xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉาก “แอร์ฟอร์ซวัน” ทอ.ปรับเข้าระบบเครื่องบินลำเลียง ลบอักษร “ไทยคู่ฟ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปิดฉาก “แอร์ฟอร์ซวัน” ทอ.ปรับเข้าระบบเครื่องบินลำเลียง ลบอักษร “ไทยคู่ฟ้า” พร้อมสนับสนุนภารกิจเครื่องสำรองพระที่นั่ง บรรจุเป็น บล.15 - ทอ. รับ “โบอิ้ง” ใหม่ทูลเกล้าฯ ถวาย “ในหลวง” ครบ 80 พรรษา ตบแต่งสมพระเกียรติ

น.อ.มฑทล สัชฌุกร รองโฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า เครื่องบิน Boeing 737-800 ที่กองทัพอากาศจัดถวายเป็นเครื่องพระที่นั่ง กองทัพอากาศในฐานะที่จะต้องมีภารกิจในการถวายการบินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ กองทัพอากาศจึงพิจารณาในเรื่องการจัดหาเครื่องบินพระราชพาหนะที่มีความเหมาะสมถวาย ปัจจุบันกองทัพอากาศมีเครื่องพาหนะใช้งานเพียง 1 ลำ คือ เครื่องบิน Boeing 737-400 ซึ่งได้ประจำการเมื่อปี 2538

น.อ.มณฑล กล่าวว่า เครื่องบินโบอิ้งที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีการกำหนดในการใช้งาน 15 ปี ต่อเครื่อง ซึ่งตามห้วงระยะเวลาตามปกติเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ก็จะหมดวาระการใช้งานปี 2553 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ปี 2549 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กองทัพอากาศก็เห็นว่าเครื่องบินพระราชพาหนะลำดังกล่าวไม่กี่ปีก็จะต้องปลดประจำการก็น่าจะดำเนินการจัดหาเครื่องใหม่มาทดแทนเพื่อจะได้ไม่ต้องรอให้เสียเวลา กองทัพอากาศจึงได้ดำเนินการก่อน

“กองทัพอากาศจัดทำเป็นโครงการจัดหาเครื่องบินพระราชพาหนะในวโรกาสเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2549 จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาในเรื่องของการเลือกแบบของเครื่องบิน รวมถึงการจัดซื้อเครื่องบินที่ผ่านมาพื้นฐานของการเครื่องบินพระราชพาหนะส่วนใหญ่พบว่าใช้โบอิ้งเป็นหลัก ทำให้นักบินมีความชำนาญ และมีความคุ้นเคย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ช่างก็มีความคุ้นเคยกับการดูแลก็เลยพิจารณาว่าเครื่องบินโบอิ้งเป็นเครื่องที่ระดับวีไอพีทั่วโลกใช้กัน ก็เลยตกลงใช้เครื่องบินโบอิ้ง ที่มีความปลอดภัย ทันสมัย และการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญในด้านสมรรถนะการขึ้นลงในสนามบิน ที่ไม่ยาวนักได้ สามารถลงที่สนามบินหัวหินได้” น.อ.มณฑล กล่าว

น.อ.มณฑล กล่าวว่า สำหรับเรื่องราคานั้นยังไม่แน่นอนว่าราคาจริงเท่าใด แต่เราสามารถตกลงต่อรองเรื่องราคากับริษัท โบอิ้ง ได้ เพราะการสร้างเครื่องบินลำดังกล่าวถือเป็นประวัติศาสตร์ของบริษัทที่ได้มีการจัดสร้างเครื่องบินพระราชพาหนะเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติรอบ 60 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการอนุมัติงบให้ดำเนินการเมื่อปี 2548 โดยให้ดำเนินการแบบกรณีพิเศษตามขั้นตอนการทุกอย่าง ขณะเดียวกัน กองทัพอากาศได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไปติดตามดูแลในการก่อสร้างของบริษัท โบอิ้ง ว่าเครื่องบินลำดังกล่าวจะต้องมีแต่งเติมอะไรบ้าง ทั้งเจ้าหน้าที่ด้านการช่าง เจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสาร

“เครื่องบินลำดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างตามมาตรฐานของสหพันธ์การบินที่เป็นตัวกำหนดมาตรการเกี่ยวอากาศย่าน หรือเอฟเอเอ (Feederal aviation administration) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศ และในขณะที่กำลังสร้างอยู่ทางเจ้าหน้าที่ก็ไปดูแลตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสร้างลำตัวเครื่องบินเสร็จแล้ว พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ให้ความสำคัญกับเครื่องบินลำดังกล่าวมากจึงได้เดินทางไปติดตามด้วยตนเอง และในวันที่ 31 พ.ค.2549 ได้มีการลงนามตรวจรับเครื่องบินเฉพาะตัวเครื่องเปล่า จากนั้นเป็นการตกแต่งภายใน โดยกองทัพอากาศต้องการเน้นพิเศษ เนื่องจากกองทัพอากาศจะทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ให้ดีที่สุด” น.อ.มณฑล กล่าว

น.อ.มณฑล กล่าวอีกว่า สำหรับการตกแต่งภายใน กองทัพอากาศจะใช้ไม้สักทอง และแกะ ลวดลายเป็นไทย รวมถึงมีการติดตั้งตราสัญลักษณ์ครบรอบ 60 ปี ซึ่งเราได้ประสานกับทางกรมศิลปากร ส่งเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรเพื่อไปดูแลเครื่องหมายสัญลักษณ์ นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งภาพวาดวรรณคดีไทย โดยมีการคัดเลือกจากหนังพระมหาชนก 2 ภาค ซึ่งกองทัพอากาศได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งอุปกรณ์สำหรับที่นั่งประทับ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้ในการเดินทาง รวมถึงการตกแต่งลดระดับเสียงดังจากภายนอกตัวเครื่องไม่ให้ดังเกินไป

“ทางกองทัพอากาศได้ลงนามรับมอบเครื่องเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยที่ พล.อ.อ.ชลิต ได้เดินทางไปดู และรับเครื่องด้วยตัวเอง เพราะท่านให้ความสำคัญกับเครื่องลำดังกล่าวมาก สำหรับเส้นทางการบินได้บินจากซีแอลเติลมายังฮาวาย และพักค้าง 1 คืน และหลังจากนั้นบินจากฮาวายมายังไซปัน และพักค้าง 1 คืนก่อนที่จะเดินทางมาถึงท่าอากาศยานทหารอากาศในวันนี้เวลา 11.30 น. โดยมี พล.อ.อ.อัครชัย สกุลรัตนะ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้เป็นประธานในพิธีต้อนรับเที่ยวบินนำส่งเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 (BOEING 737–800) ลำดังกล่าวแทน”

น.อ.มณฑล กล่าวว่า สำหรับเครื่องบิน Airbus-ACJ 319 ไทยคู่ฟ้า ได้มีการจัดเข้ามาอยู่ในระบบของกองทัพอากาศโดยบรรจุเป็นเครื่องบินลำเลียง (บล.15) จากใช้คำเรียกขานว่า “ไทยคู่ฟ้า” ได้มีการปรับเปลี่ยนและทาสีใหม่โดยลำตัวจะทาสีขาวคาดด้วยสีฟ้า น้ำเงิน และเขียนที่ลำตัวเครื่องว่า “กองทัพอากาศ” เช่นเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศ โดยภารกิจของบุคคลสำคัญ และเครื่องสำรองพระที่นั่ง ซึ่งในห้วงเวลาที่ผ่านมามีพระบรมวงศานุวงศ์ทรงใช้ในการเสด็จประกอบพระราชกรณียกิจอยู่พอสมควร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบันกองทัพอากาศได้จัดเครื่องพระราชพาหนะไว้รวมแล้ว 3 เครื่อง คือ โบอิ้ง 737-400 ซึ่งปัจจุบันเป็นเครื่องพระที่นั่งที่ประจำการอยู่และจะมีการลดระดับลงเป็นเครื่องสำรองพระที่นั่งเมื่อ มีการนำเครื่องบินแอร์บัสลำใหม่เข้าประจำเป็นเครื่องบินพระที่นั่งอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้นยังมีเครื่อง Airbus 319-300 ที่จัดเป็นพระที่นั่งสำรอง และ เครื่อง Airbus-ACJ 319 หรือไทยคู่ฟ้าเดิมที่จะสนับสนุนภารกิจของบุคคลสำคัญ และเป็นเครื่องสำรองพระที่นั่งด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น