xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ถกอนาคตทีไอทีวี-เสนอ 2 ทางเลือก “สื่อเสรี-สื่อสาธารณะ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.ถกอนาคตทีไอทีวีวันนี้ ขณะนี้ คณะกรรมการรับฟังความเห็นฯ เสนอ 2 ทางเลือกให้พิจารณาสื่อสาธารณะกับสื่อเสรี หรือให้เลือกทั้งสองทาง แต่ต้องรีบเสนอกฎหมายเข้าสภาภายในวันที่ 11 พ.ค.นี้ เพื่อรีบออกมารองรับให้ทันรัฐบาลชุดนี้

วันนี้ (24 เม.ย.) นางดรุณี หิรัญรักษ์ ประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตของสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ให้สัมภาษณ์ก่อนการร่วมประชุม ครม.เปิดเผยว่า ตนจะเข้าชี้แจงเพื่อเพื่อสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นการดำเนินการกับสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีให้ที่ประชุมรับทราบว่ารูปแบบที่เสนอต่อที่ประชุม ครม.จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ แต่ทั้ง 2 รูปแบบก็คือการให้เป็นสื่อสาธารณะเพียงแต่โครงสร้าง และการดำเนินการจัดการต่างกันขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเห็นชอบในแนวทางใด

อย่างไรก็ตาม นางดรุณี กล่าวว่า หาก ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการทั้งสองแนวทางเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์เพราะจะทำให้แวดวงธุรกิจนี้ขยายตัวมากขึ้นและเป็นผลดีต่อส่วนรวม ทั้งนี้ ในการชี้แจงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ 2 ท่าน คือ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิช นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ รับผิดชอบนำเสนอเรื่องสื่อสาธารณะ และนายประสาน หวังรัตนปรานี ที่ปรึกษาสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ รับผิดชอบนำเสนอเรื่องสื่อเอกชนและสื่อเสรี ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลคงมีมติรับดำเนินการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

นางดุรณี กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินการกับทีไอทีวี สามารถใช้ทั้ง 2 รูปแบบในการดำเนินการ ขึ้นอยู่กับช่องทางที่เหมาะสมที่ ครม.จะพิจารณา อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีระยะสั้นในช่วงรัฐบาลชุดนี้หรือทำเพื่อเตรียมการต่อยอดในรัฐบาลชุดต่อไป เพราะที่เสนอให้สามารถทำได้ทั้งระยะสั้น และระยะยาว

“ถ้ารัฐบาลเห็นว่าจะต้องขับเคลื่อนหรือทำให้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งสามารถออกมาในรัฐบาลชุดนี้ได้ก็คงจะเลือกรูปแบบนั้น ขณะเดียวกัน เราก็จะให้ข้อมูลว่ารูปแบบอื่นมันก็ทำได้ ทีนี้จะต้องดูกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา แต่ส่วนตัวอยากให้ทั้งสองแนวทางเกิดขึ้น และเป็นแนวทางที่สามารถทำได้ทันทีภายในรัฐบาลชุดนี้ ขึ้นอยู่เพียงว่ารัฐบาลจะผลักดันกี่แนวทาง” นางดุรณี กล่าว

นางดรุณียังกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันให้เกิดทีวีเสรี และทีวีสาธารณะว่า ถ้าเป็นสื่อสาธารณะก็ต้องมี พ.ร.บ.เผยแพร่ภาพและการกระจายเสียงสาธารณะ ซึ่งกำหนดรูปแบบที่สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ แบบไม่มีโฆษณา และแบบเปิดให้ภาคเอกชนประมูลช่วงเวลาเพื่อดำเนินการ โดยขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ด้าน นายสมเกียรติ กล่าวก่อนการให้ข้อมูลกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า จะนำเสนอการดำเนินการต่อที่ประชุมถึงแนวทางในการจัดตั้งทีวีเสรีและทีวีสาธารณะ โดยจะนำเสนอว่าการจัดทำทีวีเสรีควรดำเนินการตาม 3 แนวทาง คือ 1.การแก้ไขมาตรา 80 ขององค์การจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งคณะกรรมการจะไม่สนับสนุนวิธีนี้เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มี กสช. 2.รอให้เกิด กสช. และ3.การผลักดัน พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการทีวีเสรีจะมีโครงสร้างที่ให้เอกชนสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ แต่จะมีวิธีการไม่ให้เอกชนหรือรัฐเข้าไปแทรกแซงทิศทางและเนื้อหาสาระในการนำเสนอของสถานี ทั้งนี้จะมีแนวทางให้สัมปทานภาคเอกชนในระยะเวลาที่เหมาะสมและเกิดการคุ้มทุน

ทั้งนี้ นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การผลักดันให้เกิดทีวีเสรี รัฐบาลจะต้องเสนอร่างกฎหมายเข้าไปประกบร่างกฎหมายของ สนช.ไม่ช้ากว่าวันที่ 11 พ.ค.ส่วนแนวทางของทีวีสาธารณะ รัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนโดยผ่าน พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพฯ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะผลักดันให้เกิดองค์การมหาชนขึ้น จากนี้รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญว่าจะผลักดันทีวีลักษณะใดให้เกิดขึ้น แต่ส่วนตัวเห็นว่าแนวทางนี้ควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

“เพราะเราจะไม่มีความหวังกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าผลักดันไม่ได้ในรัฐบาลนี้รัฐบาลอื่นก็อาจไม่มีใครผลักดันแล้ว”

ส่วนกระบวนการในการป้องกันกลุ่มทุนเข้าแทรกแซงกิจการสื่อนั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อถกเถียงกันมากว่าจะบัญญัติการป้องกันดังกล่าวไว้ในรธน.ดีหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม สามารถใช้วิธีแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์เพื่อกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนของผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการสื่อ ทั้งนี้จะเป็นการป้องกันกลุ่มทุนเข้าแทรกแซงได้อีกทางหนึ่ง

**เคาะแล้ว"ทีไอทีวี"เป็นสื่อสาธารณะ

นางดรุณี หิรัญรักษ์ เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติให้รูปแบบในอนาคตของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็นทีวีสาธารณะ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษารูปแบบ พร้อมๆ กับการเสนอร่างพระราชบัญญัติองค์การแพร่ภาพกระจายเสียงโทรทัศน์สาธารณะ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ เชื่อมั่นว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะได้มีการร่างกฎหมายไว้แล้ว และทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีการเสนอกฎหมายในลักษณะเดียวกันไว้ด้วย โดยในส่วนของการทำงานทั้งหมดนั้นคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน คือภายในรัฐบาลชุดนี้ ในการที่จะผลักดันให้ทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ

ขณะที่ปัญหาเอกชนหรือผู้ผลิตที่ดำเนินการอยู่กับทีไอทีวีในปัจจุบัน นายสมเกียรติ เห็นว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องยกเลิก แต่อาจมีการเปลี่ยนรูปแบบเนื้อหาให้เข้ากับลักษณะของทีวีสาธารณะ และให้เป็นในลักษณะของการผลิตรายการกับองค์การมหาชนที่จะมีขึ้นเพื่อมาบริหารทีวีสาธารณะ ขณะที่ในส่วนของผู้ที่จะทำหน้าที่บริหาร อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น