xs
xsm
sm
md
lg

“...ต้องฆ่าให้หมด” คำสั่ง “ทักษิณ” คืน 19 กันยาฯ

เผยแพร่:   โดย: "เซี่ยงเส้าหลง" และทีมข่าวการเมือง

พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ - พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ - นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
•• ขณะนี้มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งแพร่กระจายไปในหมู่ ทหาร มากเป็นพิเศษเพื่อให้ตระหนักถึง ความร้ายแรงของสถานการณ์เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่หวุดหวิดจะเกิด สงครามกลางเมือง เป็นคำพูดที่ถูกอ้างอิงว่ามาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทางโทรศัพท์ที่ นิวยอร์ก มาถึงคนบางคนที่กำลังร่วมบัญชาการอยู่ที่ บก.สูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ – กทม. คำพูดประโยคนี้ผู้ที่ได้ยินมี หลายคน เป็นคนในเครื่องแบบที่ติดตามไป อารักขา ในฐานะ หน้าที่ทางราชการ ที่เมื่อคนที่ต้องอารักขาหมดสถานภาพความเป็นผู้นำประเทศพวกเขาก็ เดินทางกลับ แล้วมาให้ปากคำอย่างไม่เป็นทางการกับ ต้นสังกัด จึงยืนยันได้แต่เพียงว่า พูดจริง แต่จะพูดกับใครทางปลายสาย พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์, พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ หรือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นั้น ไม่ทราบชัดเจน ทราบชัดเจนแต่เพียงว่าคำพูดประโยคนั้นก็คือ “...ต้องฆ่าให้หมด.” สถานการณ์ในขณะนั้นผู้พูด ไม่ได้คิดว่าตนเองแพ้ ยังคิดยังเชื่ออยู่ว่าจะ ชนะ และจะสามารถ บดขยี้ฝ่ายตรงข้ามที่เป็นหนามยอกอกมานานวันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สถานการณ์ในขณะนั้น ณ เวลาเมืองไทย 3 ทุ่มเศษๆ ต้องกล่าวตรงไปตรงมาว่า ฝ่ายรัฐบาลสามารถตั้ง บก.ได้ก่อน ที่ บก.สูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ ผู้ใหญ่ของทางฝ่ายรัฐบาลที่เข้าไปเป็นหลักคือ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ และ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ในขณะที่ผู้ใหญ่ทางทหารคือ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้ที่ขณะนั้นยังดำรงตำแหน่ง ผบ.ทหารสูงสุด ในภาษาทหาร ณ วันนี้คนที่อยู่ในนั้นถูกเรียกว่า ฝ่ายเหนือ เพื่อให้แยกออกมาชัดเจนกับฝ่ายรัฐประหารที่มาตั้งมั่นอยู่ที่ บก.ทบ. ถนนราชดำเนินนอก ที่ถูกเรียกว่า ฝ่ายใต้ สถานการณ์ในขณะนั้นตามแผนคือให้นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินข้ามโลก แล้ว ปลด ผบ.ทบ.-ตั้ง ผบ.สูงสุดให้มีอำนาจใช้กำลังทั้งหมดตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าจำเป็นจะต้อง นองเลือด ก็ให้ดำเนินการอย่างถึงที่สุด ไม่ต้องหลีกเลี่ยง ตามเข็มมุ่งที่สั่งการมา “...ต้องฆ่าให้หมด.” นั้น

•• บอกตามตรงว่า บก. ของ ฝ่ายเหนือ นั้นอยู่ในยุทธภูมิที่ดีทีเดียว ถนนแจ้งวัฒนะ มีทหารหลายหน่วยที่ขึ้นต่อ พล.ปตอ. ภายใต้การบัญชาการในขณะนั้นของ พล.ต.เรืองศักดิ์ ทองดี เพื่อนร่วมรุ่น ตท. 10 ที่เอาการเอางานกว่าเพื่อนคนอื่นๆ ในการสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เพียงแต่เท่านั้นใกล้ๆ กันยังเป็นที่ตั้งของ กระทรวงไอซีที ที่ถ้าหากตั้งหลักให้ดีๆ จะ คุมการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมได้หมด ย้อนหลังไปนาทีต่อนาที รถสายพานลำเลียงพล ที่เคลื่อนที่ใน เขตพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นชุดแรกไม่ได้เป็นของ ฝ่ายใต้ หากแต่เป็นของ ฝ่ายเหนือ ที่เคลื่อนเข้ามาคุ้มกัน บก.สูงสุด และคงไม่ต้องทบทวนความจำนะว่า ประกาศยึดอำนาจในทางปฏิบัติฉบับแรก ไม่ได้มาจาก ฝ่ายใต้ หากมาจาก ฝ่ายเหนือ ทาง ช่อง 9 เวลา 4 ทุ่มเศษๆ คืนนั้น

•• จุดเปลี่ยนของสถานการณ์อยู่ที่ การตัดสินใจขั้นสุดท้าย ของ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ที่พอรู้สถานการณ์ว่ากำลังมี ฝ่ายเหนือ VS ฝ่ายใต้ แล้วก็มีทั้ง เพื่อน และ ผู้ใหญ่ ติดต่อเข้ามา เตือนสติ โดยมีอยู่ 2 ประโยคหนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้ “...เฮ้ย ไอ้ต๋อย มึงกำลังจะทำอะไร คิดดูให้ดี.” และ “...ไอ้ต๋อย คิดดูให้ดีๆ นะว่าถ้านายเอ็งยังอยู่ ในสถานการณ์อย่างนี้ นายเอ็งจะตัดสินใจอย่างไร นายเอ็งจะเลือกใคร.” ทำให้ผู้ได้รับการติดต่อ ตั้งสติ แล้วย้อนนึกถึง นาย ที่ชื่อ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ว่าในสถานการณ์อย่างนี้ นายจ๊อด จะไม่ลังเลแม้แต่วินาทีเดียวที่จะ เลือกเป็นข้ารองบาทราชบัลลังก์ เมื่อ ได้สติ เช่นนี้แล้วท่านก็ เดินทางออกจาก บก.ฝ่ายเหนือทันที สถานการณ์ที่หวุดหวิดจะ ปะทะกันกลางเมือง ก็มีอัน ยุติลงโดยพื้นฐาน ณ นาทีนั้น

•• จึงไม่แปลกที่จะมี ข่าววงใน แพร่ออกมาทางหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ออกจะ โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง ที่ ไอ้ต๋อย คนนี้ ไม่สู้จริง จริงเท็จอย่างไร ฝาก ไอทีวี ช่วยไป ทำสกู๊ปสัมภาษณ์พิเศษ มาให้อีกทีเถอะ

•• พูดถึง ไอทีวี ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดว่า ทหาร เขาประทับใจมากที่บรรดา มืออาชีพ – ผู้บูชาความเป็นกลาง ทั้งหลายในช่องนี้ทำให้สถานีของตนเอง เป็นโทรทัศน์ช่องเดียวที่สัมภาษณ์พิเศษ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และปล่อยให้เผยแพร่ข้อความบางประโยคที่หากพิจารณาอย่างเคร่งครัดสักหน่อยจะพบว่า หวังสร้างรอยร้าวให้แก่กองทัพ เพราะไม่เพียงแต่จะบอกว่าตัวคุณหมอ รักษาประชาธิปไตยจนวินาทีสุดท้าย ยังบอกด้วยว่าคนที่อยู่ข้างในไม่เพียงแต่มี พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ แต่ยังมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ที่ปัจจุบันเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ด้วย

•• ในประโยค “...ต้องฆ่าให้หมด.” ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่ากินความหมายถึงใครบ้าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, สนธิ ลิ้มทองกุล, พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, มวลชนฝ่ายต่อต้าน หรือจะรวมถึง ปฏิบัติการเบ็ดเสร็จให้ปฏิญญาฟินแลนด์บรรลุภารกิจครบถ้วน รู้แต่เพียงว่า การถอยชั่วคราว ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นไม่ได้เกิดจาก ความยินยอมพร้อมใจ, การเสียสละเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง แต่เกิดจาก ความจำใจ, ความพ่ายแพ้ในวินาทีชิงอำนาจ แม้เมื่อถอยชั่วคราวไปแล้วก็ไม่ได้แสดงท่าที สำนึกผิด ดูจากจดหมายลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็แสดงให้เห็นว่าคนคนนี้ยัง หวังลึกๆ ว่าจะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะ เป็นไปไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลชุดใหม่จะ ทันการ, ทันเกม และ เก็บรับบทเรียนในอดีต ได้แค่ไหนอย่างไร

•• พูดกันตามตรงว่า สงครามแย่งชิงประชาชน ยังคง ดำรงอยู่ รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประสบความสำเร็จในการปลุก คนจน, รากแก้ว ให้ ตื่น ขึ้นมารับรู้ว่า พวกเขาสามารถได้ประโยชน์รูปธรรมจากนโยบายของรัฐ ถ้าอำนาจรัฐใหม่หลังรัฐประหาร ย้อนยุค กลับไปเป็นอำนาจรัฐของ ข้าแผ่นดิน, ข้าราชการประจำ-เทคโนแครต และ กลุ่มทุนเก่า โดยปราศจาก ภาคประชาชนที่ต่อต้านคัดค้านระบอบทักษิณ ในระยะยาวแล้วอีกสัก 6 เดือน ก็จะตกเป็น ฝ่ายตั้งรับ ควรเข้าใจว่า 1 ปีที่ผ่านมาถ้าปราศจาก ภาคประชาชน ที่ค่อยๆ เติบโตแกร่งกล้าขึ้นมาจากผู้ชม รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ไปสู่การชุมนุมของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็จะไม่มีรากฐานอันแน่นหนาให้ ฝ่ายใต้ ควรเข้าใจว่าในกระบวนการต่อสู้ครั้งนี้ ภาคประชาชน อีกจำนวนหนึ่ง วางเฉย เพราะไม่เห็นด้วยกับ แนวทางรัฐบาลพระราชทาน, แนวทางมาตรา 7 เนื่องจากเห็นว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ การแย่งอำนาจกันเองของชนชั้นนำ, การต่อสู้ระหว่างทุน 2 กลุ่ม อำนาจรัฐใหม่วันนี้แต่โดยตัวอักษรจะไม่มีคำว่า รัฐบาลพระราชทาน, มาตรา 7 แต่ในทางความเชื่อและความรับรู้ของคนทั่วไป เห็นไม่แตกต่างกัน หากจะบริหารจัดการประเทศกันเองโดยเลือกสรรแต่เฉพาะจากหมู่ ข้าแผ่นดิน, ข้าราชการประจำ-เทคโนแครต และ กลุ่มทุนเก่า ก็จะเป็นการเดินออกห่างจากแนวทางที่ พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเรียกขานว่า ราชประชาสมาสัย แปลว่า พระราชากับประชาชนต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากภาคประชาชนและชนชั้นนำกลุ่มที่ยืนหยัดมากับ การต่อต้านคัดค้านระบอบทักษิณ มีอันถูก กันออกนอกวงอำนาจ เพียงเพราะตีความกันอย่าง หยาบๆ ในคำว่า สมานฉันท์ อีกหน่อยเวลาเผชิญหน้ากับ ระบอบทักษิณยุคใหม่ ภาคประชาชนและชนชั้นกลุ่มที่ยืนหยัดต่อสู้มามากกว่า 1 ปีจน บาดเจ็บเลือดโทรมกาย ก็คง อ่อนล้า เกินกว่าที่จะ อาสาสู้ศึก อีกครั้ง “เซี่ยงเส้าหลง” ขอเขียนเรื่องนี้เป็น ครั้งสุดท้าย ไม่ฟังก็ไม่เป็นไร

•• แก้ข่าวมาจาก บรรเจิด สิงคะเนติ ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็น คนเขียนประกาศคณะปฏิรูปฯฉบับที่ 27-31 หรือเข้าไปเป็น ทีมกฎหมายทีมที่ 3 แต่เข้าไปที่ บก.ทบ. เพื่อ ให้ข้อเสนอแนะ เรื่อง วิธีการร่างรัฐธรรมนูญ เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น