อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
ดูเหมือนว่า รบ.นี้ โดยเฉพาะ รมว.ศึกษา “วิจิตร ศรีสอ้าน” จะไม่ให้ราคานิสิตนักศึกษาที่ออกมาคัดค้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยเท่าที่ควร แถมยังมีข่าวว่า นศ.บางสถาบันถูกอธิการขู่จะสั่งพักการเรียน ถ้าไม่หยุดเคลื่อนไหว ถ้าการออกนอกระบบเป็นเรื่องดีอย่างที่ รมต.ศึกษาฯ พยายามเชียร์แล้วละก็ ลองมาฟัง”ด้านลบ”ที่ท่านไม่อยากพูดถึง และผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่หนุนให้ออกนอกระบบ ก็ไม่อยากปริปากบอกนักศึกษา ดูบ้างเป็นไร บางที...เรื่องนี้อาจใหญ่กว่าที่ทุกคนคิด และนี่จะไม่ใช่ “ชนักติดหลังรัฐบาลทักษิณ”เท่านั้น แต่จะเป็น “ตราบาป”ของรัฐบาลสุรยุทธ์ตลอดไปอีกด้วย
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
แม้การผลักดันมหาวิทยาลัยให้ออกนอกระบบ จะเดินเครื่องตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งมีการคัดค้านอย่างหนัก แต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นำโดยนายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีศึกษาธิการ ก็ไม่สนว่าจะถูกครหาว่า เดินตามรอยหรือช่วยสานฝันของรัฐบาลทักษิณให้เป็นจริงหรือไม่ โดยเร่งเดินหน้าเสนอ ครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้ผ่าน”ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ”ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือการ?เห็นชอบให้แต่ละมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั่นเอง!
เริ่มจากเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของ 3 มหาวิทยาลัยตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ส่วนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ เพราะยังมีอาจารย์คัดค้านอยู่
สัปดาห์ต่อมา 28 พ.ย. รัฐมนตรีศึกษาฯ วิจิตร ก็เดินหน้าเสนอที่ประชุม ครม.ให้เห็นชอบร่างกฎหมายการออกนอกระบบของอีก 3 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ประชุม สนช. ได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายการออกนอกระบบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยทักษิณ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตามที่ ครม.เสนอแล้ว โดยไม่มีผู้คัดค้าน จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแปรญัตติใน 7 วัน
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในการประชุม ครม.ครั้งต่อไป(12 ธ.ค.) รัฐมนตรีศึกษาฯ จะเสนอ ครม.เพื่อเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยอีก 4 แห่งออกนอกระบบ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล ,มหาวิทยาลัยศิลปากร ,มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ดูแล้ว กระบวนการที่จะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบช่างดำเนินไปอย่างง่ายดายและราบรื่น แม้ภายนอกสภาจะดังไปด้วยเสียงคัดค้านของบรรดานิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันที่ไม่ต้องการออกนอกระบบไม่ว่าจะเป็นจุฬาฯ ,ม.บูรพา ,ม.เกษตรฯ ฯลฯ เหตุผลของการคัดค้านที่เคยปรากฏผ่านแถลงการณ์ ได้แก่ รัฐบาลชุดนี้ กำลังดำเนินนโยบายที่ซ้ำรอยรัฐบาลชุดที่แล้ว คือ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ และนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบตามแนวทางเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาด ,การแปรรูปมหาวิทยาลัย จะส่งผลกระทบต่อคนยากจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ที่จะต้องผจญกับค่าเทอมที่พุ่งสูงขึ้น ,การออกนอกระบบ จะกระทบต่อสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงานของอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่จะกลายสภาพจาก”ข้าราชการ” เป็น “พนักงานของรัฐ” ฯลฯ โดยนิสิตนักศึกษาที่ค้านการออกนอกระบบ ประกาศจัดเวทีแสดงความคิดเห็นในแต่ละมหาวิทยาลัยในเย็นวันนี้(8 ธ.ค.) พร้อมจุดเทียนแห่งความหวังการศึกษาไทยในเวลา 19.00น. โดยในส่วนของจุฬาฯ จัดที่หน้าหอสมุดกลาง ก่อนหน้านี้ นิสิตจุฬาฯ บางส่วนยังขู่ด้วยว่า หากคัดค้านไม่สำเร็จ อาจต้องใช้มาตรการหยุดเรียนหรือเดินขบวน!
ส่วนความเคลื่อนไหวของอาจารย์ที่ค้านการออกนอกระบบ ได้แก่ อาจารย์บางส่วนจาก 8 คณะของจุฬาฯ ได้เข้าชื่อยื่นจดหมายคัดค้านการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบ ต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.
ด้าน อ.สมพงษ์ จิตระดับ แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลในการออกนอกระบบที่มหาวิทยาลัยนำมาอ้างคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้คล่องตัวเป็นเหตุผลที่แคบเกินไป และว่า ประเด็นที่น่าห่วงจากการออกนอกระบบก็คือ การแสวงหากำไรจากนักศึกษาที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของสาขาวิชา เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะไม่ให้ความสำคัญกับสาขาวิชาที่ไม่สร้างรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้นักศึกษาขาดความเป็นบัณฑิตที่แท้จริง รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อระบบรากเหง้าของมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จะทำให้ความภูมิใจต่อสถาบันหายไป
แม้กระแสต่อต้านการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยโดยนิสิตนักศึกษาและอาจารย์หลายสถาบัน จะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ในสายตาของรัฐบาลและ สนช. แถมรัฐมนตรีศึกษาฯ นายวิจิตร ศรีสอ้าน ยังอ้างว่า การออกนอกระบบเป็นเรื่องที่ค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลต่อ ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้บังคับ มหาวิทยาลัยไหนพร้อมก่อน ก็ออกนอกระบบก่อน แต่หากมหาวิทยาลัยไหนยังมีนักศึกษาไม่เข้าใจและยังคัดค้าน ก็เป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยนั้นจะต้องชี้แจง ไม่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาฯ พร้อมยืนยัน การออกนอกระบบ ไม่ใช่การแปรรูป เป็นเพียงการเปลี่ยนสถานะจาก”ราชการ” เป็น”หน่วยงานในกำกับของรัฐ” ซึ่งจะช่วยให้มหาวิทยาลัยนั้นมีความคล่องตัว!?!
การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยจะใช่”การแปรรูป” หรือไม่ หรือจะร้ายกว่าการแปรรูป ลองมาฟังมุมมองที่น่าสนใจของอาจารย์ท่านหนึ่งที่น่าจะเรียกได้ว่า เกาะติด-รู้ลึก และค้านเรื่องนี้อย่างหัวชนฝา โดยประกาศว่า “ถ้ามหาวิทยาลัยต้องออกนอกระบบจริงๆ ตนจะลาออก จะไม่อยู่ให้ใครมาจำกัดอิสรภาพความคิดของตนได้”!
อาจารย์ท่านนี้ก็คือ อ.เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร หลายคนในสังคมอาจไม่ทราบว่า ความคิดที่จะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มาได้อย่างไร? อ.เจริญ เฉลยให้ฟังว่า ไม่น่าเชื่อว่า แนวคิดเรื่องนี้ไปผูกโยงกับพันธกรณีที่ไทยเคยมีต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)
“ความคิดในการออกนอกระบบมันเป็นความคิดที่เป็นการปฏิบัติตามไอเอ็มเอฟตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ไอเอ็มเอฟบอกว่า งบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยที่ใช้ในเรื่องทางสังคมสูงเกินไป รัฐบาลประชาธิปัตย์ในสมัยนั้นก็โอนอ่อนผ่อนตาม ก็ทำตามไอเอ็มเอฟ ก็ทำให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปเสีย การออกนอกระบบ คอนเซ็ปต์ก็คือ ปล่อยให้มหาวิทยาลัยไปหาเงินได้ เลี้ยงตัวเองได้ และอ้างความคล่องตัว จึงเป็นที่มาของการมีกฎหมายออกนอกระบบ แล้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุคสมัยนั้น ก็สวมรอย บางคนก็คิดว่า การออกนอกระบบเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะผู้บริหารมหาวิทยาลัย จะได้เงินเดือนสูง หลายแสนบาท อธิการบดี ไม่รู้ที่จุฬาฯ 2.5 แสนบาท หรือรองอธิการบดีเป็นแสนเนี่ย ของศิลปากรของผมนี่ตรงกันข้ามเลย พวกเราเป็นผู้บริหาร เราเห็นถึงประโยชน์สาธารณะ เราคิดว่าอันตรายที่จะไปตายเอาดาบหน้า และไม่เห็นด้วย แล้วก็มีการร่างกฎหมาย ชื่อว่า “กฎหมายมหาวิทยาลัยในกำกับ” ชื่อมันก็เป็นกฎหมายมหาวิทยาลัยในกำกับว่า ออกนอกระบบ คือตัดขาดจากความเป็นภาครัฐ แต่กฎหมายที่ร่างออกมาโดยถูกกำกับโดย สกอ.(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) คุณภาวิช(ทองโรจน์) ตอนนั้นถ้าจำได้ ในรธน.ฉบับเก่าเนี่ย มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย อธิการบดีจะมีส่วนสำคัญในการตั้งองค์กรอิสระ เป็นกรรมการในการเลือกคนเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ จึงเป็นที่มาที่สำคัญและแรงจูงใจที่สำคัญของผู้มีอำนาจในการที่จะยึดมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยไว้อยู่ภายใต้กำกับของเขา โดยการให้พรรคพวกของตัวเองเข้ามาเป็นอธิการบดีในทุกมหาวิทยาลัย และมีการเปลี่ยนสถาบันราชภัฏให้มี status เป็นมหาวิทยาลัย ก็มีตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งเขาก็ส่งคนในกำกับของเขาไปเป็นอธิการบดี พอครั้นมาเลือกองค์กรอิสระ เขาก็เอาคนพวกนี้ เลือกพรรคพวกของเขามาอยู่ในองค์กรอิสระที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้”
นั่นคือแรงจูงใจทางด้านการเมืองที่ อ.เจริญ ชี้ว่า ทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ยังมีแรงจูงใจทางด้านธุรกิจและผลประโยชน์อีก เพราะร่างกฎหมายการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยที่ สกอ.เป็นคนร่าง กำหนดบทพื้นฐานให้มหาวิทยาลัยสามารถควบรวมกันได้ นำทรัพย์สมบัติของมหาวิทยาลัยไปขายให้ใครก็ได้ เหมือนกับที่รัฐบาลที่แล้วพยายามจะแปลงสินทรัพย์เป็นทุน แต่สำหรับมหาวิทยาลัยใช้คำว่า “เปิดเสรีทางการศึกษา”
“สกอ.ไปร่างกฎหมายโดยคนที่มาเป็นคนกำกับในการร่าง คือ สกอ.มันก็มีหลักการพื้นฐานสำคัญๆ ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะต้องมี ก็คือ การให้มหาวิทยาลัยเกิดการควบกับมหาวิทยาลัยอื่นได้ ลงทุนได้ สามารถเอาทรัพย์สมบัติของมหาวิทยาลัยไปขายได้ เอาเงินมาใช้บริการทางมหาวิทยาลัยได้ คือ เปิดโอกาสไว้อย่างกว้างขวาง โดยให้อธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัยสามารถจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิทุกประการในมหาวิทยาลัยได้ เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้คือ อสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมากที่อยู่ในมือของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ผมคิดว่า ตอนนั้นมัน(รบ.ทักษิณ)กำลังจะทำชอง เอลิเซ่ อยากแปลงสินทรัพย์เป็นทุน อยากจะเอาสมบัติสาธารณะไป ก็เป็นที่มาเป็นแรงจูงใจอีกอันหนึ่ง ก็มีคนต้องการอยากจะเอามหาวิทยาลัยเป็นของตระกูลตัวเอง มีแรงจูงใจว่า ฉันมีเงิน ฉันก็จะซื้อมหาวิทยาลัยนี้ ผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่เขาไปแก้กฎหมายรองรับไว้โดยการที่ทำให้ เขาเรียกว่า เป็นการควบมหาวิทยาลัย ประการที่ 1 คือ เอามหาวิทยาลัยนี้ควบกับมหาวิทยาลัยนั้น อันที่ 2 เปิดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน เขาก็กลัวว่า จะถูกต่อต้านจากสังคมมาก เขาก็เลยให้รัฐมนตรีศึกษาธิการ จาตุรนต์ ฉายแสงรวมอธิการบดีทั่วประเทศไปประชุมที่สถาบันแม่โจ้ เชียงใหม่ แล้วก็ให้ลงสัตยาบันร่วมกันว่า จะเอามหาวิทยาลัยเปิดเสรีทางด้านการศึกษา ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเลยนะลงนามผูกพันตนเองว่า นับแต่นี้ไปจะเปิดเสรีทางการศึกษา ปรากฏว่า ไม่มีมหาวิทยาลัยไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่ยอมลงนาม ไม่มีใครลงนาม มันก็มีกลุ่มพวกราชภัฎที่สั่งซ้ายหันขวาหันได้ กระดี๊กระด๊า ฉันอยากจะเปิดเสรีทางการศึกษา การเปิดเสรีทางการศึกษาคือ ขายมหาวิทยาลัยให้นักลงทุนต่างชาตินั่นเอง อันนี้มีการเตรียมการทำอย่างนี้มาตลอด แล้วเราก็ต่อต้าน เราก็ไม่เอา”
อ.เจริญ ยังเผยด้วยว่า แม้คำว่า ออกนอกระบบ จะดูเหมือนมหาวิทยาลัยมีอิสระจากรัฐ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะในร่างกฎหมายการออกนอกระบบ ไม่เพียงขาดหลักประกันเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ แต่มหาวิทยาลัยยังจะถูกควบคุมกำกับมากขึ้น โดยรัฐมนตรีศึกษาฯ และนโยบายรัฐบาล
“ร่างกฎหมายในกำกับ ในกฎหมายเนี่ย ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระจากรัฐเลย ตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยยังถูกควบคุมกำกับมากขึ้น ในมาตรา 50 ของกฎหมายมหาวิทยาลัย จะบอกว่า มหาวิทยาลัยจะต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล คือ จะไม่มีหลักประกันเรื่อง freedom of academic เสรีภาพทางวิชาการ ไม่มีประกันไว้ในตัวกฎหมายที่เขาร่างกันขึ้นมา ในทางตรงกันข้าม การเข้ามากำกับของรัฐมนตรีศึกษาฯ และรัฐบาลผ่านนโยบายก็ดี การบังคับบัญชาสั่งการยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นในกฎหมายอยู่ในกำกับ อันที่ 2 คือ ในขณะนั้นก็มีการต่อต้านกันมากมาย ในมหาวิทยาลัยมันมี 2 กลุ่ม เราต้องเห็นภาพของมหาวิทยาลัย คือ 1.พวกผู้บริหาร ตำแหน่งอธิการ รองอธิการ อันที่ 2 คือ สภามหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ และอันที่ 3 สภาคณาจารย์ ที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนวิชาการ สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง คือ ผู้บริหารอยากจะออก(นอกระบบ) อยากจะให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ เพราะจะได้เงินเดือนสูง แต่อาจารย์ต่างๆ บางคน อย่างจุฬาฯ เขาก็ไม่ยอม ถ้าเขาเปลี่ยนสถานะ จากข้าราชการกลายเป็นพนักงาน เหมือนพนักงานบริษัทเนี่ย เขาก็รู้สึกว่า อย่างนี้ไม่ได้ ฉันไม่ยอมจุฬาฯ จึงถวายฎีกาพระเจ้าอยู่หัว ถวายฎีกาจนนำไปสู่การประชุมสภาประชาพิจารณ์ ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน และผลจากการถวายฎีกา มีพระบรมราชวินิจฉัยออกมา 2 เรื่อง 1.ถ้าคุณอยากให้มีความคล่องตัว คุณก็ไปปรับระเบียบของมหาวิทยาลัยคุณสิ ให้เกิดความคล่องตัว อันที่ 2 คือ ต้องให้เกิดฉันทามติในมหาวิทยาลัยเสียก่อน”
อ.เจริญ เล่าให้ฟังด้วยว่า หลังจากนั้นทางจุฬาฯ ก็ไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์ ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เดินหน้าร่างกฎหมายการออกนอกระบบโดยมี สกอ.เป็นคนกำกับว่า ต้องมีหลักเกณฑ์อย่างนั้นอย่างนี้ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยอย่างมาก และว่า หากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ รัฐบาลจะมีเงินให้ก้อนหนึ่งให้ทางมหาวิทยาลัยไปบริหารกันเอง ซึ่งหากไม่พอ ก็เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ จะต้องไปแก้ไขเอง เท่ากับรัฐบาลปัดภาระและบีบคั้นให้มหาวิทยาลัยต้องทำในสิ่งที่อาจกระทบต่อสิทธิด้านการศึกษาของประชาชนได้ ในที่สุด รัฐบาลทักษิณจึงต้องยุติเรื่องนี้ ไม่ใช่อย่างที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน อ้างว่า เรื่องนี้ค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลนี้ต้องทำต่อ
“(ในร่างกฎหมาย)รัฐบาลไม่ได้ผูกมัดตัวเอง ที่จะให้เงินอย่างเพียงพอ เพื่อสนับสนุนการศึกษา ไม่มีหลักประกันว่า คนยากคนจนจะได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้นเขาจะให้เงิน เป็นค่าเงินเดือน ค่าอะไรต่างๆ ซึ่งก็ไม่พออยู่แล้ว ค่าน้ำค่าไฟ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยก็จะถูกบีบคั้นอย่างมหาศาลในเรื่องงบประมาณในการให้การศึกษา พวกคณาจารย์ส่วนใหญ่เขาก็เห็นว่า อย่างนี้มันก็ไม่ถูก การศึกษาเป็นสิทธิ รัฐจะต้องให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ทำไมต้องไปฟังไอเอ็มเอฟ เพราะฉะนั้นการศึกษา คนไม่มีเงิน (รัฐ)จะต้องหาทุนให้ จะไปให้คุ้ยเขี่ยหาอาหารเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลมาปัดภาระอย่างนี้ก็ไม่ถูก ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไรในเรื่องของการศึกษา ก็ต่อสู้กัน ม.บูรพาใครต่อใคร ก็ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้ทบทวนกันใหม่ จนในที่สุดก็กฎหมายมหาวิทยาลัยผ่านทีละร่างๆ แล้วก็มีการถอนออก รัฐบาลถอนออกกลางคัน ไม่ใช่อย่างที่วิจิตร ศรีสอ้าน พูดบอกว่า เป็นสมัยรัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลที่แล้วเขาถอนเลยนะ เพราะมันมีปัญหา มีความลักลั่น ขัดแย้งกันในมหาวิทยาลัยต่างๆ มหาวิทยาลัยหนึ่งร่ำรวย มหาวิทยาลัยหนึ่งยากจน มหาวิทยาลัยมันมี 3 ระดับ ระดับสูง กลาง ต่ำในเรื่องของขนาดของสินทรัพย์ของมหาวิทยาลัยที่จะมาใช้ในการศึกษา ก็ถอนออกไป และบางมหาวิทยาลัยที่เสนอกฎหมายไปแล้ว และทาง ส.ว.สายเอ็นจีโอก็ไปแก้ แก้จนพวกมหาวิทยาลัยเก่าเนี่ย ไม่ยอม และพวก สกอ.ก็โมโหมาก ที่ไปแก้ คือที่เขาแก้เป็นสิ่งที่ดี แก้บอกว่า รัฐบาลจะตัดภาระเรื่องงบเหรอ ฉันก็เขียนกฎหมายให้มันผูกมัดรัฐบาล และบอกว่า เด็กคนที่ไม่มีเรียน ก็มีสิทธิที่จะต้องได้เรียน จนพวก สกอ.ก็ขยาด สุดท้ายก็ถอนออกไป”
อ.เจริญ ยังวิเคราะห์ด้วยว่า เหตุที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีศึกษาฯ เดินหน้าให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ คงอยากอ้างเป็นผลงานของตนเอง จึงได้หนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ในที่ประชุมอธิการบดีเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา แล้วก็ใช้”จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็น”หนูทดลอง” เพื่อให้มหาวิทยาลัยอื่นออกนอกระบบตาม
“มีความพยายามของนายวิจิตร ศรีสอ้าน คือผมเข้าใจว่า เขาต้องการให้เป็นผลงานว่า ตัวเองเป็นคนมาทำให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทั้งๆ ที่รัฐบาลไม่มีแม้แต่น้อยว่าจะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การออกนอกระบบไม่ได้แสดงอะไรเกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปการศึกษาเลย ตรงกันข้ามคือ ทำลายการศึกษาให้อยู่ในมือของภาคธุรกิจ ไม่กี่ตระกูลที่จะไปซื้อมหาวิทยาลัย แล้วมาบริหารมหาวิทยาลัยภายใต้การบงการ และมาข่มขู่คณาจารย์ ให้อาจารย์แต่ละคนมีสถานภาพเป็นลูกจ้าง ทำสัญญาจ้างปีต่อปี ถ้าคุณไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ผู้มีอำนาจ คุณก็ถูกเลิกจ้างได้ ไม่มีหลักประกันทางด้านเสรีภาพทางวิชาการเลย พวกเราก็ไม่ยอม พอไม่ยอม แล้วบอกว่า อย่างนี้ก็มันคือ “ปล่อยเกาะ”มหาวิทยาลัย ก็ต่อต้านกันไป จนวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการประชุมที่ประชุมอธิการบดีที่พัทยา จัดโดยสุรพล (นิติไกรพจน์)มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเชิญวิจิตร ศรีสอ้าน ไปพูด ก็ยังสนับสนุนอีก บอกว่า จะให้ออกนอกระบบอย่างนั้นอย่างนี้ เชียร์ให้มีการออกนอกระบบ สุดท้ายก็ดึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นหนูทดลอง โดยอ้างว่า จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ ถ้าจุฬาฯ ออกแล้ว มหาวิทยาลัยอื่นมันต้องทำตามจุฬาฯ
เขาประเมินอย่างนั้น ซึ่งผิด วันนี้(8 ธ.ค.) จะมีคนชุมนุม และตอนนี้(7 ธ.ค.)ล่ารายชื่อของคณาจารย์เกือบพันคนแล้ว”
ส่วนกรณีที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน อ้างว่า ที่ผ่านมา 6 มหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร และค่าหน่วยกิตก็ไม่ได้สูงจนส่งผลกระทบ ได้แก่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ,ม.วลัยลักษณ์ ,ม.แม่ฟ้าหลวง ,ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ,ม.มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และ ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย นั้น อ.เจริญ ยืนยันว่า ปัญหามีแน่นอน เช่น ม.แม่ฟ้าหลวง ก็วิกฤต เพราะไม่ค่อยมีคนเรียน ส่วน ม.เทคโนโลยีสุรนารี ที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน เป็นประธานคณะกรรมการจัดตั้ง ก็เก็บค่าหน่วยกิตสูงสุดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงไม่ต้องขึ้นค่าหน่วยกิตอีก แต่ถึงกระนั้นก็ยังเอาตัวไม่รอดเช่นกัน
“มหาวิทยาลัยสุรนารีเนี่ย ลูกศิษย์ผมไปเป็นอาจารย์ที่นั่น มีนักเรียนอยู่ 3 คน มีครูอยู่ 5 คน นี่คือผลการออกนอกระบบ สุดท้ายมันเอาตัวไม่รอด มันก็ไปกว้านซื้อ เอาใครต่อใครมา ให้โควตามาเรียน มันไปไม่รอดหรอก แล้วอาจารย์มหาวิทยาลัยสุรนารี ของวิจิตร ศรีสอ้าน เนี่ย ระเบียบนี่ คณาจารย์ถ้าจะต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ต้องไปอภิปรายประชุมที่ไหน ต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ถ้าไม่อนุญาต ถ้าไปแล้ว อาจจะถูกเลิกจ้างได้ เห็นมั้ย แล้วเกิดถ้าเรา อย่างระบอบทักษิณอยู่ จะมีอาจารย์หน้าไหนที่ออกมาต่อสู้ผู้มีอำนาจ และไม่ถูกเลิกจ้าง นี่คือสิ่งที่เกิดจากฝีมือของวิจิตร ศรีสอ้าน เขาปฏิรูปการศึกษาอะไร เขาหวังอะไร ก็ไม่รู้ ไม่ได้ทำเพื่อการศึกษาหรอก คือการเซ็งลี้มหาวิทยาลัยมากกว่า”
อีก 1 ความห่วงใยที่ อ.เจริญ เชื่อว่า จะเกิดขึ้นแน่หากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ก็คือ วิชาเรียนที่ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ เช่น ศิลป วัฒนธรรม โบราณคดี ฯลฯ จะตายไปจากหลักสูตรการเรียนการสอนแน่นอน
“อย่าง ม.ศิลปากร เป็นมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับทางศิลป วัฒนธรรมไทย วิชาเหล่านี้จะถูกลบออกจากในมหาวิทยาลัยเลย เพราะไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ วิชาโบราณคดี วิชานายช่างสิบหมู่ วิชาทางสังคมศาสตร์พวกนี้ จะต้องตายปิดตัวเอง เพราะฉะนั้นผมก็ไปเปิดวิชานิเทศที่แข่งขันทางการตลาด สุดท้ายเนี่ย ตลาดเป็นคนกำหนด เช่น วิชาเรียนแพทย์ เปิดโรงเรียนแพทย์กัน วิศวะ เทคนิค ก็เต็มกันไปหมด การศึกษามันต้อง education for all ศึกษาทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้เรียนจะต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่รู้แต่เรื่องทำมาหากิน เอารัดเอาเปรียบกันทางเศรษฐกิจ มันขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลคนขิงแก่อย่างสิ้นเชิงเลย ที่ออกนอกระบบ คุณกำลังจะชูคุณธรรม คุณกำลังชูสิ่งที่ไม่ใช่คุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่คุณกำลังเอามหาวิทยาลัยไปอยู่ในเงื้อมมือของพวกนักธุรกิจ พวกภาคธุรกิจ ผมถามหน่อยเถอะ ถ้าวันนี้ซีพีมาเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ คิดเหรอว่า ภาคการเกษตรมันจะทำให้ประชาชนอยู่รอด เสร็จเลย ตายกันทั้งประเทศ วิจิตร (ศรีสอ้าน)ทำไมไม่คิด”
อ.เจริญ ฝากถึงรัฐบาลนี้ด้วยว่า หากยังหลงทางเดินหน้าให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้ได้ เรื่องนี้จะเป็น”ตราบาป”ของรัฐบาลเลยทีเดียว เพราะรัฐบาลกำลังเอามหาวิทยาลัยที่เป็นคลังสมองของชาติ ไปอยู่ในอุ้งมือของภาคธุรกิจ ดังนั้นไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่มหาวิทยาลัยไทยจะไม่ถูกเทคโอเวอร์โดยเทมาเส็ก หรือประเทศอื่นๆ รัฐบาลอยากเห็นมหาวิทยาลัยไทยเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยในแคนาดา ที่บริษัทยาเข้ามาซื้อมหาวิทยาลัย แล้วบริษัทยาก็ควบคุมมหาวิทยาลัย ควบคุมวิชาที่เรียน ควบคุมหลักสูตรที่สอน ควบคุมการวิจัยให้สอดคล้องกับยาที่บริษัทยาผลิต รัฐบาลอยากให้การศึกษาเป็นเหมือนสินค้า ที่ต้องกำหนดวิธีเรียนวิธีสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของเอกชนหรือเป็นเครื่องมือของนายทุนอย่างนั้นหรือ?
รัฐบาลอยากให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพื่อให้อธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจ”เซ็งลี้”มหาวิทยาลัยอย่างไรก็ได้ ให้ใครเข้ามาซื้อเพื่อเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากสถาบันการศึกษาไปเป็นธุรกิจอื่นก็ได้ ให้ต่างชาติเข้ามาล้างคลังสมองมันสมองของไทยก็ได้อย่างนั้นหรือ?
ส่วนคำอ้างที่ว่า ควรออกนอกระบบเพื่อความคล่องตัวนั้น อ.เจริญ ก็อยากถามกลับว่า ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น การซื้อขายเรื่องพัสดุนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องรอบคอบรัดกุมในการอนุมัติเบิกจ่ายเงินภาษีของประชาชนที่นำมาซื้อหรือ? เราต้องออกนอกระบบ เพื่อที่อธิการบดีจะได้ร่วมมือกับนายกสภามหาวิทยาลัยเบิกจ่ายเงินถลุงเงินกันอย่างสนุกสนาน โดยไม่ต้องให้ใครมาควบคุมตรวจสอบ ถึงจะเรียกว่าความ "คล่องตัว”อย่างนั้นหรือ?