xs
xsm
sm
md
lg

เหตุผลคัดค้านเปลี่ยน"สยาม"เป็น"ไทย" เหตุผลไม่บัญญัติ"ศาสนาประจำชาติ"ใน รธน.

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง


•• ขอต่อเนื่องเรื่องเก่า ๆ จาก เมื่อวานนี้อีกสักหน่อยว่าในการพิจารณา การเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก สยาม มาเป็น ไทย นัดแรกในคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 8 พฤษภาคม 2482 นั้น พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นผู้ให้ข้อคัดค้านที่ “เซี่ยงเส้าหลง” เห็นว่า มีเหตุผลที่สุด และยังคง ทันสมัยตลอดกาล จนแม้ใครก็ตามจะนำมาใช้เป็นเหตุผล คัดค้านการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ยัง พอฟังได้ ท่านกล่าวไว้เมื่อ เกือบ 70 ปีก่อน ดังนี้ “...ในแง่นโยบายปกครองเราคงลำบากใจบางอย่าง คนในสยามมีหลายชาติ เวลานี้เขารักใคร่สยาม ถึงคราวจะพูดอะไรจะให้กินความส่วนรวมแล้วใช้ว่าไทย เกรงว่าเขาอาจจะน้อยใจได้ อนึ่งถ้าเราเลิกใช้คำสยาม ใช้แต่ไทย จะเกิดความรู้สึกว่าเอาพวกชาติอื่นออก เพราะไม่ใช่ไทย พวกปัตตานีก็ไม่ใช่ไทย ถ้าเราเรียกว่าสยามก็รวมพวกปัตตานีด้วย เขาก็พอใจ ถ้าเปลี่ยนไป อาจไม่ดูดพวกนี้มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้.” และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ หมอแว – นพ.แวมาหะดี มาดาโอะ ในฐานะ สนช. ลุกขึ้นอภิปรายในญัตติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนหนึ่งว่าชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกถึงความเป็นคนไทย แม้ว่าเขาจะมี เชื้อชาติมลายู และนับถือ ศาสนาอิสลาม ก็เพราะเข้าแปลความสัญลักษณ์ ธงไตรรงค์ ที่มี 3 สี 5 แถบ ไปในทำนองที่ว่า สีแดง 2 แถบ นั้นแถบหนึ่งหมายถึง คนเชื้อชาติไทย ส่วนอีกแถบหนึ่งนั้นหมายถึง คนเชื้อชาติอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกัน ทำนองเดียวกับ สีขาว 2 แถบ แถบหนึ่งย่อมหมายถึง ศาสนาพุทธ อีกแถบหนึ่งย่อมหมายถึง ศาสนาอื่น ๆ แต่ไม่ว่าจะสีแดงแถบไหนหรือสีขาวแถบใดก็ล้วนมี ศูนย์รวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน อยู่ที่ สีน้าเงินแถบใหญ่แถบเดียว คือ พระมหากษัตริย์ แม้จะพูดกันคนละยุคคนละสมัยคนละเวลาคนละสถานการณ์ก็ตามแต่ทั้ง พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และ หมอแว – นพ.แวมาหะดี มาดาโอะ เห็นร่วมกันในสารัตถะว่า การสร้างชาติ จะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยอยู่บนพื้นฐานของ ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม จารีต ประเพณี – ด้วยจิตวิญญาณที่เป็นเจ้าของร่วมกัน เท่านั้น

•• พูดกันถึงที่สุดแล้วประเด็น การบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ แยกไม่ออกจาก การแก้วิกฤตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีคนใจบาปคนไร้ศาสนานำ ความแตกต่างทางศาสนา มาเป็น ธงนำ ใน การปลุกระดม ทำให้คนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อย อึดอัดใจ และ น้อยใจ ที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า ไม่สามารถรักษาสิทธิเสรีภาพของชาวไทยพุทธได้ เท่าที่ควร

•• ระดับความเข้าใจในปัญหาอันละเอียดอ่อนที่ ไม่เท่ากัน ทำให้คนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อย อึดอัดใจ และ น้อยใจ ที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของชาวไทยมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การศึกษา, การพิจารณาคดี พวกท่านเห็นว่างบประมาณที่รัฐจัดให้แก่ ระบบการเรียนการสอนพระพุทธศาสนา ในประเทศไทยนั้นมี น้อยมาก ชนิดที่ว่า เรียกร้องไปอย่างไรก็ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควรจะเป็น จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องที่เป็นอยู่ซึ่ง “เซี่ยงเส้าหลง” เห็นว่าถ้า สำเร็จ ก็จะตามติดมาด้วย ข้อเสนอแนะในเชิงกฎหมายประกอบและการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน อีกพอสมควร

•• นี่จึงเป็นเรื่องที่รัฐไทยจะต้อง ตระหนัก และ มองไปให้ไกลกว่าลายลักษณ์อักษร บัญญัติก็จะก่อให้เกิด ความน้อยใจกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าไม่บัญญัติก็จะก่อให้เกิด ความน้อยใจจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ใหญ่กว่า จะบัญญัติหรือไม่บัญญัติก็ต้องเร่ง ดำเนินมาตรการอื่น ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

•• นี่คือ ความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ในโลกยุคนี้ที่เค้าลางของ สงครามครูเสดยุคใหม่ กำลังก่อตัว

•• แก้ไขข้อมูลนิดหน่อยเมื่อวานนี้ “เซี่ยงเส้าหลง” พูดไปเหมือนจะทำให้เข้าใจว่าในชั้น ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 วันนี้ไม่มีใครพูดเรื่อง ชื่อประเทศ ว่าควรกลับไปเป็น สยาม จริง ๆ แล้วมีอยู่อย่างน้อย 2 ท่าน ท่านหนึ่งก็คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อีกท่านหนึ่งก็คือ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เหลนสืบตระกูลใน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เหตุผลของทั้งสองเหมือนกันกับของ ท่านปรีดี พนมยงค์, พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เฉพาะท่านหลังคือ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุลท่านกล่าวไว้ว่า สยาม เป็นนามพระราชทานจากพระมหากษัตริย์และเป็นพระปรีชาญาณของพระองค์ที่มีพระราชประสงค์ให้ “...ชื่อประเทศครอบคลุมประชาชนพลเมืองจากหลากหลายชาติพันธุ์ ภาษา และอัตลักษณ์วัฒนธรรม ทั้งไทย ลาว อีสาน จีน มอญ มลายู กะเหรี่ยง แขก ฯลฯ หาใช่มุ่งสร้างความเป็นชาตินิยมแก่ชาติพันธ์หนึ่งชาติพันธุ์ใด.” และการเปลี่ยนแปลงใน ปี 2482 นั้นเป็นไป ตามอำเภอใจของผู้นำรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่มีเสียงโต้แย้งมากมายทั้งในเชิง ประวัติศาสตร์ และ กุศโลบายในการสร้างชาติ ท่านมีความเห็นอย่างแรงกล้าว่าควรมีการรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง “...ขออย่าเพียงให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าสยามเป็นเพียงชื่อของศูนย์การค้าหรือโรงภาพยนตร์เท่านั้น.” ท่านทิ้งท้ายอย่างเจ็บปวด

•• ย้อนไปเมื่อ ปี 2547 ก็เคยมีคนเคยเสนอให้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก ไทย กลับไปเป็น สยาม จากการเสวนา 2 หัวข้อ สุพจน์ ด่านตระกูล เสนอขึ้นมาในการเสวนาเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2547 ภายใต้หัวข้อ หนทางสู่สันติสุขยั่งยืนในชายแดนภาคใต้และแนวความคิดปรีดี พนมยงค์ร่วมกับ อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง, จรัล ดิษฐาอภิชัย และ สันติสุข โสภณศิริ นอกจากนั้นในอีกวงหนึ่ง เสน่ห์ จามริก เสนออกมาในอีก 3 วันถัดมาในงานเสวนาหัวข้อ คนไทยไร้สัญชาติในประเทศไทย ร่วมกับบรรดาคนไทยไร้สัญชาติและอดีตคนไทยไร้สัญชาติอย่าง น้ำค้าง แซ่ตั้ง, อาภารัตน์ แซ่หวู, สสิธร วรรัตน์ และ ฯลฯ แม้หัวข้อจะแตกต่างกันแต่จุดยืนและแนวคิดตรงกัน “...คำว่าประเทศไทยนั้น ได้ปฏิเสธความแตกต่างของคนในชาติและสร้างปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ ผมเสนอว่าควรคิดกันใหม่ระหว่างคำว่าไทยกับสยาม มีความจำเป็นที่เราต้องทบทวนความเป็นชาติ เพราะคำว่าไทยทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมและกลายเป็นปัญหา ผมอยากเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อประเทศจากคำว่าไทยเป็นสยาม เพราะดินแดนของเรามีความหลากหลาย คำว่าไทกับคำว่าไทยมีความแตกต่างกัน.” นี่คือวาทะในวันนั้นของ เสน่ห์ จามริก นี่คือประเด็นที่ “เซี่ยงเส้าหลง” เคยเรียกร้องมาครั้งแล้วครั้งเล่าว่าถึงจะ ไม่อาจหวังผลในการเปลี่ยนชื่อประเทศจริง ๆ เพราะบ้านนี้เมืองนี้ ขาดแคลนผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และกล้าหาญ แต่การถกเถียงทางปัญญาจะก่อให้เกิด ผลข้างเคียง ที่จะทำให้ย้อนระลึกถึง ที่มาอันไม่ถูกต้องของแนวคิดในการเปลี่ยนชื่อประเทศ พูดง่าย ๆ ว่าเราไม่ควรหวังแค่ ชื่อ แต่ควรหวังถึงกระบวนการทบทวน ภูมิปัญญาในระดับปรัชญา ที่ครอบคลุมพรมแดน รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ภาษาศาสตร์ และ ประวัติศาสตร์ เข้าไว้ด้วยกันทีเดียวเวลาอภิปรายถึงคำ สยาม – ไทย, ไท – ไทย หรือแม้แต่คำแปลภาษาอังกฤษ Thai – Thailand ด้วย

•• แต่นอกจากจะไม่เป็นผลเรื่อง สยาม แล้ว ณ วันนี้เรายังกำลังถกเถียงกันในประเด็น พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อีกต่างหาก “เซี่ยงเส้าหลง” ไม่ได้หาเรื่องที่จะจะต้อง โทษรัฐบาล ที่ ไร้ปัญญา ไม่คิดจะใช้สื่อที่มีอยู่ รณรงค์ให้การศึกษาอย่างกว้างขวาง ในประเด็นที่ทรงคุณค่าเหล่านี้แทนที่จะให้ประชาชนจมอยู่แต่กับ ละครน้ำเน่า ทุกเมื่อเชื่อวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นั้นเล่าก็คิดได้แค่ รณรงค์ให้ใช้ผ้าไทย ซึ่งก็คง ได้ผลชั่วครู่ชั่วยาม ไปแค่ยุคสมัยของท่านเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น