xs
xsm
sm
md
lg

“แม้ว” เฮชั่วคราว ศาลยกฟ้องเบิกความเท็จคดี “ไอบีซี” - ทนายฝรั่งอุทธรณ์สู้ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลยกฟ้องนักธุรกิจเคเบิลมะกันฟ้อง “ทักษิณ” เบิกความเท็จคดีแพ่ง ผิดสัญญา ยืมอุปกรณ์เคเบิลไอบีซี เหตุคดีสิ้นอายุความ ขณะที่ทนายความยังเดินหน้ายื่นอุทธรณ์ ไม่สิ้นหวังเร่งร่างฟ้องสำนวนใหม่ “แม้ว” โกหกศาลอีก 2 คดี ขีดเส้นอีก 3 วันฟ้องแน่ พร้อมนัดไต่สวนอีกคดี 18 ก.ย.นี้

วันนี้ (11 ก.ย.) เวลา 09.30 น.ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีที่นายวิลเลียม ไลล์ มอนซัน นักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้บริหารบริษัท ซีทีวีซี ออฟฮาวาย จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจเคเบิลทีวีประเทศสหรัฐฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการไอบีซี เคเบิลทีวี เป็นจำเลย ในฐานความผิดเบิกความเท็จ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2539 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในคดีแพ่งที่บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลฯ เคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายนายวิลเลียมเรื่องผิดสัญญาซื้อ ขาย ขอยืม กรณีที่ไม่ส่งคืนอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท วีดีโอลิ้งค์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมหุ้นลงทุนกันระหว่างนายวิลเลียม และ พ.ต.ท.ทักษิณ

วันนี้ นายวิลเลียมได้เดินทางมาพร้อมกับนายประเมศร์ สูตะบุตร ทนายความและเจ้าหน้าที่ไทยประจำสถานทูตสหรัฐฯ ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีนายสมบัติ เชาวปรีชา ทนายความ มาฟังการพิจารณาคดีและยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายว่าการฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

โดยก่อนจะมีการไต่สวนมูลฟ้อง ศาลได้อ่านคำสั่งที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติม ลงวันที่ 1 กันยายน 2549 โดยโจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับพฤติการณ์กระทำความผิดของจำเลยเพิ่มว่า นอกจากจำเลยจะได้เบิกความเท็จในวันที่ 20 กรกฎาคม 2539 แล้ว จำเลยยังเบิกความเท็จอีก 2 ครั้งในวันที่ 12 พฤศจิยายน 2539 และวันที่ 12 มกราคม 2540

ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องโจทก์อ้างเหตุว่าตรวจสอบแล้วยังพบว่า การเบิกความเท็จอีกหลายครั้งในคดีเดียวกัน ซึ่งโจทก์ยังไม่ได้ระบุในคำฟ้องให้เกิดความสมบูรณ์ ดังนั้น เพื่อความสมบูรณ์ในการฟ้องและเพื่อไม่ให้จำเลยเสียเปรียบในการสู้คดี ในพฤติการณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง ศาลเห็นว่าเหตุผลตามคำร้องโจทก์ระบุเพียงว่า ฟ้องเดิมยังบกพร่องไม่สมบูรณ์และมีการเบิกความเท็จหลายครั้งที่โจทก์ยังไม่ได้บรรยายฟ้องไว้ โดยคำร้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าเพราะเหตุใดคำฟ้องเดิมจึงไม่ได้บรรยายการเบิกความเท็จของจำเลยให้สมบูรณ์ตั้งแต่แรก กรณีดังกล่าวจึงไม่ถือว่าคำร้องโจทก์ได้แสดงเหตุผลให้ศาลเห็นเพื่อวินิจฉัยว่าจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้อย่างใด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 163 วรรคแรก

นอกจากนี้ เมื่อศาลได้พิจารณาคำฟ้องโจทก์แล้วมีกรณีต้องวินิจฉัยว่าคำฟ้องเดิม ขาดอายุความหรือไม่ เพราะถ้าขาดอายุความสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้อง ย่อมระงับลงตามประมวลกฎหมายวิธีความอาญามาตรา 39 (6) โดยเมื่อปรากฏว่าข้อความที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมนั้น เป็นการเติมการกระทำของจำเลยที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อไม่ให้ฟ้องเดิมที่ขาดอายุความอยู่แล้วเป็นคำฟ้องที่ไม่ขาดอายุความ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบ ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 164 ดังนั้น ศาลจึงไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง จึงให้ยกคำร้องของโจทก์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549

ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องแล้ว ศาลได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดแล้วเห็นว่าคดีเพียงพอต่อการวินิจฉัย โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีก จึงมีคำสั่งให้งดไต่สวนมูลฟ้อง โดยศาลมีคำพิพากษาคดีนี้ในทันที ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในคดีอาญาถ้าไม่ได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนด นับแต่วันที่กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ” บทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า ต้องฟ้องและให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วการนับอายุความจึงจะหยุดนับ โดยมาตรา 95 เป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ใช้บังคับทั้งในกรณีที่พนักงานอัยการและราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง

เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าวันที่ 22 กรกฎาคม 2539 จำเลยกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา 177 วรรคแรก ที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี มีอายุความ 10 ปี เมื่อพิจารณาเกณฑ์การนับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 (3) ระบุว่า การฟ้องคดีโจทก์จะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2549 คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 ก่อนขาดอายุความเพียง 3 วัน และศาลจะต้องไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ แต่ระหว่างนี้จะถือว่าได้ตัวจำเลยมาศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ ดังนั้น การนับอายุความฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงยังไม่หยุดนับ เมื่อพบว่านับตั้งแต่วันที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานเบิกความเท็จจนถึงวันนี้คดีมีอายุเกินกว่า 10 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จึงพิพากษายกฟ้อง

นายประเมศร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังฟังคำวินิจฉัยของศาลว่า แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง แต่ก็จะยื่นอุทธรณ์ต่อไปภายในกำหนดเวลา 30 ตามกฎหมาย ทั้งนี้เห็นว่าบทบัญญัติการนับอายุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 มีถ้อยคำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ในเรื่องการรับรองสิทธิและความเสมอภาคของบุคคลทุกคนที่จะต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งการฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนยื่นฟ้องเองประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ขณะนี้ก็อยู่ประเทศฟินแลนด์ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้นายกรัฐมนตรีมาแสดงตัวต่อศาล หากมีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญควรมีการแก้ไขบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวไม่ให้กฎหมายใดมาขัดรัฐธรรมนูญ

ทนายความนายวิลเลียม กล่าวอีกว่า คดีนี้นอกจากจะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อพฤติการณ์แห่งคดียังปรากฏอีกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้เบิกความเท็จในคดีแพ่งนี้ต่อเนื่องถึง 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 และ 13 มกราคม 2540 และความผิดดังกล่าวนายวิลเลียม ยังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาล ดังนั้น ภายใน 3 วันนับจากนี้จะร่างคำฟ้องเพื่อยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอีก 2 คดีสำนวนใหม่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้จะไม่มีผลต่อคดีที่นายวิลเลียม ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 5 คนในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวน ฟ้องเท็จ และเบิกความเท็จ ในคดีอาญาที่กล่าวหาว่านายวิลเลียมยักยอกทรัพย์ของบริษัท วีดีโอลิ้งค์ จำกัด เนื่องจากเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกัน โดยการเบิกความเท็จในคดีอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้จะดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ต่อไป โดยนัดไต่สวนครั้งแรกในวันที่ 18 กันยายน 49 นี้ เวลา 09.00 น.

สำหรับในการไต่สวนคดี นอกจากจะนำนายวิลเลียมเบิกความเป็นพยานแล้ว โจทก์ยังได้ประสานพยานต่างชาติให้ขึ่นเบิกความอีกหลายปาก เช่น Mr.Delores A. Wille ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นอดีต Assistant Vice President ของ Eirts National Bank of Enumclaw ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการจ่ายโอนเงินของบริษัทที่นายวิลเลียมทำธุรกิจกับ พ.ต.ท.ทักษิณ

ส่วน นายวิลเลียม กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลหรือหนักใจต่อคำพิพากษาและการยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี โดยการต่อสู้ในการฟ้องคดีก็เปรียบเหมือนกีฬาชกมวยที่จะต้องรอดูอีกหลายยก ซึ่งการพิพากษายกฟ้องครั้งนี้เป็นเพียงยกแรกเท่านั้น ส่วนตัวไม่ท้อแท้ที่จะต้องสู้ต่อไป เพราะที่ผ่านมาได้ต่อสู้คดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และบริษัท ไอบีซี มาอย่างยาวนานถึง 17 ปีแล้ว ยืนยันว่าจะสู้ต่อไป ทั้งนี้ นายวิลเลียมยังยืนยันด้วยว่า หลังที่บริษัท ไอบีซี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ยื่นฟ้องทั้งในคดีอาญา และคดีแพ่ง ไม่เคยมีชื่ออยู่ในบัญชีดำที่รัฐบาลสั่งห้ามเดินทางเข้าออกประเทศ โดยทุกวันนี้ยังสามารถเข้าออกในการดำเนินธุรกิจระหว่างไทย-สหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์ ได้สะดวก อย่างไรก็ดี ในการต่อสวนคดีฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีเบิกความเท็จในคดีอาญาตนจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อติดตามการไต่สวนทุกนัดจนถึงนัดสุดท้ายคือวันที่ 16 ตุลาคม 49

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายวิลเลียม เป็นเจ้าของบริษัท ซีทีซี ออฟฮาวาย ประกอบกิจการเคเบิลทีวีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มก่อตั้งบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือที่รู้จักในชื่อไอบีซี เคเบิลทีวี เมื่อได้รู้จักกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปี 2529 โดยทั้งสองตกลงเป็นหุ้นส่วนร่วมกันจัดตั้งบริษัท วีดีโอลิ้งค์ เพื่อทำธุรกิจเคเบิลทีวี และทำสัญญาตกลงกันว่าจะให้บริษัท ไอบีซี ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นประธาน เป็นผู้ขออนุญาตคลื่นความถี่จากกรมไปรษณีย์โทรเลข แล้วโอนสิทธิให้บริษัท วีดีโอลิ้งค์ ดำเนินการ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจึงนำเข้าอุปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาในนามบริษัท วีดีโอลิ้งค์ ทดลองออกอากาศอยู่ 3 เดือน ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีมติระงับการออกอากาศ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณถอดใจขายหุ้นบริษัท วีดีโอลิ้งค์ ให้แก่นายมอนซัน กระทั่งปี 2532 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ บริษัท ไอบีซี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถขอสัมปทานเคเบิลทีวีจาก อ.ส.ม.ท.ในยุค ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลโดยมีเงื่อนไขว่าจะส่งมอบอุปกรณ์ต่างๆ ที่นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2529 ให้แก่ อ.ส.ม.ท.

โดยที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายยื่นฟ้องคดีต่อกันถึง 5 คดี คดีแรก นายวิลเลียมยื่นฟ้องบริษัท ไอบีซี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมกันเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ว่าผิดสัญญาไม่โอนสิทธิในการดำเนินการเคเบิลทีวี ให้บริษัท วีดีโอลิ้งค์ ซึ่งคดีดังกล่าวศาลยกฟ้อง แต่นายวิลเลียม โจทก์ ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์

คดีที่ 2.บริษัท ไอบีซี แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ให้ดำเนินคดีกับนายวิลเลี่ยมและพวก ข้อหายักยอกทรัพย์ กรณีที่ไม่ยอมคืนอุปกรณ์สื่อสารที่นำเข้าในนามบริษัท วีดิโอลิ้ง ซึ่งต่อมาคดีดังกล่าวพนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวงพระนครใต้ ยื่นฟ้องนายวิเลี่ยม ต่อศาลแขวงพระนครใต้ โดยที่ผ่านมาคดีดังกล่าวสิ้นสุดแล้วเมื่อศาลชั้นต้น (คดีดำเลขที่ 7519/2532 และคดีแดงเลขที่ 11790/2533) ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เห็นว่านายวิลเลี่ยมไม่มีเจตนายักยอก แต่เป็นการพิพาทกันในเรื่องสัญญาซื้อขาย ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง

คดีที่ 3 เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีอาญา ความผิดฐานยักยอกทรัพย์แล้ว ต่อมาบริษัท ไอบีซี ได้ยื่นฟ้องนายวิลเลียมกับพวก เป็นจำเลยคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายเรื่องผิดสัญญาซื้อขายและสัญญายืม (คดีดำที่ 11169/2537 และคดีแดงที่ 5387/2544) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2537 โดยคดีนี้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2547 เนื่องจากเห็นว่านายวิลเลี่ยมมีสัญญาซื้อขาย ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

คดีที่ 4 หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายวิลเลียม คดีอาญา ความผิดฐานยักยอกทรัพย์แล้ว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2538 นายวิลเลียมยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 5 คนเป็นจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จและเบิกความความเท็จ ในคดีอาญาต่อนายวิลเลียม (คดีดำที่ 3200/2538) แต่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เพื่อรอฟังผลคดีแพ่งที่บริษัท ไอบีซี ยื่นฟ้องนายวิลเลียม เรื่องผิดสัญญาซื้อขาย สัญญายืม กระทั่งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 นายวิลเลียมจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลนำคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ แล้วเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2549 ศาลจึงมีคำสั่งให้รับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้องโดยเร็ว ซึ่งศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรกในวันที่ 18 กันยายนนี้ และวันที่ 25 กันยายน 2, 9 และ 16 ตุลาคมนี้

คดีที่ 5 นายวิลเลียม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.49 (คดีดำหมายเลขที่ 3554/2549) ความผิดฐานเบิกความเท็จคดีแพ่ง ที่บริษัท ไอบีซี ฟ้องนายวิลเลียม เรื่องผิดสัญญาซื้อขาย สัญญายืม โดยศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรกวันที่ 11 กันยายน 2549 และศาลยกฟ้อง อ้างคดีขาดอายุความ
กำลังโหลดความคิดเห็น