อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
ถ้าการแก้กฎหมายให้หวยบนดินเป็นสิ่งถูกกฎหมาย เป็นเรื่องไม่ควรทำ เพราะเป็นอบายมุข แถมยังเป็นการนิรโทษกรรมความผิดให้แก่ ครม.ทักษิณ วันนี้ก็คงพูดได้เช่นกันว่า รัฐบาลไม่ควรแก้กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ เพราะการแก้ โดยให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ปรับตัวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เพียงทำให้คนผิด พ้นผิด แต่คนผิดที่ว่านั้น มีบริษัท “กุหลาบแก้ว” ที่เกี่ยวพันกับหุ้นชินคอร์ปรวมอยู่ด้วย ..กุหลาบแก้วที่กระทรวงพาณิชย์เคยชี้แล้วว่า เป็นต่างด้าว เพราะเป็นนอมินีให้ต่างชาติ ถ้ากุหลาบแก้วเป็นต่างด้าว อาจส่งผลถึงขั้นล้มดีลชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้าน แต่วันนี้ ความพยายามแก้กฎหมายของรัฐบาล กำลังเปิดช่องให้ “กุหลาบแก้ว” หลุดคดี
หลัง ครม.ไฟเขียวให้แก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ (เมื่อ 9 ม.ค.) โดยสาระสำคัญของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวตามที่เปิดเผยโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง ก็คือ การแก้ไข “คำจำกัดความ” ของธุรกิจคนต่างด้าว ซึ่งเดิมจะพิจารณาความเป็นต่างด้าวจากสัดส่วนการถือหุ้นอย่างเดียว คือ ต่างชาติถือหุ้นในกิจการของไทยได้ไม่เกิน 49% หากเกินกว่านั้นเมื่อไหร่ จะถือว่าเป็นต่างด้าวทันที แต่ในคำนิยามใหม่ มีการเพิ่มปัจจัยในการพิจารณาความเป็นต่างด้าวมากขึ้น คือ บริษัทที่ให้คนไทยถือหุ้นแทนต่างชาติ (นอมินี) เกิน 50% และบริษัทที่ให้คนต่างชาติมีสิทธิออกเสียงในการบริหาร (โหวต) เกิน 50% จะถือเป็น “บริษัทต่างด้าว” เช่นกัน
ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า หากบริษัทใดมีสัดส่วนเกินใน 2 ประเด็นที่กล่าวมา จะให้เวลาในการแก้ไขปรับตัวเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บอก (เมื่อ 9 ม.ค.) ว่า ธุรกิจในบัญชีที่ 1 คือ อาชีพสงวนของคนไทย เช่น การเกษตร ,ช่างทำผม เป็นต้น และบัญชีที่ 2 อาชีพที่เกี่ยวกับความมั่นคงและกิจการสื่อสารโทรคมนาคม หากมีต่างชาติและนอมินีถือหุ้นเกิน 50% ต้องแจ้งกระทรวงพาณิชย์ภายใน 90 วัน และต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติให้ต่ำกว่า 50% ภายใน 1 ปี ส่วนเรื่องสิทธิออกเสียง หากเกิน 50% ให้แจ้งภายใน 1 ปี และทยอยลดสัดส่วนการออกเสียงภายใน 2 ปี ส่วนธุรกิจในบัญชีที่ 3 ที่คนไทยยังไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เช่น ค้าปลีกและบริการนั้น หากต่างชาติถือหุ้นเกิน 50% หรือมีสิทธิออกเสียงเกิน 50% ให้แจ้งภายใน 90 วัน โดยไม่ต้องดำเนินการอะไร สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่กระทบต่อความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม วันต่อมา (10 ม.ค.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พูดใหม่ว่า บริษัทโทรคมนาคมถือว่าอยู่ในบัญชีที่ 3 ไม่ใช่บัญชีที่ 2 อย่างที่ตนได้กล่าวไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค. โดยยกตัวอย่างว่า กลุ่มธุรกิจสื่อสารที่อยู่ในบัญชีที่ 3 นี้ รวมถึงบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ด้วย ดังนั้นหากต่างชาติถือหุ้นธุรกิจในบัญชีที่ 3 เกิน 50% ก็ต้องลดสัดส่วนหุ้นลงภายใน 1 ปี แต่ไม่ต้องแก้ไขเรื่องสิทธิออกเสียงหากเกิน 50% เพียงแต่แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ทราบภายใน 1 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่า รายละเอียดเรื่องระยะเวลาและการแก้ไขในบัญชีที่ 3 ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พูดในวันที่ 10 ม.ค. ก็ไม่ตรงกับวันที่ 9 ม.ค.!?!
ทั้งนี้ แม้ ครม.จะรับหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่ก็ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาด้านกฎหมายให้รัดกุมอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะจะมีผลกระทบทั้งในประเทศและผู้ลงทุนในภาพกว้าง
ขณะที่ปฏิกิริยาด้านลบจากฟากนักธุรกิจเกิดขึ้นในทันที เช่น นายปีเตอร์ แวน ฮาเรน ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย ได้แสดงความผิดหวังกับมติ ครม.ที่อนุมัติหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พร้อมชี้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายครั้งนี้ จะเป็นการปิดกั้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ รวมถึงนักลงทุนรายเก่าที่ต้องปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นลง นั่นหมายถึงต่างชาติจะนำเงินทุนออกจากไทย
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พยายามยืนยัน (เมื่อ 10 ม.ค.) ว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ใช่ต้องการปิดกั้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่อย่างใด แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องกฎหมาย ซึ่งสืบเนื่องจากมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่งว่า มีต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 50 และมีการใช้คนไทยถือหุ้นแทน และยังมีสิทธิออกเสียงการบริหารมากกว่าครึ่งหนึ่ง จึงได้มีการตรวจสอบ และหลังจากนั้นก็มีการร้องเรียนเข้ามาอีก 16 บริษัทในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ทางกระทรวงพาณิชย์จึงต้องทำให้เกิดความกระจ่างสำหรับนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนใหม่จะได้มีความเข้าใจถูกต้อง จึงได้นำ พ.ร.บ.ดังกล่าวมาดูและปรับให้เกิดความชัดเจนว่า คำนิยามธุรกิจของคนต่างด้าวคืออะไร จะได้ไม่ต้องมาตีความในชั้นศาล
คำพูดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร น่าจะชัดเจนแล้วว่า ที่มาที่ไปของการปรับแก้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มีต้นเหตุมาจากการที่บริษัท “กุหลาบแก้ว” (ที่ถือหุ้นใหญ่ใน บ.ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ และซีดาร์ฯ ถือหุ้นใหญ่ในชินคอร์ป) ถูกร้องเรียนและถูกตรวจสอบว่าเป็นนอมินี (ถือหุ้นแทน) ให้ต่างชาติ (เทมาเส็ก) หรือไม่ ซึ่งเป็นที่ทราบจากข่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า ผลการตรวจสอบโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า กุหลาบแก้วเข้าข่ายเป็นนอมินี สรุปก็คือ กุหลาบแก้วเป็นต่างด้าว ไม่ใช่นิติบุคคลไทย เมื่อกุหลาบแก้วเป็นต่างด้าว ก็หมายความว่า “ชินคอร์ป” ก็ต้องเป็นต่างด้าวไปด้วย ไทยแอร์เอเชีย, ไอทีวี, เอไอเอส ทั้งหลายที่ชินคอร์ปถือหุ้นใหญ่อยู่ ก็ต้องผิดกฎหมายกลายเป็นต่างด้าวไปด้วย โดยสมัยที่รัฐบาลทักษิณยังอยู่ มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า หากกุหลาบแก้วเป็นนอมินีและกลายเป็นต่างด้าวจริง อาจส่งผลถึงขั้นล้มดีลชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้าน ระหว่างตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ กับเทมาเส็ก เลยทีเดียว!
แต่เมื่อขณะนี้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จะแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยบอกว่า เพื่อให้คำนิยามความเป็นธุรกิจต่างด้าวมันชัดขึ้น และขณะเดียวกัน ก็ให้เวลาธุรกิจที่เข้าข่ายต่างด้าวได้มีเวลาแก้ไขปรับตัว เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องต่อไป ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า...นี่รัฐบาลกำลังแก้กฎหมาย เพื่อให้บริษัทที่ทำผิด บริษัทที่เป็นต่างด้าวหรือเป็นนอมินีพ้นผิดใช่หรือไม่? เพราะเพียงแค่บริษัทเหล่านั้นปรับปรุงสัดส่วนการถือหุ้นและการออกเสียงของต่างชาติให้อยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายฉบับใหม่ ก็จะกลายเป็นบริษัทที่ถูกต้องในทันที!
หลายคนบอกว่า กรณีนี้ช่างคล้ายคลึงกับกรณีที่รัฐบาลพยายามแก้กฎหมายเพื่อให้หวยบนดินกลายสภาพจากสิ่งที่ผิดกฎหมายเป็นสิ่งถูกกฎหมายเสียนี่กระไร เพราะกรณีนั้นก็ถูกติงเช่นกันว่า จะเป็นการนิรโทษกรรมความผิดให้รัฐบาลทักษิณหรือไม่?
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม.และอดีตประธานกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตของวุฒิสภา ซึ่งเคยตรวจสอบความเป็นนอมินีของบริษัทกุหลาบแก้ว ยอมรับว่า การดูความเป็นต่างด้าวจากสิทธิในการออกเสียงหรืออำนาจในการตัดสินใจด้วย ถือว่าช่วยทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น เพราะหากดูแค่สัดส่วนหุ้นอย่างเดียว เดี๋ยวก็จะมีคนศรีธนญชัยอาศัยช่องโหว่อย่างกรณีกุหลาบแก้วอีก
“มันก็มีคนที่มันศรีธนญชัย พูดเลยก็ได้ก็คือสิงคโปร์กับคนไทยบางคนยอมสมอ้างไปเป็นนอมินีให้เขา ก็คือไปเป็นตัวแทนเชิด และกรณีที่ผมไปตรวจพบนี่ก็คือกรณีกุหลาบแก้ว บางคนไม่รู้จักว่ากุหลาบแก้วคืออะไร ก็คือบริษัทเล็กๆ บริษัทหนึ่ง และมันก็ถือหุ้นต่อๆไป จนกระทั่งถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป เพราะฉะนั้นถ้าเราพิสูจน์ได้ว่ากุหลาบแก้วเป็นต่างชาติ ชินคอร์ปจะเป็นต่างชาติทันทีเลย ทีนี้กุหลาบแก้วมันก็ซ่อนอยู่ว่า เทมาเส็กไปซ่อนเอาคน 2 คนถือหุ้นในนามของคนไทย ก็คือ คุณพงส์ สารสิน กับคุณศุภเดช (พูนพิพัฒน์) สองท่านนี้ถือหุ้น 51% ตกลงพอบอกว่าคนไทยถือหุ้น 51% กุหลาบแก้วก็เลยเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย เพราะว่า 51% นี่มันเป็นของคนไทย และพอกุหลาบแก้วเป็นไทย เขาก็ถือว่าที่กุหลาบแก้วไปถือหุ้นต่อๆไปจนถึงชินคอร์ปนี่ ก็เป็นของคนไทยที่ไปถือในชินคอร์ป ทีนี้ชินคอร์ป ก็เป็นคนที่ไปมี(หุ้นในสายการบิน)ไทยแอร์เอเชีย ไปมี(หุ้นใน)ไอทีวี ไปมี(หุ้นใน)เอไอเอสอะไรพวกนี้ ซึ่งมันมีปัญหาเรื่องความมั่นคงหมดเลย ทีนี้พอมาถึงตรงนี้เราก็ต้องมาพิสูจน์กันว่า กุหลาบแก้วเป็นไทยจริงๆ หรือเปล่า ถ้าดูแต่เฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นก็คือคนไทยถือหุ้น 51% มันก็น่าจะเป็นของไทย แต่พอผมตรวจสอบไปลึกๆ เนี่ย ผมก็พบว่าทั้งคุณพงส์ สารสิน และคุณศุภเดช นี่น่าจะเป็นนอมินี ทำไมจึงน่าจะ? เพราะว่าหุ้นดังกล่าวนี่ไประบุไว้อีกเป็นเงื่อนไขในหุ้นบุริมสิทธิ์ประเภทนี้ ระบุไว้ว่า เฉพาะหุ้นที่คนไทยถือ 10 หุ้นให้มีสิทธิโหวตเพียงแค่ 1 หุ้น ตกลงหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าถ้าคุณถือหุ้น 51% คุณมีสิทธิโหวตเท่ากับ 5% ตกลงอำนาจการตัดสินใจ 95% ก็ตกอยู่กับต่างชาติ เราก็ชี้เลยว่ากรรมาธิการนี่ชี้ลงไปเลยว่า อันนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าต่างชาติเป็นเจ้าของ และนิติบุคคลชื่อกุหลาบแก้วนั้นเป็นสัญชาติต่างชาติ ไม่ใช่สัญชาติไทย พอกุหลาบแก้วมีปัญหา มันก็จะพันไปหาชินคอร์ป ชินคอร์ปก็จะเป็นต่างชาติทันที ถ้าชินคอร์ปเป็นต่างชาติ บริษัทชินคอร์ปก็มีความผิดไปหมดเลยในเรื่องของไทยแอร์เอเชีย เอไอเอส ไอทีวี ดาวเทียมอะไรพวกนี้”
แม้ ดร.เจิมศักดิ์ จะยอมรับว่า การแก้กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ทำให้การดูความเป็นบริษัทต่างด้าวชัดเจนขึ้น แต่การแก้กฎหมายโดยกำหนดให้คนที่กระทำผิด สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ จะเท่ากับยอมรับว่า กฎหมายฉบับเดิมบกพร่อง เมื่อบกพร่องก็ไม่สามารถเอาผิดกุหลาบแก้วหรือใครต่อใครได้
“กระทรวงพาณิชย์ขอแก้ว่า ต่อไปนี้จะไม่ดูจำนวนผู้ถือหุ้น จำนวนสัดส่วนของหุ้นว่าเป็นของคนไทยลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ แต่จะขอดูอำนาจการตัดสินใจ มันก็ชัดขึ้น ถ้าดูแบบพื้นๆ ตื้นๆ มันก็ชัดกว่ากฎหมายเก่า เพราะมันบอกไปเลยว่าดูการตัดสินใจ ซึ่งกฎหมายเก่านี่ผมก็ตรวจสอบก็ดูที่การตัดสินใจอยู่แล้ว แต่เขาบอกว่าเขียนไปเสียเลยแก้เสียเลยว่าดูที่การตัดสินใจ แล้วก็ไประบุอีกว่า คนที่กระทำไม่ถูกต้อง ให้เวลาจำนวนหนึ่งไปแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตรงนี้ที่ผมมีความเป็นห่วง ห่วงตรงที่ว่า 1.ถ้าเราไปแก้กฎหมายฉบับนี้ เท่ากับเรายอมรับว่ากฎหมายเก่านั้นบกพร่อง ไม่สามารถจะเอาผิดคนได้ และ 2.ไปให้โอกาสเขาปรับตัวอีกว่า เนื่องจากว่าเราเป็นฝ่ายบกพร่องเองคือกฎหมาย เพราะฉะนั้นคนที่ทำไปเนี่ยไม่ผิดหรอก และเขาให้โอกาสคุณปรับตัวได้ ตกลงกุหลาบแก้วก็หลุดเลยนะ ถ้าผมเป็นทนายของกุหลาบแก้ว ผมจะยกข้ออ้างนี้กับศาลทันทีว่า คุณไปแก้กฎหมายทำไม คุณแก้แสดงว่ากฎหมายเก่ามันไม่ดีใช่ไหม กฎหมายเก่ามันเอื้อให้ผมทำได้ใช่ไหม ผมก็ทำถูกกฎหมายสิ และยิ่งคุณมีบทเฉพาะกาลต่อไปอีกว่า คุณให้โอกาสคนทำปรับตัว และคุณมาเลือกปฏิบัติจะเล่นงานผมก็ไม่ได้คุณก็ต้องให้โอกาสผมปรับตัวเหมือนกับบริษัทอื่นๆ ใช่ไหม และถ้าผมปรับตัวเหมือนบริษัทอื่นๆ แล้วคุณมาเล่นงานอะไรผมล่ะ ตกลงกุหลาบแก้วก็เลยเป็นถูกต้องโดยการแก้กฎหมายฉบับนี้ พอคุณถูกต้องแล้วกุหลาบแก้วเป็นไทย ชินคอร์ปก็เลยเป็นไทย ถือไทยแอร์เอเชียต่อไปได้ ถือเอไอเอส ถือไอทีวีต่อไปได้ ซึ่งเรากำลังทำผิดให้มันถูกใช่ไหมนี่คือสิ่งที่ผมเป็นห่วง”
ด้าน ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ 1 ในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) มองว่า หากกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมีช่องโหว่ ให้ใครต่อใครสามารถใช้นอมินีได้ ก็หมายความว่า กฎหมายเราอ่อนแอและทำให้ต่างชาติเข้ามาทำลายความมั่นคงของประเทศได้ จึงจำเป็นต้องทำกฎหมายให้เข้มแข็ง เพื่อไม่ให้ต่างชาติใช้ช่องโหว่หาประโยชน์โดยมิชอบ อย่างไรก็ตาม อ.สมบัติ ชี้ว่า ถ้าการแก้กฎหมายฉบับนี้ ช่วยให้ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ รัฐบาลก็ต้องพิจารณาว่า ควรออกกฎหมายในขณะนี้หรือไม่?
“อันนี้ในแง่ของรัฐบาลก็คงต้องดูด้วย เข้าใจว่า รัฐบาลจะออกบทเฉพาะกาลว่า ไม่ให้รวมถึงบริษัทที่ถูกดำเนินคดีแล้ว แต่ในทางกฎหมายมันจะคุ้มครองหรือไม่ และทางฝ่ายรัฐบาลคงต้องดูแลว่า กฎหมายนี้จะเอาออกมาบังคับใช้ในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า เพราะออกมาก็เพียงแต่ทำให้บริษัทที่ทำผิดแล้ว ทำถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีผลในการลงโทษใดใดทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องการลงโทษเลย เพราะฉะนั้นถ้าการออกกฎหมายนี้จะทำให้คนที่ทำผิด โดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองที่ทำผิด ได้ประโยชน์ไปด้วย การออกกฎหมายก็ยังไม่ควรจะออก เพราะมันจะมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ถ้าออกกฎหมายใหม่แล้วทำให้สิ่งที่ผิดอยู่แล้วถูกต้องเนี่ย ใครที่เคยทำผิดติดคุกมาแล้วก็ต้องปล่อย”
ขณะที่ อ.ปรีชา สุวรรณทัต นายกสภามหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล นครราชสีมา และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ยังไม่เห็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวว่า เขียนอย่างไร จึงไม่สามารถพูดได้ว่า จะเป็นการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่เคยกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวแล้วไม่เข้าใจว่า ทำไมรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงไม่เปิดเผยร่างดังกล่าวให้สาธารณชนได้ทราบ อย่างไรก็ตาม อ.ปรีชา พูดเหมือน อ.สมบัติ ว่า ถ้าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าข่ายว่าจะให้คุณแก่ผู้ที่เคยกระทำผิด หากนำออกมาบังคับใช้ ก็จะมีผลย้อนหลังเป็นการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่กระทำผิดทันที
ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยเป็น 1 ในคณะกรรมการแก้ไขประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281(ปว 281) กระทั่งแปรสภาพมาเป็น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และยังเคยเป็นคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวระหว่างปี 2542-2547 ยืนยันว่า ความพยายามแก้ไขกฎหมายดังกล่าวของรัฐบาล ไม่ใช่การทำให้คำนิยามความเป็นธุรกิจต่างด้าวชัดเจนขึ้น แต่เป็นการทำให้กฎหมายมีความ “เข้ม” ขึ้น
นายเกียรติ ยังเตือนรัฐบาลด้วยว่า แน่ใจหรือไม่ว่า การแก้กฎหมายด้วยการเพิ่มคำนิยามความเป็นธุรกิจต่างด้าวว่า จะดูที่สิทธิออกเสียงและเรื่องเงินลงทุนด้วย ซึ่งเพิ่มเติมจากเดิมที่ดูเพียงสัดส่วนการถือหุ้นนั้น จะไม่ขัดต่อข้อผูกพันที่ไทยเคยมีกับองค์การการค้าโลก (WTO)
“เดิมเนี่ย ประเทศไทยเคยไปผูกพันกับองค์การการค้าโลกไว้ว่า จะดูสัญชาติของนิติบุคคลหรือบริษัทที่มาลงทุนในไทยว่าเป็นไทยหรือต่างด้าวเนี่ย จะดูจากสัดส่วนถือหุ้น แต่ในมาตรา 4 (ของร่างแก้ไขฯ) ซึ่งพูดถึงเรื่องคำนิยามของความเป็นคนต่างด้าว คือนอกจากจะดูสัดส่วนการถือหุ้นแล้ว จะดูเรื่องสิทธิออกเสียงและจะดูเรื่องเงินลงทุนด้วย เพราะฉะนั้นเงื่อนไขที่จะดูเรื่องสิทธิออกเสียงและเรื่องเงินลงทุน เป็นเงื่อนไขที่เพิ่มเติมขึ้นไป พูดง่ายๆ มันไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำให้กฎหมายมันชัดขึ้น แต่มันเป็นการทำให้กฎหมายมันเข้มขึ้น เพราะในอดีตต่างด้าวอาจจะถือหุ้นไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่มีสิทธิออกเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ในอดีตบอกว่า ถือว่าเป็นคนไทยนะ เพราะดูเฉพาะเรื่องหุ้น แต่ในร่างฉบับนี้ก็จะบอกว่า ถือว่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เพราะฉะนั้นตรงนี้เองก็ไปปรับเปลี่ยนที่เป็นนัยยะสำคัญนะ แต่เรื่องนี้ในประเทศไทยก็มีคนบางกลุ่มบอก อยากจะเห็นกฎหมายฉบับนี้เข้มขึ้น บางกลุ่มก็อยากเห็นกฎหมายฉบับนี้เปิดกว้างมากขึ้น ผมก็เคารพในความเห็นของทุกคนนะ และแต่ละคนก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปแต่การดำเนินการตรงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำให้มันชัดเจนมากขึ้นในเรื่องนอมินี เพราะนอมินีคือการถือหุ้นแทน ไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิออกเสียง ในเรื่องสิทธิออกเสียงเนี่ย คือพูดง่ายๆ เขาก็ลงทุนตามเรือนหุ้นของเขา เพียงแต่เขาไปตกลงกันเองว่า ระหว่างผู้ถือหุ้นกันเองว่า คนหนึ่งอาจจะมีสิทธิมากกว่าอีกคนหนึ่ง ก็แล้วแต่กรณีไป ซึ่งในแง่ของหลักสากลก็ทำได้ เพียงแต่ว่าเราบอกว่า ถ้ามีสิทธิออกเสียงมากกว่า 50% แล้ว ก็ขอให้ถือเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นกฎหมายทางเศรษฐกิจ และก็แล้วแต่นโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ เราไปผูกพันกับองค์การการค้าโลกอย่างไร ตอนที่เราไปผูกพันไว้ เรามี ปว 281 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บอกว่า ดูเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้น เราก็เลยผูกพันไว้ว่า เราจะดูเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้น หรือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไปเนี่ย ก็ต้องไปดูให้ดีว่าจะไม่ขัดต่อข้อผูกพันเดิม และจะเป็นกรณีที่ทำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ร้องเรียนได้”
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ให้โอกาสบริษัทที่กระทำผิดได้ปรับแก้สัดส่วนการถือหุ้นและสิทธิออกเสียง เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายใหม่ จะช่วยให้กุหลาบแก้วและชินคอร์ปพ้นผิดนั้น นายเกียรติ ยืนยันว่า กุหลาบแก้วและชินคอร์ปผิดในเรื่องของการถือหุ้นแทนหรือเป็นนอมินี และความผิดยังคงอยู่ เพราะกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับที่แก้ไขใหม่ ยังคงระบุว่าการเป็นนอมินีเป็นความผิดเช่นกัน แต่ปัญหาอยู่ตรงที่มาตรา 9 ในฉบับร่างแก้ไขที่เขียนให้เวลาบริษัทต่างๆ ที่เข้าข่ายต่างด้าวได้ปรับแก้เพื่อให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดนั้น นายเกียรติ ชี้ว่า โดยหลักกฎหมายไม่น่าจะเขียนกำหนดแบบนั้นได้ เพราะนอกจากจะเอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิดแล้ว ยังเหมือนกับการเลือกปฏิบัติกับผู้กระทำผิดด้วย
“ในส่วนของกุหลาบแก้วกับชินคอร์ปเนี่ย มันเป็นเรื่องของการถือหุ้นแทน (นอมินี) ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 36 และ 37 ...37 นี่เขาพูดถึงเรื่องการประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งก็มีบริษัท ไซเพรส (โฮลดิ้งส์) กับแอสเพน (โฮลดิ้งส์-ทั้ง 2 บริษัทเป็นของเทมาเส็กที่เข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ป) เป็นตัวละครที่เข้ามาซื้อหุ้น โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว 2 มาตรานี้ ถามว่าแก้อะไรไปหรือไม่ ก็แก้เพิ่มโทษในเรื่องความผิดทางแพ่ง แต่ทางอาญาเหมือนเดิมนะ ทางอาญาก็คือ จำคุกประมาณ 3 ปี นักกฎหมายหลายคนมีความเห็นว่า จริงๆ แล้วมาตรา 9 ของร่างฯ ฉบับนี้ ในแง่ของหลักของการออกกฎหมายนี้อาจจะไม่น่าที่จะทำได้ เพราะกฎหมายฉบับเดิมก็ (บอกว่า) ผิดในเรื่องการถือหุ้นแทน กฎหมายฉบับใหม่ก็ยัง (บอกว่า) ผิดอยู่เหมือนเดิมในเรื่องการถือหุ้นแทน เพราะฉะนั้นการไปเปิดช่องว่างให้คนที่เคยทำผิดในกฎหมายเดิมแก้ไขให้ถูกได้ ไม่น่าที่จะทำได้ …การถือหุ้นแทน(นอมินี)ก็คือ ผมยืมใช้ชื่อ คนไทยไม่ได้ลงเงิน ไม่ได้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นหรือกรรมการ เพราะฉะนั้นตรงนี้ของเดิม (กฎหมาย) มันก็ชัดอยู่แล้ว ถ้าไม่ชัดทางกระทรวงพาณิชย์เองก็คงไม่สามารถที่จะส่งเรื่องไปทางตำรวจและชี้ว่ามันมีมูลความผิดเกิดขึ้น และตรงนั้นไม่ได้เกี่ยวเลย มันมีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่การที่ไปเขียนในมาตรา 9 ของยกร่างใหม่ในลักษณะที่ให้ประโยชน์กับคนที่ได้เคยกระทำผิดมาแล้วที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการของการฟ้องในชั้นศาลหรือสอบสวนในชั้นตำรวจเนี่ย สามารถจะแก้ให้ถูกได้ ตรงนี้ผมถึงบอกว่า นักกฎหมายเองไม่เชื่อว่า เขียนกฎหมายอย่างนี้ได้ อย่างเช่นง่ายๆ มันเหมือนกับคนไปขโมยของ 2 คน คนหนึ่งโดนสอบอยู่ (กุหลาบแก้ว) ก็บอกว่าผิดต่อไป อีกคนหนึ่งไม่ได้โดนสอบ แล้วบอกว่าเอาของมาคืน แล้วก็พ้นความผิด ซึ่งอันนี้ในแง่ของคดีอาญา มันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะกฎหมายฉบับใหม่ก็บอกว่า การถือหุ้นแทนก็ผิดอยู่ดี ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นข้อกฎหมายซึ่งถ้าผ่านไปอย่างนี้ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่นักกฎหมายบางคนชี้ว่า มันอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้กระทำผิดในอดีต”
นายเกียรติ สิทธีอมร ซึ่งรู้เรื่องกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวดีที่สุดคนหนึ่ง ฝากรัฐบาลด้วยว่า แม้การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคสมัยก็จริง แต่การปรับแก้กฎหมายโดยเพิ่มความ”เข้ม”ขึ้นแบบนี้ นอกจากรัฐบาลต้องตรวจสอบว่าขัดต่อข้อผูกพันที่ไทยเคยมีกับองค์การการค้าโลกหรือไม่แล้ว รัฐบาลต้องมีคำตอบด้วยว่า ทำไมจึงเขียนกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิด?
และว่า ปัญหาใหญ่ในเรื่องกฎหมายของไทย อยู่ที่การ “บังคับใช้” เช่น ความผิดในแง่ของการถือหุ้นแทนต่างชาติ (นอมินี) และการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งผิดตาม ม.36-37 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 นั้น ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ว่า ต้องแก้ไขกฎหมายให้มีความเข้มขึ้น หากแต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ว่ามีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง?
เพราะในทางปฏิบัติ ปัญหาก็คือ เจ้าหน้าที่ที่จะไปตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ มีน้อย เมื่อเจ้าหน้าที่มีน้อย แล้วยังจะเพิ่มเงื่อนไขของกฎหมายให้เข้มขึ้นอีก แล้วจะมีประโยชน์อะไร ถ้ามีกฎหมาย แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากฝืนทำไป ก็รังแต่จะสร้างความไม่มั่นใจในที่สุด!!
* หมายเหตุ *
คดีกุหลาบแก้วเป็นนอมินีให้ต่างชาติ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) มี พล.ต.ต.วิเชียร สิงห์ปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ไม่มีอะไรคืบหน้า พล.ต.ท.มนตรี จำรูญ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อ้าง (10 ม.ค.) ว่า ต้องใช้พยานหลักฐานจากต่างประเทศบางส่วน ทำให้ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่ก็พยายามทำให้เร็ว แต่ไม่ถึงขนาดต้องเร่งรัดอะไรกันเป็นพิเศษ เพราะอยากให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด