“อดีตแม่ทัพภาค 4” เปิดใจห่วงสถานการณ์ภาคใต้ จำต้องปฏิวัติรูปแบบเพื่อให้ทหาร-พลเรือน ทำงานร่วมกัน ชี้ “แม้ว” ตัวทำลายการข่าว พร้อมฟันธง เหตุการณ์ภาคใต้ไม่ใช่เป็นการแบ่งแยกดินแดง แต่เป็นการแสวงหาความเป็นธรรมที่ผิดวิธี แขวะ!! “ผบ.ตร.” พิจารณาตัวเอง
วันนี้ (18 ก.ย.) พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 (สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี) อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) อดีต ผบ.พล.ร.5 อดีต ผบ.กองกำลังทหารพราน กองทัพบก เปิดแถลงข่าวเสนอวิธีการดับไฟใต้ให้รัฐบาลชุดใหม่ โดยมีนายทหารนอกราชการเข้าร่วมฟังด้วยหลายสิบคน เช่น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นต้น
พล.อ.ปานเทพ กล่าวว่า การมาพูดในวันนี้ ตนไม่ได้อยากดังหรือเสียผลประโยชน์ แต่มิอาจทนดูการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างผิดวิธีต่อได้อีก เดิมตนได้รับเชิญจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้ไปร่วมเสวนาในวันที่ 24 กันยายนนี้ แต่คงจะไม่ต้องไปแล้ว เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ต้องทรงเสด็จฯลงไปในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ตนเคยนำปัญหานี้ไปหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และกับพล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งแม่ทัพภาคที่ 4 อีกหลายคนแล้ว แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เข้าใจ ยกเว้น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน แต่บังเอิญว่า ท่านไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ดังนั้น ทำให้ตนมีแรงบันดาลใจสูงสุดจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า เป็นวิกฤตที่สุดในโลก ที่ตนเห็นว่า น่าจะมาจากความแยกสามัคคีของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จับอาวุธมาห้ำหั่นกัน และความแตกแยกความคิดทางการเมือง
พล.อ.ปานเทพ กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ข้าราชการทหารและข้าราชการทุกฝ่ายน้อมรับพระราชดำรัสในการแก้วิกฤตของชาติ เพราะการที่ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่จะสามารถแก้วิกฤตและเพิ่มวิกฤตได้ทั้ง 2 อย่าง ส่วนผู้ที่เจริญเติบโตมาจากพระบารมีก็ควรที่จะคิดและทำสิ่งที่ควรทำ แต่หากไม่สามารถทำตามสิ่งที่ควรทำได้ ตนขอเรียกร้องให้ถวายยศและเครื่องราชฯคืน แต่ถ้าคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้องก็ควรจะถวายยศและเครื่องราชฯคืนเช่นกัน
“การที่ตนเรียกร้องทหารและข้าราชการอื่นๆ ไปแล้ว ก็อยากที่จะเรียกร้องข้าราชการตำรวจด้วย โดยเฉพาะ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน เพราะผมรู้จักกับท่านเมื่อ 13 ปีก่อนสมัยเป็นพันตำรวจเอก ที่ค่ายมฤคทายวัน (ค่ายตำรวจ ตชด.) และยังบอกขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวไว้ เพราะอีกหน่อยจะได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ และเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปที่แขนคุณโกวิท และขอให้คุณโกวิทช่วยดูแลประชาชนด้วย ผมคิดว่า คุณโกวิท ควรจะเข้าใจว่าจะต้องดูแลประชาชนให้เข้ากันอย่างไร อย่าไปเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะดูแลแต่พวกสู้ๆ อย่างหนึ่ง พวกออกไปก็ปล่อยให้เลือดตกยางออกหรือจ่าสิบเอกที่ปล่อยให้เดินโดยไม่มีคนควบคุม ท่านก็ยังเลือกปฏิบัติ และเร็วๆ นี้ ก็จะมีการทำตามรัฐธรรมนูญ ท่านก็ต้องอำนวยความสะดวกเขา อย่าไปขัดขวางเขาหรืออย่าไปช่วยเฉพาะแต่พวกสู้ๆ” พล.อ.ปานเทพ กล่าว
พล.อ.ปานเทพ ยังเล่าถึงสถานการณ์ในอดีตที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า โดยเฉพาะในระยะเวลาที่ต่อเนื่องมา 5 ปี 5 เดือน 10 วัน กับอีก 3 ชั่วโมงกว่าๆ ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2544 เวลา 10.30 น.รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเข้ามาแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุ จะต้องแก้ที่จิตสำนึก หรือการแก้ปัญหาวางระเบิดโดยการลงบัญชีซิมโทรศัพท์ก็แก้ไม่ได้ จะต้องแก้ที่ความจริง อย่าไปใช้วิธีการให้เขารับสารภาพ และไปส่งฟ้องศาล ก่อนที่จะไปปล่อยตัวที่ศาล เพราะขณะนี้ศาลกลับกลายเป็นจำเลยของรัฐบาล ว่า เมื่อมีการจับมาก็มาปล่อย ดังนั้น จึงมีการนำวิธีนอกศาลมาตัดสิน
รัฐบาลใหม่จะต้องแก้ปัญหาด้วยสัมมาทิฐิ คือ ยอมรับผิดและเมื่อผิดไปแล้วก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่ แก้ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่สร้างภาพว่าแก้ปัญหาแล้ว ก็ต้องแก้จริงจังมุ่งสำเร็จ อย่าเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือจุดยืนอะไรเรื่อยๆ สิ่งสำคัญ คือ จะต้องเข้าใจยุทธศาสตร์พระราชทาน คือเข้าใจ เข้าถึง รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาต้องเข้าใจคนใต้ ว่า เขามีเชื้อชาติ ศาสนาใด ที่ตรงกัน มีเหตุผลรักความเป็นธรรม ศักดิ์ศรีเหนือกว่าเงิน และคนใต้ก็จะไม่ชอบคนที่ทักทายเขา โดยใช้คำขึ้นต้นว่า “ลื้อ อั้ว มึง กูเขาไม่ชอบ” แม้จะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาก็ตาม เพราะเขาก็แยกออกระหว่างราชการกับส่วนตัว อย่างตนแม่ทัพจะไปสั่งให้พลทหาร หรือนายสิบ ให้ไปช่วยโกงเลือกตั้ง เขาก็คงไม่ช่วย
“ผมฟันธงไปเลยว่า เหตุการณ์ภาคใต้ ไม่ใช่เป็นการแบ่งแยกดินแดง แต่เป็นการแสวงหาความเป็นธรรมที่ผิดวิธี เพราะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก คือพวกอุดมการณ์ หรือพวกปกครองตนเองมาก่อน นับถืออิสลามและต่อสู้ยาวนาน มีประมาณ 10% กลุ่มที่สอง คือ พวกที่นับถืออิสลาม เป็นคนไทยที่ถือว่ามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เขานับถือศาสนา ชาติ พระมหากษัตริย์ และกลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่แล้วแต่สถานการณ์จะชักจูงไป มีประมาณ 80%”
พล.อ.ปานเทพ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน เปรียบเสมือนไฟสุมขอน ไม่มีวันดับ พร้อมจะลุกโชนขึ้นมา ตามการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ถ้าเปรียบคนไข้ ก็คือ ผู้ป่วยเรื้อรังไม่มีวันหาย แต่สามารถควบคุมอาการไว้ได้ ถ้าก็เหมือนหัวหน้าหมอ ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้ามาเป็นผู้นำ อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 และมีหมออื่นๆ ประกอบด้วย พลเรือน ตำรวจ ราษฎร อาสาสมัคร และ ผอ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในอดีตที่ผ่านมาเหตุการณ์กลับมาปะทุสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ เพราะมีความรักชาติอย่างรุนแรง มีการออกกำหนดกฎหมายหลายเรื่อง เช่น ไม่ให้นุ่งโสร่ง ให้สวมหมวกปลีก ต้องเปลี่ยนนามสกุล เช่น บิดาของ ผบ.ทบ.ก็ต้องเปลี่ยนนามสกุล เพราะท่านสืบเชื้อสายมาจากจุฬาราชมนตรี ท่านแรกของของกรุงศรีอยุธยา เปลี่ยนจากอาหมัดจุฬา เปลี่ยนเป็น บุญยรัตกลิน ซึ่งเป็นนามสกุลคุณย่าท่าน และท่านก็มีความจงรักภักดี 100%
เมื่อเหตุการณ์รุนแรงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์ความเข้าใจผิด กรณีหมู่บ้านบุซงยอ ที่ ฮยีสุหยง บินอับดุลกอเด มูฮัมหมัด อันพาดอนี หรือ ฮยีสุหรง โต๊ะมีนา เข้ามาร่วมต่อสู้กับเหตุการณ์บุซงยอ ก็ปลุกกลุ่มบุคคลที่ 3 จนถูกจับจำคุก 4 ปี และมาถูกเชิญมาให้คำก่อนที่จะหายตัวไป เพราะเกิดจากตำรวจ จนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็รื้อคดี ก่อนที่จะตั้งหน่วยทหารพัฒนาการเคลื่อนที่ จนมาถึงสมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ปะทุอีกครั้งเมื่อทหารได้ไปเชิญชาวบ้านมา 4 คน เพื่อมาซักถามและหายไป จนวันที่ 6 ต.ค.2518 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ได้ตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบจังหวัดภาคใต้ (กอ.รสต.) มีแม่ทัพภาค 4 กำกับขึ้นตรงกับนายกฯ มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการที่ประพฤติอำนาจออกไปได้ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปต.) เพื่อประสานงานด้านพลเรือน
พล.อ.ปานเทพ กล่าวว่า จนสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการแก้ไขใหม่ ลงวันที่ 20 ม.ค.2524 จัดตั้ง พตท.43 ที่จัดตั้งในสมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ให้ขึ้นตรงกับแม่ทัพภาคที่ 4 และจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แทน ศปต.ที่มีหน้าที่ในงานกิจการพลเรือน อบรมข้าราชการ ย้ายข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ โดยขึ้นตรงแม่ทัพภาคที่ 4 จนสมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้แก้ให้ ศอ.บต.ขึ้นตรงกับแม่ทัพภาคที่ 4 ในปี 2539 โดยแก้เอกภาพให้ปัญหาลดลง
พล.อ.ปานเทพ กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาบริหารประเทศมีการวางระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ มีการวางระเบิดทิ้งไว้แล้วก็นั่งรถไฟกลับ เรียกได้ว่า เป็นโจรกระจอก ผมคิดว่าถึงระดับนั้นจริงๆ แต่กลับเป็นโจรกระจอกเทศ ที่มีความรุนแรง เมื่อเทียบกับการวางระเบิดที่ อ.หาดใหญ่ ครั้งที่ผ่านมา
“ผมลำดับความ เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล กลุ่มอุดมการณ์ก็เข้ามาวางระเบิด เผาที่นั่นที่นี่ เมื่อทักษิณ มาเป็นนายกฯ มีคนถามผมว่า การวางระเบิดที่หาดใหญ่เกี่ยวข้องหรือไม่ ผมว่าง่าย ครับ มาจากสุไหงปาดี มาวางระเบิดแล้วก็กลับ ส่วนเมื่อเร็วๆ นี้ จะเกี่ยวข้องหรือไม่ ผมว่าก็มีแนวโน้มที่ทำได้ แต่ถ้าช่วงรัฐบาลอื่น การวางลักษณะคุณทักษิณ ไม่ว่า พล.อ.เปรม พล.อ.ชาติชาย ฯลฯ ก็แค่ทำเมื่อเริ่มรัฐบาลใหม่ ถ้าเป็นรัฐบาลอื่นเขาปล่อยให้หมอทำ แต่คุณทักษิณลงใต้ไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2544 ก็เกิดจุดเริ่มต้นของความรุนแรง มีการเปลี่ยนโครงสร้าง ที่สำคัญเป็นครั้งแรกที่การเมืองเข้ามาแทรกแซงข้าราชการประจำ สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ ให้ผู้อำนวยการ ศอ.บต.มารับผิดชอบในการแก้ปัญหาแทนแม่ทัพภาคที่ 4”
พล.อ.ปานเทพ กล่าวว่า ในวันที่ 1 ต.ค.2545 มีการเปลี่ยนจาก พล.ท.ณรงค์ เด่นอุดม แม่ทัพภาค 4 เป็น พล.ท.วิชัย บุญรอด และนำ พล.ต.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ มาเป็นรองแม่ทัพภาค 4 และ ผอ.พตท.43 เป็นการนำคนนอกพื้นที่ที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย เข้ามาแก้ปัญหา แต่ก็มีคนคัดค้านว่าไม่ควรทำ จนล่าสุด พล.ท.วิชัย ก็มาสารภาพว่าเขาผิดเอง เพราะเขาได้รับใบสั่งมา ให้ พล.อ.ทรงกิตติ มาเป็น ผบ.พตท.43
“เรื่องนี้ ร.ท.ธวัชชัย (ผู้ต้องการคาร์บอมบ์) ทราบดี เพราะมีการประชุมที่บ้านหลังหนึ่งในขณะนั้น พล.ท.ทรงจิตติ ก็น่าจะทราบ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา คือ ปี 2545 มีคำสั่ง ที่123 ให้ยกเลิก พตท.43 และ ศอ.บต.ที่แต่งตั้งโดยนายบรรหาร ตั้งแต่ปี 2544 ต่อปี 2545 เมื่อยกเลิกทั้งหมด ก็มีคำสั่งให้โอนงานความมั่นคงจากทหารมาเป็นตำรวจภูธร 9 และผู้ว่าฯซีอีโอ แต่ผู้ว่าฯเมื่อก่อนเรียกค่าหลวง ที่ต้องทำงานต่างพระคุณ ไม่ใช่ให้ผู้ว่าฯมาปราบผู้ร้าย เมื่อตำรวจมาใช้วิธีตำรวจ คือ วิธีสืบสวน สอบสวน จับกุม ขยายผล ส่งฟ้องศาลดำเนินคดี และมาปล่อยชั้นศาล จากนั้นก็มาใช้วิธีนอกกฎหมายมาประกอบในการแก้ปัญหา”
พล.อ.ปานเทพ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2546 มีการเปลี่ยนแปลงแม่ทัพภาคที่ 4 จาก พล.ท.วิชัย เป็น พล.ท.ทรงกิตติ และปี 2547 ก็มีนโยบายมีการปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง มีการวิสามัญฆาตกรรม การฆ่าตัดตอน ผู้คนสูญหาย ตรงนี้ตนไม่เกลียด พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ เพราะสมัยนั้นท่านเป็นเลขาฯ ป.ป.ส. ขณะนั้น ใครจะสั่งท่านก็คงจะรับรู้อยู่ด้วย เหตุการณ์ปราบปรามยาเสพติดในปี 2547 ภาคอื่นก็คงจะจบเพียงญาติไม่พอใจ แต่เมื่อไปเกิดในภาคใต้ ที่มีชาวมุสลิม กลุ่มที่สามก็ถูกชักจูงไปจำนวนมาก โดยเฉพาะญาติ จนมีขบวนการล้างแค้น หาความเป็นธรรม ทำให้ยุทธการฆ่าคนบริสุทธิ์เกิดขึ้น
เมื่อเหตุการณ์รุนแรงเกิดในสมัย พล.ท.ทรงกิตติ จำเลยสมัยนั้นก็ถูกกล่าวหาทั้งผู้เสียผลประโยชน์ และ พตท.43 กับ ศอ.บต.ก็ถูกข้อหาเลี้ยงไข้ ว่า จะเอาเบี้ยเลี้ยง 10 ล้านบาท ร่วมกับผู้เสียผลประโยชน์ ผู้ค้ายา และไปเข้าใจว่า เป็นทหารพรานตัวแสบที่เป็นผู้ร่วมก่อเหตุ จนวันที่ 17 มิ.ย.2546 ก็มีการสั่งให้ทหารพรานออกจาก 3 จังหวัด ไปอยู่ จ.สงขลา และ สมัย พล.ท.ทรงกิตติ ยังมีความรุนแรงถึงขั้นปล้นปืนหลายครั้งจากชาวบ้าน จากชุดคุ้มครองหมู่บ้าน จากหน่วยช่วยเหลือพระราชดำริ จากป่าไม้ ไปสู่หน่วยทักษิณพัฒนา คือ นาวิกโยธิน เอาปืนใหม่ๆไปปล้น ทุกครั้งบุคคลเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่า ทำปืนหาย ปล้นปืนตัวเองที่เหลือเอาไปขาย และในวันที่ 1 ต.ค.2546 พล.ต.ทรงกิตติ จะโอนย้ายไปเป็น ผบ.ร.ร.นายร้อย จปร.และมี พล.ท.พงษ์ศักดิ์ เอกบัณสิน มาแทน
พล.อ.ปานเทพ กล่าวอีกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาทำลายความสามารถในด้านการข่าว หน่วยข่าวในประเทศไทยเกี่ยวกับความมั่นคงมี 3 หน่วย คือ สันติบาล ศูนย์รักษาความปลอดภัย และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ แต่กลับมาทำลายความสามารถด้านการข่าว โดยนำ พล.ต.ท.จุมพล มั่นหมาย มาเป็น ผอ.สำนักข่าวกรองแทนพลเรือน ทำให้ข่าวพลเรือนบอด ตนเคยบอกกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ให้เปลี่ยนเป็นพลเรือน แต่เขากลับคิดว่า คงอยากจะได้ข่าวที่ถูกใจมากกว่าข่าวที่ถูกต้อง และเมื่อวันที่ 9 ต.ค.2546 เวลา 15.00 น.ตำรวจไปตรวจค้นเจ้าหน้าที่การข่าวพลเรือนถึงขั้นจะถูกทำร้าย และเขาก็ขอให้ตนช่วยเปิดเผยข้อเท็จจริง จนตนถูกปลดออกจากที่ปรึกษา พล.อ.เชษฐา สมัยเป็นรัฐมนตรีกลาโหม วันที่ 17 มี.ค.2549 รัฐบาลก็เปลี่ยน พล.อ.พงษ์ศักดิ์ มาเป็น พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี
โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เชิญตนไปหารือว่าจะเปลี่ยนแม่ทัพ โดยตนเสนอ พล.ท.เรวัติ วัฒนผ่องใส แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบอกว่า อาวุโสน้อยไปจะเอา พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แต่เมื่อตนกลับออกมากลับแต่งตั้งเป็น พล.ท.พิศาล ซึ่งทั้ง 2 คนที่คาดว่าจะให้ไปดูแลเบื้องต้น ก็บอกว่า ถ้าเขาลงไปในพื้นที่เรื่องก็จะไม่เกิด และเขาก็จะไม่ยอมให้ใครมาสั่งเด็ดขาดด้วย
กระทั่งวันที่ 24 มี.ค.2547 ได้มีการตั้ง กอ.สสส.จชต.และวันที่ 28 เม.ย.ก็เกิดเหตุการณ์กรือเซะ และตนก็เชื่อว่า เป็นการจงใจเพื่อผูกโยงไปในเหตุการณ์บุซงยอ เพราะเขาปลุกระดมเพื่อมาพร้อมตาย และเขาก็ต้องการที่จะให้ชาวบ้านเกลียดเจ้าหน้าที่มากขึ้น หรือเหตุที่เขาไม่ได้วางแผน เช่น กรณีนักฟุตบอล อ.สะบ้าย้อย ที่นักฟุตบอลทั้งทีม ไปซ้อมฟุตบอลและตอนเช้าก็เดินผ่านเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อมีการติดต่อสื่อสารว่ามีการเข้าโจมตี เจ้าหน้าที่ก็ตกใจ และไปทำอะไรที่จัดอยู่นอกแผน ตรงนั้น นายไกรศักด์ ชุณหะวัณ รักษาการ ส.ว.นครราชสีมา รู้ดี รู้มากกว่าตน แต่ที่สงสัยว่า คนเสียชีวิตทำไมถึงเป็นคนสะบ้าย้อยทั้งหมด
พอวันที่ 25 ต.ค 2547 เกิดเหตุการณ์ที่ตากใบ มีการปล้นปืนจากราษฎร ตนอยู่ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พบว่า มีเครื่องบินไทยคู่ฟ้าไปลงที่โรงแรมปริ้นเซส จ.ปัตตานี และขอยืนยันว่า มีการขอเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ แต่ก็ไม่ได้ยินคำสั่งอะไรจาก พ.ต.ท.ทักษิณ
พล.อ.ปานเทพ กล่าวว่า พอมาถึง ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน มีการประกาศอำนาจให้กับ ผบ.ทบ.อย่างเต็มที่ เพื่อมาทำหน้าที่แทน พล.ต.อ.ชิดชัย แต่เมื่อวันที่ 3 ส.ค.มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย เป็น ผอ.กอ.รมน.จนวันที่ 24 ส.ค.ก็ปลด พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ข้อหาพัวพันลอบสังหาร
“ถ้าเป็นจริงก็ถือโอกาสที่จะล้าง กอ.รมน.ได้โอกาสที่จะเปลี่ยน พล.ต.อ.ชิดชัย โดยจะนำเอาตำรวจมาลงใน กอ.รมน.แทน ผมมีโอกาสเสนอ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2548 สิ่งสำคัญในนั้น คือ ขอให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน แต่กลับออกคำสั่งให้ นายอุกฤษณ์ มงคลนาวิน มาเป็นประธาน กอยส.ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับ กอส.เพราะมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ไม่ใช่ลงไปปฏิบัติ ผมได้ดรียกร้องให้ ผบ.ทบ.เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด และเป็น ผอ.กอ.รมน.ในตำแหน่งด้วย” พล.อ.ปานเทพ กล่าว
พล.อ.ปานเทพ กล่าวอีกว่า รัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะหน้าเหลี่ยม หน้าหล่อ ที่ควรทำก็คือ อาศัยร่มพระบารมีในการแก้ปัญหา เพราะเชื่อว่าถ้าไม่มีพระตำหนักทักษิณฯ ป่านนี้ภาคใต้จะลุกเป็นไฟ และขอให้รัฐบาลใหม่เลิกคำพูดที่ดูถูกเหยียบหยาม และให้ลงขอโทษเหมือนกับสมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ และให้คำตอบกรณีปราบปรามยาเสพติดและหาคนผิดมาลงโทษ
“รัฐบาลใหม่ต้องให้คำตอบ กรณี นายสมชาย นีละไพจิตร ให้คำตอบกรณีสะบ้าย้อย และลงโทษกรณีตากใบอย่างเป็นธรรม ยกเลิก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เลิกใช้วิธีการตำรวจ ยกเลิกผู้ว่าฯซีอีโอ ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทย ส่งเสริมความเข้าใจในหมู่ประชาชน และให้พลเรือนเป็น ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ” พล.อ.ปานเทพ กล่าวและว่า
ข้อถามที่ว่า เป็นแย่งชิงอำนาจระหว่างทหาร กับตำรวจ ตนเห็นว่า คงไม่ใช่ และหากจะตั้ง พตท.43 หรือ ศอ.บต.ขึ้นมาใหม่หรือไม่ ตนเห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ เพราะแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ทำได้อยู่แล้ว แต่ที่ไม่มี คือ การให้ความเป็นธรรม การร้องทุกข์ การสร้างเอกภาพให้กับแม่ทัพภาคที่ 4 ให้มีอำนาจเต็ม เพราะขณะนี้ที่ไม่สำเร็จ คือ เขาไม่สามารถสั่งผู้ว่าฯซีอีโอ หรือตำรวจได้ และที่สำคัญ ผบ.ทบ.ควรจะมีตำหน่ง ผอ.กอ.รมน.ด้วย และหากเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ขอให้กลับไปอ่านเอกสารที่ผมเสนอในวันที่ 7 มี.ค.2548 นั้นด้วย