“ธีรภัทร์” สวนกลับ ทรท.ย้ำ คำสั่ง คปค.15, 27 ไม่ปิดปากนักเลือกตั้ง ลั่นคนไทยไม่โง่ตกเป็นเครื่องมือให้ใครจูงจมูกหวังโค่น รธน.ผ่าทางตันกรณีไม่ผ่านชั้นประชามติ ชี้รธน.ฉบับชั่วคราวเปิดช่องให้นำร่าง รธน.ในอดีตมาปรับปรุงเพื่อบังคับใช้ภายใน 30 วัน
วันนี้ (29 ม.ค.) แกนนำพรรคพลังแผ่นดินไทย นำโดย นายพีระ พนาสุภน กรรมการบริหารพรรคพลังแผ่นดินไทย ได้เข้ายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี โดยมี นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับร่างรัฐธรรมนูญแทน ทั้งนี้ กลุ่มแกนนำดังกล่าวยังเข้าพบและหารือกับ นายธีรภัทร์ ที่ห้องรับรองตึกบัญชาการกว่า 30 นาที
นายธีรภัทร์ เปิดเผยภายหลังการหารือ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังแผ่นดินไทยมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยจะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการอำนวยการ การมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่คณะกรรมการได้รวบรวมจากข้อคิดเห็นของประชาชนจะนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
ทั้งนี้ ตนจะนำร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังแผ่นดินไทยนี้ ส่งให้กับรัฐมนตรีทุกคนในการประชุม ครม.ด้วย
นายธีรภัทร์ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อเสนอข้อมูลถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว น่าจะได้รับการพิจารณา เพราะโดยหลักแล้วเป็นหน้าที่ของ กมธ.ที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ
“ถ้าทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ รัฐธรรมนูญจะสะท้อนเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่ และทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของในรัฐธรรมนูญ และสิ่งสำคัญ คือ เราจะได้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” นายธีรภัทร์ กล่าว
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับกรณีที่นักการเมืองจากหลายพรรคออกมาท้วงติง ว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นักการเมืองไม่มีส่วนร่วม นายธีรภัทร์ ปฏิเสธว่า ไม่จริง เพราะตนได้กำหนดแนวทางให้คณะกรรมการอำนวยการ การมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ว่า ให้รับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองทุกพรรค โดยก่อนหน้านี้ ตนเคยให้นโยบายว่า กระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องดึงประชาชนทุกภาค ทุกจังหวัด รวมทั้งประชาคมวิชาชีพ องค์กรเอ็นจีโอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกองค์กร และสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ในการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด แต่ขณะนี้ไม่ทราบว่าคณะกรรมการฯ ดำเนินการถึงขั้นไหน
ส่วนกรณีที่พรรคไทยรักไทยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล และ คมช.พิจารณายกเลิกประกาศของ คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 เพราะเห็นว่า จำกัดสิทธิของพรรคการเมืองนั้น นายธีรภัทร์ เห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง ในฐานะที่เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนไม่น่าจะเกี่ยวกับประกาศของ คปค.ส่วนตัวมองว่า ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นปัญหาและอุปสรรค เพราะการร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะต้องฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะพิจารณายกเลิก คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถาม คมช.เพราะตนคงไม่สามารถตอบคำถามเรื่องนี้โดยลำพังได้ ส่วนรัฐบาล และ คมช.จะนำเรื่องนี้มาหารือเพื่อยกเลิก ประกาศ คปค.ดังกล่าวหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ คงต้องนำมาดูว่า ประกาศทั้ง 2 ฉบับเป็นปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร แต่ทั้งนี้ตนไม่ได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องนี้โดยตรง จึงไม่ทราบรายละเอียด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ดูเหมือนว่าบรรยากาศก่อนการร่างรัฐธรรมนูญความแตกต่างทางความคิดกันอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นที่มาของวุฒิสภาและการลดจำนวน ส.ส.เกรงหรือไม่ว่าจะเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม นายธีรภัทร์ กล่าวว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องยอมรับความแตกต่างทางความคิด ทั้งนี้ ความแตกต่างนั้นต้องไม่นำไปสู่ความแตกแยก ถ้ามีความแตกต่างหลากหลายถือเป็นธรรมชาติของประชาธิปไตยที่ดี
“ถ้าระบอบประชาธิปไตยมีความคิดเห็นเหมือนกันทั้งหมด ผมคิดว่าสังคมนั้นเสี่ยงต่อการเป็นเผด็จการอย่างยิ่ง ดังนั้น ความคิดเห็นที่แตกต่างจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันสามารถเข้าใจกันว่า ไม่ใช่ความแตกแยก ถึงจะแตกต่างทางความคิดก็สามารถร่วมกิจการรมพูดคุยกันได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” นายธีรภัทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอของ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่เสนอลดจำนวน ส.ส.ลงจาก 500 เหลือ 300 และเสนอให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีโอกาสพบกับนายกรัฐมนตรี ถ้าหากพบจะเรียนถามให้ ส่วนเรื่องรายละเอียด กรณีดังกล่าวคิดว่าต้องถกกันอีก ตอนนี้ยังไม่สามารถให้ความเห็นที่เป็นปลีกย่อยได้ ต้องรออีกสักระยะเพื่อให้ความคิดเห็นเป็นกลุ่มก้อน แล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการถกเถียงในรายละเอียดเพื่อหาข้อสรุป
“ไม่เชื่อว่าใครจะไปชักจูงคนทั่วประเทศได้ ผมเชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่คงไม่ถูกชักจูง ชี้นำ ผมเชื่อมั่นพลังประชาชนว่าประชาชนจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมได้ สิ่งสำคัญเราต้องให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่ใช่ไปให้ข้อมูลต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว เพราะช่วงนั้นจะมีเวลาเพียงแค่ 30 วัน ซึ่งอาจจะเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจรัฐธรรมนูญได้อย่าลึกซึ้ง” นายธีรภัทร์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกระแสข่าวที่อำนาจเก่า เตรียมจะล้มรัฐธรรมนูญในช่วงการทำประชามติ
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการทำประชามติของประชาชนก็ไม่เป็นปัญหา เพราะกลไกจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็รองรับไว้โดยให้ ครม.และคมช.เลือกรัฐธรรมนูญในอดีตฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาปรับปรุงแล้วประกาศใช้ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตามคิดว่าหากรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. ยกร่างขึ้นผ่านความคิดเห็นของประชาชนให้มากที่สุด เชื่อว่าประชาชนจะลงประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้
“ก่อนหน้านี้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.ได้ประกาศค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่สืบทอดอำนาจและตนก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเป็นการส่วนตัว ท่านก็ยืนยันว่า ไม่สืบทอดอำนาจอย่างแน่นอน ตนคิดว่า เรื่องนี้สบายใจได้ หากดูเจตนารมณ์ของ คมช.แล้วก็มีความชัดเจนว่าจะทำตามกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่พยายามให้มีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นโดยเร็ว” นายธีรภัทรกล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายมองว่า การที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้รับเลือกให้เป็นประธาน ส.ส.ร. เป็นเพราะ คมช.เป็นผู้ผลักดัน จึงเกิดกระแสความไม่สบายใจว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจมีการสอดแทรกวาระการสืบทอดตำแหน่งของ คมช.
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับกรณีที่พรรคการเมืองบางพรรคจ้างนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาล และ คมช.นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลดังกล่าวเพราะยังไม่มีใครรายงาน
ขณะที่ นายพีระ พนาสุภน กรรมการบริหารพรรคพลังแผ่นดินไทย เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือกับ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ว่า ทางพรรคได้ยื่นข้อเสนอถึงที่มาของวุฒิสมาชิกน่าจะมาจากการเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ ยังเห็นว่า อีก 100 คน ควรมาจากการสรรหาของกลุ่มอาชีพ และอีก 24 คน ควรมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งประเด็นสำคัญที่เราเสนอแก้ไข คือ ให้ประชาชน 5 หมื่นคนสามารถเข้าชื่อยื่นอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ หาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านมีไม่ถึง 1 ใน 5 และได้มีการเสนอศาลการเมืองเพื่อพิจารณาการทุจริตการเลือกตั้งหรือที่เกี่ยวกับการเมือง ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้เรายังเสนอให้มีกองทุนเพื่อพิทักษ์สิทธิ์เสรีภาพของสื่อมวลชน เพื่อไม่ให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเงินโฆษณา
นอกจากนี้ นายพีระ ยังแสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่พรรคไทยรักไทยเสนอให้ยกเลิกประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 กับ 27 ให้พรรคการเมืองดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ว่า ถ้าเราจะมีความเห็นเราก็ไม่คิดว่าเราจะเห็นด้วยกับใคร แต่ความเห็นของเราคือน่าจะให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะพรรคการเมืองเป็นดัชนีวัดความเป็นประชาธิปไตย การที่พรรคการเมืองถูกกำจัดขอบเขตทำให้ความเป็นประชาธิปไตยมันอ่อนลงในสายตาของชาวต่างชาติ เมื่อถามว่าจะนำประเด็นนี้มาเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองของพรรคหรือไม่