xs
xsm
sm
md
lg

“หลวงปู่”ชี้ทางธรรม “ทักษิณ”ปล่อยวาง-ใช้เมตตาแบบไม่เลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หลวงปู่พุทธะอิสระ” ร่วมสนทนาธรรมในสภาท่าพระอาทิตย์ (8 ก.ย.49) ชี้ “พระสงฆ์”คือส่วนหนึ่งของการเมืองการปกครอง หากบ้านเมืองมีปัญหาจะวางเฉยไม่ได้ ต้องสั่งสอนเตือนสตินักการเมืองให้รู้ผิดชอบชั่วดี ซึ่งถือว่าไม่ใช่การทำให้ความเป็นพระต้องมัวหมอง ระบุ “ความเมตตา”ของ “ทักษิณ” ต้องเมตตาต่อทุกสิ่งไม่แบ่งแยกถึงจะเป็น “เมตตาระดับสูง” พร้อมเตือนใจ “ทุกสิ่งแม้แต่ร่างกายล้วนเป็นของหนัก แต่หากปล่อยวางได้ไม่ยึดติดก็จะพบกับความสุขที่แท้จริง”


รายการสภาท่าพระอาทิตย์ ประจำวันที่ 8 กันยายน 2549 ดำเนินรายการโดยสำราญ รอดเพชร

สำราญ – สวัสดีครับ ต้อนรับเข้าสู่รายการสภาท่าพระอาทิตย์นะครับ วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2549 วันนี้ก็สนทนาธรรมเช่นเคยครับทุกวันศุกร์กับหลวงปู่พุทธะอิสระ และก็อาจารย์สามารถ มังสัง รวมทั้งผมสำราญนะครับ เบ็ดเสร็จก็ 3 ส. เช่นเคยครับท่านผู้ชมก็สามารถตั้งคำถามแสดงความคิดเห็นได้ คำถามก็โทรมาที่เบอร์ 02-6294433 วันนี้มีเรื่องราวมากมายในเชิงสังคม ธรรมะ รวมทั้งเรื่องของการเมือง ก็อาจจะต้องพาดพันพูดถึงกันบ้างนะครับ ในตอนนี้อาจารย์สามารถกับผมกราบนมัสการหลวงปู่ครับ

หลวงปู่ – เจริญธรรม ท่านสาธุชนพุทธบริษัท ผู้รับชมรายการสภาท่าพระอาทิตย์ที่รักทุกท่าน คุณสำราญ คุณสามารถ ต้องขอบิณฑบาตวลีสุดท้ายที่บอกว่าพาดพิงถึงการเมืองเล็กๆน้อยๆอะไรนี่ ฉันมีกฎหมายประกาศออกมาแล้ว เมื่อกี๊นี้ยังอ่านอยู่เลยกับท่านอาจารย์สามารถ

สำราญ – การเมืองของผม ไม่ใช่การเมืองเรื่องเลือกตั้งนะครับ

หลวงปู่ – มหาเถรเขาไม่ได้วงเล็บว่าเรื่องเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง

สำราญ – อาจารย์สามารถครับ การเมืองนี่อิงหมายถึงอะไรครับ

สามารถ – การเมืองถ้าในความหมายของจริงๆแล้วก็คือ ต้องเข้าไปอยู่ในแวดวงของการเมือง อาจจะลงเลือกคั้ง สมัครตำแหน่งทางการเมือง หรือสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างออกหน้าออกตาทางการเมือง นั่นคือการเมือง ลงไปหาเสียงให้เขา

สำราญ – ในเชิงรัฐศาสตร์ อย่างน้อยนี่หมายถึงยังไง การจัดสรรผลประโยชน์

สามารถ – คือถ้าการเมืองในความหมายรัฐศาสตร์นี่นะก็คือการปกครอง การเมืองการปกครอง พอเป็นการเมืองการปกครองนี่ ไม่มีใครเลยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ถ้าคุณไม่เป็นผู้ปกครองคุณก็ถูกปกครอง

หลวงปู่ – ถ้าอย่างนั้นในการปกครองที่ไม่ดี เราก็มีสิทธิที่จะต้องร้อง

สามารถ – ถามว่าเมื่อคนถูกปกครองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายปกครอง มีสิทธิร้องเรียนไหมก็มี กฎหมายเปิดโอกาสให้

หลวงปู่ – มีสิทธิพูดได้ไหม

สามารถ – พูดได้สิ เพราะว่าได้รับผลกระทบ

หลวงปู่ – แล้วอย่างนี้จะถือว่าเป็นการเมืองไหม

สามารถ – ก็นั่นแหละคือความหมายการเมือง ถ้าการเมืองคือไปลงเลือกตั้งกับพรรคเกี่ยวข้องไม่ได้แน่ 100%

หลวงปู่ – แต่การเมืองในด้านการปกครอง

สามารถ – การเมืองการปกครองก็คือ พระนี่เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองเพราะโดนปกครอง

สำราญ – กฎหมายสงฆ์นี่มีกฎหมายอะไรต่างๆมากมาย

สามารถ – คือกระทรวงศึกษานี่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสงฆ์ กับการศาสนา ถามว่าเมื่อสงฆ์นี่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอาณาจักร โดยที่แยกกันไม่ออกเลยนะ สงฆ์ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฝ่ายอาณาจักรสงฆ์ก็มีสิทธิ

หลวงปู่ – เดี๋ยวนี้นี่นะ สงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสนจักร

สามารถ – สำนักพุทธไง

หลวงปู่ – เรามองกันถึงก้นรากเหง้าลึกของสังคมไทย ว่าสังคมไทยเรียนรู้มาจากศาสนจักร ได้ความรู้มาจากพระสงฆ์

สามารถ – เดิมทีเดียวนี่โรงเรียนต้องเรียนในวัด ครูคนที่สองรองจากพ่อแม่นี่นะคือพระ

หลวงปู่ – วิชาความรู้ก็ได้มาจากพระ

สำราญ – แต่เดี๋ยวนี้โรงเรียนนั้นรังเกียจคำว่าวัด ยิ่งถ้ามีคำว่าวัดนี่อยากตัดออก สมมุติว่าวัดบางลำภู ก็จะเป็นโรงเรียนบางลำภูไปเลย

สามารถ – มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ตัดออก ผมจำไม่ได้ว่าท่านเจ้าอาวาสวัดไหนนะ ท่านบอกตัดออกก็ได้แต่ว่าเอาโรงเรียนออกจากวัดไปด้วย ปรากฏว่าตอนหลังนี่ใส่แล้ว อย่างวัดมกุฏนี่ใส่แล้วนะ

สำราญ – ผมคิดว่ามันควรจะภูมิใจด้วยซ้ำไป

หลวงปู่ – มันรู้สึกเสียหายอะไรหรือที่เป็นโรงเรียนวัดนี่ หรือว่าความรู้สึกของครู หรือผู้ปกครอง

สำราญ – คือมันจะมีคำอย่างนี้ครับ หลวงปู่ ว่าเด็กโรงเรียนวัดนะ คือมองว่าล้าหลัง ไม่ทันการไม่ทันกิน

หลวงปู่ – ทำเป็นดูถูก นายกฯตั้งหลายคนผลิตออกมาจากวัด นายกฯชวนเป็นต้นเห็นไหม

สามารถ – เพราะบ้านเรารังเกียจวัด รังเกียจศาสน์คำสอนนี่นะ ปัญหานักการเมืองมันถึงได้เป็นอย่างที่เป็นไง ห่างวัดก็ห่างศาสนา ห่างศาสนาก็ห่างคำสอน ห่างคำสอนก็ห่างศีลธรรม พอห่างศีลธรรมก็อะไรมาแทนล่ะ

หลวงปู่ – พระยาพหลฯก็มาจากวัดนะ จอมพลสฤษดิ์ก็มาจากวัดนะ บิ๊กจิ๋วก็มาจากวัดนะ

สามารถ – ถ้าคุณรังเกียจวัดไม่เข้าวัดนะไม่เป็นไร แต่ถ้าคุณเป็นพุทธคุณมีโอกาสได้เข้าวัดแน่ๆ

หลวงปู่ – ตอนตายแล้ว สรุปแล้วกลับมาอยู่ที่เก่า ฉันยังพูดการเมืองได้ไหม

สามารถ – มันก็ควรจะได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องเลือกตั้งนี่ผมไม่เห็นด้วย

สำราญ – เรื่องการเมือง เรื่องเลือกตั้งว่าเบอร์ไหนๆ

หลวงปู่ – อันนั้นไม่ดีใช่ไหม

สามารถ – อย่างนั้นไม่เห็นด้วย ถ้าบอกว่านาย ก.ไม่ดี ให้เลือกนาย ข.อย่างนั้นไม่เห็นด้วย

หลวงปู่ – ทำไปทำมานี่พวกคุณเป็นมหาเถรหรือไงนี่

สามารถ – ไม่ได้เป็นแค่แสดงความคิดเห็น

สำราญ – ต้องแก้ข่าวนิดนึงก่อนนะครับว่า คือบางฉบับนี่ลง คือเมื่อวานผมไปวันเกิด เสธ.หนั่นนะครับ ในฐานะคนรู้จักและก็ไปในนามส่วนตัว กับคุณอมร คุณศุภชัย ASTV นี่แหละนะครับ ก็ไปบอกว่าเราไปในนามพันธมิตร คือเดี๋ยวพันธมิตรจะเสียหาย หมายถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนะครับ เดี๋ยว เสธ.หนั่นจะเสียหาย จริงๆ เสธ.หนั่นกับผมก็รู้จักกันมานานแล้ว วันเกิดท่านไปบ้างไม่ไปบ้าง เมื่อวานก็เห็นว่าท่านอายุครบ 71 ก็ไปซื้อดอกไม้ราคา 200-300 บาท ไปขอพรจากท่านนะครับ แต่ว่าไปที่งานก็คือมันเข้าเทศกาลเลือกตั้งพอดี

หลวงปู่ – ไปในนามพันธมิตรหรือ

สำราญ – ไปในนามส่วนตัวครับ ไปคือหลังจากข้าวเที่ยง ข้าวก็ไม่เลี้ยงเมื่อวานนะครับ คือมันหน้าเลือกตั้งอย่างที่หลวงปู่ว่านั่นแหละ ถ้าไม่ใช่หน้าเลือกตั้งนี่ปกติ เสธ.หนั่นต้องตั้งโต๊ะแถวยาวอิ่ม กินไวน์กินอะไรกัน

หลวงปู่ – อยากจะบอกว่าที่จริงในนามพันธมิตรนี่นะ มันก็คงจะไม่ต่างอะไรกับพระตอนนี้ เพราะว่าไปฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องอุดมการณ์ไง

สำราญ – หลวงปู่กลายเป็นพระพันธมิตรไปแล้วหรือครับ

หลวงปู่ – ไม่ใช่ คุณนี่ก็พยายามจะยัดเยียด คือฉันกำลังจะมองว่าถ้าในนามพันธมิตรนี่ มันมีอุดรการณ์เพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตย เพื่อแผ่นดินใช่ไหม มันไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าทำอะไรเพื่อใครคนใดคนหนึ่งนี่มันจะมองว่าไม่เป็นกลาง คือวางตัวไม่เป็นกลาง และฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายต่อต้านนี่เขาก็จะมองว่า พวกพันธมิตรนี่ก็พวกนี้พวกเดียวกันอะไรอย่างนี้ มันจะกลายเป็นแบบนั้นไป

สำราญ – มันก็มีนี่พันธมิตรทำเพื่อชาติ

หลวงปู่ – ก็แน่นอน ใช่ เราต้องดูอุดมการณ์ไง ถ้าเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน เพื่อประชาชนนั่นคือพันธมิตร แต่ไม่ใช่เพื่อพรรคการเมือง ไม่ใช่เพื่อพวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นนี่คุณบอกว่าเมื่อวานนี้ไปวันเกิด เสธ.หนั่น แต่ไปในนามส่วนตัวก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าไปในนามพันธมิตรนี่คนเขาจะมองไม่ดี

สำราญ – ผมบอกส่วนตัวล้านเปอร์เซ็นต์ครับ

สามารถ – ผมมองอย่างนี้นะ พันธมิตรนี่นะก็ไม่ได้จดทะเบียนนะ ไม่ได้ขึ้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ว่าเป็นองค์กรทางการเมือง

หลวงปู่ – ใช่ แต่ว่าเรามีอุดมการณ์

สามารถ – เป็นกลุ่มพลังทางสังคมเท่านั้นเอง มีอุดมการณ์ร่วมกัน และก็ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ตรงนั้นมันผิดตรงไหน

หลวงปู่ – ไม่ผิด

สำราญ – เมื่อวานนี้ตอนผมไปก็มีป๋าเหนาะ คุณเสนาะ เทียนทอง ก็กำลังนั่งเมาท์นะกับ เสธ.หนั่นและก็คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นะ คุยกันไปก็หัวเราะกันไปนะ ก็ตอนหนึ่งคุณเสนาะ เทียนทอง ก็บอกว่าอย่างไรก็ต้องช่วยกันกอบบ้านกู้เมืองตามประสาคำพูดของท่านนะ และก็ เสธ.หนั่นก็บอกว่าท่านเป็นคนประนีประนอม หมายถึงตัวท่านเองนะ คุณเสนาะก็บอกว่าอะไรก็แล้วแต่ อย่าประนีประนอมกับความชั่วก็แล้วกัน เดี๋ยวนี้นี่คุณเสนาะมีวรรคทองเยอะ

สามารถ – คือประนีประนอมนี่ไม่เหมือนกัน ประนีประนอมกับเป็นกลางนี่นะ เราให้นิยามคำสองคำนี้เพี้ยนไป

หลวงปู่ – เดี๋ยวนี้มันเข้าใจผิดนะ

สามารถ – คำว่าประนีประนอมนี่หมายความว่าตกลงกันได้ โดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ แต่ยึดประโยชน์สังคมเป็นตัวหลักนั่นคือประนีประนอม ยึดความถูกต้องเป็นตัวหลักนี่คือประนีประนอม ถ้าคุณประนีประนอม คุณทะเลาะกับโจรนะ อีกคนบอกอย่าไปเอาเรื่องโจรเลยนะ แล้วไอ้ที่มันขโมยของผมเมื่อวานล่ะ

หลวงปู่ – ฉันรู้สึกไม่ค่อยถูกใจกับคำพูดวลีที่ว่า รักพ่ออย่าทะเลาะกัน

สำราญ – มันคล้ายๆเหมาขลุมไปหมดนะ

หลวงปู่ – ใช่ มันเหมือนกับว่าถ้าเราตีหัวโจรแล้ว ถ้าเรารักพ่อก็อย่าตีโจร อย่าไปว่าโจร อย่าไปตำหนิโจร

สำราญ – ก็เหมือนกับว่าสมานฉันท์นั่นแหละ คล้ายๆกัน

หลวงปู่ – มันมองว่าเป็นไปได้ยังไง ลูกสองคน คนโตมาขโมยของลูกคนเล็ก แล้วลูกคนเล็กก็ไปโวยวายทวงเอาของคืน แต่ถ้ามีคำพูดออกมานอกบ้านว่ารักพ่ออย่าทะเลาะกัน แล้วของๆฉันล่ะทำยังไง

สำราญ – ก็เหมือนที่เขายกตัวอย่างที่คุณการุณหรือใครนะพูดว่า มีคนมาขโมยควายเราไป เราตามไปได้จนเจอได้ควายคืนมานะ เจอควาย เจอขโมยด้วย แล้วมาบอกว่าอย่าเลย สมานฉันท์กันเถอะ คือฆ่าควายแล้วแบ่งกันคนละครึ่ง

หลวงปู่ – อ้าว ก็ควายฉันน่ะ ที่จริงสมานฉันท์เป็นเรื่องดี รักกันน่ะเป็นเรื่องดีแต่ต้องรู้วิธี มันมีวลีหนึ่งที่ถือว่าเป็นวลีที่ศักดิ์สิทธิ์และยืนยาวก็คือว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ ถ้าจะดับธรรมนั้นก็ต้องหาเหตุดับ ก็คือดับที่เหตุ ทีนี้เหตุเรายังไม่ดับแล้วจะบอกว่าอย่าทะเลาะกันได้ยังไง

สำราญ – ตกลงหมอนั่นได้กินควายเราด้วยนะ แล้วมันก็ไม่ติดคุกด้วยนะ

หลวงปู่ – แล้วแถมคนที่ไปตามควายเหนื่อยเปล่าด้วย และเสียควายด้วย เสียควายยังไม่พอยังต้องมานั่งชำแหละควายให้มันกิน

สามารถ – หลายคำที่เรานำมาใช้นะ โดยที่ความหมายผิดเพี้ยนไปจากของเดิม เบี่ยงเบนจากความถูกต้อง เหมือนกับคำว่าเป็นกลางน่ะ ถามว่าความเป็นกลางนี่ยืนอยู่ตรงกลาง ไม่เข้าข้างใคร ในวรรคตัวอักษรนั้นใช่ แต่ว่าในความหมายไม่ใช่ มันต้องยึดความถูกต้องเป็นหลัก ว่าอย่างพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน ไม่สูงสุดไม่ต่ำสุดอยู่ตรงกลางแปลว่าอะไร เพราะว่าตรงกลางนี่ถูกที่สุด

หลวงปู่ – มีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงจะสมานฉันท์ได้อย่างดี

สำราญ – ในคำของพระพุทธเจ้าคือถูกที่สุด

สามารถ คือมรรค 8 ไงครับ ตึงเกินไป หย่อนเกินไปก็ผิด

หลวงปู่ – จริงๆในหลักพระวินัยเขามีอยู่อย่างหนึ่งนะ คนสมัยนี้เอามาใช้บ่อยเกลื่อนก็คือคืออย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ ถ้าเห็นว่ามันจะเป็นเรื่องราวบานปลาย จนไม่สามารถที่จะยุติมันได้นี่นะ พระองค์ก็ทรงให้ใช้หลักสัมมุขาวินัย ในการกำกับ บำบัด ดูแล ที่จะแก้ปัญหาเรื่องบาดหมางเหล่านั้น ก็คือทำเป็นเฉยๆลืมๆเสีย แต่ในกรณีที่มันแย่แล้วนะ มันไม่ไหวแล้ว ถึงขั้นสุดท้ายแล้วก็ต้องทำเป็นลืมๆเสียอย่างนี้

สำราญ – อีกท่อนหนึ่ง เมื่อวานคุณเสนาะ เทียนทอง ก็บอกว่าเดี๋ยวนี้นี่คือคงจะพูดพาดพิงไปถึงนายกฯทักษิณน่ะ บอกว่าคือหนังสือต่างประเทศเขาไม่ต้องอ่านกันมากแล้วยุคนี้ ยุคนี้อ่านหนังสือนิทานอีสปกันดีกว่า เด็กเลี้ยงแกะอะไรทำนองนี้นะ อีสปมันแปลว่าอะไรครับ อาจารย์สามารถ

สามารถ – อีสปนี่มันเป็นชื่อนักเล่านิทานของชาวกรีก เล่านิทานไว้เยอะครับ และนิทานอีสปบางเรื่องนะครับ อย่างเรื่องนาคสองตัวนี่นะ มันจะตรงกับชาดกของพุทธ มีหลายเรื่องตรงกัน ถามว่าทำไมถึงตรงกัน สมัยหนึ่งจำได้ไหมว่าวัฒนธรรมอินเดียกับกรีกนี่มันคลุกเคล้ากันมาในยุคหนึ่ง และคำสอนศาสนาเข้าไปเหมือนกัน นิทานอีสปของอีสปนี่ก็อาจจะมีส่วนลอกเลียนกันมา

หลวงปู่ – เพราะพุทธศาสนานี่เกิดก่อนนิทานอีสป

สามารถ – อีสปนี่เป็นชาวกรีก และก็รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาแหละ

หลวงปู่ – เราเริ่มต้นจากตรงไหนนี่ ธรรมใดเกิดแต่เหตุ และเหตุมันมาจากที่ไหนนี่ เหตุมันมาจากว่าอย่าให้ฉันพูดการเมืองมากนัก และไปกรีก ไปอเล็กซานเดอร์ได้ยังไง

สามารถ – มันมาจากการที่ไปเยี่ยม เสธ.หนั่น

สำราญ – หลวงปู่มีความกังวลใจครับ ท่านผู้ชมครับ ว่ากฤษฎีกาการเลือกตั้งออกมาบังคับใช้แล้ว และพูดการเมืองได้ไหมนี่

หลวงปู่ – ฉันไม่ได้สนใจเรื่องกฤษฎีกา ฉันสนใจเรื่องคำสั่งมหาเถรสมาคม ที่พูดถึงเรื่องว่าพระไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ไปพูดคุยเรื่องการเมือง วางตัวเป็นกลาง การวางตัวเป็นกลางของพระก็เพื่อจะให้เกิดความงดงาม ในคำบรรยายนะ ในกฎหมายเขามีเขียน เพื่อให้เกิดความเชื่อถืองดงามในสายตาสังคม แต่ในขณะเดียวกันเราก็มองเห็นพระผู้ใหญ่หลายรูป โดยเฉพาะในมหาเถรบางองค์นี่นะ เราก็ไม่รู้ว่าฝักใฝ่การเมืองหรือเปล่า ก็เห็นมีนักการเมืองวิ่งเข้าวิ่งออกในกุฏินี่ พลุกพล่านจนกระทั่งกระไดนี่แทบจะไม่แห้งน่ะ ที่จริงนักการเมืองก็คือคนๆหนึ่งที่มีสิทธิจะต้องรู้ร้อนรู้หนาว รู้เย็นรู้ละเอียด รู้ยาวรู้สั้น รู้ดำรู้ชั่วอะไรนี่นะ ถ้าเราจะได้มีโอกาสแสดงธรรมให้พวกนักการเมืองฟังบ้างมันก็ไม่น่าจะผิดเสียหายอะไร

สามารถ – ถ้ามองว่านักการเมืองคือทรัพยากรบุคคลของประเทศ และอยู่ในฐานะให้คุณให้โทษแก่ประชาชนมากด้วย

หลวงปู่ – พระยิ่งต้องเข้าใกล้นักการเมืองมากขึ้น

สามารถ – ถ้านักการเมืองคิดผิดทำผิดนี่นะ

หลวงปู่ – มันเป็นผลพวงมาถึงสังคมไหม

สามารถ – และถามว่าพระมีหน้าที่ทำอะไร แล้วทำไมไม่สอนคนพวกนี้ล่ะ ก็มาถามอย่างนี้อีก

หลวงปู่ – ฉันกำลังจะมองว่ากฎหมายบางข้อนี่นะ มันก็เป็นเรื่องดีที่จะรักษาภาพของพระเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกันมองในมุมกลับว่าเราดูดายเกินไปไหม เราใจร้ายเกินไปไหม ที่ทำไมพระสอนนักการเมืองนี่มันผิดอะไร พระให้ธรรมะกับนักการเมืองมันเสียหายตรงไหน พระที่จะเป็นผู้ใกล้ชิดนักการเมือง ที่จะบอกจะแนะนำนักการเมืองมันจะผิดพลาดเสียหายอย่างไร ในครั้งพุทธกาลนี่พระเจ้าปเสนธิโกศล เวลามีเรื่องปัญหาวุ่นวาย ขัดสน ถึงขนาดจนปัญญา คิดไม่ออก ยังต้องไปอาศัยพระเลย ต้องปรึกษาพระนะ เพราะฉะนั้นอยากบอกว่าถ้าเราจะมองว่าจะรักษาภาพของเราให้บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจความสุขทุกข์ของสังคมนี่ ฉันว่าฉันมองลำบากนะ

สามารถ – ตอนสมเด็จพระนเรศวร ใครเข้าไปล่ะ

หลวงปู่ – สมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว ถ้าพระบอกว่าอย่าไปยุ่งการเมือง ต้องวางตัวเป็นกลาง ก็ทำให้พระนเรศวรไม่ประหารผู้คนเป็นพันๆในยุคนั้น แม่ทัพนายกองทั้งหลายที่ไม่ยอมติดตาม

สามารถ – หรือจะเอาสมัยใกล้ๆตอนสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
หลวงปู่ – ถือไต้เข้าวัง ก็บอกว่าขรัวโต รู้แล้วไม่ต้องมาจุด เพราะกำลังไปเตือนพระเจ้าอยู่หัวว่า อย่าลุ่มหลงมัวเมาประมาท นอนดึกตื่นสาย ไม่ได้ว่าราชการ ขรัวโตก็เลยถือไต้เข้าวังตั้งแต่ไก่โห่แล้ว สายแล้ว 9 โมงกว่าก็ยังถือไต้จุดไฟเข้าวัง

สามารถ – คือทุกอย่างนี่นะถามว่าเกี่ยวข้องไหมก็เกี่ยวข้อง

หลวงปู่ – คือมันต้องดูกาลเทศะ

สามารถ – การวางตัวเลือกตามสมัยให้เหมาะสม แต่ไม่ใช่ไปยืนหาเสียงให้

หลวงปู่ – รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน มันต้องมีสัปปุริสธรรม

สำราญ – ไม่มีปัญหา คือหลวงปู่นี่วางตัวได้มั่นอยู่แล้ว ที่หลวงปู่พูดเยอะก็คือว่ามีพระคุณเจ้าสามเณรก็รับชม ASTV อยู่บางรูป

หลวงปู่ – ก็อยากให้เข้าใจว่าบทบาทของพระสงฆ์นั้น ถ้าวางตัวเหมาะสมนี่เข้าใกล้นักการเมืองไม่ได้ผิดเสียหาย ถ้าให้สติ ให้ปัญญาแก่นักการเมือง แต่อย่าลุ่มหลงอำนาจก็แล้วกัน อย่าไปลูบหน้าลูบหลัง ลูบหน้าปะจมูกเอาใจนักการเมืองอย่างนั้นไม่ถูกต้อง

สำราญ – เอาล่ะครับ มาดูธรรมะของท่านผู้นำเราซักนิดนึง เมื่อวานเป็นอีกวันหนึ่งที่รักษาการนายกฯ ถูกเรียกถูกล้อเป็นนายกฯ 3 เมตร คือต้องอยู่ห่างผู้สื่อข่าว 3 เมตร เมื่อวานก็อารมณ์ดีนะ เดินผ่านผู้สื่อข่าวมีเชือกกั้น บอกว่าเราห่างกันนะ แต่ขอให้ความรักเราอย่าสลายไปด้วยทำนองนี้นะ ก็ไปพบไปให้โอวาทกับคนพิการ และก็พูดถึงธรรมะอีกแล้วครับท่าน อ้างพุทธทาสภิกษุอีกแล้วครับท่าน เรื่องของเมตตา สัตว์มนุษย์เป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย จริงๆก็คือก็เป็นคำพูดทางธรรมะทั่วไปนะ ไม่ใช่ท่านพุทธทาสคนเดียวหรอก

หลวงปู่ – ที่จริงคำนี้เขาเรียกว่าเป็นคำกรวดน้ำ คำแผ่เมตตา สัตว์ผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อย่ามีเวรอย่ามีภัยอะไรอย่างนี้

สำราญ – ก็เมตตาก็อยู่ในพรหมวิหาร 4 ที่เราเคยพูดหรือเปล่าครับ

สามารถ – เมตตามันมีอยู่ 2 ขั้น 1. เมตตาขั้นธรรมดานี่นะ พ่อกับลูกนี่นะ พ่อเมตตาลูกนี่ขั้นหนึ่ง ส่วนขึ้นที่ 2 เขาเรียกว่าขั้นอัปปมัญญา ก็คือว่ากับมนุษย์ทุกคนโดยไม่ต้องดูว่ามันเกี่ยวข้องกับเราหรือเปล่า ศัตรูก็ให้ มิตรก็ให้ ไม่จำกัดไร้ขอบเขต ก็คือทุกคนเมตตาได้หมด แต่เมตตาเฉพาะที่มันจำกัด

หลวงปู่ – แม่เมตตาต่อลูก อาจารย์เมตตาต่อศิษย์

สามารถ – ท่านพุทธทาสพูดนี่เป็นอัปปมัญญา คือพูดให้มนุษย์ทุกคนน่ะ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ไม่ควรจะให้ความทุกข์เขาแต่ควรจะให้ความสุขเขา อย่าเบียดเบียนเขา

หลวงปู่ – คนที่พูดได้อย่างนี้ต้องเป็นคนที่ไม่ยึดติดอะไรแล้ว

สามารถ – คือเมตตาพวกนี้คือเหนือศีลเพราะอะไร คนที่มีเมตตาระดับนี้อยู่นะไม่ต้องรักษาศีลข้อปาณา เพราะยังไงก็ไม่ฆ่าสัตว์

หลวงปู่ – คนที่พูดได้อย่างนี้คือคนที่ไม่ต้องแบกอะไรแล้ว ไม่ยึดติดอะไรแล้ว ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีสมบัติ ถึงแม้มีก็ไม่คิดว่าตัวเองมีเพราะทุกอย่างเป็นของกลาง คนอื่นมีสิทธิจะหยิบใช้ได้โดยไม่หวงไม่แหนแล้ว คนที่พูดได้อย่างนี้นะ แต่ถ้าแอบเอามาพูดนี่คงจะลำบาก

สามารถ – มีการปล่อยวางแล้ว ไม่ยึดติดแล้ว พูดเหมือนกับว่าทุกคนนี่มีสิทธิเท่าเทียมกัน

สำราญ – รู้แล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างคือสิ่งสมมุติ

สามารถ – มีสถานภาพเท่ากันคือความเป็นคน

หลวงปู่ – นี่ถ้าเรียกว่าเมตตาโดยไม่มีประมาณ แต่ถ้าเมตตาเฉพาะบุคคล เฉพาะที่ เฉพาะถิ่น เฉพาะทางนี่ มันเป็นเมตตาโดยสามัญ ก็คือมีอยู่ทั่วไปเกลื่อนกล่น

สามารถ – รักก็เมตตา เกลียดก็ไม่เมตตา อย่างนี้ไม่ใช่เมตตาอย่างที่ว่านี้

สำราญ – เมื่อกี๊มีผู้ชมส่งความเห็นมาว่า เงินซื้อได้ทุกอย่าง แต่ว่าซื้อกฎแห่งกรรมไม่ได้

สามารถ – ก็เป็นคำพูดที่ดี แสดงว่าคุณเข้าใจพุทธ

หลวงปู่ – เดี๋ยวนี้พยายามจะมีกลุ่มบุคคล พยายามจะให้เกิดการซื้อได้ ก็ตัวอย่างเช่นทำบุญสะเดาะเคราะห์ เงินกำลังจะซื้อเรื่องกฎของกรรม จริงๆแล้วมันซื้อไม่ได้

สำราญ – ตอนนี้คงต้องรบกวนหลวงปู่ซัก 1 นาทีให้ศีลให้พรด้วยครับ

หลวงปู่ – อยากให้ฉันพูดก็ต้องพูดว่า ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนัก บุคคลนั้นแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป การแบกถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลก การสลัดของหนักทิ้งลงเสียเป็นความสุขจริงหนอ เจริญธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น