xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : จุดจบ “ ไอทีวี” กับ “อุดมการณ์” ที่ไม่ค่อยอยู่ใน “ร่องรอย”?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติ สิงหาปัด นำทีมพนักงานไอทีวียื่นหนังสือถึงนายกฯ 4 ข้อ เช่น ให้ไอทีวีแพร่ภาพต่อไปได้ไม่หยุดชะงัก และการเปลี่ยนแปลงใดใดต้องไม่กระทบต่อการจ้างพนักงาน เมื่อวันที่ 8 ก.พ.
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

อาจไม่ใช่เวลาที่จะมา “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” หรือ “ถามหาความรับผิดชอบ” ว่าใครทำให้ “ไอทีวี” ต้องพบจุดจบแบบนี้ แต่ “อดีต” จะเป็น “บทเรียน” สอนผู้เกี่ยวข้องให้ป้องกันไม่ให้”ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”อีกในอนาคต ...ปฏิเสธไม่ได้ว่า จังหวะก้าวเดินของ “ไอทีวี” ที่ผ่านมา การถูกรุกคืบ-แทรกแซงโดย “ธุรกิจ-กลุ่มทุนการเมือง” เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่เพียงท้าทายอุดมการณ์ความเป็น “สื่ออิสระ” ของพนักงานไอทีวีเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นชนวนหลักที่นำมาซึ่ง “จุดจบ” ในวันนี้ด้วย ...ลองมา “ย้อนรอย-ถอดรหัส” ไอทีวีกันสักครั้งก่อนที่ “สถานีใหม่” จะผุดขึ้นมาแทนที่
 
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ


พนักงานไอทีวี เรียกร้องนายกฯ (เมื่อ 15 ธ.ค.)ให้ทบทวนค่าปรับนับแสนล้าน เพราะสูงเกินจริง และว่า การให้ไอทีวีจ่ายภายใน 45 วัน เท่ากับปิดตายหนทางการแก้ปัญหา
ในที่สุด ไอทีวีก็เดินมาถึงจุดอวสาน แม้จะยังไม่ถึงเส้นตาย 6 มี.ค.ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ขีดไว้ว่าไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทานค้างจ่าย 2,200 ล้าน และค่าปรับจากการผิดสัญญาสัมปทานอีกนับแสนล้านก็ตาม เพราะมีความชัดเจนจากฝ่ายผู้บริหารไอทีวีแล้วว่า หาก สปน.ไม่ยอมให้แยกหนี้ ไม่ยอมให้ไอทีวีจ่ายเฉพาะค่าสัมปทานก่อน (ส่วนค่าปรับค่อยว่ากันทีหลัง) ไอทีวีก็ไม่มีเงินเป็นแสนล้านมาจ่าย สปน.ในวันที่ 6 มี.ค.แน่นอน

ซึ่งฝ่าย สปน.และ ครม.ก็ได้ฟันธงแล้วเมื่อวานนี้(27 ก.พ.)ว่า หากไอทีวีไม่ยอมจ่ายค่าสัมปทานและค่าปรับทั้งหมดภายในวันที่ 6 มี.ค. สปน.ก็ต้องยึดสัมปทานคืน โดย สปน.พร้อมอุ้มพนักงานไอทีวีด้วยการรับช่วงต่อ ส่วนหนี้นับแสนล้านที่ไอทีวียังค้าง สปน.อยู่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยฟ้องให้ไอทีวีชำระหนี้ต่อไป

โดยเบื้องต้น ปลัดสำนักนายกฯ นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต บอกขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อมาดูแลให้ไอทีวีออกอากาศต่อได้ไม่ขาดช่วง โดยมีรายงานว่าอาจมีการดึงบุคลากรส่วนหนึ่งมาจากบอร์ด อสมท เพราะมีศักยภาพอยู่แล้ว นอกจากนี้จะมีการตั้งชื่อสถานีใหม่แทนไอทีวี ส่วนงบประมาณที่จะนำมาบริหารสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่นี้ ปลัดสำนักนายกฯ บอก เบื้องต้นจะใช้งบกลาง โดยตั้งไว้ที่ 1,200 ล้านบาทต่อปี โดยเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาทต่อเดือน!

ด้าน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บ.ไอทีวี บอก หาก สปน.ยกเลิกสัมทาน ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ บริษัทคงต้องเลิกจ้างพนักงาน โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานตามกฎหมายประมาณ 200 ล้านบาท และว่า ไอทีวีพร้อมให้ สปน.เช่าสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สถานีสามารถออกอากาศได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ พนักงานไอทีวี รีบออกแถลงการณ์ (เมื่อ 27 ก.พ.) ขอบคุณนายกฯ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ ครม.ที่มีมติล่วงหน้าแก้ปัญหาของไอทีวี โดยตั้งคณะทำงานพิเศษเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้การแพร่ภาพออกอากาศทำได้อย่างต่อเนื่อง และให้ สปน.รับพนักงานไอทีวีเข้าทำงานในหน่วยงานใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น โดยคงสภาพการจ้างเดิม และว่า พนักงานไอทีวีพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มความสามารถ พร้อมขอให้คณะกรรมการพิเศษคำนึงถึงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการก่อตั้งสถานีไอทีวี คือ นำเสนอข่าวสารด้วยความเป็นกลาง อิสระ และปลอดจากการแทรกแซง....!

ทั้งหมดนั้นคือสถานการณ์ปัจจุบันของไอทีวี แต่...ก่อนที่ไอทีวีจะมาพบจุดจบในวันนี้ อาจพูดได้ว่า คาดหมายได้ตั้งแต่ช่วงแรกที่เปิดประมูลสัมปทานว่าไอทีวีคงไปไม่รอด และหากจะบอกว่าหายนะของไอทีวีเริ่มปรากฏเมื่อชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นใหญ่ ก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริง และถ้าวันนั้น...วันที่บริษัทชินฯ เข้ามา พนักงานไอทีวีที่วันนี้กำลังจะย้ายบ้านไปอยู่ในอ้อมกอดของ สปน. ได้ช่วยกันลุกขึ้นมาต่อต้านการรุกคืบ-แทรกแซงของบริษัทชินฯ ดังเช่นที่กบฏไอทีวีทั้ง 21 คนได้เคยทำ ...วันนี้ไอทีวีอาจไม่ต้องพบจุดจบแบบนี้ก็เป็นได้!

เราลองมาย้อนรอยไอทีวีผ่านคำบอกเล่าของใครบางคน ...คนที่เคยอยู่กับไอทีวีมาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง ตั้งแต่ไอทีวียังไม่ออนแอร์ด้วยซ้ำ แล้ววันหนึ่งเขาคนนี้และเพื่อนอีก 20 คน ก็ถูกผู้บริหารชุดใหม่ในร่างชินคอร์ป ยัดข้อหาว่ากระด้างกระเดื่อง-ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา สมควรออกไปจากไอทีวี!?!

ก่อนจะไปฟัง ปฏิวัติ วสิกชาติ อดีตบรรณาธิการข่าวไอทีวี และ 1 ใน 21 กบฏไอทีวี ย้อนรอยปัญหาเกี่ยวกับไอทีวีให้ฟัง เรามาปูพื้นความเป็นไอทีวีกันสักเล็กน้อย ไอทีวีถือกำเนิดขึ้นจากบทเรียนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ’35 ที่ประชาชนถูกสถานีโทรทัศน์ของรัฐปิดกั้น-บิดเบือนข่าวสาร จึงเกิดแนวคิดในเวลาต่อมาว่า ควรมีสถานีโทรทัศน์ที่อิสระ ไม่อยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐ จากนั้น สปน.ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา-กำหนดกรอบหลักการอุดมการณ์ความเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ในระบบยูเอชเอฟ รวมทั้งเงื่อนไขการประมูลสัมปทานโทรทัศน์ช่องนี้ โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ต่อมาปี 2538 สปน.ได้เปิดประมูลสัมปทานสถานีโทรทัศน์เสรีช่องใหม่นี้ โดยกลุ่มบริษัท สยาม ทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป เป็นต้น เป็นผู้ชนะการประมูล จากนั้นไอทีวีได้เริ่มต้นออกอากาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค.2539

แล้วปัญหาของไอทีวีเริ่มเห็นเค้าลางตั้งแต่ตอนไหน? ปฏิวัติ วสิกชาติ อดีตบรรณาธิการข่าวไอทีวี และ 1 ใน 21 กบฏไอทีวี บอกว่า จริงๆ น่าจะคาดหมายได้ตั้งแต่แรกที่มีการประมูลสัมปทานแล้วว่าจะมีปัญหาเรื่องค่าสัมปทานตามมา เพราะผู้ประมูลต่างทุ่มสุดตัว เพื่อให้ได้คลื่นมา ด้วยการเสนอจ่ายค่าสัมปทานสูงเป็นพันล้าน โดยคิดแค่ว่า เดี๋ยวไป “ตายเอาดาบหน้า”

“คือตอนที่ยื่นสัญญาสัมปทาน คนที่จะเอาชนะให้ได้ อย่าลืมว่าตอนนั้นเราไม่มีทีวีที่เป็นของเอกชนเลย ก็ทุ่มกันจนกระทั่งคิดว่า ในอนาคตน่าจะทำได้ในวงเงินขนาดนี้ ซึ่งผมมองภาพว่า คนที่ทุ่มเนี่ย จริงๆ แล้วในใจเขาก็คงคิดว่าเดี๋ยวไป ”ตายเอาดาบหน้า” เดี๋ยวไปแก้สัญญาเอา คงคิดในแนวนั้น กับอีกอย่างก็คือ ถ้าไปดำเนินธุรกิจไอทีวีให้ไอทีวีอยู่รอดจนครบสัญญาสัมปทาน โดยระบบของไอทีวีแล้วมันแตกช่องได้ คือมันทำธุรกิจเสริมในส่วนของช่อง เช่น เป็นทีวีดาวเทียมที่เพิ่มขึ้นได้ หรือเป็นสื่ออย่างอื่นที่มันสามารถเสริมรายได้ของมันได้ อันนั้นถ้าเกิดมองภาพไกลๆ นะ ซึ่งในสัญญาในคู่สัญญาที่เสนอ สปน.จะเขียนบอกว่าจะทำอะไร ทำให้มีรายได้ตามที่เสนอไป ทำให้ สปน.โอเค คงทำได้น่ะ และเสนอสูงสุดอยู่แล้ว ก็เลยให้รายนี้ (กลุ่มไทยพาณิชย์ฯ) มา ทั้งๆ ที่ถ้าเรามองจริงๆ แล้ว มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีเงินไปจ่ายขนาดนั้น และขณะเดียวกันประเทศเราก็มาเจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วย และไอทีวีก็มาเจอปัญหาเรื่องลดค่าเงินบาท ตอนนำของเข้ามา ตอนนั้นทำให้ไอทีวีขาดทุนในเรื่องการนำอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์เข้ามาค่อนข้างจะสูง ก็เลยขาดทุนสะสมโดยตัวของมันเองอยู่แล้วด้วย และในฐานะต้องจ่ายค่าสัมปทานด้วย”

เมื่อกลุ่มไทยพาณิชย์ฯ ชนะประมูลด้วยค่าสัมปทานที่เสนอไปเป็นพันๆ ล้านต่อปี แนวคิดเรื่องธุรกิจก็เริ่มคืบคลานเข้ามา โดยไทยพาณิชย์พยายามหารายได้เพิ่มให้ไอทีวี ด้วยการลดรายการข่าวสาร และเพิ่มรายการบันเทิงแบบ “เลี่ยงบาลี” เพื่อไม่ให้กระทบสัดส่วนข่าวสารสาระ-บันเทิง ที่กำหนดในสัญญาว่าต้อง 70 : 30 นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่พนักงานไอทีวีอย่าง ปฏิวัติ วสิกชาติ และเพื่อนๆ บางส่วน ลุกขึ้นมาคัดค้านความพยายามเลี่ยงบาลีนั้น

“สมัยที่ผมลุกมาค้านเรื่องแรก ตอนนั้นไทยพาณิชย์เป็นคนลด ไทยพาณิชย์ใช้วิธีอย่างนี้ สมัยก่อนเนี่ย ช่วงข่าวไพรม์ไทม์ มันจะไปสุดประมาณ 3 ทุ่ม 4 ทุ่ม ก็ไปทำรายการๆ หนึ่ง ทำรายการเพื่อที่จะให้เหมือนกับรายการข่าว แต่เป็นรายการแล้วมาตีขลุมว่าเป็น”สาระ” ไม่ใช่ข่าว เพื่อจะเลี่ยงบาลีไป (ว่าไม่ใช่บันเทิง) เราก็ค้าน เราค้านเสร็จ เราก็บอกว่าเอ๊ะ! คนข่าวก็ทำได้นี่ รายการประเภทข่าวเชิงสารคดีเชิงข่าว เราทำได้ ทำไมจะทำไม่ได้ มันก็เลยเป็นต้นกำเนิดขึ้นมาของรายการ “ย้อนรอย” - “ถอดรหัส” - “จับกระแสโลก” เป็นรายการกลุ่มแรกๆ ที่เราทำในฐานะคนข่าว เพื่อที่จะไม่ให้เขาไปทำธุรกิจ แต่เป็นคนข่าวทำ ก็คือ เป็นสาระ เพื่อไม่ให้เอาสัดส่วนเวลาข่าวเราลดไป แล้วไปให้บันเทิงทำ ในฐานะที่บันเทิงจ๋าเลย เราก็ไม่อยากได้ นี่ก็เป็นวิธีการเลี่ยงๆ สมัยไทยพาณิชย์”

แม้ไอทีวีจะดูมีปัญหาอยู่บ้างในสมัยไทยพาณิชย์ แต่ก็สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ แต่จุดหักเหเริ่มเกิด เมื่อมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนสัญญาระหว่างไอทีวีกับ สปน. โดยลดสัดส่วนการถือหุ้นในไอทีวีว่า ไม่ต้องจำกัดการถือหุ้นแค่คนละ 10% อีกต่อไป จากนั้นได้มีการนำหุ้นไอทีวีเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อไม่มีเงื่อน 10% มาคอยจำกัดการถือหุ้น จึงเท่ากับเปิดช่องให้บริษัทรายใหญ่เข้าถือครองหุ้นไอทีวีได้ในปริมาณมาก ซึ่งจุดนี้เองที่บริษัท ชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตรสบช่องเข้ามาถือหุ้นใหญ่ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มเล่นการเมือง ปฏิวัติ วสิกชาติ ย้อนสถานการณ์ตอนนั้นให้ฟังว่า พอชินคอร์ปเข้ามาปุ๊บ พนักงานไอทีวีชุดแรกก็ถูกออกเลย 83 คน

“ชินคอร์ปเข้ามาตอนแรก 83 คนแรกไปก่อนเลย ประมาณ เม.ย.43 กลุ่มชินเริ่มเข้ามา ก็มีการแถลงข่าวว่าจะเอาชินเข้ามา ตอนนั้นเราก็เริ่มคัดค้านกันแล้ว ไม่ได้หมายความว่า คัดค้านเพื่อไม่ให้เขาเข้ามานะ แต่เราเริ่มตั้งข้อสังเกตความเป็นกลุ่มชินที่จะเข้ามา ตอนนั้นชินคอร์ปเริ่มมีคุณทักษิณ เริ่มตั้งพรรคการเมือง เราก็ชี้ให้เห็นว่า มันจะทำให้ภาพเราเสีย ตอนนั้นช่วงประมาณปี 43 กลางปี ก็เริ่มเห็นแล้ว ทางชินเองก็มีปัญหา พอเข้ามา ก็เหมือนกับว่าทางไทยพาณิชย์ก็เริ่มมีปัญหากับเนชั่น เนชั่นก็เริ่มจะถูกออกไป ก็เป็นจังหวะที่ชินฯ ก็เอาทางคุณปีย์ (มาลากุล) ทางสายทางนี้มา เอามาเพื่อที่จะคานอำนาจกันในช่วงของรอยต่อ ทางนี้ส่วนของฝ่ายข่าว ทางไทยพาณิชย์ก็บอกว่า โอเคคุณปีย์อยู่ อ.สมเกียรติ (อ่อนวิมล) อยู่ มีใครอยู่ก็การันตีได้ มีคุณชายดิศ (ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล) ก็ไปการันตีว่า ตราบใดที่เขาอยู่จะไม่มีการแทรกแซงในไอทีวีโดยฐานการเมืองหรือธุรกิจแน่นอน เขาประกาศอย่างนั้น พวกเราฝ่ายข่าวก็โอเคในระดับหนึ่ง เราก็เฝ้าจับตาดู แต่ในขณะที่ชินเข้ามาเนี่ย เขาไม่ได้ขึ้นมาที่ฝ่ายข่าวก่อน เขามาบริหารจัดการโครงสร้างภายในก่อน

ตามธรรมดาของธุรกิจก็คือ ทำยังไงจะลดต้นทุน อย่างที่บอก มีพนักงานประมาณ 80 กว่าคนกลุ่มแรกที่ถูกให้ออก ถูกเลิกจ้างไป อันนั้นในส่วนของฝ่ายข่าวเองเราก็ได้รับการยืนยันว่า ฝ่ายข่าวจะไม่กระทบ จะไม่มีผล พอตอนหลังเริ่มมีคนฝ่ายข่าว เริ่มที่จะถูกทุกอย่าง ให้ออก เราก็เอ๊! ทำไมเริ่มคืบคลานเข้ามาแล้ว เราก็พยายามจะสอบถามผู้บริหารว่า มันเกิดอะไรขึ้น ก็ได้คำตอบไม่ชัดเจน กระทั่งมันเป็นที่มาของการตั้งสหภาพในไอทีวี”

และเขา ปฏิวัติ วสิกชาติ ก็เป็นเลขาธิการสหภาพฯ เขาเล่าให้ฟังด้วยว่า ผู้บริหารไอทีวีในยุคชินคอร์ป ไม่ว่าจะเป็นนายบุญคลี ปลั่งศิริ หรือนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คนในไอทีวีต้อง “กลายพันธุ์” ถ้าไม่กลายพันธุ์ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ ในที่สุด “ปฏิวัติ” และเพื่อนพนักงานฝ่ายข่าวไอทีวีรวม 23 คน คือคนที่ไม่ยอมกลายพันธุ์ แถมยังได้แถลงคัดค้านการเข้าแทรกแซงไอทีวีของชินคอร์ป จึงได้ถูกให้ออก ฐานกระด้างกระเดื่อง-ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่มี 2 ใน 23 คนเท่านั้นที่ยอมออก ส่วนอีก 21 คน คือ “กบฏไอทีวี” ที่ไม่ยอมลาออก และได้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อความเป็นธรรมที่ตนควรจะได้รับ และแน่นอน “ปฏิวัติ” คือ 1 ใน 21 คนนี้ เขายังจำได้ถึงนาทีที่ถูกผู้บริหารไอทีวียุคชินคอร์ปเรียกเข้าไปกดดันให้ลาออก

“เขาก็เรียกผมเป็นคนแรก ก็อธิบายยกแม่น้ำทั้ง 8 ทั้ง 9 เสร็จเขาก็ให้เลือกเอาระหว่าง “ลาออกเอง” หรือ “ให้โดนไล่ออก” ผมว่าลาออกเองไม่มีทาง ไล่ออกก็ไล่ไปเถอะ แต่ก็โอเค ผมรับทราบ แต่ผมไม่เซ็นคำสั่ง แล้วผมก็เดินออกไปเลย แล้วเขาก็เรียกที่เหลือ (20 คน) มา ทำเหมือนกันหมด ทุกคนก็ทำเหมือนกันหมดเลย จากนั้นเราก็เอาเรื่องนี้ไปฟ้องกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า เราถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม มีการกลั่นแกล้งอะไรเราก็ว่าไปตาม รธน.สมัยนั้น มีมาตรา 41 อยู่ คุ้มครอง และว่ากันด้วยกฎหมายแรงงาน เข้าสู่กระบวนการของการสอบสวนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็สอบสวน ในฐานะ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ก็มีการให้ ครส.คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ดำเนินการ ถ้าผ่านกระบวนการของ ครส.แล้ว ว่ายังไงก็เป็นไปตามนั้น เหมือนเป็นศาล จากนั้นถ้าเกิดไม่พอใจ ก็ไปฟ้องศาล(แรงงาน)ต่อ ก็จะมีแค่ 2 ศาล ศาลชั้นต้น และศาลฎีกาเลย ไม่มีอุทธรณ์ ช่วงที่ชินคอร์ปเข้ามา เขา(รัฐบาลทักษิณ) ก็คุมกระทรวงแรงงาน ก็เห็นมีความพยายามจะยื้อกันอยู่ ก็ยื้อได้ระดับหนึ่ง มีการต่อระยะเวลาสอบสวนไปหน่อยแต่สุดท้ายคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็มีมติเอกฉันท์ให้รับ (พนักงานไอทีวี 21 คน)กลับเข้าทำงาน”

แต่ฝ่ายนายจ้าง คือ ผู้บริหารไอทีวีก็ยังไม่ยอมให้พวกเขาทั้ง 21 คนกลับเข้าทำงานตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยผู้บริหารไอทีวีได้อุทธรณ์เรื่องนี้ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ทำให้ 21 กบฎไอทีวีเปลี่ยนสถานภาพจากโจทก์กลายเป็นจำเลย แต่ในที่สุด...ศาลแรงงานกลางก็มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้ไอทีวีรับนักข่าวทั้ง 21 คนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และให้ไอทีวีจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันสุดท้ายที่รับกลับเข้าทำงาน แต่ผู้บริหารไอทีวีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตาม โดยได้อุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาลฎีกา และในที่สุด ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลแรงงานกลางให้ผู้บริหารไอทีวีรับนักข่าวทั้ง 21 คนกลับเข้าทำงานอีกเช่นกัน รวมเวลาการต่อสู้ของ 21 กบฏไอทีวียาวนานถึง 4 ปี!

และใช่ว่า หลังจากนั้นผู้บริหารไอทีวีจะยอมให้ 21 กบฎไอทีวีกลับเข้าทำงานในทันทีทันใด โดยอ้างว่า ให้รอก่อน และให้รออยู่หลายเดือน ซึ่งในที่สุดเมื่อถึงเวลาให้เข้าไป ทั้ง 21 คนก็ตัดสินใจไม่ทำงานที่ไอทีวีอีกต่อไป เพราะผู้บริหารไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลสั่ง!

...ในที่สุด การบริหารไอทีวีในยุคชินคอร์ป ก็นำไปสู่ความพยายามปรับลดค่าสัมปทานที่สูงเป็นพันล้าน โดยไอทีวีได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการให้ชี้ขาดกรณีที่ไอทีวีอ้างสิทธิตามสัญญาร่วมการงานข้อ 5 วรรค 4 ให้ สปน.จ่ายค่าชดเชยให้ไอทีวี 1,800 ล้าน เนื่องจาก สปน.อนุญาตให้เคเบิลทีวีมีโฆษณาได้ ทำให้ไอทีวีเสียประโยชน์ ซึ่งอนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดให้ไอทีวีเป็นฝ่ายชนะ พร้อมสั่งให้ สปน.ลดค่าสัมปทานให้ไอทีวีจากปีละ 1,000 ล้าน เหลือปีละ 230 ล้าน นอกจากนี้ยังให้ สปน.จ่ายค่าชดเชยให้ไอทีวี รวมทั้งให้ไอทีวีปรับผังรายการโดยลดสัดส่วนข่าวสารสาระต่อรายการบันเทิงในช่วงไพรม์ไทม์ลง จาก 70 : 30 เหลือ 50 : 50 ด้วย

แต่ สปน.ได้อุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาลปกครอง ซึ่งในที่สุด ทั้งศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ต่างพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว เนื่องจากสัญญาข้อ 5 วรรค 4 ที่ไอทีวีอ้างสิทธินั้น ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาข้อดังกล่าว ไม่เคยนำเสนอให้ ครม.เห็นชอบก่อนแต่อย่างใด นอกจากนี้ อนุญาโตตุลาการยังวินิจฉัยเกินคำขอของไอทีวี ที่ให้ไอทีวีลดสัดส่วนการนำเสนอข่าวในช่วงไพรม์ไทม์จากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 50 ซึ่งจุดนี้ไอทีวีมิได้ร้องขอแต่อย่างใด แถมการลดสัดส่วนข่าวลงนี้ ยังขัดกับข้อสัญญาและวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวีด้วย!

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่เพียงส่งผลให้ไอทีวีต้องกลับมาจ่ายค่าสัมปทานให้ สปน.ปีละ 1,000 ล้านเหมือนเดิม และต้องปรับผังรายการให้กลับไปเหมือนเดิม คือ สาระ 70 บันเทิง 30 เท่านั้น แต่ไอทีวียังต้องเสียค่าปรับจากการเปลี่ยนแปลงผังรายการในช่วงที่ผ่านมาให้ สปน.ด้วย โดยค่าปรับที่ต้องเสีย 10% ของค่าสัมปทานในแต่ละปีที่ไอทีวีต้องจ่ายให้ สปน.โดยคิดเป็นรายวันนับแต่วันผิดสัญญานั้น เมื่อคำนวณแล้วสูงนับแสนล้านบาท!

ร้อนถึงพนักงานไอทีวี ได้ออกแถลงการณ์และยื่นหนังสือถึงนายกฯ สุรยุทธ์ อยู่หลายครั้ง ให้คิดค่าปรับไอทีวีด้วยความเป็นธรรม ไม่ใช่สูงเกินจริง พร้อมเรียกร้องให้สังคมช่วยกันรักษาไอทีวี แต่เมื่อดูท่าว่า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงค่าปรับให้ลดลงได้ แนวโน้มไอทีวีคงไม่มีเงินจ่าย สปน.เป็นแสนล้านแน่ ท่าทีของพนักงานไอทีวี ที่ออกมาเรียกร้องรัฐบาล จึงชัดเจนมากขึ้นว่า หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดใดกับไอทีวี ต้องไม่กระทบต่อสถานภาพการจ้างงานของพนักงาน พูดง่ายๆ ก็คือ พนักงานไอทีวีต้องไม่ตกงาน และไอทีวีต้องสามารถแพร่ภาพต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก เพราะจะกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารของประชาชน พร้อมเรียกร้องให้โทรทัศน์แห่งนี้ต้องอิสระ-ปลอดจากการเมืองหรือกลุ่มทุนทางการเมือง ตามเจตนารมณ์เดิมของการก่อตั้งไอทีวีเมื่อปี 2538!

กรณีที่พนักงานไอทีวีวันนี้ต้องการให้ไอทีวีเป็นอิสระและปลอดจากการเมืองนั้น ได้สร้างความแปลกใจระคนข้องใจจาก ”กบฏไอทีวี”เป็นอย่างมาก โดย ปฏิวัติ วสิกชาติ ถึงกับถามกลับพนักงานไอทีวีวันนี้ว่า สำนึก-อุดมการณ์ต่อไอทีวีที่ควรอิสระ-ปลอดจากการเมือง ทำไมเพิ่งเกิด? เกิดช้าไป 6 ปีหรือเปล่า? ถ้าเมื่อ 6 ปีที่แล้ว พนักงานไอทีวีจำนวน 1,010 ชีวิตในวันนี้ลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับกบฏไอทีวีทั้ง 21 คนในการคัดค้านการเข้ามาและรุกคืบของชินคอร์ป ไอทีวีคงไม่ต้องพบจุดจบแบบวันนี้

“เราออกแถลงการณ์ 8-9 ข้อ เรายืนยันในหลักการอยู่แล้วว่า มันจะต้องเกิดปัญหานะ ถ้าขืนให้กลุ่มชินเข้ามา เพราะถ้าเข้ามา ภาพของไอทีวีมันก็จะถูกมองภาพทางการเมือง เราก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้น ขณะเดียวกันไอทีวีเราก็บอกแล้วว่า ต้องเป็นของประชาชนไม่ใช่เป็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราก็ยืนยันในหลักการทุกอย่าง แต่ถามว่า แล้วคนในไอทีวีล่ะ(1,010 คน) เขาทำอะไรกันอยู่ ทำไมมีแค่ 21 คนเท่านั้นเองหรือที่ลุกขึ้นมาพูดเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แล้วพอพูดปั๊บ ก็ถูกหาว่ากระด้างกระเดื่อง ถูกหาว่าทำให้บริษัทเสียหาย ผมเนี่ยถูกหาว่าทำให้บริษัทเสียหายเป็นพันล้าน ผมก็เลยถามเขา (พนักงานไอทีวีวันนี้) ไปว่า แล้วคนในยุคสมัยนั้นน่ะ ที่ทุกวันนี้ยังทำงานอยู่ บางคนออกไปแล้วกลับไปทำงานใหม่ด้วยซ้ำไป ระดับบริหาร ระดับ บก.ด้วยซ้ำไป ถ้าทุกคนลุกมาพูดเหมือนกับที่เราพูดวันนั้นหรือแนะหรือทำยังไงก็ได้ให้ผู้บริหารเห็น แต่เขาไม่ทำไง พอเขาไม่ทำ เสร็จแล้ว ผมก็ถามว่า แล้วมาถึงวันนี้ผมไม่รู้ทำไม(เขา)เพิ่งตื่น ผมถึงได้ใช้คำนี้ว่า ทำไมเพิ่งตื่น แล้วไม่ยอมรับความจริงว่า จริงๆ แล้วไอทีวีเป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะใคร จะไปโทษสังคมเขาหรือ?ผมถึงบอกว่า 6 ปีมันช้าไปหรือเปล่าที่เพิ่งจะมาทำในสิ่งที่เราทำเมื่อ 6 ปีที่แล้ว”

อดีตกบฏไอทีวีอย่าง ปฏิวัติ วสิกชาติ ยังคาใจไม่หายว่า ทำไมจุดยืนของพนักงานไอทีวีวันนี้จึงกระโดดไปกระโดดมา เป็นจุดยืนที่ไม่ค่อยมั่นคง และตอบสังคมไม่ค่อยได้ จึงไม่แน่ใจเหมือนกันว่า การเคลื่อนไหวของพนักงานไอทีวีทั้ง 1,010 ชีวิตที่เรียกร้องต่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ให้ไอทีวีอิสระ-ปลอดจากการเมือง เป็นการเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์แค่ไหน?

โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลต้องอุ้มพนักงานไอทีวีไม่ให้ตกงานนั้น “ปฏิวัติ” ยืนยันว่า ถ้าตนยังอยู่ไอทีวีจะไม่เรียกร้องแบบนี้แน่นอน เพราะแม้ตนจะเป็นสื่อ แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่สื่อจะมี “อภิสิทธิ์” ขนาดไปกดดันรัฐบาลว่าต้องรับเข้าทำงาน เพราะขนาดพนักงานอาชีพอื่นเขาเดือดร้อนยิ่งกว่าพนักงานไอทีวี รัฐบาลยังไม่เคยช่วยขนาดนี้เลย

“ถึงแม้ผมจะเป็นสื่อนะ แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยว่าสื่อจะมีอภิสิทธิ์ชนถึงขนาดไปกดดันรัฐบาลต้องรับเข้าทำงานน่ะ ผมยังบอกว่า ถ้าอย่างนั้นทำไม คนโรงงานอุตสาหกรรมไทยเกรียงสมัยก่อนนั่งร้อยลูกปัด หรือพนักงานที่ถูกปลดเลิกจ้าง พวกนั้นก็เดือดร้อนยิ่งกว่า แล้วพวกเขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร ไม่มีส่วนในการกระทำความผิดเลย อยู่ๆ เขาถูกเลิกจ้าง รัฐยังไม่ค่อยได้เข้าไปช่วยเหลือเต็มที่เลย แต่พอเป็นสื่อปั๊บ รัฐน้อมรับทุกอย่าง ผมว่าตรงนี้มันก็จะทำให้ภาพของสื่อโดยรวมก็จะไม่ดีเหมือนกัน แล้วผมก็ไม่เคยยกตัวอย่างว่า สมัยผม 21 คน ผมไม่เคยไปขอใครแบบว่าไปยื่นป้ายหน้าทำเนียบฯ ของานทำ หรือขอให้รับกลับ ผมก็สู้ของพวกผมไป สู้ในชั้นศาล ให้ศาลตัดสินเลยว่า ใครผิด-ใครถูก เอางั้นดีกว่า มันแฟร์ดี”

ปฏิวัติ วสิกชาติ 1 ใน 21 กบฎไอทีวี ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่รัฐบาลอุ้มพนักงานไอทีวีด้วยการนำเงินหลวง นำงบประมาณแผ่นดินมาอุ้มพนักงานเหล่านี้ รัฐบาลอุ้มโดยใช้กฎหมายอะไรมารองรับ?

ส่วนอนาคตของไอทีวีนั้น “ปฏิวัติ” บอกว่า สิ่งที่อยากเห็นคือ เมื่อรัฐยึดคลื่นคืนมาแล้ว ควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อหาผู้เข้าร่วมงานรายใหม่ ไม่ใช่นำไอทีวีกลับมาเป็นสื่อของรัฐ เพราะต้องไม่ลืมว่า เจตนารมณ์ดั้งเดิมของการมี”ไอทีวี” ก็เพื่อเป็น”สื่อเอกชน”ที่อิสระ-ปลอดจากการกำกับหรือแทรกแซงจากรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นสื่อเอกชนแล้ว ก็ควรจะต้องมีการตั้ง “คณะกรรมการกลาง” ขึ้นมาเพื่อเป็นบอร์ดให้กับฝ่ายข่าวด้วย เพื่อให้ “สื่อกับธุรกิจ” แยกจากกันอย่างชัดเจน ...ประวัติศาสตร์จะได้ “ไม่ซ้ำรอยไอทีวี” แบบวันนี้อีก!!
พนักงานไอทีวีฟังผลศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.49
บุญคลี ปลั่งศิริ ประกาศลาออกจาก ปธ.กก.บอร์ดไอทีวีเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น