xs
xsm
sm
md
lg

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ - นักสร้างภาพแห่ง 'ระบอบทักษิณ'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวลาประมาณ 22.20 น. ของคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี อ่านแถลงการณ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เพื่อการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชิงตัดภาพและเสียงไปก่อน ......

ค่ำคืนของวันชี้เป็นชี้ตาย มีเพียง 'โทรทัศน์โมเดิร์นไนน์' ที่อยู่ในความควบคุมของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผอ.อสมท เท่านั้นที่หาญกล้าพอที่จะเผยแพร่เสียงโฟนอินจากสหรัฐอเมริกาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินปลด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ขณะที่ฟรีทีวีที่เหลืออีก 5 ช่องต่างปฏิเสธคำสั่งถ่ายทอดเสียงดังกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ กันหมด แม้แต่ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และไอทีวีของชินคอร์ปก็ยังปฏิเสธ!
มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผอ.อสมทในยุคทักษิณ (ภาพจากนิตยสารผู้จัดการ)
มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นใคร? เหตุใดอดีตนักประชาสัมพันธ์-การตลาด ที่มีวาสนาก้าวขึ้นถึงตำแหน่ง ผอ.อสมท จึงกล้าร่วมหัวจมท้ายกับ 'ระบอบทักษิณ' จนกระทั่งวาระสุดท้าย?

มิ่งขวัญ เป็นศิษย์เก่าจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกในแผนกการตลาดที่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส ประเทศไทย ก่อนที่จะย้ายไปดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ เขาได้ฉายแววแห่งการเป็นนักสร้างภาพชั้นเซียนให้ผู้บริหารบริษัทโตโยต้าได้ประจักษ์ จนกระทั่งผู้บริหารญี่ปุ่นของโตโยต้าปูนบำเหน็จตำแหน่งให้เขากระโดดจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายไปเป็นกรรมการบริหารโดยไม่ต้องเป็นกรรมการสมทบก่อน

สำหรับบุคลิกส่วนตัวนั้น มิ่งขวัญเป็นคนที่มีความอ่อนโยนสูง ในวัย 50 ปีที่ยังเป็นโสดของเขา พิถีพิถันเรื่องการแต่งกายเป็นพิเศษจนทำให้หลายคนเรียกขานเขาว่า 'พี่มิ่ง' หรือ 'เจ๊มิ่ง'!

ส่วนตัวมิ่งขวัญเองก็เชื่อว่า นี่คือการลงทุนอย่างหนึ่งของเขา กับอาชีพที่ต้องพบปะผู้คน รสนิยมการเลือกเสื้อผ้าเป็นเรื่องจำเป็น สีของชุดสูทที่ต้องเข้ากันได้กับสีของรองเท้า เข็มขัด ไม่น่าแปลกที่เขาจะมีเนกไทอยู่มากมาย ผูก 6 เดือนได้ไม่ซ้ำกัน

ด้วย 'รสนิยมส่วนตัว' เช่นนี้นี่เองที่ทำให้ นอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่ในบริษัทโตโยต้าแล้ว มิ่งขวัญยังมีธุรกิจส่วนตัวอีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถบรรทุกรับจ้างขนหินดินทรายขายให้กับหมู่บ้านจัดสรร การทำธุรกิจขายเพชรรัสเซียซึ่งทำรายได้ให้เขามากกว่างานประจำ แต่ธุรกิจที่เข้ากันได้ดีกับความเป็นนักประชาสัมพันธ์ และตัวตนของมิ่งขวัญก็คือ ธุรกิจปั้นดาราที่ทำมา 20 กว่าปีแล้ว

ทั้งนี้ดาราชายไทยชื่อก้องทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น วิลลี่ แมคอินทอช (รวมถึงน้องสาวคัทลียา แมคอินทอช), จอห์นนี่ แอน โฟเน่, ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, วรุฒ วรธรรม, ดอม เหตระกูล, ปีเตอร์ คอร์ปไดเรนดอล เป็นต้น ต่างก็เคยผ่าน "การปั้น" ของมิ่งขวัญมาแล้วทั้งนั้น!

"ในเมื่อผมขายรถยนต์ได้ตั้งเยอะแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผมจะมาขายคน เพราะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ สบู่ ยาสีฟัน หรือคน ก็มีวิธีคิดของการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่แตกต่างกัน เป็นงานอดิเรกที่ทำเงินให้ผมมาก ดารารู้จักเกือบทุกคน ผมเคยนั่งดูโทรทัศน์ กดรีโมตไปดาราที่ผมปั้นขึ้นมา เล่นชนกับเกือบทุกช่อง" มิ่งขวัญเคยเปิดเผยถึงที่มาของการขยับจากการสร้างภาพพจน์รถยนต์มาเป็น "คน"

ธุรกิจปั้นดารานอกจากจะสร้างความมั่งคั่งให้กับมิ่งขวัญแล้วก็ยังทำให้เขาเป็นเจ้าของฉายา Image maker และกลายเป็นเจ้าของผับย่านสะพานควายชื่อ 'ท็อกซิก' ที่โด่งดัง มากๆ ของวัยรุ่นขาโจ๋เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยผับดังแห่งนั้นมีผู้บริหารก็คือ โก้-นฤเบศร์ จินปิ่นเพ็ชร์ ดาวรุ่งสดซิงในยุคนั้นและอดีตคนใกล้ตัวของมิ่งขวัญ

ในเวลาต่อมา ผลงานที่ทำให้ชื่อ 'มิ่งขวัญ' เป็นที่รู้จักในระดับกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ การเข้าไปช่วยงานนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในปี 2545) ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว ด้วยแคมเปญประชาสัมพันธ์สร้างภาพที่ถนัด งานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ เทศกาลตรุษจีนที่เยาวราช เทศกาลดนตรีที่พัทยา เป็นต้น โดยงานนี้นับก้าวสำคัญของการขยับเข้าสู่การบริหารองค์กรในระดับรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ วิทยุ อันมีความหมายมากกว่าการเป็นนักการตลาด และประชาสัมพันธ์เหมือนที่แล้วมา

สำหรับแคมเปญประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่นายมิ่งขวัญเป็นที่ปรึกษาในปีนั้น (2545) ว่ากันว่าใช้ผลาญงบประมาณ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่นั้นไปตกอยู่กับผู้จัดงานที่เป็นภาคเอกชนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, บริษัทมีเดียมิกซ์ในเครือมีเดียออฟมีเดีย, บริษัทเจเอสแอล เป็นต้น ผลาญงบประมาณไปมากจนกระทั่งนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กทม.ต้องนำประเด็นนี้ไปตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภา (อ่านข่าว : จับตารัฐฯ ทุ่มร้อยล้านเนรมิตร 'งานช้าง' งานนี้...อ้อยเข้าปากใคร? โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 เมษายน 2545)

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2545 หลังจากนายสรจักร เกษมสุวรรณ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อสมท คณะกรรมการสรรหา ผอ.อสมท ที่นายวิษณุ เครืองาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นประธานจึงได้เสนอชื่อ "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ" ให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.อสมท คนใหม่แทนโดยระบุว่าจุดเด่นของมิ่งขวัญ คือมีประสบการณ์การบริหารองค์กรขนาดใหญ่มาก่อน และชำนาญด้านการประชาสัมพันธ์

หลังได้รับเลือกเข้ามาบริหาร อสมท ภารกิจแรกของมิ่งขวัญที่รับรู้กัน นอกเหนือจากเปลี่ยนโลโก้เป็น 'สีม่วง' และปฏิวัติผังรายการใหม่ ก็คือ การนำ อสมท เข้าตลาดหลักทรัพย์ และแม้จะมีเสียงต้านอยู่บ้างจากพนักงานในขณะนั้นแต่ก็นับว่าแผ่วเบาเหลือเกิน

มิ่งขวัญใช้ลีลานักประชาสัมพันธ์กล่อมพนักงานส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยและหันมาร่วมมือร่วมใจกับเขาได้ไม่ยาก เขานำประสบการณ์จากภาคเอกชนมาเปลี่ยนแปรภาพลักษณ์ อสมท ที่เป็นรัฐวิสาหกิจให้พ้นจากสภาพแดนสนธยา เขาเปลี่ยนแปลงทัศนคติความคิดของคนทำงานเสียใหม่ โดยช่วงแรกที่เข้าทำงานเขาพูดกับพนักงานด้วยคำปลุกเร้าเชิงข่มขู่ว่า ถ้าทุกคนไม่ปรับตัว ถึงเวลาที่ กสช. มาเอาคืนไปหมด ถ้าไม่ทำอะไรเลยพนักงานเกินครึ่งจากพันคนเศษ อาจจะต้องถูกเลย์ออฟ พร้อมกับการให้ความหวังว่าจะทำให้พนักงานได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

...... ซึ่งนั่นก็คือการเสนอผลประโยชน์เพื่อปิดปากพนักงาน อสมท (แถมตัวเองก็ยังได้รับการจัดสรรหุ้น อสมท ด้วยอีกต่างหาก)

นอกจากเรื่องภาพลักษณ์แล้ว การทำธุรกิจให้ได้กำไรไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร เพราะ อสมท มีรายได้จากการเก็บค่าต๋งต่างๆ ชนิดเสือนอนกินอยู่ก่อนแล้ว นอกเหนือจากช่องโมเดิร์นไนน์ ไม่ว่าจะเป็นค่าสัมปทานและรายได้จากช่อง 3 เคเบิ้ลเช่น ยูบีซี และอื่นๆ รวมทั้งจากสถานีวิทยุทั่วประเทศกว่า 60 คลื่น

ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 อสมท มีรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์ 581 ล้านบาท จากธุรกิจวิทยุ 177 ล้านบาท และมีรายได้จากค่าสัมปทานยูบีซีและช่อง 3 รวม 167 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแม้ตัวเลขจากรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์จะสูงแต่ในยุคมิ่งขวัญก็มีรายจ่ายที่สูงตามมาด้วย กำไรในไตรมาสนี้จึงมีเพียง 316 ล้านบาท

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ารายได้จากวิทยุซึ่งส่วนใหญ่เก็บค่าเช่า กับรายได้จากค่าต๋งยูบีซีและช่อง 3 รวมกันก็เท่ากับ 344 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ก็เท่ากับว่ารายได้จากส่วนนี้ยังถูกชักเนื้อเข้าไปเป็นรายจ่ายเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นคำตอบอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าช่อง 9 ภายใต้การบริหารของมิ่งขวัญประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจหรือไม่

แล้วลองนึกถึงวันที่เกิด กสช. ตามมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีรายได้จากวิทยุ และค่าต๋ง ช่อง 9 จะมีสภาพเป็นอย่างไร!?!

สิ่งที่มิ่งขวัญทำและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้มาตรการการตลาดเข้ามากระตุ้นอาทิเช่น การปรับผังรายการต่างๆในช่อง 9 ซึ่งสามารถเรียกเสียงฮือฮาได้เป็นระยะๆ ซึ่งพูดกันตามความเป็นจริงก็คือ หลายรายการของ อสมท ยุคมิ่งขวัญดีขึ้นกว่าในยุคแดนสนธยา อีกด้านหนึ่งการพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทมหาชนก็เป็นตัวช่วยให้มิ่งขวัญหรือใครก็ตามที่เข้ามาเป็นผู้บริหารสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น มีความคล่องตัวในการจัดการและดำเนินงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลงานด้านการตลาดและการสร้างภาพที่แปรเปลี่ยนออกมาเป็นผลกำไรของ บริษัท อสมท ดังกล่าวของ 'เจ๊มิ่ง' ก็มิอาจกลบบาปหนักที่พวกเขาได้ทำกับวงการสื่อสารมวลชนของประเทศไทยได้เลย ดังเช่นที่ เซี่ยงเส้าหลง คอลัมนิสต์ชื่อดังของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเคยกล่าวไว้ว่า สิ่งที่มิ่งขวัญทำนั้นเป็นบาปหนักระดับอนันตริยกรรมนั่นเลยเชียว (อ่าน : หลังปิดบัญชีทักษิณ ต้องเช็คบิลเจ๊มิ่งและไอทีวี ! โดย เซี่ยงเส้าหลง 7 ก.พ. 2549)

บาปหนักอย่างไร?

ประการแรก อสมท ในยุคเจ๊มิ่งได้แปรสภาพตัวเองจาก "สื่อสารมวลชน" ที่ยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ของประชาชนเป็นหลักมาเป็น "สื่อทุน" ที่มีจุดมุ่งหมายของการทำกำไรเป็นหลัก สนับสนุน 'ลัทธิบริโภคนิยม' ที่แฝงตัวมากับระบอบทักษิณอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ประการที่สอง เจ๊มิ่งได้แปร อสมท ให้กลายเป็นสื่อโทรทัศน์ที่บิดเบือนความจริง โดยกรณีที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดก็คือ การบิดเบือนการรายงานข่าวการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มประชาชนเรือนแสน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 4-5 ก.พ. ที่ตลอดคืนวันที่ 4 ก.พ. มิ่งขวัญได้เข้ามาบัญชาการการทำข่าวใน อสมท ด้วยตนเอง โดยมีข้อกำหนดว่า ห้ามนักข่าวทำข่าวมากเกินไป และห้ามนักข่าวรายงานสดจากสถานที่ (คือข่าวทุกข่าวที่รายงานเกี่ยวกับการชุมนุมต้องผ่านการเซนเซอร์ก่อน)!

ประการที่สาม เจ๊มิ่งได้แปรสภาพ อสมท ให้กลายเป็นสื่อมวลชนที่ยอมศิโรราบอย่างสิ้นเชิงให้กับ “ทุน” ที่เข้าครอบครองอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยผลงานที่เห็นได้ชัดก็คือ การปลดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ฯ หลังจากที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล พิธีกรวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลทักษิณอย่างตรงไปตรงมา ...... รวมไปถึงกรณีล่าสุดคือ เป็นโทรทัศน์ช่องเดียวที่ยอมเผยแพร่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของ พ.ต.ท.ทักษิณ

ไม่น่าแปลกใจหากมีใครบอกว่า รายได้ของ ผอ.อสมท ผู้ที่ยอมรับใช้นักการเมืองสุดจิตสุดใจขนาดนี้จะอยู่ในขั้นเหยียบล้านบาทต่อเดือน (ไม่รวมกับเงินปันผลจากหุ้นที่ได้รับในการนำ อสมท เข้าตลาดหลักทรัพย์)

หลังปฏิบัติการ "ช่วย" ทักษิณปฏิวัติในคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 ล้มเหลว "เจ๊มิ่ง" และสมุนระบอบทักษิณที่อยู่ในบอร์ดอสมท ต่างก็รู้ตัวดีว่าอนาคตคงจะถูกเช็กบิลเป็นแน่แท้ จริงรีบขายหุ้น อสมท ทิ้ง (ข่าวเชิงลึกรายงานว่างานนี้เจ๊มิ่งและพวกคว้าเงินสดใส่กระเป๋าไปเกือบ 20 ล้านบาท) จากนั้นในวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมาจึงชิงยื่นใบลาออกก่อนที่จะโดนไล่ออก

..... ที่น่าแปลกใจก็คือ ยังมีพนักงาน/คน อสมท บางส่วนที่ยังอาลัยอาวรณ์กับ "นักสร้างภาพแห่งระบอบทักษิณ" ผู้นี้อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น