"ก็ลองดู ผมก็รออยู่เหมือนกัน ผมอยู่ในกฎหมาย ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็ต้องว่าไปตามนั้น ผมไม่สนใจว่าจะเป็นใคร เพราะผมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผมว่าคนดีต้องให้คนอื่นเป็นคนพูดชื่นชมว่าเขาเป็นคนดี ไม่ใช่ให้ตัวเองพูดว่าตัวเองเป็นคนดี แบบนี้ผมว่าคนนั้นน่าจะไม่ใช่คนดี" – พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว 24 ก.พ. 2549
ปลายปี 2548 ขณะที่กระแสการเปิดโปงการทุจริตของรัฐบาลและคนรอบกายทักษิณ กำลังร้อนระอุ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 4 ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนทุกระดับ ที่ บก.ภ.อุดรธานี โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับหัวหน้าสถานีของสถานีตำรวจใน 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบน อันประกอบด้วย สภ.อ., กิ่ง สภ.อ. และ สภ.ต. ทั้งหมดรวม 234 โรงพัก รวบรวบแผ่นวีซีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และรวบรวมสำนวนแจ้งความฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ฯ มาวิเคราะห์ และเตรียมฟ้องร่วมกันในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีหมิ่นประมาทบุคคลอื่นๆ
“ผมยังได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดไปยังสถานีตำรวจทั้ง 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบน เพื่อให้หัวหน้าสถานีรวบรวมแผ่นวีซีดีหลักฐาน และรวบรวมสำนวนแจ้งความฟ้องนายสนธิในแต่ละพื้นที่มาวิเคราะห์ และเตรียมฟ้องร้องร่วมกัน เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างสูง ....” พล.ต.ท.สถาพรกล่าวในวันนั้น
ถามว่า คำสั่งให้หัวหน้าสถานีตำรวจ 11 จังหวัด 234 โรงพักทั่วภาคอีสานเดินหน้าฟ้องร้อง นายสนธิ ของ ผบช.ภ.4 ในวันนั้นถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือ ทั้งๆ ที่ การแจ้งความดำเนินคดีนั้นมีระเบียบหลักเกณฑ์ปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่ว่า หากเป็นคดีเดียวกันก็ควรที่จะแจ้งความสถานที่เดียว ไม่สมควรไปแจ้งความให้เกิดคดีครอบคลุมไปทั่วประเทศอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้ถูกแจ้งความ?
แล้วก็ต้องถามต่อไปด้วยว่า การกระทำครั้งนี้ของ ผบช.ภ.4 เป็นไปเพื่อปกป้องพระเกียรติ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือเป็นไปเพื่อปกป้องผู้ยิ่งใหญ่คนใดคนหนึ่งกันแน่?
หากพลิกประวัติของคนที่ชื่อ สถาพร ดวงแก้ว ดูก็คงจะหาคำตอบได้ไม่ยาก!
ปี พ.ศ.2516 พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยเป็น นรต.รุ่นที่ 26 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากนั้นจึงไปจบปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
ในชีวิตราชการเคยรับราชการตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ปี 2520 หัวหน้าแผนก 2 กองกำกับการ 4 (กก.4) กองบังคับการอำนวยการ (บก.อ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บก.ตชด.) ปี 2528-2529 ผู้กำกับการ 4 บก.อ.บก.ตชด. ปี 2532 ผกก.ตชด.13 ปี 2534 รอง ผบก.ตชด.ภ.1 ปี 2538 รอง ผบก. กองบังคับการพลาธิการ ปี 2541 ผบก.กองบังคับการงบประมาณ ปี 2542 ผช.ผบช.สำนักงานงบประมาณและการเงิน ปี 2544 ผช.ผบช.สำนักงานส่งกำลังบำรุง ปี 2545 รอง ผบช.สำนักงานส่งกำลังบำรุง
ที่น่าสังเกตก็คือ หลังจาก พล.ต.ท.สถาพร ได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ในเดือนเมษายน 2548 ปลายปีเดียวกันนั้นเขาก็ก้าวกระโดดขึ้นเป็นผู้บัญชาการ ภาค 4 แทน พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ที่ย้ายไปเป็นผู้ช่วยบัญชาการตำรวจแห่งชาติ และทำหน้าที่โฆษกกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติทันที
พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้วนับเป็นนายพลร่วมรุ่น 'ทักษิณ' คนที่สอง ต่อจาก พล.ท.พฤณท์ สุวรรณทัต ผบ.พล 1 รอ. ที่พยายามออกมา "เชลียร์นาย-เอาใจเพื่อน" ตบเท้าออกมาข่มขู่นายสนธิ
นอกจากจะดำเนินการสั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจใน 11 จังหวัดในภาคอีสานตอนบน ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตนเองให้เดินหน้าฟ้องนายสนธิแล้ว ในช่วงที่ขบวนการอีสานกู้ชาติและเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูภาคอีสานที่คัดค้านการถ่ายโอนการศึกษาไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร นัดพิเศษที่จังหวัดขอนแก่น ณ บึงแก่นนคร เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2549 ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สถาพร ก็ยังแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยการสั่งให้นายตำรวจลูกน้องของตนดำเนินการขัดขวางและก่อกวนรายการดังกล่าวทุกวิถีทาง
ช่วงเช้าวันที่ 27 ม.ค. ระหว่างทีมงานของเครือข่ายครูฯ กำลังจัดเตรียมเวทีและการจัดตั้งเครื่องเสียงปราศรัย ของกลุ่มครูที่คัดค้านการถ่ายโอนสถานศึกษา พล.ต.ต.ไพฑูรย์ เชิดมณี ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น พ.ต.อ.ฉลอง ภาคย์ภิญโญ รอง ผบก.(ปป.2) พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น ได้นํากําลังเจ้าหน้าที่ตํารวจกว่า 50 นาย เข้าข่มขู่คุกคามต่อเจ้าหน้าที่ผู้ติดตั้งเครื่องเสียง เพื่อไม่ให้มีการตั้งเครื่องเสียง จนสร้างความหวาดกลัวให้แก่เจ้าหน้าที่เหล่านั้น ที่มีอยู่เพียง 5-6 คน และกําลังดําเนินการติดตั้งเครื่องเสียงอยู่จนต้องเตลิดหนีไป จากนั้นตำรวจก็ดำเนินการรื้อถอนเวทีและเครื่องเสียงเพื่อไม่ให้การจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจรฯ ที่จะจัดขึ้นในช่วงเย็นวันเดียวกันสามารถดำเนินไปได้
ต่อมา ในช่วงเย็นหลังจากที่ทางคณะผู้จัดงานแก้ไขปัญหาด้วยการจัดหาเครื่องเสียงและเครื่องปั่นไฟมาจาก จังหวัดใกล้เคียง (เนื่องจากบริษัทให้เช่าเครื่องเสียงใน จ.ขอนแก่นต่างเกรงกลัวอิทธิพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจกันหมด) ระหว่างที่ นายอวยชัย วะทา ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการคัดค้านการถ่ายโอนสถานศึกษากำลังปราศรัยอยู่บนเวที พล.ต.ท.สถาพร พร้อมตำรวจติดตามหลายนายก็ได้บุกขึ้นไปบนเวทีแล้วแย่งไมโครโฟนจากนายอวยชัย พร้อมกับกล่าววาจาข่มขู่ คุกคามนายอวยชัยว่า
“คุณรู้มั้ย คุณกำลังพูดกับใคร ... คุณกำลังพูดกับผมอยู่ ... เดี๋ยวเจอดีแน่”
คำพูดดังกล่าวและการปรากฏตัวบนเวทีด้วยท่าทีอันโอหังของนักเลงในคราบสีกากี ทำให้ถูกกลุ่มผู้เข้าร่วมฟังการปราศรัยนับพันคนที่ทนต่อพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้ต้องตะโกนโห่ไล่ พล.ต.ท.สถาพร เป็นเวลาประมาณ 5 นาที ก่อนที่เขาจะจำใจเดินลงจากเวทีด้วยใบหน้าสีเจื่อน
หลังเหตุการณ์วันที่ 27 ม.ค. ที่ขอนแก่น ทางขบวนการอีสานกู้ชาติก็ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.เพื่อให้เร่งสอบเอาผิดทางวินัยกับ พล.ต.ท.สถาพร และพวกอีก 3 นาย แต่ทาง ผบ.ตร. ก็ไม่เคยมีการดำเนินการกับ ผบช.ภ.4 เพื่อนนายกฯ ผู้นี้เลย
กระทั่ง การปฏิรูปยึดอำนาจจาก พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประสบความสำเร็จในคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินได้ทำการแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในการโยกย้ายตำรวจ โดย พล.ต.อ.โกวิท ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
ในการประชุม ก.ตร.เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ก.ตร.ได้มีมติโยกย้าย พล.ต.ท.สถาพร ดวงแก้ว ผบช.ภ.4.เข้ากรุไปเป็น ผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา (ผบช.ศ.) โดยมี พล.ต.ท.ศุภวุฒิ สังข์อ่อง ผบช.ศ. นรต.รุ่น 22 ย้ายมาดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.4 แทน