ตั้ง นายนาม ยิ้มแย้ม รองประธานศาลฎีกา เป็นประธานอนุกรรมการสอบสวน
22 มี.ค. 49 - นายสุเทพ พาพยาน อาทิ นายชวการ นายสุขสันต์ นางฐัติมา ภาวะลี ผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีจากพรรคแผ่นดินไทย ไปพักที่บ้าน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยอ้างว่า เกรงไม่ปลอดภัย
2 เม.ย. 49 - มีการเลือกตั้งทั่วไป ปรากฎว่า หลายเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย เป็นผู้สมัครคนเดียวของเขตเนื่องจากศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิการเป็นผู้สมัครของผู้สมัครพรรคเล็ก ได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ทำให้ต้องมีการสั่งเลือกตั้งใหม่ 39 เขต โดย กกต.กำหนดให้มีการเปิดรับสมัครใหม่ 8-9 เม.ย.
21 เม.ย. 49 - กกต.มีมติเสนอให้มีการยุบพรรคพรรคพัฒนาชาติไทย
8 พ.ค. 49 - อนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุด นายนาม ยิ้มแย้ม เสนอผลสรุประบุความผิด ผู้บริหาพรรคไทยรักไทยเกี่ยวข้องกับการว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัคร และเสนอให้ กกต.แจ้งข้อกล่าวหาต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค
29 พ.ค. 49 - นายสุเทพ เปิดภาพวงจรปิด กระทรวงกลาโหมที่ นายชวการ นายสุขสันต์ อ้างว่าเป็นวันที่ พล.อ.ธรรมรักษ์ นัดให้ไปรับเงิน
19 มิ.ย. 49 - กกต. ส่งคำร้องพร้อมหลักฐานให้อัยการพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักไทย เนื่องจากกระทำผิดมาตมาตรา 66(12) และ( 3 ) ของพ.ร.บ. พรรคการเมือง ในข้อหาจ้างพรรคการเมืองเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อหนีเกณฑ์ต้องได้คะแนนร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น
6 ก.ค. 49 - อัยการสูงสุดเสนอคำร้องยุบ 5 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคแผ่นดินไทย พรรคชีวิตที่ดีกว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรค
19 ก.ย. 49 - เกิดปฏิวัติรัฐประหาร มีการล้มรัฐธรรมนูญ 40 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ (คปค) สั่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน
30 พ.ย. 49 - คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนัดอัยการสูงสุด และผู้แทน 5 พรรคการเมือง ฟังการกำหนดวิธีพิจารณาคดียุบพรรค โดยคณะตุลาการฯกำหนดให้มีการไต่สวนคดียุบพรรคโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคดี โดย พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย อยู่ในกลุ่มคดีที่ 1ซึ่งเปิดโอกาสให้คู่กรณีนำพยานเข้าสืบรวม
16 ม.ค. 50 - ไต่สวนนัดแรก
12 เม.ย. 50 - ไต่สวนครั้งสุดท้าย
30 พ.ค. 50 - นัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 14.30 น.
พรรคประชาธิปัตย์
24 ก.พ. 49 - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาฯ และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดให้มีการเปิดรับสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อวันที่ 2-3 มี.ค. และส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 4-8 มี.ค.
27 ก.พ. 49 - พรรคประชาธิปัตย์-ชาติไทย-มหาชน ประกาศบอยคอต ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และประกาศรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน
15 มี.ค. 49 - ร.ต.ฉลาด วรฉัตร พร้อมพวก 100 คน บุกร้องกกต. สอบพรรคประชาธิปัตย์-ชาติไทย-มหาชน ระบุการรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นความผิดตามมาตรา 66 พ.ร.บ.พรรคการเมือง
19 มี.ค. 49 - นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย แจ้งความที่ สภอ. นครราชสีมา ให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กับพวก ฐานหมิ่นประมาท เพราะกล่าวหาว่ารับเงินจาก พล.อ.ธรรมรักษ์ เป็นค่าจ้างในการส่งผู้สมัครและปลอมแปลงเอกสาร และระบุว่า นายสุเทพได้เดินทางไปหาที่บ้านพักย่านมีนบุรี เมื่อวันที่ 15 มี.ค พร้อมนายชวการ นายสุขสันต์ เพื่อให้ใส่ความพรรคไทยรักไทยว่าจ้างลงสมัครโดยแลกกับเงิน 15 ล้านบาท
20มี.ค. 49 - นายวีระ มุสิกพงศ์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แฉกลับพรรคประชาธิปัตย์จัดฉาก จัดหาผู้สมัครพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ลงสมัครที่จ.ตรัง แล้วป้ายผิดให้พรรคไทยรักไทย เพราะนายทักษนัย กี่สุ้น ที่เป็นผู้พาผู้ไม่มีสิทธิสมัครไปสมัครนั้นเป็นผู้ช่วย ส.ส.ของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
21 และ 22 มี.ค. 49 - นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ให้ทนายยื่นฟ้องนายสุเทพ ฐานหมิ่นประมาทเนื่องจากกล่าวหาว่าเข้าไปมีส่วนในการจ้างพรรคเล็กลงสมัคร
24 และ 25 มี.ค. 49 - พ.ต.อ.ศุภชัย ฟื้นพานิช ผกก.5 กองปราบปรามพร้อมตร. นำกำลังไปรับตัวนางฐัติมาที่บ้านพักของนายสุเทพ ที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ฯ และนางฐัติมา ได้แจ้งความดำเนินคดีนายสุเทพ ฐานกักขัง หน่วงเหนี่ยว และจ้างให้ใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าว่าจ้างพรรคแผ่นดินไทยให้ส่งผู้สมัคร โดยแลกกับเงิน 1 ล้านบาท ซึ่งได้รับเงินจากนายสุเทพเบื้องต้นแล้ว 3 แสนบาท
24 มี.ค. 49 - พรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัยใหญ่ที่ท้องสนามหลวง เสนอขอนายกพระราชทานตามาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 และถูกโจมตีจากพรรคไทยรักไทยว่า ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นกบฎต่อรัฐธรรมนูญ
2 เม.ย. 49 - มีการเลือกตั้งทั่วไป ปรากฎว่าหลายเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สมัครคนเดียวของเขตเนื่องจากศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิการเป็นผู้สมัครของผู้สมัครพรรคเล็ก ได้รับเลือกตั้งมาด้วยคะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ทำให้ต้องมีการสั่งเลือกตั้งใหม่ โดยกกต.กำหนดให้มีการเปิดรับสมัครใหม่
8-9 เม.ย. 49 - ในการเปิดรับสมัครใหม่ นายชาลี นพวงศ์ แกนนำกลุ่มคนรักษ์สงขลา พร้อมชาวสงขลา ชุมนุมบริเวณอาคารกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตภาคใต้ ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประจำ จ.สงขลา ทำให้ผู้สมัครพรรคการเมืองเล็กร้องว่ามีการขัดขวางการสมัคร
12 เม.ย. 49 - กกต.มีมติ สั่งดำเนินคดีอาญา นายทักษนัย กี่สุ้น และผู้สมัครพรรคประชาธิปัตยก้าวหน้า จ.ตรัง ที่ไม่สิทธิสมัครแต่ยังไปลงสมัครและเสนออัยการสูงสุดเพื่อให้พิจารณายื่นคำร้องยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
9 พ.ค. 49 - นายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่าเข้าร้องเรียน กกต.ว่า นายไทกร พลสุวรรณ แกนนำอีสานกู้ชาติไปติดต่อให้ใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าจ้างลงสมัคร โดยมีหลักฐานเป็นซีดีการพูดคุยของตนเองกับนายไทกร
22 พ.ค. 49 - นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล และทีมกฎหมายพรรคไทยรักไทย เข้ายื่นหนังสือร้องต่อ กกต.ให้สอบพรรคประชาธิปัตย์กระทำผิดฐานยุบพรรค กกต.ได้ตั้งอนุกรรมการที่มีนายสุริยา ทรงวิทย์ รองอัยการจังหวัดเป็นประธานสอบสวน
14 มิ.ย. 49 - ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาต่ออนุกรรมการสืบสวนของ กกต.ที่มีนายสุริยา ทรงวิทย์ เป็นประธาน
26 มิ.ย. 49 - กกต.ส่งคำร้องพร้อมหลักฐานเสนอไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยชี้มูลว่ากระทำผิดมาตรา 66( 2) และ (3) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง รวม 6 ข้อกล่าวหา 1.ร่วมมือกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยล้มล้างรัฐบาล 2.ขอนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 40 40 3. บอยคอตไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง 4.รณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (โนโหวต) 5.ขัดขวางการลงสมัครที่จ.สงขลา 6.จ้างพรรคการเมืองเล็กคือ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคชีวิตที่ดีกว่า พรรคพัฒนาชาติไทยให้ลงสมัครแล้วใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย ว่าเป็นผู้จ้างให้ลงสมัคร กีดขวางการสมัครรับเลือกตั้งที่จ.สงขลา
6 ก.ค. 49 - อัยการสูงสุดเสนอคำร้องยุบ 5 พรรคการเมืองประกอบด้วย พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคแผ่นดินไทย พรรคชีวิตที่ดีกว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบพรรค
19 ก.ย. 49 - เกิดปฏิวัติรัฐประหาร มีการล้มรัฐธรรมนูญ 40 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ (คปค.) สั่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน
30 พ.ย. 49 - คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนัดอัยการสูงสุด และผู้แทน 5 พรรคการเมือง ฟังการกำหนดวิธีพิจารณาคดียุบพรรค โดยคณะตุลาการฯกำหนดให้มีการไต่สวนคดียุบพรรคโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคดี โดย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าอยู่ในกลุ่มที่ 2 ซึ่งเปิดโอกาสให้คู่กรณีนำพยานเข้าสืบรวม
18 ม.ค. 50 - ไต่สวนครั้งแรก
5 เม.ย. 50 - ไต่สวนนัดสุดท้าย
30 พ.ค. 50 - นัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 13.30 น.
ประมวลข่าวคดีประวัติศาสตร์ “ยุบ-ไม่ยุบ”... “ปชป.-ทรท.” รอชี้ชะตา!?