เครือข่ายอาจารย์จาก 5 สถาบัน ออกแถลงการณ์เรียกร้อง คปค.สร้างสังคมประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชนคนไทย เสนอตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบ รธน.ชั่วคราวให้รับรองสิทธิประชาชน ตั้งรัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับทำหน้าที่ไม่เกิน 6 เดือน รวมทั้งให้เปิดกว้างรับฟังความเห็นในการร่าง รธน.ฉบับใหม่
เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม นำประชาธิปไตย (จคป.)
และเครือข่ายอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา มศว เพื่อประชาธิปไตย
ฉบับที่ ๑ วันที่ ๒๕กันยายน ๒๕๔๙
ตลอดระยะ ๘ เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องผจญกับมรสุมปัญหาครั้งสำคัญซึ่งเดิมพันด้วยความอยู่รอดของประเทศชาติ แม้รัฐบาลในขณะนั้น คือ รัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ เป็นรัฐบาลที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนส่วนใหญ่ให้เข้ามาบริหารประเทศ แต่รัฐบาลเดียวกันนี้เองกลับเป็นต้นเหตุของปัญหากับทั้งเป็นตัวปัญหาเสียเอง ทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น ขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้น และดำรงอยู่เป็นเวลานานจนสร้างความร้าวฉานบาดลึกลงในจิตใจของคนไทยด้วยกัน หนทางแก้ปัญหาดูตีบตันและมืดมนยิ่งนัก
จนคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เลือกกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นัยว่าเพื่อยุติปัญหาปัจจุบันทั้งมวล แม้ว่ารัฐประหารเป็นการกระทำที่ไม่น่านิยมอย่างยิ่งบนครรลองของประชาธิปไตย แต่เกิดรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเนื้อและสามารถยุติปัญหาได้โดยพลันย่อมดีกว่าปล่อยให้ประชาธิปไตยเดินไปตามทางของตนและต้องจบลงด้วยเลือดเนื้อของประชาชน
อดีตไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไข ประเทศไทยได้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง แม้รัฐประหารจะทำให้ประเทศไทยต้องถอยหลังไปหลายก้าว แต่ คปค.ยังมีโอกาสที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้ง ขณะนี้ คปค.ยืนอยู่บนทางสามแพร่ง ทางแพร่งแรกเป็นทางประนีประนอมกับรัฐบาลเดิมซึ่งหมดสิ้นความชอบธรรมและเป็นทางที่อาจเปิดโอกาสให้เผด็จการรัฐสภาซึ่งสวมเปลือกนอกประชาธิปไตยหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง ทางแพร่งที่ ๒ เป็นทางที่จะดำเนินไปสู่เผด็จการอำนาจนิยมใต้ร่มเงาทหาร ทางแพร่งที่ ๓ เป็นทางที่จะสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งและมั่นคงกว่าวิถีที่ประเทศไทยดำเนินอยู่ก่อนรัฐประหาร ทาง ๒ แพร่งแรก เป็นเส้นทางที่ คปค. ต้องอดทนต่อสู้กับผลประโยชน์และอำนาจ
ส่วนทางแพร่งที่ ๓ เป็นทางที่ คปค.ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างสูงยิ่งในอันที่จะปฏิเสธผลประโยชน์และอำนาจ เพื่อเลือกเดินด้วยความองอาจไปสู่หนทางสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชนคนไทย ให้สมเกียรติภูมิที่ได้ประกาศว่าเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เครือข่ายร่วมอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาชีพสุขภาพและเครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตย (ควป.) ขอเป็นกำลังให้ คปค.หยัดยืนปฏิเสธผลประโยชน์อำนาจอันหอมหวานและขอเสนอแนะฉันมิตรด้วยความจริงใจ ดังนี้
๑) คปค.ควรตั้งคณะกรรมาธิการซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายมาพิจารณาร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนประกาศใช้ธรรมนูญฉบับชั่วคราว ควรคงเนื้อหารับรองสิทธิของประชาชนอย่างน้อยที่สุดตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ได้รับรองไว้ แล้วจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นกลางและประชาชนยอมรับขึ้นโดยไว และควรให้รัฐบาลและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีเวลาทำงานและมีผลบังคับใช้ไม่เกิน ๖ เดือน
๒) คปค.ควรกำหนดนโยบายและวางมาตรการต่างๆ ป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เคยมีส่วนได้เสียในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาแทรกแซงหรือครอบงำการปฏิรูปการปกครองครั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขที่มีเสถียรภาพและยั่งยืนต่อไป
๓) คปค.ควรเปิดโอกาสให้ตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
๔) คปค.ควรเร่งเผยแพร่ข้อเท็จจริงแก่นานาประเทศ และพี่น้องประชาชนไทยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดให้ทราบปัญหาและความเสียหายร้ายแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากบริหารงานบ้านเมืองของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผศ.ปิยะ กิจถาวร
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี
อ.อารีลักษณ์ พูลทรัพย์
ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผศ.ดร.จักษ์ พันธุ์ชูเพชร
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา
รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
รศ.พิพัฒน์ ไทยอารี
อ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
นพ.สมพร รี้พลมหา
นพ.ดร.สุทธี รัตนมงคลกุล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์
อ.ดร.สุดา รังกุพันธุ์
อ.ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล
ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์