xs
xsm
sm
md
lg

บังคับ ส.ส.สังกัดพรรค - ยึดแนว ศก.การตลาด "รธน.50"ไม่มีอะไรใหม่เลย

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

•• ไม่ค่อยอยากจะเขียนเรื่อง (ร่าง)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่มีอยู่รวม 317 มาตรา สักเท่าไรนักเพราะ ไม่มีอะไรใหม่จริง ๆ ประเด็นสำคัญที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ยืนหยัดคัดค้านมาตลอดเรื่อง บังคับผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรค, บังคับให้รัฐดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมการตลาด ยังคง เหมือนเดิม ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

•• อันว่ามาตรการ บังคับผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรค ของบ้านเราที่ว่านี้เริ่มต้นอย่างเบา ๆ ตั้งแต่ ปี 2517 แล้วทวีความเข้มข้นขึ้นใน ปี 2521 แม้จะมี ที่มา จากความต้องการทำให้การเมืองระบบรัฐสภามี เสถียรภาพ แต่เทียบเคียงแล้วกลับ เหมือน กับ รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ฉบับที่ 1 ค.ศ. 1948 อันกล่าวได้ว่าเป็น รัฐธรรมนูญระบอบเผด็จการ ควรบันทึกไว้ว่าก่อนหน้า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 เอาเป็นว่าย้อนไปถึง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ได้เคยบัญญัติถึงสถานภาพของ ส.ส. ไว้ว่า “...สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยาม มิใช่แทนแต่เฉพาะผู้ที่เลือกตั้งตนขึ้นมา ... ต้องปฏิบัติหน้าที่ ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ มิใช่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ.” ขอได้โปรดพิจารณาข้อความส่วนที่ “เซี่ยงเส้าหลง” จงใจขีดเส้นใต้ไว้ดี ๆ

•• เพราะพอถึง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ข้อความเดิมที่ “เซี่ยงเส้าหลง” จงใจขีดเส้นใต้ไว้ในย่อหน้าก่อน ถูกตัดทิ้ง ทั้ง 2 ข้อความ ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ และ มิใช่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ ไม่ปรากฏเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศนี้มาจนทุกวันนี้

•• ว่าด้วยเรื่อง บังคับผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรค ที่ปรากฎครั้งแรกใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 นี้ “เซี่ยงเส้าหลง” เคยเล่าให้ฟังแล้วใช่ไหมว่าทำให้สังคมไทยพลาดที่ได้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มาลงสมัคร ส.ส. ท่านเคยกล่าวกับ สมยศ เชื้อไทย ในห้วงเวลานั้นว่า “...ถ้ารัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ลงสมัคร ส.ส.ได้โดยไม่สังกัดพรรค ผมจะลงสมัคร.” เชื่อไหมว่าวาทะนี้กับ กระแสสังคม ขณะนั้นที่ถูกครอบงำโดย แนวคิดบังคับ ส.ส.สังกัดพรรค ทำให้หลายคนมอง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็น พวกล้าหลัง ไปเลย

•• กรณีของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในอดีตสามารถนำมาเปรียบเทียบกับ ส.ว.เลือกตั้งชุดแรก ที่มาจาก การเลือกตั้ง โดย ไม่บังคับสังกัดพรรคการเมือง (แต่ก็เสมือนเป็น ตุ้มนาฬิกา ที่ เหวี่ยงกลับ ไปอีกทิศหนึ่งคือ ห้ามสังกัดพรรคการเมือง เลยซึ่ง ขัดความจริง) จะเห็นได้ว่าทำให้ได้ บุคลากรทรงคุณภาพ เข้ามาจำนวนหนึ่งเป็น หน้าใหม่ ชนิดที่ ไม่มีทางมีได้ – หากบังคับสังกัดพรรค นักการเมืองบ้านเรามักมี สูตรสำเร็จ ไล่ให้คนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์และเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ไป สมัคร ส.ส.โดยไม่พยายามจะรับรู้เลยว่าบ้านเมืองนี้ “...มีบุคลากรทรงคุณภาพจำนวนมากที่ประสงค์จะมีบทบาททางการเมือง แต่ไม่ประสงค์จะสังกัดพรรคการเมืองที่มีอยู่.” คนอย่าง วัลลภ ตังคณานุรักษ์, มนตรี สินทวิชัย, เตือนใจ ดีเทศน์, พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ดำรง พุฒตาล และ ฯลฯ จะไม่มีวันหลุดเข้ามาสู่ การเมืองในระบบรัฐสภา แน่นอนหากหนทางสู่ความเป็น สมาชิกสภา ยังคง บังคับสังกัดพรรคการเมือง โดยนัยเดียวกันนี้หากความเป็น ส.ส. เปิดกว้างบ้านเมืองนี้จะ หลีกหนีความซ้ำซากจำเจ ได้ในระดับสำคัญ

•• อีกประเด็น มาตรา 87 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ขึ้นต้นด้วยประโยค “รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด...” นอกจากจะเป็นการ ขึงตึง, มัดมือมัดเท้าตัวเอง แล้วเมื่ออ่าน มาตรา 87 ทั้งมาตรา จะเห็นได้ว่าเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญตาม ฉันทมติวอชิงตัน หรือ Washington Consensus แม้จะมี ข้อยกเว้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับ การตีความ คิดดูก็แล้วกัน Washington Consensus ประกอบด้วย 4 –ation คือ Liberalization, Stabilization, Privatization และ Deregulation รัฐธรรมนูญมาตรานี้บัญญัติไว้ ครบถ้วน นอกจากข้อความตอนต้นที่สื่อถึง Liberalization แล้วยังมีข้อความ “...ยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ.” สื่อถึง Deregulation อย่าง ตรงไปตรงมา ไม่เพียงแต่เท่านี้ยังมีข้อความ “...(รัฐ)ต้องไม่ประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน.” สื่อถึง Privatization อย่าง ชัดเจน พูดง่าย ๆ ว่ารัฐธรรมนูญ ปิดตาย การเลือกใช้ ระบบสังคมนิยม โดย สิ้นเชิง และแม้แต่การนำ ลัทธิเคนส์ มาใช้นั้นถ้าอยู่ในระดับ เข้มข้น ก็อาจตีความได้ว่า ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ได้

•• ข้อความที่ควรจะเป็นในมาตรานี้ก็คือ “...รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น.” เรื่องนี้ขอฝาก น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง

•• ขอบคุณ พิภพ ธงไชย แห่ง มูลนิธิเด็ก ที่ส่งหนังสือดีมาก ๆ เล่มหนึ่งมาให้อ่าน เล็กนั้นงาม : การศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยให้ความสำคัญกับผู้คน ผลงานอมตะอายุมากกว่า 30 ปีของนักเศรษฐศาสตร์กระแสรองนามกระเดื่อง อี. เอฟ. ชูมาเกอร์ เรื่อง Small is Beautiful : A study of Economics as if People Mattered แปลใหม่โดย กษิร ชีพเป็นสุข บรรณาธิการแปลโดย วีระ สมบูรณ์ คำนิยมที่บอกเล่าเรื่องราวโดย อภิชัย พันธเสน คำปรารมภ์ที่งดงามโดย ส. ศิวรักษ์ อาจจะเพราะเห็น “เซี่ยงเส้าหลง” เขียนถึงหนังสือเล่มนี้มาหลายหนแล้วบอกว่าไม่รู้วันนี้จะหาซื้อได้ทั่วไปหรือไม่ สมบูรณ์ ศุภศิลป์ เคยแปลทั้งเล่มเป็นครั้งแรกส่งให้ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 2528 ในชื่อ จิ๋วแต่แจ๋ว : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ในเล่มนั้นเฉพาะ บทที่ 4 เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ : Buddhist Economy ใช้ต้นฉบับสำนวนแปลเดิมของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ที่แปลไว้ตั้งแต่ปี 2517 บทนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งนักตรงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์แปลไว้เช่นกันในชื่อ เศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา - บทที่ 4 เล็กดี รสโต เร่งหาซื้อฉบับพิมพ์ครั้งใหม่นี้มาอ่านกันในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ได้ตาม ร้านหนังสือใหญ่ ๆ ทั่วไป หรือติดต่อที่ไปที่ บริษัทเคล็ดไทย : โทรศัพท์ 02 2259536 – 40 หรือที่ โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก : โทร ศัพท์ 02 8811734 โทรสาร 02 4246280 หรือไม่ก็เปิดเข้าไปหาข้อมูลที่เว็บไซต์ของมูลนิธิเด็กงานหลักของพิภพ ธงไชย มีเรื่องน่ารู้น่าสนใจให้พิจารณากันมากมาย

•• อีกเล่มหนึ่งในแนวเดียวกัน เศรษฐกิจพอเพียง : Sufficiency Economy รวบรวมโดย กองบรรณาธิการนิตยสาร Positioningในเครือของ ผู้จัดการ บรรณาธิการเล่มก็คือบรรณาธิการของนิตยสารสำหรับคนรุ่นใหม่ฉบับนี้ไพเราะ เลิศวิราม อ่านง่ายเข้าใจไม่ยากและมีตัวอย่างรูปธรรมของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งมีบท ทักษิโณมิกส์แตกต่างกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร หาซื้อได้ตามร้านหนังสือใหญ่ ๆ ทั่วไปหรือติดต่อที่ บุ๊คโฟร์ยู : โทรศัพท์ 02 9102121, 09 7880159 หรือที่ นิตยสาร Positioning:โทรศัพท์ 02 6294400 ต่อ1243 ไม่ควรพลาด

•• และที่พลาดไม่ได้จริง ๆ ก็คือเล่มนี้ คิดไม่เหมือนใคร : คิดอย่างไร พูดอย่างนั้น โดย สนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการโดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช ช่วงนี้ไม่ขายแต่แถมฟรีให้กับท่านที่ ซื้อหนังสือของสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ 400 บาทขึ้นไป เฉพาะในงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่จะยังมีไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2550 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เดินตรงไปที่ บู้ธ M 01 โซน C ชั้นล่าง พ้นจากงานนี้แล้วถึงจะขายหนังสือหนา 240 หน้าเล่มนี้ในราคา 180 บาท ไม่มีลดไม่มีแถม
กำลังโหลดความคิดเห็น