xs
xsm
sm
md
lg

พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ - ทหารพาณิชย์มาแล้ว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันพุธที่ 20 กันยายน 2549 หลังจากแผน "ปฐพี 149" ปฏิบัติการโค่นทักษิณใน ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกเป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยไม่มีการต่อต้านจากกองกำลังฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแม้แต่น้อย ที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ อันเป็นที่พำนักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษก็ปรากฏเงาของอดีตนายทหารใหญ่ระดับพลเอกผู้หนึ่ง
พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์
มีแหล่งข่าวระบุว่าในวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา 'บิ๊กหมง' พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกจัดว่าเป็นหนึ่งใน 'ลูกป๋า' ที่เดินเข้านอกออกในบ้านสี่เสาฯ อย่างสะดวกโยธินพยายามขอเข้าพบกับ พล.อ.เปรม เพื่อขอเจรจาคลี่คลายสถานการณ์ให้กับนายใหญ่ที่ยังระเหเร่ร่อนอย่างไม่รู้อนาคต ทั้งนี้ 'บิ๊กหมง' เคยเป็นตัวประสานสร้างผลงานสนองนายใหญ่ ชักชวนป๋าหลีกการขอเข้าพบโดยกลุ่มขับไล่ทักษิณอันมีนายสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นแกนนำเมื่อคืนวันที่ 4 ก.พ. เป็นผลสำเร็จมาแล้ว

อย่างไรก็ตามความพยายามดังกล่าวของ พล.อ.มงคล ผู้ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทราบกันดีว่าห่างจากบ้านสี่เสาฯ แต่หันไปใกล้ชิดสนิทสนมกับนักธนกิจการเมืองกระเป๋าหนาอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแทน ก็ถูกปฏิเสธจาก 'ป๋า' อย่างไร้เยื่อใย!

พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตผบ.สส. ผู้ซึ่งเพิ่งฉลองฉลองวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 66 ปีไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมานับเป็น 'นายทหารพาณิชย์' คนสำคัญที่มีความใกล้ชิดกับ พล.ต.ท.ทักษิณ และมีความสนิทชิดเชื้อกับเหล่าแกนนำของเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) เพื่อนสนิทของ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่าง 'บิ๊กตู่' พล.อ.พรชัย กรานเลิศ ผช.ผบ.ทบ และ 'เสธ.ไอซ์' พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต รวมไปถึง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรมว.กลาโหมอีกด้วย

ในยุคที่ทักษิณก้าวขึ้นมาครองอำนาจ พล.อ.มงคล รับหน้าที่เข้าเป็นตัวแทรกแซง จัดการผลประโยชน์ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงบริษัทเอกชนด้านพลังงานซึ่งเป็นที่ต้องการของ 'นายใหญ่' อย่างเช่น การเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ การเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย รวมถึงล่าสุดการเป็นประธานที่ปรึกษาบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ บริษัทซึ่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 จนเจ้าของคือนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ต้องตกเป็นหนี้มากถึง 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

กลางปี 2547 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ส่ง พล.อ.มงคลเป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลังเข้ามารับตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ร่วมกับผู้บริหารแผนอีก 4 คน ภายใต้ฉายา "5 ทหารเสือ" หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนให้บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด (อีพีแอล) พ้นจากผู้บริหารแผนฟื้นฟูทีพีไอ

สาเหตุที่ พ.ต.ท.ทักษิณส่งอดีตนายทหารใหญ่ผู้นี้เข้ามาจัดการกับทีพีไอก็เพราะต้องการจัดการกับ นายประชัย เจ้าของทีพีไอให้เด็ดขาด เพื่อที่เครือข่ายของตนจะได้เข้ายึดทีพีไอได้อย่างสะดวกโยธิน โดยทีพีไอถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในการเชื่อมการลงทุนในเครือข่ายธุรกิจพลังงานเพื่อทดแทนเครือข่ายธุรกิจโทรคมนาคมที่ 'นายใหญ่' ได้ขายให้กับทางสิงคโปร์ไปแล้ว

ทั้งนี้สิ่งแรกที่ "5 ทหารเสือ" นำโดย พล.อ.มงคลเข้ามาทำความเสียหายให้กับทีพีไอ คือ การกำหนดเงินเดือนในอัตราที่สูงถึงเดือนละ 1 ล้านบาท ขณะที่ผู้บริหารแผนอีก 4 ราย ตกเดือนละ 7.5 แสนบาท ซึ่งยังไม่รวมเงินพิเศษและสวัสดิการอื่นๆ ที่รวมแล้วพล.อ.มงคล ได้รับสูงกว่าเดือนละ 3-5 ล้านบาท!

หลังจากเข้ามาบริหารทีพีไอได้ไม่นาน พล.อ.มงคล ยังให้พรรคพวก จัดตั้งบริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น จำกัด เพื่อเข้ามารับงานจากทีพีไอในฐานะเป็นผู้ให้บริการดำเนินภารกิจและบริหารกิจการและทรัพย์สินของทีพีไอ รวมทั้งการจัดทำการปรับปรุงแผนและประสานงานกับเจ้าหนี้ ด้วยค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 20 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการผ่องถ่ายเงินไปยังบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตถุงพลาสติกอีกเดือนละกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขความเสียหายคร่าวๆ คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ภายใต้การนำของพล.อ.มงคล ในระยะเวลาเพียงปีเศษ ได้สร้างความหายให้กับทีพีไอแล้วกว่า 1.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงที่ อีพีแอล บริหารที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นอกจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้บริหารแผนแล้ว ทีพีไอ ได้รับความเสียหายมากที่สุดภายใต้การบริหารแผนของ พล.อ.มงคล คือ การจัดสรรหุ้นให้กับพันธมิตรได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กองทุนวายุภักษ์ 1 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และธนาคารออมสิน ในราคาหุ้นละ 3.30 บาท ซึ่งต่ำกว่านายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีพีไอ เสนอที่ราคาหุ้นละ 5.50 บาท ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับทีพีไอเกือบ 2 แสนล้านบาท

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางปี 2548 นายประชัย พยายามกู้กิจการของตนเองโดยพยายามดึงเอาบริษัทในเครือซิติก กรุ๊ป รัฐวิสาหกิจของจีนเข้ามาทำดิว ดิลิเจนซ์ เพื่อล้างหนี้ให้กับนายประชัยเป็นผลสำเร็จแล้ว แต่ พล.อ.มงคล กลับทำหนังสือถึงนายหวัง จุน ประธานกรรมการบริหารของเครือซิติกเพื่อขัดขวาง จนทำให้ในเวลาต่อมาเครือซิติกเกิดความลังเล จนประกาศถอนตัวไป

ล่าสุดในช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลังจากศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549 ได้มีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2549 ในวันถัดมาทันที (27 เม.ย.) โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญคือ การแต่งตั้งกรรมการใหม่เพิ่มขึ้นอีก 15 คน ทำให้คณะกรรมการบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 25 คน

ทั้งนี้ กรรมการทั้ง 15 คนที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งแบ่งเป็นตัวแทนของคณะผู้บริหารแผนชุดเดิมทั้ง 5 คน คือ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายพละ สุขเวช นายอารีย์ วงศ์อารยะ และนายวีรพงษ์ รามางกูร และกรรมการใหม่ซึ่งเป็นตัวแทนของพันธมิตรร่วมทุนใหม่ ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนวายุภักษ์ 1 และธนาคารออมสิน อีก 10 คน คือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ นายปิติ ยิ้มประเสริฐ นายวิสิฐ ตันติสุนทร นายเสงี่ยม สันทัด นางไพฑูรย์ พงษ์เกษร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส พลอ.พรชัย กรานเลิศ นายพชร ยุติธรรมดำรง และนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ขณะที่นายประชัย ผู้บริหารเดิมนั้นถูกเตะโด่งออกไปเป็นผลสำเร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น