xs
xsm
sm
md
lg

ตุลาการลงมติคดียุบพรรคเสร็จแล้ว! อัยการฟันธงเสียงไม่เอกฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ตุลาการรัฐธรรมนูญ” ถกเครียดคดียุบพรรค ที่ประชุมลงมติเสร็จ รอพิมพ์คำวินิจฉัย เช้า 30 พ.ค “ประธานศาลฎีกา” ขอกำลังนครบาลเข้าเวรอารักขา 24 ชม.จนกว่าออกนั่งบัลลังก์อ่านคำตัดสิน “ไกรฤกษ์” ขอให้อดใจรอฟังคำตัดสิน “อัยการ” แจงขั้นตอน หลังตัดสินต้องส่งผลให้ “ประธาน กกต.” บังคับคดี เชื่อตุลาการมีศักดิ์ศรี ไม่มีล็อบบี้ ฟันธงเสียงไม่เป็นเอกฉันท์

วันนี้ (29 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมร่วมกับ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกา นายสมชาย พงษธา ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลฎีกา นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา นายนุรักษ์ มาประณีต ผู้พิพากษาศาลฎีกา นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด นายวิชัย ชื่นชมพูนุท ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะองค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เพื่อลงมติและทำคำวินิจฉัยกลางในคดีที่ นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ซึ่งกระทำผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2541 ขอให้ยุบพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค และห้ามผู้บริหารพรรคการเมืองดังกล่าวไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่น รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 27 โดยเป็นการประชุมลับสุดยอด ห้ามไม่ให้ผู้พิพากษา หรือเจ้าหน้าที่ธุรการ และบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปภายในบริเวณห้องประชุมศาลฎีกา ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมอย่างเด็ดขาด ยกเว้นเจ้าหน้าที่ธุรการศาลฎีกาซึ่งได้รับอนุญาตให้ร่วมจัดเอกสารคดีนี้เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาได้ประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จำนวนผลัดละ 40 นาย ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) มาคอยรักษาความปลอดภัยทั้งในอาคารศาลฎีกาและบริเวณรอบนอก ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 28 พ.ค.ไปจนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมจะอ่านคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมืองแล้วเสร็จจนเป็นที่เรียบร้อย โดยประตูหลักที่จะเข้าศาลฎีกาทั้ง 3 ประตู มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและ รปภ.คุ้มกันอย่างหนาแน่น ห้ามมิให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ และถ่ายภาพทำข่าวอย่างเข้มงวด ส่วนรถยนต์ที่จะเข้าไปในศาลฎีกาได้จะต้องมีสติกเกอร์ศาลฎีกาเท่านั้น โดยเป็นที่สังเกตว่า รถยนต์ที่ตุลาการศาลปกครองส่วนใหญ่ติดฟิล์มทึบแสง เพื่อไม่ให้ทราบว่าเป็นใคร

มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเริ่มการประชุม ประธานศาลฎีกาในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เปิดให้ตุลาการรัฐธรรมแต่ละคนแถลงคำวินิจฉัยส่วนตัวต่อที่ประชุม ซึ่งประเด็นแรกที่ต้องลงมติ คือ 1.พรรคการเมืองกระทำผิดแล้วให้ยุบพรรค 2.ไม่ยุบพรรคแล้วให้ยกคำร้อง หากตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติให้ยุบพรรคแล้ว ยังต้องให้ลงมติต่อไปว่า จะต้องเพิกถอนสิทธิการเมือง 5 ปี ตามประกาศ คปค.หรือไม่ ซึ่งการประชุมอาจจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงหัวค่ำ เนื่องจากต้องให้ได้มติเสียงข้างมาก และต้องนำเหตุผล รายละเอียดข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ชัดเจนมาร่างเป็นเค้าโครงคำวินิจฉัยกลาง โดยคาดว่า การเขียนคำวินิจฉัยกลางซึ่งจะใช้วิธีการพิมพ์ จะน่าเสร็จสิ้นภายในเช้าของวันที่ 30 พ.ค.ก่อนจะนำคำวินิจฉัยไปอ่านที่ศาลรัฐธรรมนูญในบ่ายวันเดียวกัน

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ว่า ตนได้เตรียมพร้อมนำเอกสารที่จะเสนอคำวินิจฉัยส่วนตัวต่อที่ประชุมตุลาการรัฐธรรมนูญ โดยตุลาการรัฐธรรมนูญทุกคนจะต้องแถลงคำวินิจฉัยส่วนตัว และร่วมกันหยิบยกประเด็นสำคัญแห่งคดี มาหารือเพื่อลงมติเขียนเป็นคำวินิจฉัยกลางเพื่อตัดสินคดี โดยประเด็นสำคัญในคดี มีหลายเรื่องที่แตกต่างกันไป ซึ่งในใจตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน รับทราบประเด็นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่มั่นใจว่า การลงมติและทำคำวินิจฉัยกลางจะใช้เวลานานและยืดเยื้อเพียงใด โดยขอให้ทุกฝ่ายอดทนรอฟังคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่มีกำหนดนัดอ่านในวันที่ 30 พ.ค.เวลา 13.30 น.

ขณะที่ นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา หนึ่งในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ แต่กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่ขอพูดอะไรเพราะกำลังเครียด อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังตุลาการรัฐธรรมนูญคนอื่นๆ แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์การทำคำวินิจฉัยแต่อย่างใด

อัยการฟันธงเสียงไม่เอกฉันท์

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ผู้ตรวจราชการสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงขั้นตอนภายหลังมีคำวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง ว่า ไม่ว่าตุลาการรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยให้ยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรคก็ตาม อัยการสูงสุดในฐานะผู้ร้องจะต้องขอคัดวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ ส่งให้ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ผู้รวบรวมพยานหลักฐานและตั้งข้อกล่าวหาพรรคการเมืองเพื่อดำเนินการบังคับตามคำวินิจฉัยต่อไป ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าการบังคับตามผลคำวินิจฉัยจะต้องให้เสร็จสิ้นเมื่อใด

ด้าน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการทำหน้าที่ของอัยการในการยื่นคำร้องขอยุบพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค ว่า จนถึงวันนี้ นับได้ว่าอัยการทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ส่วนที่ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ เคยให้ความเห็นว่า อัยการได้เร่งตรวจสำนวนในคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหา ใช้เวลาพิจารณาสรุปข้อกล่าวหาตามคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองเร็วเกินไปนั้น อัยการยืนยันว่า ในการพิจารณายื่นคำร้องคดียุบพรรคทุกพรรค อัยการได้ใช้เวลาพิจารณาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏอย่างเท่าเทียมกัน

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังกล่าวถึงแนวทางคำวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองด้วยว่า คดีนี้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ม.66 และ 67 โดย 1.ขอให้ยุบพรรคการเมือง และ 2.ห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรค ที่ถูกกล่าวหาไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่น ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงสุดตามที่ พ.ร.บ.พรรคการเมือง บัญญัติไว้ ส่วนการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของผู้บริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี เป็นการยื่นคำขอเพิ่มเติมภายหลังตามประกาศของ คปค.ฉบับที่ 27 ซึ่งผลการวินิจฉัยจะเป็นอย่างไรไม่มีใครตอบได้ แต่หากจะมีคำวินิจฉัย ตัดสินคดีตุลาการรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณาตามคำร้องขอ และบทลงโทษตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี ส่วนตัวคาดว่าการลงมติของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จะไม่เป็นเอกฉันท์ เทคะแนนไปข้างใดข้างหนึ่งว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมือง แต่คำวินิจฉัยของคณะตุลาการน่าจะมีเสียงที่แตกต่างกันบ้างในบางประเด็น โดยมติอาจออกมาเป็นเสียงข้างมาก เช่น 5 ต่อ 4 หรือ 6 ต่อ 3 ก็ได้ทั้งนั้น เนื่องจากมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาหลายประเด็น อาทิ พรรคการเมืองผิดตาม ม.66 หรือไม่ ถ้าผิดแล้วมีความรุนแรงถึงขั้นจะต้องจะยุบพรรคหรือไม่ และมาตรการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามประกาศ คปค.จะนำมาใช้เพื่อบังคับลงโทษกรรมการผู้บริหารพรรคได้หรือไม่

“ไม่ว่าเสียงของตุลาการรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ผมเชื่อว่า ไม่มีการล็อบบี้กันในองค์คณะ หรือการพูดคุยหยั่งเสียงกันเองระหว่างตุลาการแต่ละศาลจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยกลางออกมา เพราะตุลาการแต่ละท่านมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีของตัวเอง โดยการเขียนคำวินิจฉัย คืออำนาจในการตัดสินคดีซึ่งตุลาการทุกคนย่อมมีอิสระ” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น