อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
กรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้อัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ถอนฟ้องธัมมชโยกับพวก ฐานยักยอกทรัพย์และเงินวัดพระธรรมกาย ซึ่งศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ไม่เพียงเป็นข่าวที่ทำสังคมช็อก แต่น่าจะถูกบันทึกไว้ด้วยว่า เป็นอีก 1 ข่าวฉาวของรัฐบาลและอัยการสูงสุด เพราะต้องไม่ลืมว่า คดีนี้ใช้เวลาพิจารณายาวนานมาถึงปีนี้ ก็ 7 ปีแล้ว และการสืบพยานกำลังจะแล้วเสร็จ คือมีกำหนดสืบนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่แล้ว! จู่ๆ ก็เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ถอนฟ้อง!! งานนี้ นอกจากเหตุผลที่นำมาอ้างประกอบการถอนฟ้องจะยากต่อการรับฟังแล้ว ยังน่ากังขาอย่างยิ่งว่า นี่คือประกาศิตจากรัฐบาลให้อัยการ “ตัดตอน” คดีธรรมกายหรือไม่? และน่าคิดต่อไปด้วยว่า รัฐบาลกำลังจับมืออัยการเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายใหม่ ให้ “ผู้มีอิทธิพล-มีอำนาจ” สามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่มีความผิด หรือทำผิด ก็ไม่ต้องรับโทษใช่หรือไม่?
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
ข่าวพฤติกรรมฉาวของอดีตพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือ ธัมมชโย หรือนายไชยบูลย์ สุทธิผล อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2541 หลังพระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกายได้ออกมากล่าวหาธัมมชโยว่ายักยอกเงินและที่ดินที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัด และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกา และอวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งต่อมากรมที่ดินได้สำรวจพบว่า “ธัมมชโย” มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน และบริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2 พันไร่ ใน จ.พิจิตร และเชียงใหม่
หลังจากนั้น นายวรัญชัย โชคชนะ แกนนำกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวหาธัมมชโยทำผิดกฎหมายอาญา ม.314 และ 343 ฐานหลอกลวงผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและฉ้อโกงทรัพย์ที่มีผู้บริจาคให้วัดไปเป็นของตัวเองและพวก
ด้าน พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ในฐานะเจ้าคณะภาค 1 ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องทั้งหมด ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชฯ สกลมหาสังฆปรินายก ได้มีพระลิขิตให้ธัมมชโยคืนที่ดินและทรัพย์สินขณะเป็นพระให้วัดพระธรรมกาย ต่อมา มส.มีมติให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติตามคำวินิจฉัย 4 ข้อของเจ้าคณะภาค 1 ที่สรุปไว้หลังตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้แก่ ให้ปรับปรุงแนวทางคำสอนของวัดพระธรรมกายว่า นิพพานเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา และยุติการเรี่ยไรเงินนอกวัด เป็นต้น ส่วนคดีทางโลกนั้น ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นฝ่ายดำเนินการต่อไป
หลังจากผู้เกี่ยวข้องพยายามให้ธัมมชโยคืนที่ดินและเงินบริจาคแก่วัดพระธรรมกาย แต่ไม่สำเร็จ กรมการศาสนาจึงได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษธัมมชโยในคดีอาญา ม.137, 147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้ยังมีอดีตทนายความวัดพระธรรมกายและญาติธรรมเข้าแจ้งความดำเนินคดีธัมมชโยเช่นกัน ฐานฉ้อโกงเงิน 35 ล้าน โดยมีข่าวว่าอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาล โดยแยกเป็น 3 คดี
จากปี 2542 มาถึงวันนี้ เกือบ 7 ปีเต็ม มีการสืบพยานไปแล้วกว่า 100 นัด เหลือเพียงการสืบพยานจำเลยอีก 2 นัดในวันที่ 23-24 ส.ค.49 แต่แล้วก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อจู่ๆ ศาลอาญาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา อนุญาตให้โจทก์ในคดีนี้ คือ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ถอนฟ้องจำเลยได้ คือ ธัมมชโย และนายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์คนสนิท ที่ถูกฟ้องฐานเป็นเจ้าพนักงานและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย จำนวน 6.8 ล้าน ไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อนายถาวร จำเลยที่ 2 และนำเงินอีกเกือบ 30 ล้านไปซื้อที่ดินกว่า 900 ไร่ ใน ต.หนองพระ (จ.พิจิตร) และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้นายถาวรเช่นกัน
โดย เรืออากาศโทวิญญู วิญญกุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ให้เหตุผลประกอบการถอนฟ้องจำเลยทั้ง 2 เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ว่า คดีนี้สืบเนื่องจากจากธัมมชโยกับพวกไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ บิดเบือนพุทธธรรมคำสั่งสอน โดยกล่าวหาว่า พระไตรปิฎกบกพร่อง ทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้สงฆ์แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก นอกจากนี้จำเลยไม่ยอมมอบสมบัติทั้งหมดขณะเป็นพระคืนให้วัดฯ แสดงชัดแจ้งว่า “ต้องอาบัติปาราชิก” และต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ใช่พระ!
อย่างไรก็ตาม อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 อ้างว่า บัดนี้ปราฏข้อเท็จจริงว่า ธัมมชโยกับพวกได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎก และนโยบายของสงฆ์แล้ว ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกิจการของศาสนา ทั้งของคณะสงฆ์ ภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก ส่วนเรื่องทรัพย์สิน ธัมมชโยกับพวกก็ได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ทั้งที่ดินและเงินกว่า 959 ล้านบาทคืนแก่วัดพระธรรมกายแล้ว ดังนั้นการกระทำของธัมมชโยกับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ ครบถ้วนทุกประการแล้ว ประกอบกับขณะนี้ บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า จึงเห็นว่าหากดำเนินคดีธัมมชโยกับพวกต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักร โดยเฉพาะพระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั้งในและต่างประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ นอกจากนี้การดำเนินคดีต่อไปยังไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องจำเลยในคดีนี้ ซึ่งในที่สุด ศาลฯ ได้อนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบของศาลอาญาเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา
ผลจากการที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกในคดีดังกล่าว และศาลอาญาได้อนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ไม่เพียงทำให้ธัมมชโยกับนายถาวร ลูกศิษย์คนสนิทรอดพ้นจากความผิดในคดียักยอกทรัพย์ดังกล่าว แต่ยังจะส่งผลให้อีก 3 คดีที่เหลือที่ธัมมชโยกับพวกถูกฟ้องฐานยักยอกทรัพย์เช่นกัน ซึ่งอัยการอยู่ระหว่างรอการสั่งคดี ต้องมีอันยุติและล้มเลิกไปด้วย โดยอ้างว่า เมื่ออัยการสูงสุดมีนโยบายให้ถอนฟ้อง พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ก็จะต้องมีความเห็นให้ยุติการสั่งคดีทั้ง 3 คดีไว้ เนื่องจากการดำเนินคดีจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ!?!
สำหรับ 3 คดีดังกล่าว ประกอบด้วย 1.คดีที่ธัมมชโย, นางกมลศิริ คลี่สุวรรณ และนายมัยฤทธิ์ ปิตะวนิค ลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันเบียดบังเงินวัดพระธรรมกายกว่า 95 ล้านบาท ไปซื้อที่ดิน 2.คดีที่ธัมมชโย, นางสงบ ปัญญาตรง, นายมัยฤทธิ์ ปิตะวณิค และนายชาญวิทย์ ชาวงษ์ ลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาเบียดบังเงินวัดฯ กว่า 845 ล้านบาท 3.คดีที่ธัมมชโย ร่วมกับนายเทิดชาติ ศรีนพรัตน์, นายมัยฤทธิ์ ปิตะวณิค และนางอมรรัตน์ สุวิพัฒน์ หรือ “สีกาตุ้ย” ลูกศิษย์คนสนิท ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
การถอนฟ้องธัมมชโยกับพวก ของอัยการสูงสุด (นายพชร ยุติธรรมดำรง) โดยอ้างเหตุว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ แล้ว แถมเงินและที่ดินที่ทั้งสองเคยยักยอกไป ก็ได้คืนให้วัดพระธรรมกายแล้ว นับเป็นเหตุผลที่สร้างความกังขาต่อบรรทัดฐานทางกฎหมายว่า ถ้าบุคคลใดกระทำผิดด้วยการยักยอกทรัพย์ หรือหากโจรปล้นเงินใครไป แล้ววันหนึ่งถูกจับได้ รีบนำเงินนั้นมาคืน ก็ไม่ต้องมีความผิดแล้ว ไม่ต้องถูกดำเนินคดีแล้วใช่หรือไม่? และการอ้างว่า ยามนี้บ้านเมืองต้องการความสามัคคี หากดำเนินคดีธัมมชโยกับพวก จะทำให้วงการสงฆ์และประชาชนแตกแยกนั้น นั่นแสดงว่า อัยการสูงสุดกำลังบอกกับสังคมว่า ธัมมชโยและธรรมกายมีอิทธิพลมากในบ้านเมืองนี้ ถึงจะกระทำผิดแค่ไหน ก็ไม่ควรดำเนินคดี เพราะถ้าศาลสั่งลงโทษธัมมชโยขึ้นมาวันใด สังคมจะเกิดการลุกฮือ-ไม่ยอมรับผลคำตัดสินของศาลที่สั่งลงโทษผู้กระทำผิดใช่หรือไม่? แล้วอัยการสูงสุดใช้อะไรเป็นมาตรวัดว่า พระสงฆ์และประชาชนคนไทยจะต้องไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล ซึ่งศาลอาจจะตัดสินว่า ธัมมชโยกับพวกผิดหรือไม่ผิดก็ได้ ถ้าผิดก็ต้องลงโทษ ถ้าไม่ผิดก็ยกฟ้อง ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายหรือละเมิดศาลได้ แล้วเหตุใดอัยการสูงสุดจึงต้องตัดตอนคดีนี้ด้วยการถอนฟ้อง และอ้างว่า สังคมต้องการความสามัคคี ความถูกผิดกลายเป็นเรื่องเดียวกับความสมานฉันท์สามัคคีได้อย่างไร? และการอ้างว่า การดำเนินคดีธัมมชโยต่อไป ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นั่นแสดงว่า อัยการสูงสุดเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมที่ศาลจะพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏต่อสังคม และพิพากษาลงโทษหากจำเลยกระทำผิดจริง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่นต่อไป ไม่ใช่ประโยชน์ต่อสาธารณะใช่หรือไม่?
นี่ยังไม่รวมถึงว่า สังคมมองอัยการสูงสุดยุคนี้อย่างไร เอื้อต่อการเมืองและอำนาจรัฐที่เข้ามาแทรกแซงแค่ไหน แถมการถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกในครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเพิ่งใช้วัดพระธรรมกายรวมพลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบ 8 หมื่นคน ภายใต้ชื่องาน “รวมใจทุกศาสนา พัฒนาท้องถิ่นไทย ถวายองค์ราชา ครองราชย์ 60 ปี” เมื่อวันที่ 17-18 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกฯ จะเดินทางไปเป็นประธานด้วยตัวเองแล้ว ยังปาฐกถาชื่นชมความยิ่งใหญ่ของวัดพระธรรมกายด้วย
การถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกครั้งนี้ แม้จะไม่มีใครกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่รู้ว่าไม่เหมาะสม แต่ก็มีข้อคิดที่โดนใจจากบางบุคคลในสังคม เช่น พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ที่บอกว่า “คิดอยู่แล้วว่าผลต้องออกมาแบบนี้ เพราะศิษย์วัดพระธรรมกายมีอยู่ในบ้านเมืองเยอะ เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมือง คนใหญ่คนโตในบ้านเรา ...ในส่วนของรัฐบาลเองก็อาจจะไม่เอาจริงเรื่องนี้ เพราะอาจจะเห็นประโยชน์ที่จะเกื้อกูลกัน อย่างเรื่องที่รัฐบาลไปใช้สถานที่จัดประชุมผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า มีนักการเมืองไปฝังตัวอยู่มาก หากรัฐเห็นประโยชน์จากวัดพระธรรมกาย แม้จะผิดแต่คงไม่มีใครกล้าเอาผิด” พระพยอม ยังบอกด้วยว่า “เรื่องนี้คงต้องยอมจำนน ...และหากเป็นเช่นนี้แล้วอาจจะสะท้อนสังคมไทยว่า พวกมากลากไป ต่อไปอาจจะทำให้วัดพระธรรมกายเกิดความเหลิงได้ อาจจะก่ออะไรใหม่ๆ ขึ้นได้ และเกรงว่า ต่อไปอาจจะกระทบกับคดีอื่นๆ ทางด้านศาสนา ที่อาจจะชนะคดีได้ยาก”
ด้าน นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตอัยการ มองการถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกของอัยการสูงสุดว่า โดยระเบียบปฏิบัติแล้วอัยการสูงสุดคงไม่กล้าถอนฟ้อง ถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ไฟเขียว และว่าสมัยที่ตนเป็นอัยการก็เคยมีการถอนฟ้องประชาชนที่บุกรุกป่า ซึ่ง ครม.ก็อนุมัติให้ถอนฟ้องเช่นกัน แต่กรณีนั้นยังฟังได้ ไม่เหมือนคดีนี้
“บ้านเมืองนี้มันมีอำนาจที่แฝงเร้นอยู่เยอะ และผมก็เข้าใจการใช้กฎหมายว่า การดำเนินคดีของพนักงานอัยการ มันเป็นการดำเนินคดีแทนรัฐ และการถอนฟ้องของอัยการสูงสุดทุกคดี จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีต้องมีมติเห็นชอบให้ถอนฟ้อง หลายเรื่องที่ผ่านมาในยุคที่ผมเป็นอัยการในช่วงนั้น เช่นที่พี่น้องประชาชนถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าที่ดอยโง้ม (จ.แพร่) ในยุคของคึกฤทธิ์ (ปราโมช) ประมาณ 400-500 คน อันนั้น ครม.ก็อนุมัติให้ถอนฟ้อง อ้างว่า การดำเนินคดีต่อไปกับพี่น้องประชาชนก็ไม่เกิดประโยชน์ ช่วงนั้นเป็นช่วงของการจัดหาที่ทำกินให้พี่น้องประชาชน ประชาชนบุกรุกขึ้นไปบนดอย อันนั้นโอเค อันนั้นก็พอจะเห็นอะไรได้ แต่สำหรับกรณีนี้ (ถอนฟ้องธัมมชโย) จริงๆ แล้วไม่อยากวิจารณ์ แต่ให้กว้างๆ ว่า คงเกิดจาก ครม.มีมติให้ถอนฟ้อง ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นเป็นประการใด ก็ให้ดูว่า เป็นการใช้อำนาจจากรัฐ รัฐก็คือ ประชาชน ถ้าหากว่าถอนแล้ว เกิดความถูกต้องเป็นตัวอย่าง ก็โอเค.ก็ถอนได้ แต่ถ้าถอนแล้ว เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีก็ดี หรือดูเหมือนว่า เป็นสิทธิพิเศษก็ดี มันก็จะเป็นเยี่ยงอย่าง ...จะถูกอ้างเป็นตัวอย่างได้แน่นอน ก็ทีคนนั้นอัยการถอนฟ้องได้ ทำไม ครม.มีมติอนุมัติให้ถอนฟ้องได้ แล้วทำไมบางคนที่ทำในลักษณะนี้ ทำไมไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง”
นายถาวร ยังย้ำด้วยว่า กฎหมายไม่มีข้อยกเว้นให้ใคร นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเชื้อพระวงศ์ในบางกรณี ดังนั้นสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นนักพรตหรือนักบวช กฎหมายต้องบังคับใช้อย่างเสมอภาค ถ้าใครบางคนได้รับการยกเว้น ย่อมไม่เหมาะไม่ควร
“อัยการใช้อำนาจแทนประชาชน อำนาจฟ้องนี่ ไม่ใช่อำนาจของอัยการนะ เป็นอำนาจของประชาชน คือในกระบวนการยุติธรรม การที่จะเอาใครสักคนไปอยู่ในเงื้อมมือของรัฐ นั่นคือ เอาคนที่ประพฤติตัวไม่ดี เกิดปัญหากับสังคม เกิดปัญหาต่อประเทศชาติ ถ้าอยู่ข้างนอกจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี หรือถูกฟ้องเพราะเหตุว่าไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดี อันเป็นกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ถ้าใครบางคนได้รับการยกเว้น ก็ถือว่า มันไม่เหมาะไม่ควร กฎหมายนี่เขาไม่ยกเว้นให้ใครนะ มีเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเชื้อพระวงศ์สำหรับบางเรื่องเท่านั้น ที่ The King Can Do No Wrong แต่การที่ King Can Do No Wrong กลับไม่ทำ Wrong เลย กลับไม่ทำผิดเลย ไม่ใช่ไม่ทำผิดเพราะกฎหมายบอกว่า ถึงทำอะไรท่านก็ไม่ผิด แต่ท่านไม่ทำอะไรผิดเลย แต่สำหรับประชาชนคนไทยทั่วไปไม่ว่าจะนักพรต นักบวช ก็ต้องอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์กติกาของกฎหมายทุกเรื่อง ซึ่งเขาเรียกว่า คุณธรรมทางกฎหมายจะต้องใช้อย่างเสมอภาค ใช้เพื่อที่จะให้สังคมได้รับบทเรียน ใช้เพื่อให้ทุกคนอยู่ในระเบียบ เพื่ออยู่กันได้อย่างสันติสุข”
ด้าน อ.เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร มองกรณีอัยการถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกว่า จะส่งผลให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ในสังคมที่เป็นอันตรายมากในทางนิติศาสตร์ เพราะประเทศปกครองโดยกฎหมาย ดังนั้น ต้องทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องปล่อยให้กระบวนการพิจารณาดำเนินไปตามระบบ การที่อัยการซึ่งมีหน้าที่ต้องพิทักษ์ความยุติธรรม มาถอนฟ้องคดีออกจากระบบ ทำให้สังคมไม่รู้ว่า ความถูกต้องชอบธรรมอยู่ตรงไหน?
“สิ่งที่นักกฎหมายต้องพึงระมัดระวังที่สุด คนที่ต้องใช้วิชาชีพกฎหมายต้องระมัดระวังที่สุด คือ มันจะเกิดเขาเรียกว่า บรรทัดฐานทางสังคม หรือ Social Norm ซึ่ง Social Norm มันก็เกิดขึ้นจากตัวของผู้ใช้กฎหมาย ถ้าสมมติเกิดมีการฟ้องร้องในการกระทำความผิดขึ้นมา แล้วต่อมาเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด กฎหมายมันดำรงตนอยู่เกือบ 2 พันปีนะ ความที่มันมีความยุติธรรมในตัวของมันเอง ที่บัญญัติตรงนั้น ทำผิดหรือไม่ผิดอย่างไร ก็แสดงว่ามันตกผลึกแล้วในเรื่องของความยุติธรรม ใช่มั้ย และรัฐเองก็มีหน้าที่ที่จะพิทักษ์รักษาความยุติธรรมของสังคม ทีนี้เมื่อศาล เมื่ออัยการมีหน้าที่ที่จะต้องไปพิทักษ์รักษาความยุติธรรมของสังคม ต่อมาอัยการก็ถอนสิ่งเหล่านี้(ถอนฟ้อง)ออกไป โดยที่ไม่เปิดให้ โดยที่ไม่รู้ว่าศาลเขาจะวินิจฉัยอย่างไร และสังคมก็ไม่ได้รู้ว่า ความถูกต้องชอบธรรมมันอยู่ตรงไหน มันก็จะทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ขึ้นในสังคม ซึ่งจะอันตรายยิ่งในทางนิติศาสตร์ เพราะเหมือนกับว่า เราไม่ได้ปกครองโดย Rule of Law หรือหลักนิติธรรม เราก็สามารถที่จะมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าสุดที่จะเอามากล่าวอ้างได้ ฉะนั้นประเด็นตรงนี้เป็นประเด็นที่นักกฎหมายต้องคิดว่า ผลจากการถอนฟ้องเนี่ย วัฒนธรรมในทางกฎหมายของประเทศไทยจะเอาอย่างไรกันแน่ ระหว่างหลักนิติธรรม และหลักการบริหาร คือถ้าเราคิดว่า เราปกครองโดยกฎหมาย ก็ต้องทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นจากการที่จะต้องทำให้กระบวนการพิจารณามันเดินไปตามระบบของมัน”
ส่วนที่อัยการอ้างว่า การดำเนินคดีธัมมชโยกับพวกต่อไป ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนั้น อ.เจริญ ตั้งข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้ว คำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” ต้องให้ศาลเป็นคนชี้ ถึงจะเป็นที่ยุติ และว่าผลจากการถอนฟ้องธัมมชโยครั้งนี้ หากวันหน้าเกิดมีผู้กระทำแบบเดียวกันนี้บ้าง และอัยการไม่ถอนฟ้องก็จะเกิดปัญหาเลือกปฏิบัติ เกิดปัญหา 2 มาตรฐาน ซึ่งถือว่าทำลายหลักนิติศาสตร์-นิติธรรมไทย
“ประโยชน์สาธารณะมันจะต้องให้ศาลเป็นคนชี้นะ อัยการสามารถที่จะอ้างได้ แต่มันไม่ได้ยุติ เพราะสมมติถ้าศาลลงโทษบุคคลใดได้กระทำความผิดไปแล้ว ศาลก็ต้องมาวิเคราะห์ดูอีกนะว่า การกระทำความผิดนั้นมันร้ายแรงหรือไม่ มันเป็นสิ่งที่เจตนาทุจริตหรือเปล่า เรายังมีการรอกำหนดโทษ รอลงอาญา รออะไรอีกเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ศาลจะต้องตัดสิน คือ ตัดสินตัวการกระทำ เราต้องแยก “การกระทำ” กับ “การลงโทษ” การกระทำตรงนั้นมันก็คือ บรรทัดฐานของสังคมที่มันถูกร้อยเรียงโดยกฎหมาย ใช่มั้ย ก็ต้องชี้ก่อนว่า การกระทำเช่นนี้ทำได้หรือไม่ได้ ทำถูกหรือไม่ถูก เพราะการกระทำตรงนี้มันจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตข้างหน้า ถ้าอย่างนี้ปุ๊บ(อัยการถอนฟ้อง) อีกหน่อยถ้ามีคนทำเหมือนเช่นเดียวกันกับเคสนี้ขึ้นมา แล้วก็ลงโทษไปล่ะ มันก็จะเกิดดับเบิลสแตนดาร์ด ก็ทำลายวงการนิติศาสตร์ไทย นิติธรรมไทย เหตุผลในการใช้ประโยชน์สาธารณะนั้น เท่าที่ผมทราบ เขาจะใช้กับหลักในเรื่องกฎหมายมหาชนนะ แต่อันนี้เชื่อว่าเป็นความผิดในทางอาญาแผ่นดิน เพราะฉะนั้นจะไปอ้างอย่างนั้น ก็ไม่ยุติ อย่างไรเสียศาลก็ต้องวินิจฉัย ส่วนการจะลงโทษหรือไม่ลงโทษอย่างไรนั้น ผมคิดว่า เป็นดุลพินิจศาลต้องใช้อยู่แล้ว อย่างนี้ อัยการตัดสินเอาเอง แล้วอัยการก็อยู่ภายใต้การบริหารบังคับของรัฐบาลอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นอันนี้ ผมห่วงอย่างเดียวคือ ผมไม่ได้ติดใจกับการถอนฟ้องหรือไม่ถอน แต่ผมติดใจที่ว่า เรากำลังสร้างบรรทัดฐานของสังคมในทางนิติศาสตร์ต่อไปอย่างไรมากกว่า อย่าลืมว่า อำนาจของอัยการเป็นอำนาจที่ปนเปกับอำนาจศาลด้วย สมมติเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นเดียวกันนี้ขึ้นมาอีก และอัยการก็บอก เพื่อประโยชน์สาธารณะ ฉันไม่ฟ้อง ก็ตัดสินไม่ฟ้อง ศาลก็ไม่มีทางที่จะไปก้าวล่วง (ศาล) หยิบคดีขึ้นสู่ศาลไม่ได้ ศาลมีหน้าที่อยู่เฉยๆ ให้คนเอาคดีมาฟ้อง แล้วศาลตัดสิน เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากว่า บรรทัดฐานในทางนิติศาสตร์มันจะพัฒนาไปในทิศทางใด จะพัฒนาไปในทิศทางของหลักนิติธรรม หรือในเรื่องของบริหารการจัดการ เราไม่อาจจะเอาสิ่งที่มันตกผลึกแล้วในเรื่องของความยุติธรรมในคดีความผิดเช่นนี้มาถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลประการอื่น ที่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุผลหรือสาธยายอะไรก็ได้”
อ.เจริญ ฝากด้วยว่า หากผู้ที่ใช้กฎหมาย ไม่ดำรงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย สังคมไทยก็จะอยู่อย่างไม่มีหลักอะไรเลย หลักความยุติธรรมก็จะเป๋ไป๋ไปได้เรื่อยๆ ถือว่าอันตรายมาก เพราะถ้ากฎหมายไม่ถูกใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค-เท่าเทียม แต่กลับขึ้นอยู่กับผู้มาเจรจาว่าเป็นผู้มีอำนาจหรือไม่? ถ้าเป็นผู้มีอำนาจก็ไม่ต้องรับผิดได้ แม้จะทำผิดก็ตาม สุดท้าย...กฎหมายก็จะมีไว้ใช้กับคนยากคนจนเท่านั้น คุกก็มีไว้ขังคนจน เพราะคนรวยทำผิดได้ไม่ต้องรับโทษ
การที่อัยการถอนฟ้องธัมมชโยกับพวกครั้งนี้ อ.เจริญ ชี้ว่า น่าจะเป็นกรณีศึกษาของสังคมไทย พร้อมเชื่อด้วยว่า เป็นสิทธิของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปที่หากมีข้อเท็จจริงใหม่ปรากฏว่า การถอนฟ้องครั้งนี้มีกระบวนการแทรกแซงอย่างหนึ่งอย่างใด รัฐบาลใหม่ก็สามารถรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาได้ และหากพบว่า การถอนฟ้องไม่เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม อัยการที่เกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบการกระทำดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157!!