xs
xsm
sm
md
lg

คณาจารย์ มทส.แถลงหนุนคณะปฏิรูปฯโค่น"ระบอบแม้ว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยสังคม ม.เทคโนโลยีสุรนารี ออกแถลงการณ์สนับสนุนการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีข้อความดังนี้


แถลงการณ์ของกลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยสังคมจาก ม.เทคโนโลยีสุรนารี
ต่อการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข



สืบเนื่องจากการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กุล่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยสังคมจาก ม.เทคโนโลยีสุรนารี ใคร่ขอแถลงการณ์ดังนี้

1. ในช่วง พ.ศ. 2548-2549 ที่ผ่านมา กลุ่มฯได้ศึกษาติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ในระหว่างนั้นได้ออกแถลงการณ์ 3 ฉบับ และ จดหมายเปิดผนึก 2 ฉบับ เพื่อคัดค้านประเด็นต่างๆในการบริหารประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของ ดร. ทักษิณ ดังประจักษ์แล้วในระบบสื่อสารมวลชนอันหลากหลาย

2. กลุ่มฯ เชื่อว่าคณะปฏิรูปฯ กระทำการครั้งนี้เพื่อหาทางออกให้กับประเทศที่กำลังถึงทางตันในวิถีทางประชาธิปไตย โดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยมิได้มีประโยชน์ตนแอบแฝงแต่ประการใด ซึ่งถึงแม้จะเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ควรได้รับการอภัยหรืออาจถึงกลับได้รับการสรรเสริญ อุปมาดังการละเมิดกฎหมายที่ห้ามบุกรุกในเคหะสถานของผู้อื่นด้วยการเสี่ยงชีวิตบุกรุกเข้าไปดับเพลิงที่กำลังโหมไหม้บ้านหลังนั้นอยู่

3. กลุ่มฯ เชื่อว่าการยึดอำนาจครั้งนี้ไม่ใช่การทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการทำลายระบอบทุนนิยมเผด็จการเบ็ดเสร็จในคราบประชาธิปไตยที่บริหารประเทศโดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากวิญญูชน ส่อเค้าว่ามีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางและรุนแรงโดยเฉพาะในระดับรากหญ้า สั่งฆ่าตัดตอนประชาชนผู้(ที่ยังถือว่า)บริสุทธิ์ไปเกือบ 3 พันราย และมีเบาะแสว่าอุ้มฆ่าประชาชนอีกมากต่อมาก จนเกิดเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่งในการปะทุของเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้

4. กลุ่มฯ เชื่อว่าหากคณะปฏิรูปฯ ไม่ก่อการในครั้งนี้รัฐบาลชุดก่อนจะอ้างกติกาประชาธิปไตยที่ได้มาโดยระบบธุรกิจการเมืองเพื่อกุมอำนาจบริหารประเทศต่อไปอีกยาวนาน ซึ่งเชื่อได้ว่าจะนำพาประเทศไทยไปสู่ภยันตรายอันใหญ่หลวงในไม่ช้า

5. ประชาชนทั้งประเทศคาดหวังกับการทำงานปฏิรูปของคณะปฏิรูปฯมาก กลุ่มฯจึงใคร่ขอวิงวอนให้คณะปฏิรูปฯ ดำเนินการทางการเมืองด้วยความสุจริต อย่าทำให้ประชาชนต้องผิดหวัง การสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญๆนั้น ใคร่ขอให้มีการสรรหาอย่างกว้างขวาง ด้วยความรอบคอบเป็นที่สุด ไม่เล่นพรรคเล่นพวกให้เป็นที่ครหาของประชาชน จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี สำหรับบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นควรเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรมโดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยในหลากหลายมิติ ไม่ควรเป็นผู้ทรงความรู้ในเพียงบางมิติเท่านั้น

6. ใคร่ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมพิเศษเพื่อชำระคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับกรณีปัญหาภาคใต้ (เช่นคดีอุ้มฆ่าทนายสมชาย กรือเซะ ตากใบ และคดีอุ้มฆ่ารายย่อยอื่นๆ) ซึ่งนอกจากจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อคณะปฏิรูปฯแล้ว ยังจะเป็นการผ่อนคลายระดับปัญหาของภาคใต้ลงอีกด้วย

7. ใคร่ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อชำระกฎหมายอันมิชอบ ตลอดจนระเบียบข้อบังคับและข้อตกลงต่างๆที่ได้ประกาศใช้ในช่วงรัฐบาลทักษิณ หากพบกฎหมายใดมิชอบด้วยขั้นตอน เอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม ทำให้เสียผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ ก็อาจดำเนินการเพื่อให้เป็นโมฆะ เช่น ข้อตกลง FTA ที่กระทำกับต่างประเทศ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะไม่ผ่านรัฐสภา และยังเป็นข้อตกลงที่ดูเหมือนว่าเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนการเมือง ในขณะที่ส่งผลร้ายต่อเกษตรกรไทยจำนวนมาก หรือเช่น กฎหมายเพื่อแปรรูป ปตท. เป็นต้น กฎหมายที่มิชอบหลายฉบับต้องรีบชำระเพื่อบรรเทาความเสียหายต่อประเทศชาติ หากรอใช้กระบวนการยุติธรรมปกติจะเนิ่นนานมาก

8. ใคร่ขอวิงวอนให้คณะปฏิรูปฯได้เร่งดำเนินการให้มีการปฏิรูปการปกครองอย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกให้นำไปสู่การได้คนเก่งคนดีเข้ามาบริหารประเทศ (สมดังดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ขจัดการซื้อเสียงเลือกตั้งและการถอนทุนทางการเมืองให้ได้ ซึ่งควรเป็นระบบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย และลักษณะนิสัยของคนไทย โดยไม่จำเป็นต้องลอกเลียนระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเสมอไป พร้อมนี้กลุ่มใคร่ขอเสนอรูปแบบประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่งมาเพื่อโปรดพิจารณา ดังในบทความที่แนบมาข้างท้ายนี้

9. แม้จะมีแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศให้คณะปฏิรูปฯคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว แต่สังเกตว่าเสียงวิจารณ์จากต่างประเทศนั้นมาจากประเทศที่ได้รับหรือกำลังจะได้รับประโยชน์จากระบอบทักษิณ เช่น ข้อตกลง FTA ซึ่งดูเหมือนว่าทำให้ประเทศเหล่านั้นได้เปรียบเรามาก แต่จากการสำรวจหยั่งเสียงประชาชน(โพล)โดยสถาบันอิสระที่น่าเชื่อถือในความเป็นกลาง ประจักษ์ชัดว่าประชาชนกว่า 80% เห็นชอบกับการยึดอำนาจครั้งนี้ จึงถือได้ระดับหนึ่งว่าเป็นระบบประชาธิปไตยโดยเสียงข้างมากแล้ว กลุ่มฯใคร่ขอเสนอคณะปฏิรูปฯใช้เวลาที่เหมาะสมในการปฏิรูปการเมือง อย่ายอมตามแรงกดดันมากเกินไปจนเสียการณ์ เพราะถึงอย่างไรเหตุการณ์ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ควรใช้โอกาสที่ได้มาแสนยากนี้ทำการปฏิรูปการเมืองอย่างพิถีพิถันที่สุด (ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร) เพื่อให้เป็นฐานรากสำคัญในการนำพาประเทศอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคนไปสู่ความเป็นอารยะในความหมายที่สมบูรณ์ที่สุดให้จงได้ แต่หากเร่งรีบจนเกินไปก็อาจไม่ได้รัฐธรรมนูญที่ดีพอ มีช่องโหว่มาก ไม่สามารถขจัดธุรกิจการเมืองได้ ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้อีกในอนาคตอันใกล้

โดยสรุปกลุ่มฯสนับสนุนคณะปฏิรูปฯ และขอวิงวอนให้ดำเนินการต่างๆเพื่อบรรเทาปัญหาที่ได้ก่อไว้โดยรัฐบาลชุดก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดระบบประชาธิปไตยที่สามารถขจัดธุรกิจการเมืองออกไปให้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบตามอย่างตะวันตก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการร่าง ประชาพิจารณ์ ปรับแก้ มากกว่าที่หลายฝ่ายกำลังเรียกร้อง

แถลงการณ์มา ณ วันที่ ๒๑ กันยายน พศ. ๒๕๔๙
ลงนาม
กลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยสังคมจาก ม. เทคโนโลยีสุรนารี
รศ.ดร. ทวิช จิตรสมบูรณ์, ผศ.ดร.ตริตาภรณ์ ชูศรี, รศ.ดร. กนกอร อินทราพิเชฐ, ผศ.ดร. รังสรรค์ วงศ์สรรค์, รศ.ดร. วิจิตร รัตนพานี, ศ.ดร. ไพศาล เหล่าสุวรรณ, อ.ดร. ธีระสุต สุขกำเนิด, ผศ. สมพันธ์ ชาญศิลป์, อ.ดร. สมร พรชื่นชูวงศ์, อ.ดร. ศุกฤตย์ ไทยอุดม,
อ.ดร. โสภณ วงศ์แก้ว,ผศ.ดร. สมประสงค์ สัตยมัลลี, อ.ดร. จรียา ยิ้มรัตนบวร, รศ. ทรงพร ทาเจริญศักดิ์, ผศ.ดร. นิธินาถ ศุภกาญจน์, ผศ.ดร. จันทิมา ดีประเสริฐกุล, ผศ.ดร. กษมา จารุกำจร, ผศ.ดร. กิตติ อัตถกิจมงคล, อ.ดร. ถิรยุทธ ลิมานนท์, อ.ดร. ธีรวัฒน์ สินสิริ,
รศ.ดร. อำนาจ อภิชาติวัลลภ, ผศ. พยอม ก้อนในเมือง, อ.ดร. จิตพนัส สุวรรณเทพ, อ.ดร. ราเชนทร์ โกศัลวิตร, อ.ดร.เจษฎา ตัณฑนุช, ผศ.ดร. กุลวดี รังษีวัฒนานนท์, ผศ.ดร. จิรวัฒน์ ยงสวัสดิกุล, ผศ.ดร. วิมลลักษณ์ สุตะพันธ์, ผศ. วิทวัส ยมจินดา, อ.ดร. วารี วิดจายา,
รศ.ดร. สำเนา ผาติเสนะ, ผศ.ดร สุนันทา ทองทา, อ.ดร. เผด็จ เผ่าละออ, ผศ.ดร. คะชา ชาญศิลป์, อ. สรชัย กมลลิ้มสกุล, รศ.ดร. สมพงษ์ ธรรมถาวร, อ.ดร. สุธรรม ศรีหล่มสัก, อ.ดร. สุรินทร บุญอนันธนสาร, ผศ.ดร. เบญจมาศ จิตรสมบูรณ์ , อ.ดร. รจนา โอภาสศิริ,
อ.ดร. ณรงค์ อัครพัฒนากูล, อ.ดร.วิไลรัตน์ ลี้อนันต์ศักดิ์ศิริ, อ.ดร. ฐิติพร มะชิโกวา

หมายเหตุ: แถลงการณ์นี้เป็นความคิดเห็นอิสระของกลุ่มคณาจารย์ มทส. กลุ่มหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น