xs
xsm
sm
md
lg

“พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” : บททดลองเสนอในมาตรา 2 รัฐธรรมนูญยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

•• ก็ต้องถือว่า สุดยอด แล้วนะที่กาลครั้งหนึ่งไม่นานมา สนธิ ลิ้มทองกุล พา ยามเฝ้าแผ่นดิน ออกอากาศทางฟรีทีวี ช่อง 11 ได้ติดต่อกันถึง 10 วัน เพราะวันนี้รายการของ คตส. ชื่อ แกะรอยคอร์รัปชั่น ที่ แก้วสรร – ขวัญสรวง อติโพธิ ทุ่มเทสติปัญญาสร้างสรรค์ออกมาอย่างผสมผสานกลมกลืนกันทั้งเนื้อหาและศิลปะการนำเสนอ ช่อง 5 กลับเล่นกลสารพัดชนิดเห็นได้ชัดว่า ไม่ให้ความสำคัญ ไม่อยากจะฟ้อง พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน เพราะรู้ว่า ฟ้องไปก็เท่านั้น ดูเหมือนว่าการทำอะไรก็ตามโดยใครก็ตามที่จะให้ ฟรีทีวีเป็นเครื่องมือในการนำสัมมาปัญญาสู่สาธารณะ นี่มันเป็น ของต้องห้าม เสียเหลือเกินนะ

•• แล้วจะไม่ให้คนเขาคิดว่ารัฐบาลและคมช.เวลานี้ ไม่ได้คิดจะปฏิรูปการเมืองจริง ๆ จัง ๆ คิดเพียงแค่กลับไปสู่ ยุคเก่าก่อนช่วงปี 2537 – 2540 เท่านั้นได้อย่างไรกัน “เซี่ยงเส้าหลง” เขียนไปเขียนมาก็ออกจะ เบื่อ ที่จะเสนอนั่นเสนอนี่เสียเต็มประดา

•• มา ลุ้นระทึก กันเรื่อง “...พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ.” กันดีกว่าว่าเมื่อถึงที่สุดของที่สุดแล้วจะมี บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก หรือไม่

•• ขณะนี้ยังไม่รู้ทิศทางของ ส.ส.ร., คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าทาง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในส่วนของ คณะกรรมาธิการการศาสนา จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่มีประธานเป็น พล.อ.ปรีชา โรจนเสน และมีสมาชิกจาก หลากหลายศาสนา นั้นได้ลงมติเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 เห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะอนุกรรมาธิการกฎหมายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ที่มีประธานเป็น วรเดช อมรวรพิพัฒน์ ให้เสนอความเห็นไปยังองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงต่าง ๆ ว่าควรบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อจาก มาตรา 1 ที่จะต้องบัญญัติเหมือนทุกฉบับที่ผ่านมาว่า “...ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหน่างอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้.” ให้เป็น มาตรา 2 ยุคใหม่ โดยวรรคหนึ่งบัญญัติว่า “...ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ.” และวรรคสองบัญญัติว่า “...ศาสนาอื่นที่มีประชาชนจำนวนมากนับถืออย่างเป็นปึกแผ่น ยาวนาน และได้รับการรับรองจากรัฐ ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และศาสนาซิกข์.” ซึ่งจะถือเป็น มิติใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ทุกฉบับ ไม่เคยบัญญัติไว้ มาตราที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ จะบัญญัติไว้แต่เพียงว่า “...พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก." (รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติไว้ใน มาตรา 9 โดยมี มาตรา 38 บัญญัติ รับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา และมี มาตรา 73 บัญญัติให้ รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น) ชาวพุทธกลุ่มนี้เรียกร้องมาตั้งแต่ ส.ส.ร. 2539 – 2540 แล้วแต่ ไม่สำเร็จ เชื่อว่าแรงผลักดัน ณ วันนี้จะ มากขึ้นหลายเท่า อาจถึงขั้นระดมประชาชนเข้าชื่อกันอย่างต่ำ 2 ล้านคน อย่างสูง 5 ล้านคน ทีเดียว “เซี่ยงเส้าหลง” แม้จะหนักใจแทน ส.ส.ร., คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ลองคิดในอีกมุมหนึ่งว่าถ้าจะ บัญญัติขึ้นมาเป็นครั้งแรก ก็ไม่เห็นจะ เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย อะไรนัก

•• ย้ำอีกครั้ง -- ถ้า มาตรา 2 ยุคใหม่ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “...ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ.” แล้วมีวรรคสองบัญญัติเพิ่มเติมว่า “...ศาสนาอื่นที่มีประชาชนจำนวนมากนับถืออย่างเป็นปึกแผ่น ยาวนาน และได้รับการรับรองจากรัฐ ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และศาสนาซิกข์.” พี่น้องแฟนานุแฟนของ “เซี่ยงเส้าหลง” มีความเห็นเป็นประการใดลอง แลกเปลี่ยน กันเข้ามาได้

•• ส่วน เหตุผล ของ คณะกรรมาธิการการศาสนา จริยธรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม มีว่าอย่างไร “เซี่ยงเส้าหลง” ขอเวลา รวบรวมข้อมูล - เรียบเรียงความคิด มาเล่าสู่กันฟังในวันต่อ ๆ ไป

•• มองโดยภาพรวมแล้ว “เซี่ยงเส้าหลง” ไม่เชื่อว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ ส.ส.ร. 2550 จะบรรลุผลใน การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 รวมทั้งไม่เชื่อว่า (ว่าที่)รัฐธรรมนูญ 2550 ที่จะเสร็จร่างที่ 1 ในวันที่ 19 เมษายน 2550 นี้จะ ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าในประเด็นที่กล่าวถึงในวันนี้หรือประเด็นอื่น ๆ ไม่ใช่เพราะเหตุผลเรื่อง สืบทอดอำนาจ และก็ไม่ใช่เพราะเหตุผลเรื่อง ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เพราะยิ่งนานวันก็ยิ่งปักใจเชื่อในหลักคิดที่ว่า การปฏิรูปการเมือง ไม่ว่าที่ใดในโลกจะสำเร็จได้ก็โดยแต่หนทางที่สังคมนั้น ๆ มี ผู้นำทางการเมือง ที่มี บารมี ระดับ รัฐบุรุษ – Statesman ที่จะสามารถทำให้ประชาชนกว่าร้อยละ 90 ของสังคม ศรัทธาและเชื่อถือโดยปราศจากข้อสงสัย คือจะต้องมีผลงานประทับใจประชาชนมาในระดับ วีรบุรุษสงคราม, วีรบุรุษกู้ชาติ เงื่อนไขประการสำคัญยิ่งนี้จะทำให้ประชาชน ยินยอมพร้อมใจ – เห็นดีเห็นชอบในรัฐธรรมนูญใหม่แม้ยังไม่เข้าใจและอาจจะไม่เห็นด้วยในบางประเด็น อันจะทำให้ รัฐธรรมนูญใหม่มีเวลาในการพัฒนาตนเอง พอสมควร ศรัทธา, บารมี คือเงื่อนไขสำคัญ เหนือเนื้อหารัฐธรรมนูญใหม่ พูดง่าย ๆ อย่างนั้นเถอะ

•• แม้ในกรณีของประเทศไทยจะ ไม่มี ผู้นำทางการเมืองที่มีบารมีระดับ รัฐบุรุษ – Statesman แต่ที่ประเทศไทย มีแน่ ๆ ในขณะที่ทั่วโลกไม่มีและอิจฉาเราก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน ที่ทรงเป็น ศูนย์รวมความศรัทธาของประชาชนชาวไทย น่าเสียดายที่แม้เกิด รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ก็ไม่เกิดกระบวนการ ถวายพระราชอำนาจคืนแด่พระองค์ ในลักษณะที่เรียกว่า ขอพระราชทานคำแนะนำของพระองค์ตลอดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เคยเสนอไว้ตั้งแต่ ปี 2537 และ สนธิ ลิ้มทองกุล เคยนำประชาชน กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณ ไว้ที่ สวนลุมพินี ตั้งแต่เมื่อ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ในเชิงหลักการ

•• คำถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 นั้นอาจแปรเป็น รูปธรรม ได้ไม่ยากทันทีหากเกิด องค์กรกันชน มาแก้ไข ข้อจำกัด ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้กระบวนการ ขอพระราชทานคำแนะนำของพระองค์ตลอดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง

•• ซึ่ง องค์กรกันชน ในลักษณะข้างต้นในช่วงการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 นั้น ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เคยเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 โดยแก้ไข มาตรา 211 ตั้งแต่ ปี 2537 และ คพป. – คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ชุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี, ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เองก็รับมาใส่ไว้เป็นแนวทางของ คพป.เมื่อ ปี 2538 ในรูปแบบ คณะกรรมการพิเศษ (ในลักษณะ ขอพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง) ไม่ใช่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ อย่างที่พัฒนามาเป็น ส.ส.ร. 2539 - 2540 และ ส.ส.ร. 2549 – 2550 ที่กำลังดำรงอยู่ทุกวันนี้

•• พูดง่าย ๆ ว่า ร่างอย่างไร ก็จะ ไม่เป็นที่พอใจของทุกคน เพราะองค์กรผู้ร่างได้รับการออกแบบมาให้ ไร้บารมี, ไม่มีโอกาสที่จะได้รับความศรัทธาจากประชาชนกว่าร้อยละ 90 ของประเทศ ยิ่งไปออกแบบให้ต้องผ่าน การลงประชามติ ยิ่งไปกันใหญ่

•• คนที่สนใจเรื่องราวของ ทหาร ซึ่ง ณ วันนี้กลับมาเป็น เรื่องต้องรู้ อีกแขนงหนึ่งหลังจากเคยคิดว่าล้าสมัยพ้นสมัยไปแล้วขอแนะนำให้อ่านนิตยสารรายปักษ์ ฅนมีสี – รายปักษ์วิจารณ์ จากการลงทุนของคนข่าวตำรวจเก่า นพรัฐ พรวนสุข เจ้าของสมญา นก ปิศาจ แต่ได้คนข่าวอาวุโสสายทหารที่รู้เรื่องในแวดวงสีเขียวมากกว่าใคร ๆ นาม ปรีชา กุลปรีชา ที่เคยโด่งดังสุด ๆ มาตั้งแต่ยุค 20 – 25 ปีก่อน ในนิตยสารรายสัปดาห์ หลักไท --> ข่าวไท มาทำหน้าที่ บรรณาธิการอำนวยการ ใครใคร่รู้เรื่องลึก ๆ ของทหารแค่อ่านคอลัมน์ชื่อดัง จากพานท้ายถึงปลายดาบ โดยผู้ใช้นามปากกาว่า เอ็ม.ซี.วัน ก็คุ้มเกินคุ้มกับมูลค่าราคาเล่มละแค่ 40 บาท เล่มล่าสุดที่อยู่บนแผงหนังสือขณะนี้ขึ้นปกเป็นคู่แคนดิเดต ผบ.ทบ. พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร – พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์ พร้อมพาดหัวว่า “คู่ชิม...ใครจะถูกปากรัฐบาลใหม่ : สพรั่ง vs มนตรี : เผ็ดจัด vs หวานจ๋อย” ลงมือวิเคราะห์เองโดย ปรีชา กุลปรีชา นอกจากจะหาอ่านกันได้สบาย ๆ แล้วใครประสงค์จะเป็น สมาชิก, สนับสนุนโฆษณา กรุณาติดต่อไปได้ที่สำนักงาน โทรศัพท์ 0-2890-4147, 0-2890-5136 – 8 ต่อ 200 หรือ โทรสาร 0-2890-4128 หรือทันสมัยหน่อยโดย อีเมล ไปที่ konmeesee@yahoo.com หนังสือเล็ก ๆ แต่ใจใหญ่อย่างนี้ต้องช่วยกัน อุดหนุน หน่อยนะ

•• อ่านงานของ ปรีชา กุลปรีชา ข้างต้นแล้วก็ดูเหมือน วิธีคิด ของ “เซี่ยงเส้าหลง” ที่เคยนำเสนอไปในเรื่องเดียวกันนี้ไม่ได้ คิดคนเดียว แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น