xs
xsm
sm
md
lg

พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ - 'มือฟอก' สองมาตรฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก้าวสู่ตำแหน่งชั่วคราวคือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อลดกระแสต้านจากการถูกดันขึ้นตำแหน่งใหญ่ปลัดกระทรวงยุติธรรม จนสุดท้ายมาลงตัวที่ ตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ สามารถสนองงานรับใช้ เพื่อนและนายชื่อที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้อย่างถึงพริกถึงขิง

หากใครยังจำได้ในสมัยแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทยกำลังสยายปีกเข้าปกคลุมทุกปริมณฑลของการเมือง-สังคมไทย ทาง ปปง. ได้ทำการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของสื่อมวลชนรวมถึงบุคคลต่างๆ ที่เป็น 'ปฏิปักษ์' กับรัฐบาลไทยรักไทยอย่างโจ๋งครึ่ม ...

ขณะนั้นผู้ที่ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง. ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้อโดยตรงกับการคุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปครั้งนั้น ก็คือนายตำรวจที่ชื่อ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ ผู้นี้นี่เอง

พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2492 ที่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ สมรสกับ จิตรา จิระวงศ์ บุญรอด มีบุตรด้วยกัน 2 คน เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนสันทรายหลวง โรงเรียนวรเชษฐ์อนุสรณ์ และโรงรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เป็นนักเรียน มงฟอร์ตรุ่น 07 ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนักเรียนรุ่น 08 แล้วมาเรียนต่อที่โรงยุพราชด้วยกันแต่คนละแผนก

เมื่อเรียนจบ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ทหารอากาศสหรัฐกองบิน 41 จ.เชียงใหม่ ต่อมาศึกษาต่อคณะสังคมศาสตร์ จ.เชียงใหม่ เมื่อเรียนจบจึงเข้าทำงานเป็นหัวหน้าหน่วยพัฒนาชาวเขาที่กรมประชาสงเคราะห์อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนสอบเข้ารับราชการที่กรมตำรวจปี 2515-2517เป็นผู้บังคับหมวด ตชด.ที่ 510 กก.ตชด. 5 เชียงใหม่ พร้อมเป็นพนักงานสอบสวนด้วย

ต่อมา พล.ต.ต.พีรพันธุ์ได้เข้ามาสังกัดอยู่กับกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ทำงานด้านการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจจนได้ตำแหน่ง รองผู้กำกับฯ สศก. บริหารงานปราบปรามการเงินการธนาคารและได้รับทุนกรมตำรวจแคนาดาไปศึกษาอบรมเรื่องอาชญากรรมเศรษฐกิจ ทำให้มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานตำรวจสากล โดยเป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายฟอกเงิน ก่อนจะขึ้นชั้นไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการปปง. คนที่ 2 ต่อจาก 'พี่หนา' พล.ต.ท.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งผู้อื้อฉาว

เมื่อขึ้นมาเป็นนายใหญ่ของ ปปง. เขาได้เดินหน้าตรวจสอบ "ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล" แม้แต่ผู้อาวุโสในวงการสื่อสารมวลชนยังถูกเรียกมาเช็คบัญชีอย่างละเอียดยิบ โดยอาชีพและพฤติกรรมของคนเหล่านั้นไม่ได้เข้าข่าย "7 มูลฐานความผิด" ของกฎหมายฟอกเงินแต่อย่างใด

ย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์กับ 'ระบอบทักษิณ' พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยวีรกรรมเมื่อครั้งเป็นเลขาฯ ปปง.นั้นถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องการดำเนินคดีกับสื่อ นักการเมือง และองค์กรเอกชนที่วิจารณ์รัฐบาลหลายครั้ง จนในที่สุดต้องพ้นจากตำแหน่งเลขาฯ ปปง.เนื่องจากมีข้อห้ามให้ดำรงตำแหน่งเลขาฯ ปปง.เกินกว่าหนึ่งสมัย จน พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องดึงมาเป็นที่ปรึกษานายกฯ และได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบ 'สัญญาไอทีวี' ย้อนหลังไปจนถึงปี 2537 โดยนายเนวินเคยกล่าวว่าเป็นสัญญาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้หลายฝ่ายคาดหมายว่าสัญญาอาจเป็นโมฆะไม่ต้องจ่ายค่าปรับหรือค่าสัมปทานตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

อนึ่ง พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ได้รับการเลื่อนยศในสมัยรัฐบาล “ทักษิณ 1” เป็นกรณีพิเศษ โดยอ้างว่าเป็นผู้ทำคุณให้กับประเทศชาติ จาก 'พันตำรวจเอก' เป็น 'พลตำรวจตรี' พร้อมๆ กับเลื่อนยศ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต. และอดีตเลขาฯ ปปง.ซึ่งเดิมมียศพลตำรวจโท พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้รับการเลื่อนยศจากพลตำรวจโท (เพื่อนร่วมรุ่นทักษิณ) และ พล.ต.อ.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ (เพื่อนร่วมรุ่นทักษิณ) อดีตเลขาฯป.ป.ช.จากเดิมมียศเป็นแค่ พล.ต.ต.เท่านั้น ซึ่งกรณีของ พล.ต.อ.วิเชียรโชติ ได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองพิพากษาจำคุกเนื่องจากออกระเบียบขอขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเองพร้อมกับคณะ ป.ป.ช.จนต้องพ้นจากตำแหน่งในที่สุด

หลังคำพิพากษาศาลปกครอง 9 พ.ค. 2549 ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ อันมีผลให้ไอทีวีต้องปรับผังรายการใหม่ และจะต้องจ่ายค่าปรับให้รัฐถึง 75,000 ล้านบาท รัฐบาลรักษาการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ขยับตัวเข้าคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางธุรกิจของชินคอร์ป ธุรกิจที่ครอบครัวชินวัตร-ดามาพงษ์ เพิ่งขายให้กับกองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์ทันควันโดยรัฐบาลทักษิณได้แต่งตั้งมือทำงานใกล้ชิดคือ นายรองพล เจริญพันธุ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขาธิการ ครม. แทนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณที่ลาออกไป และตั้งเพื่อนสนิท พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ให้ดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแทน โดยมีนายเนวิน ชิดชอบ รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับอยู่อีกต่อ

ณ เวลานั้นการตั้ง นายรองพล และ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ส่งให้เกิดข้อครหาในหมู่ประชาชน สื่อมวลชน และผู้ที่จับตามองกรณีไอทีวีอย่างใกล้ชิดขึ้นมาทันทีว่า การตั้งทั้งสองคนนี้ขึ้นมาก็เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จำเป็นต้องมี "บริการหลังการขาย" ให้กับกลุ่มทุนสิงคโปร์ที่เข้ามาเทคโอเวอร์บริษัทในเครือชินคอร์ปที่เคยเป็นของตนเองและครอบครัว

การแต่งตั้งบุคคลทั้งสอง แม้จะมีข้อครหาอย่างมากว่าตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อดำเนินปฏิบัติการ 'บริการหลังการขาย' ให้กับเทมาเส็ก ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายหลายฝ่ายท้วงติงมาว่า การแต่งตั้งครั้งนี้นั้นไม่ถูกต้องเพราะฝ่าผืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 ที่ระบุว่าการแต่งตั้งข้าราชการระดับ 11 เป็นเรื่องสำคัญ และต้องขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน ...

ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะถูกทำรัฐประหารยึดอำนาจ นอกจากภารกิจ 'อุ้มไอทีวี' แล้ว ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมือใหม่ผู้นี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดระเบียบสื่อมวลชนในทำเนียบหลังจากเกิดเหตุ 'คาร์บ๊อง' อีกด้วย

หลังคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 คืนที่ทักษิณหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ก็โดนคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ย้ายเข้ากรุ จากตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นักบริหาร 11 มาช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น