xs
xsm
sm
md
lg

“สัปปุริสธรรม” หลักธรรมจำเป็นก่อนสมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สามารถ มังสัง” ร่วมสนทนาธรรมในสภาท่าพระอาทิตย์ (21 ก.ค.49) ว่าด้วยหลักธรรม “สัปปุริสธรรม” ที่ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งในการดูความเหมาะสมและหาผลที่ใครจะได้รับ หากจะต้องมีการสมานฉันท์จริงๆ โดยจะต้องเน้นถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เพียงก่อให้เกิดการเลือกตั้งที่จะให้ผลแค่บางฝ่ายเท่านั้น นอกจากนี้วอนนักการเมืองต้องเข้าใจหลักพรหมวิหาร 4 อย่างลึกซึ้งไม่ใช่เพียงผิวเผิน และมีหิริโอตตัปปะ-ละอายชั่วกลัวบาปเป็นหลักยึดประจำใจ

รายการสภาท่าพระอาทิตย์ ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 ดำเนินรายการโดยสำราญ รอดเพชร

สำราญ – สวัสดีครับ ต้อนรับเข้าสู่รายการสภาท่าพระอาทิตย์นะครับ วันนี้มีเสียงของประชาชนสั้นๆแต่ว่าลึกซึ้งกินใจนะครับ เป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศที่โรงพยาบาลศิริราชนะครับ วันที่พสกนิกรเฝ้ารอคอยเมื่อวานนี้ตั้งแต่เช้า เที่ยง บ่าย เย็น ค่ำ ดึก และก็จนสว่างนะครับ แล้ววันคืนก็ผ่านพ้นก็ต้องเรียนตรงๆว่าด้วยความสบายใจของคนไทยในเบื้องแรกนี่นะครับซึ่งก็ไม่มีอะไรแล้ว ก็พระองค์ก็ทรงปลอดภัยจากการถวายการผ่าตัดของคณะแพทย์ตลอดเกือบ 5 ชั่วโมง 4 ชั่วโมงกับ 48 นาทีโดยประมาณเมื่อวาน การถวายการผ่าตัดในหลวงของเราก็ทรงปลอดภัย เอาล่ะครับ รายการสภาท่าพระอาทิตย์ในฐานะพสกนิกรก็คงจะเหมือนกับท่านผู้ชมทางบ้าน เรารู้สึกดีใจปลื้มปิติ ผมสำราญ รอดเพชร วันนี้ก็มากับอาจารย์สามารถ มังสัง เช่นเคย ก็สวัสดีครับ

สามารถ – สวัสดีครับ

สำราญ – อาจารย์ก็คงนะ เมื่อวานพูดตรงๆแบบสามัญชนก็คือ

สามารถ – คือคนไทยพสกนิกรเกือบ 10 ล้านคนนี่ ได้ไปที่ศิริราชและส่วนหนึ่งก็ไปที่สถานที่ราชการจัดให้ ส่วนหนึ่งก็นั่งอยู่กับบ้านดูทีวี แต่คิดตรงกันนะคืออยากให้หายประชวร ทุกคนคิดเหมือนกัน

สำราญ – พระองค์ท่านก็เสด็จไปที่ดรงพยาบาลเมื่อวานก็ 14.12 น. ก็ภาพที่ประชาชนประทับใจมาก ก็คือพระองค์ทรงฉายภาพด้วยกล้องส่วนพระองค์ ก็อย่างที่เราเห็นเมื่อซักครู่ และก็ทรงเสด็จไปก็มีพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งในส่วนของประชาชนนี่ก็เนืองแน่นตั้งแต่เช้า

สามารถ – ประชาชนนี่เตรียมตัวหาที่นั่งหาที่นอนตั้งแต่เช้าแล้วล่ะ ฝนตกก็ไม่ถอยนะอยู่กันทั้งคืนแหละเมื่อวาน

สำราญ – ทรงแย้มพระสรวลนิดๆนะครับ คนไทยก็รู้สึกคือไม่รู้จะสุขยังไงแล้วนะครับ อาจารย์

สามารถ – คนไทยทั้งประเทศนี่มันไปรวมอยู่ที่พระองค์ท่านเพียงพระองค์เดียวในวันนี้ เพราะว่าต้องการให้หายป่วย แม้แต่วัดทุกวัดก็จัดพิธีนะ สวดโพชฌงค์ โพชฌงค์นี่คือเป็นคาถาที่สวดเพื่อบำบัดการป่วย โพชฌงค์ 37 เป็นการเหมือนกับรักษาป่วยทางใจให้กับคน ด้วยพุทธานุภาพนี่ก็หายได้เหมือนกันนะ

สำราญ – อันนี้จะโดยสามัญชนหรือบุคคลชั้นสูงก็สวดอันเดียวกัน ใช้ร่วมกันได้

สามารถ – อันเดียวกันได้

สำราญ – เอาล่ะครับ ก็แถลงการณ์สำนักพระราชวัง 3 ฉบับ ท่านผู้ชมก็คงรับทราบไปในช่วงที่คุณบัณฑิตได้สรุปไปแล้ว แล้วก็มีรายละเอียดมากมาย เราก็ผ่านพ้นวันคืนมาด้วยความโล่งใจ หนังสือพิมพ์หลายฉบับก็พาดหัวเหมือนกันแหละครับ เดลินิวส์บอกว่า “ถวายผ่าตัดในหลวงเป็นที่พอใจ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน”

สามารถ – คือสรุปแล้วสื่อนะครับ ทุกแหล่งข่าวนี่ไป

สำราญ – ไทยรัฐบอกว่า “ถวายการผ่าตัดแล้วปลอดภัย พลังใจล้นแผ่นดิน” คำสวยนะครับอาจารย์

สามารถ – สวย คือมันเป็นการแสดงให้เห็นว่าทั้งประเทศนี่ทุ่มไปที่พระองค์ท่าน

สำราญ – เอามติชนปิดท้ายหน่อยแล้วกันนะครับ “ถวายผ่าตัดในหลวง 4.48 ชั่วโมง ทรงปลอดภัย แพทย์พอใจไม่มีภาวะแทรกซ้อน”

สามารถ – คือการผ่าตัดนี่ถ้าไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนนี่แปลว่าปลอดภัย

สำราญ – อาจารย์เคยผ่าตัดบ้างไหมครับ

สามารถ – ไม่เคยครับ ผมไม่เคย

สำราญ – เราแค่ได้ยินคำว่าผ่าตัดเราก็กลัว

สามารถ – ผมเคยเข้าโรงพยาบาลแต่ไม่ได้ผ่าตัด นอนอยู่ซัก 7 วันแต่นานแล้ว ซัก 30 ปีที่แล้ว แต่ก็เห็นเลยครับว่าการนอนโรงพยาบาลกับการที่เราไปเยี่ยมคนป่วยมันต่างกันเยอะ คนป่วยนี่กังวลกับการเจ็บป่วย และก็รู้ว่าทุกข์ขนาดไหนนี่รู้ แต่คนไปเยี่ยมนี่กังวลมากกว่าเพราะไม่รู้ว่าคนป่วยทุกข์ขนาดไหน เจ็บป่วยขนาดไหนไม่รู้ คนเยี่ยมนี่กังวลกว่านะเพราะเขาไม่รู้ แต่คนป่วยนี่เขารู้แล้วเขาพอทนได้อะไรอย่างนี้นะ ยังพอไหวอะไรอย่างนี้

สำราญ – เอาล่ะครับ ท่านผู้ชมครับ กลับมาที่รายการของเราโดยปกติอีกทีนึงนะครับ วันนี้นี่ก็จะชี้แจงท่านผู้ชมซักนิดนึงเพื่อความเข้าใจร่วมกันนะครับ ก็เข้าใจว่าในเบื้องแรกใน 20 นาทีแรก อาจารย์สามารถก็มีประเด็นที่จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับท่านผู้ชมนิดนึง วันนี้คงว่าด้วยเรื่องของคำว่า “สมานฉันท์” ต้องให้อาจารย์สามารถเอาประเด็นเดียวนะครับ ท่านผู้ชมแสดงความเห็นได้ คิดเห็นได้ แย้งได้ ตั้งคำถามได้นะครับ ประเด็นคำว่า “สมานฉันท์” ซึ่งกำลังฮิตกำลังฮอต

สามารถ – ทำไมผมถึงเอาคำนี้มาพูดกัน ก็เพราะว่าคำนี้เมื่อก่อนเราก็ได้ยินคำว่า “คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ” มาแล้ว และก็ได้ยินล่าสุดก็คือว่าเรียกร้องให้มีการสมานฉันท์ เพื่อแก้วิกฤติทางการเมืองของนายกฯทักษิณ และรัฐจะเป็นคนเชื่อมต่อ ทีนี้ผมย้อนมาให้ท่านผู้ชมท่านผู้ฟังดูว่าทำไมถึงได้เรียกร้องคำนี้ คำนี้มันมีความหมายแค่ไหน อันแรกเลยนี่นะครับผมว่าคนทั่วไปนี่จะเข้าใจแบบเผินๆ เข้าใจลึกซึ้งจริงๆนี่มีไหมครับ คือผมอยากจะให้ดูรากศัพท์คำว่าสมานฉันท์ คำว่าสมานนี่นะมันแปลว่าประสาน แปลว่าเชื่อม ฉันทะแปลว่าความพอใจ ถามว่า 2 ตัวเข้ากันแล้วมีความหมายว่าอย่างไร ความหมายนี้เมื่อแปลตรงตามตัวอักษรก็คือว่า “ประสานความพอใจ , เชื่อมความพอใจเข้าด้วยกัน” ถามว่าความหมายที่มันโดยพยัญชนะเป็นอย่างนี้
ถามว่าวันนี้ถ้ามันเกิดขึ้นจริงจะได้อะไร มันเป็นทั้งลบและทั้งบวกนะครับ มันอยู่ที่ว่าใครกับใครสมานกันและเรื่องอะไร ถ้าสมมุติในเรื่องนี้นี่มีคน 2 พวก คือคนดีกับคนไม่ดี คนดีคือคนที่มีคุณธรรม คนไม่ดีคือคนที่ไม่มีคุณธรรมหรือมีน้อย ถ้าคนที่ไม่มีคุณธรรม 2 คนประสานกันนี่ใครเดือดร้อนครับ แน่นอนไม่ใช่ 2 คนแน่คนอื่นเดือดร้อน โจร 2 กลุ่มมาประสานความสัมพันธ์กัน หรือมาสมานฉันท์กัน ก็แปลว่าจะปล้นบ้านไหนแล้วสิ แปลว่าการสมานฉันท์นั้นถ้าตามหลักแล้วนะต้องทำเพื่อคนอื่น ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อคน 2 คนหรือ 3 คนก็แล้วแต่ แล้วต้องเน้นเรื่องดีเรื่องส่วนรวมเป็นหลัก สมานฉันท์เพื่อเอาตัวรอดในกลุ่มหรือในตัวบุคคลนี่ไม่เข้าข่ายของคำนี้นะ คำนี้ทำเพื่อส่วนรวม คือทำแล้วให้คนส่วนรวมอยู่ได้อยู่ดี ไม่เดือดร้อน

สำราญ – ไม่ใช่เพื่อส่วนตัวนะ

สามารถ – ไม่ใช่

สำราญ – ดังนั้นการที่สมมุติคนร้ายหรือโจรนี่นะ ไปคบคิดกันไปสมานฉันท์ แบบนั้นเขาไม่เรียกว่าสมานฉันท์

สามารถ – ก็แปลว่าสุมหัวกันปล้นบ้าน

สำราญ – สมานฉันท์นี่ระหว่างชั่วกับดีได้ไหม

สามารถ – ไม่ได้ ชั่วกับดีมันก็เหมือนน้ำกับน้ำมัน มันเชื่อมกันไม่ได้ ชั่วกับชั่วได้ ดีกับดีได้ แต่ว่าความหมายของสมานฉันท์ควรจะไปในทางดี เพราะว่าทำไมถึงว่าอย่างนั้นครับ ถามว่าถ้าสมมุติว่าเป็นความไม่ดีนี่นะ คน 2 คน 3 คนนี่รับได้พวกไม่ดีด้วยกันนะ แต่คนส่วนใหญ่รับไม่ได้เพราะว่าความดีนั้นเป็นมาตรฐานที่สังคมต้องการ ความชั่วนั้นเป็นมาตรฐานที่สังคมไม่ต้องการ ไม่มีใครอยากเห็นคนชั่วรวมหัวกันและปล้นคนดีนะ ในขณะเดียวกันคนอยากเห็นคนดีรวมหัวกันแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาส่วนรวมใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นความหมายของผมในที่นี้ก็คือว่า คนที่จะสมานฉันท์นี่ต้องมีคุณธรรม ตัวแรกนี่คุณธรรมของพุทธมีอยู่เรียกว่า “สัปปุริสธรรม” คือธรรมของคนดีมี 7 ประการ ผมไปอ่านดูแล้วมันน่าจะเข้ากับตรงนี้พอดี
ตัวแรกเลยต้องมีธัมมัญญุตา คือรู้จักเหตุ รู้ว่าอันไหนเป็นเหตุดี เป็นเหตุไม่ดี ต้องรู้ว่าอะไรคือเหตุ เหตุที่ว่านี้ทำให้เกิดผลดีหรือผลไม่ดี รู้เหตุไว้ก่อน ถ้าคุณจะไปสมานฉันท์ต้องถามว่าเพื่ออะไร เหตุที่ทำให้สมานฉันท์นี่เพื่ออะไร ถ้าทำอย่างนี้แล้วเกิดทุกข์หรือเกิดสุข ใครได้ใครเสีย ถ้าส่วนรวมได้ตัวเองอาจจะเสียก็เรียกว่าเสียสละถูกไหม ถ้าส่วนรวมเสียตัวเองได้เรียกเห็นแก่ตัวใช่ไหม ถามว่าตรงนี้คนที่จะทำการสมานฉันท์ต้องถามตัวเองว่าเหตุที่เข้ามาสมานฉันท์นี่ทำเพื่ออะไร ทำแล้วใครได้ เพราะฉะนั้นถามว่าคนที่เรียกร้องการสมานฉันท์นี่เข้าใจไหมว่าตรงนี้ทำเพื่ออะไร แต่ผมดูๆแล้วตอนนี้นะเพื่ออะไร
สอง อัตถัญญุตา รู้จักผล คือรู้ว่าผลตัวนี้มาจากเหตุอันไหน ก็คล้ายๆกับอันแรกนั่นแหละ ก็คือถ้าสมมุติว่าคุณสมานฉันท์สำเร็จแล้วนี่ ผลมันมาจากเหตุตัวไหน และผลเป็นอย่างไร ผลอันนี้ทำให้เกิดทุกข์ ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาอย่างนี้ อันที่สาม อัตตัญญุตา คือรู้จักตน อันนี้สำคัญมากๆเลย อยากจะให้คนที่สมานฉันท์นี่ใช้ตัวนี้ รู้จักว่าตนนี่โดยชาติตระกูล ยศศักดิ์ สมบัติบริวาร ความรู้ คุณธรรมมีอยู่แค่ไหน และก็ทำตัวให้สอดคล้องกับภาวะของตัว สถานภาพทางสังคมของตัวเองอยู่ตรงไหน ทำได้แค่ไหนทำแค่นั้น เพราะฉะนั้นคนที่สมานฉันท์ไม่ใช่อยู่ๆนาย ก. นาย ข. หรือคุณบอกว่าฉันจะสมานฉันท์ไม่ได้นะ ต้องถามว่าคนเขายอมรับให้คุณเป็นคนสมานฉันท์หรือเปล่า คุณมีคุณธรรมเพียงพอที่จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นอันนี้ก็ไม่ได้ผล ก็แปลว่าไม่ควรเอาตัวเองมาเป็นที่ตั้ง แต่ควรจะถามว่าคนอื่นยอมรับเราไหม สถานภาพตรงนี้เราทำได้แค่ไหน
และต่อมาก็คือมัตตัญญุตานี่ก็ดีนะครับ รู้จักประมาณในการแสวงหา ก็คือเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ บริโภคแต่พอควรนี่คือเศรษฐกิจพอเพียงนะ รู้จักประมาณ มีรายได้เท่านี้ควรจะจ่ายเท่าไหร่ มีสถานภาพอย่างนี้ควรจะทานอะไร ใช้ยังไง และก็ข้อที่ 5 กาลัญญุตาอันนี้ก็สำคัญ การเป็นผู้รู้จักกาล รู้จักกาลเทศะ สมควรประกอบกิจการนั้น ถามว่าตอนนี้ถ้าคุณจะสมานฉันท์นี่ กาลและเวลาตอนนี้สมควรไหม เลยมาหรือยัง หรือว่ายังไม่ถึง ถ้าเลยมาแล้วสมานฉันท์ก็ไม่มีประโยชน์ ยังไม่ถึงก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าอย่าลืมว่ากาลเวลานั้นต้องพอดี ไม่สายเกินไปไม่เร็วเกินไป คือสอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ ตอนนี้มันสอดคล้องไหม มันสอดคล้องหรือเปล่า
อันที่ 6 ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน ก็คือรู้ว่าชุมชนไหนเข้าไปแล้วต้องทำอย่างไร ประพฤติตัวอย่างไร สมมุติว่าคนธรรมดานี่นะครับอาจจะอยู่ชุมชนคนธรรมดา พอเข้าไปสู่ชุมชนการเมืองนี่นะ ในฐานะบุคคลสาธารณะนี่ทำยังไง มีพฤติกรรมอย่างเดิมได้ไหม พฤติกรรมอย่างนาย ก. นาย ข. ที่คุณเคยทำนี่คุณทำได้ไหม หรือว่าทำไม่ได้อันนี้ต้องถามนะ เมื่อคุณเป็นบุคคลสาธารณะแล้วนี่มันแตกต่างจากบุคคลธรรมดาแน่นอน และคุณจะไปมีพฤติกรรมแบบเหมือนเดิมคงทำไม่ได้ สุดท้ายนี่คือปุคคลัญญุตาแปลว่ารู้จักคนอื่น รู้จักว่าคนไหนควรคบไม่ควรคบ ตอนนี้ต้องฝากไว้นะครับ ใครเชิญคุณไปสมานฉันท์ต้องถามว่าไอ้นี่ควรไปคุยกับมันหรือเปล่า คุยแล้วได้อะไร คุยแล้วเสียอะไร อันนี้ต้องฝากใครคิดจะไปประสาน ไปสมานฉันท์นะครับ

สำราญ – นี่คือสัปปุริสธรรม 7 อย่าง ใช้สำหรับอะไรครับ

สามารถ – คุณสมบัตินี้น่าจะใช้สำหรับคนที่คิดจะไปสมานฉันท์ และกำลังคิดว่าจะทำสมานฉันท์นี่แหละ ลองไปอ่าน 7 ข้อนี้ดู แล้วจะได้ประโยชน์ในการสมานฉันท์ ถ้าไม่อย่างนั้นนะจะกลายเป็นการเพิ่มพลัง และทำให้สังคมได้รับความเดือดร้อนมากกว่าที่จะได้

สำราญ – รวมความแล้วนี่การสมานฉันท์ก็มีความหมายไปในทางบวกนะครับ อาจารย์

สามารถ – ต้องใช้ในทางบวกครับ

สำราญ – ต้องใช้ในทางบวกนะครับ สมานฉันท์ร่วมกันโกงกิน ร่วมกันทำเรื่องฉิบหายนี่ไม่ได้

สามารถ – ไม่ได้ นั่นเขาเรียกว่าสุมหัว

สำราญ – สมานฉันท์นี่มันเกิดขึ้นเพราะมันต้องขัดแย้งถูกไหมครับ แต่เป็นเรื่องความขัดแย้งของคนชั่ว

สามารถ – ใช่ ของคนดี เป็นเรื่องความคิดเห็น หลักการไม่ตรงกันก็ปรับให้มันตรงกันเสียแค่นั้นเอง เพราะฉะนั้นก่อนจะมาถึงตัวนี้มันจะมี 2 ตัวที่คิด อย่างพระนี่นะถ้าจะสมานฉันท์ได้ต้องมีอะไร 1. ทิฐิสามัญญุตา มีความเห็นเหมือนกัน 2. ศีลมัญญุตา ศีลเท่ากัน แต่อย่างนักการเมืองนะ ต้องมีแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันเหมือนกัน เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อประชาธิปไตย

สำราญ – สมมุติอย่างกรณี กอส.นี่นะ เอาทางโลกดีกว่านะจะได้พูดเข้าใจง่ายๆ อย่างกรณีคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ อาจารย์คงจำได้นะครับเรื่องของภาคใต้ รัฐบาลตั้งขึ้นมาก็เพื่อหวังให้คนในชาตินี่คิดเห็นไปในทางเดียวกัน ในเรื่องของการช่วยกันเรื่องปัญหา 3 จังหวัด

สามารถ – ถ้าแนวคิดของผมนะครับ สมานฉันท์จะได้ผลตรงนั้น กรรมการชุดนี้ต้องรู้จักความพอใจของคนที่ตัวเองจะไปสมาน ว่าความแตกต่างกับความพอใจมันเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันอยู่นี่มันมาจากอะไร และความพอใจที่ว่านั้นคืออะไร เป็นต้นว่าความพอใจทางวัฒนธรรมซึ่งแตกต่างนะครับ ถ้าจะให้ 2 กลุ่มนี้มาสมานฉันท์นี่จะทำอย่างไร

สำราญ – เอาอย่างนี้ดีกว่าเอาของจริงเลยเวลานี้ คุณบรรหาร ศิลปอาชา อย่างตอนนี้ก็คงจะรับทราบกันดีว่า คุณบรรหารกำลังจะถูกชูให้เป็นตัวกลางในการสมานฉันท์ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศนี้ ระหว่างรัฐบาลทักษิณ ระบอบทักษิณ กับพันธมิตรก็ตาม หรือกับประชาชนทั่วไปก็ตาม กับพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ตามนี่นะครับ บรรยากาศเหล่านี้นี่จริงๆแล้วมันเป็นเหตุเป็นผลกับการสมานฉันท์ไหม

สามารถ – อันแรกเลยคุณบรรหารนี่นะครับ ผมไม่ทราบความคิดท่านนะ แต่อันแรกท่านต้องถามตัวเองว่า 1. กาลเวลาตอนนี้คำว่าสมานฉันท์ยังใช้ได้อยู่ไหม มันสายเกินไปหรือว่ายังไม่ถึงเวลา ถามตัวเองนะครับ อันที่สองถามว่าเหตุที่ท่านจะต้องไปสมานฉันท์นั้นน่ะ ท่านรู้ไหมว่ามันมาจากอะไร จะได้ผลอะไร ถ้าดูแล้วเหตุนี่นะ ถามว่าความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มขึ้นตั้งแต่ยุบสภามาถูกไหม และก็ฝ่ายค้านไม่ลงรับเลือกตั้ง สมานฉันท์ครั้งนี้ก็หวังเพื่อให้มีเลือกตั้ง ถ้าถามว่าเพื่อให้มีการเลือกตั้งนี่ ความคิดนี้ใครได้ประโยชน์ และถ้าสมานฉันท์เพื่อให้มีการเลือกตั้งนักการเมืองได้ประโยชน์ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์นี่ ควรสมานฉันท์หรือไม่ ตามหลักนี้ควรสมานฉันท์ไหม

สำราญ – ถ้าอาจารย์สามารถเป็นคุณบรรหารจะสมานฉันท์ไหม จะยอมเล่นบทนี้ไหม

สามารถ – ผมจะถามตัวเองว่า ตกลงนี่มันเลยไปแล้วหรือยังไม่ถึงเวลา 2. เหตุที่ต้องสมานฉันท์คืออะไร ความขัดแย้งทางการเมืองใช่ไหม และสมานฉันท์หวังผลเพื่อการเลือกตั้งใช่ไหม และต้องถามว่าเลือกตั้งแล้วประชาชนได้อะไร ถ้าการเมืองยังเหมือนเดิมแล้วได้อะไร หรือนักการเมืองคนเดิมได้อะไร ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่เหตุการณ์นะครับ ไม่อยู่ที่เรื่องอยู่ที่คนนะครับ ปัญหานี่อยู่ที่คนนะ และคนยังอยู่เหมือนเดิมนี่ได้อะไร ผมเชื่อว่าคุณบรรหารน่าจะเข้าใจ กลับไปอ่านสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี่ท่านเข้าใจนะ

สำราญ – ดังนั้นที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล บอกคุณบรรหารว่าเดี๋ยวป๋าเติ้งจะเสียคนตอนแก่นะ ระวังไว้

สามารถ – อันนี้ถูกต้อง

สำราญ – เป็นไปได้

สามารถ – ถ้าท่านไม่เข้าใจ 7 ข้อนี้ท่านเป็นไปได้แน่ ถ้าท่านบอกว่าเหตุที่ท่านมาประสานก็เพราะว่าแตกร้าว เพราะว่าขัดแย้งกัน ไม่มีการเลือกตั้ง ประสานเพื่อให้การเลือกตั้ง แต่ถามประชาชนเลือกไม่เลือกฉันไม่ได้อะไรเลย เผลอๆฉันเสียด้วย และคุณบรรหารได้อะไร ดีไม่ดีนะครับเด็กการเมืองรุ่นใหม่จับถอนหงอกเอานะจะบอกให้ ผมก็เป็นห่วงคุณบรรหารนะ ในฐานะผู้อาวุโส

สำราญ – แล้วเราคิดเชิงบวกให้คุณบรรหารหน่อยไม่ได้หรือ สมมุตินะ เอาล่ะ โดยการสมานฉันท์เล่นบทนี้อาจจะมีวาระส่วนตัวซ่อนเร้นอยู่บ้าง แต่ว่าในฐานะที่เป็นพลเมืองอาวุโสเขาก็คิดอ่านเพื่อให้บ้านเมืองมันจบเสียที

สามารถ – ถามว่าอย่างนี้นะครับ บ้านเมืองในขณะนี้ กาลัญญุตาเรื่องนี้ ปัญหาอยู่ในศาลครับ ความรับผิดชอบตอนนี้อยู่ที่ศาล ทำไมต้องมาสมานฉันท์เพื่อกดดันศาล ไปทำก่อนศาลทำไมล่ะ ก็ศาลก็ทำอยู่ ตอนนี้ใครรวมพลังเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ในขณะที่ศาลบอกว่า กกต.ต้องออกไป แล้ว กกต.ยังอยู่นี่ ผมถือโดยส่วนตัวว่าขัดแย้งศาลนะ ก็ศาลท่านยังทำอยู่นี่ เพราะฉะนั้นคุณบรรหารถ้าเข้าใจตัวนี้ผมก็ว่าท่านต้องคิดหนัก การไปรวมหัวกันตอนนี้ก็เท่ากับบอกให้มีการเลือกตั้ง และศาลบอกว่า กกต.ต้องออกไปก่อน แล้ว กกต.ยังไม่ออกนี่มันแปลว่าอะไร แปลว่ากดดันหรือเปล่า

สำราญ – มีบางท่านถามมาว่าคุณทักษิณนี่อยู่ในฐานะที่มีสิทธิจะใช้คำว่าสมานฉันท์ไหม

สามารถ – มีครับ ท่านมีสิทธิอยู่แล้ว ทุกคนมีสิทธิ เพียงแต่ว่าเจตนาคืออะไร เพื่อใคร ทุกคนมีสิทธิครับ คุณก็มี ผมก็มี

สำราญ – ถ้าท่านมีเจตนาเพื่อให้เหตุการณ์มันจบ มีการเลือกตั้ง และตัวจะได้เป็นนายกฯต่อ

สามารถ – ไม่ใช่ แล้วประชาชนจะได้อะไร

สำราญ – ได้การเลือกตั้ง

สามารถ – การเลือกคั้งนี่มันแปลว่าดีหรือไม่ดี มันดาบสองคมนะ เลือกตั้งได้คนดีมามันก็ดี เลือกตั้งได้คนไม่ดีมาก็ไม่ดีนะ คุณต้องดูให้ดีๆว่าประชาชนได้อะไร ประชาชนจะได้ก็ต่อเมื่อ 1. คนดีมา และก็มาทำดีเพื่อเขา แล้วตรงนั้นเขาแน่ใจหรือเปล่า เขาแน่ใจไหม ใครตอบได้ใครการันตีได้

สำราญ – เอาว่าคือคำว่าสมานฉันท์รวมความในชั้นนี้ก็คือ สมานฉันท์นั้นนี่ต้องมีความหมายไปในเชิงบวก ในเชิงที่เป็นคุณ

สามารถ – เชิงที่ส่วนรวมได้ประโยชน์

สำราญ – และคนที่สมานฉันท์นั้นนี่คือไม่ใช่คนชั่ว

สามารถ – ถูกค้อง เป็นสัตบุรุษ เป็นคนรู้จักตน รู้จักกาล รู้จักประมาณ รู้จักเหตุ รู้จักผล

สำราญ – คือไม่ถึงกับต้องเป็นคนดี เป็นคนทั่วๆไปนี่แหละ แต่ว่าความขัดแย้งทางความคิดมันเกิดขึ้นหรือขัดแย้งทางอะไรก็แล้งแต่

สามารถ – ความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความแตกสามัคคี และก็มาสมานฉันท์เพื่อลดความขัดแย้ง เพื่อให้ส่วนรวมได้ประโยชน์นี่ผมเห็นด้วย

สำราญ – นี่คือคำว่าสมานฉันท์

สามารถ – ถูกต้อง

สำราญ – คำว่า “สมานฉันท์” นี่มันเป็นภาษาอะไรนะครับ อาจารย์

สามารถ – คำว่าสมานนี่เป็นภาษาเขมร ฉันท์นี่เป็นบาลี มันเป็นคำไทยมาจากเขมรเชื่อมกับบาลี

สำราญ – วันนี้ก็ถ้าใครว่างก็แวะเข้าสวนลุมชมรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ คอนเสิร์ตการเมืองได้นะครับ มีประเด็นที่จะวิเคราะห์วิจารณ์กันมาก การเมืองร้อนครับตอนนี้ ร้อนแล้วก็กำลังใกล้ไคลแมกซ์แล้ว ใกล้บทสรุป

สามารถ – เดิมมาสู่ฉากสุดท้าย มันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ฉากสุดท้ายของนักการเมืองบอกมีการเลือกตั้ง

สำราญ – อันนี้เป็นความอยากของอาจารย์หรือครับ

สามารถ – ไม่ๆ คือวิเคราะห์สถานการณ์ ฉากสุดท้ายคือพวกนักการเมืองหวังว่าเลือกตั้งแล้วจบไง อย่างที่เขาคิดสมานฉันท์กันนี่ ฉากสุดท้ายของคนที่คิดว่าไม่มีเลือกตั้งก็คิดว่ามีรัฐบาลชั่วคราว ก็คิดว่าไปนะครับแล้วแต่ เป็นอิสระทางความคิด

สำราญ – ก็มีความคิดเห็นส่งมานะครับ คุณโสภณบอกว่าผู้ที่จะมาสมานฉันท์ได้ ต้องลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียก่อน แล้วค่อยมาสมานฉันท์

สามารถ – ก็ถูกในระดับหนึ่งแต่ยังไม่พอ มันต้องลดละความคิดที่เคยทำไม่ดีออกไป ไม่ใช่แค่ท่านลาออกจากตำแหน่ง ต้องถอนรากเหง้าความชั่วที่อยู่ในความคิดของท่านออกไป

สำราญ – อันนี้หนักกว่าคุณจำลองอีกนะ คุณจำลอง ศรีเมืองบอกว่า คุณทักษิณลาออกไป สมานฉันท์ก็เกิดขึ้นได้ทันที ต้องมากกว่านั้นอีกหรือครับ

สามารถ – คือคนที่สมานฉันท์ไม่ได้อยู่ที่ภาวะภายนอกนะ มันอยู่ในภาวะความคิดที่ฝังรากหยั่งลึกอยู่ในจิตใจนั่น มีโอกาสมันก็คิดอีกทำอีกสิ ไม่ได้ ต้องลดละความคิดที่ไม่ดีก่อความเสียหายให้สังคม เลิกเสีย ละเสีย แล้วก็ทำตัวใหม่อย่างนั้นนี่โอเค

สำราญ – สมานฉันท์จริงๆไม่ใช่ยาลดไข้นะครับ อาจารย์

สามารถ – ไม่ใช่ มันยาถอนรากถอนโคนเหมือนยาไทยนั่นแหละ มันต้องเป็นอย่างนั้นแหละ

สำราญ – บางคนนี่เขาคิดว่าสมานฉันท์นี่คือลดอุณหภูมิไปก่อน

สามารถ – สามัคคีทางกายจำไว้ว่าไม่มีประโยชน์ ต้องสามัคคีทางใจ มันคนละเรื่อง อย่างที่เขาเรียกว่าปากปราศรับ น้ำใจเชือดคอน่ะ

สำราญ – ทีนี้มาดูอีกเรื่องหนึ่งนะครับ วันก่อนคุณทักษิณไปที่วัดธรรมกาย พูดยาวมาก คือตอนแรกผมไม่คิดว่าจะพูดเรื่องแบบนั้นนะ ตอนแรกก็คิดว่าจะไปถวายพระพรอย่างเดียว หรือพูดธรรมะธัมโมเล็กน้อยวรรคสองวรรค แต่ที่ไหนได้ไปพูดเรื่องการเมือง SML เรื่องนโยบายรัฐบาล ก็เปรียบเปรยนะครับ มีอยู่ท่อนหนึ่งที่หลายคนคงฟังแล้วนี่อยากจะร่วมวิสัชนาด้วย คุณทักษิณพูดถึงสถานการณ์ของประเทศ ถ้าเปรียบเสมือนเรือที่แล่นอยู่กลางทะเล ถ้ามีการตีหัวกัปตัน แม้ชนะแต่ในที่สุดแล้วก็ไปไม่ถึงฝั่ง เพราะขาดคนคัดท้ายจะอับปางลงเสียก่อน ประเทศก็เหมือนกัน ถ้าทะเลาะกันก็จะไม่เหลือ แต่หันมาดูมีแต่การปั้นน้ำเป็นตัว โกหกแบบไม่กลัวคุกกลัวตะราง ทะเลาะกันจนพัง นี่ส่วนหนึ่งนะ และอีกตอนหนึ่งก็บอกว่า คือตอนนี้บ้านเมืองนี่เราต้องไม่ยึดติดว่าเป็นตัวกู ของกู ทำให้เกิดความแตกแยก โดยยึดหลักความสมานฉันท์แบบพุทธศาสนา ใช้พรหมวิหาร 4 ใช้ความเมตตาเป็นหลัก คือเมตตาก็เป็น 1 ในพรหมวิหาร 4 ทำไมคุณทักษิณถึงเน้นคำว่าเมตตา กลอนพาไปหรือว่าอย่างไรครับ อาจารย์

สามารถ – ผมเข้าใจว่าเป็นความเคยชิน พูดด้วยความเคยชินที่สังคมทั่วไปชอบพูดกัน จริงๆแล้วคำว่าเมตตานี่คือมันเป็น 1 ในหน้าที่ของผู้เป็นพรหม หรือผู้ที่เรียกว่าพรหม อย่างในพุทธศาสนานี่พ่อแม่ถือว่าเป็นพรหมของบุตร เพราะพ่อแม่มีหน้าที่ 4 ข้อ พอมีเมตตาต่อลูกก็คือปรารถนาให้ลูกเป็นสุข 2. มีกรุณาเมื่อเห็นลูกเป็นทุกข์ก็อยากให้พ้นทุกข์ 3. เมื่อลูกได้ดีก็พลอยยินดี 4. เมื่อลูกโตเกินไปที่จะรับผิดชอบตามเมตตา กรุณา มุทิตา ก็ปล่อยวางเฉย ก็คือเขาโตแล้วอยู่ได้แล้วอันที่หนึ่ง อันที่สองคือลูกมีความผิดและผิดจริง ต้องได้รับผลของกรรมก็วางเฉยเหมือนกัน ก็คืออุเบกขา

สำราญ – 4 ข้อนี่คงสำคัญเท่ากันแหละนะ

สามารถ – มันขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ต้องมีครับ คือหน้าที่ของ 4 ข้อนี้มันหน้าที่ต่างกัน ต่างเวลาต่างหน้าที่แต่ต้องมี ถ้าขาดอันใดอันหนึ่งก็ไม่เป็นพรหม

สำราญ – ถ้าให้เลือกข้อเดียวนี่เลือกได้ไหมครับ อาจารย์

สามารถ – เลือกข้อเดียวเลือกได้ แต่ก็เท่ากับว่าพรหมเหลือหน้าเดียวสิ ก็ไม่เป็นพระพรหมสิเพราะว่าพระพรหมต้อง 4 หน้า ถ้าคุณเลือกหน้าเดียวเมื่อไหร่ พระพรหมเหลือหน้าเดียวเมื่อไหร่ไม่เป็นพรหมนะครับ เป็นอย่างอื่นแล้ว คือพราหมณ์นี่เชื่อว่าพระพรหมมี 4 หน้า พระพุทธเจ้าก็เลยประยุกต์ว่า 4 หน้าที่ว่านี่คือหน้าที่ ท่านเลยสอนพรหมวิหาร 4

สำราญ – ที่ผมดูนี่ผมว่าข้อมุทิตาลองคิดกันเล่นๆ อย่าไปถือแก่นสารที่ผมจะพูดนะ ผมว่าข้อมุทิตานี่นะ ยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุขนี่นะครับ ผมว่าคนนี้ใจใหญ่นะ

สามารถ – เป็นความใจกว้างเพื่อลดความอิจฉาริษยาไง เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีก็พลอยยินดีด้วย ก็ไม่ความแก่งแย่ง ไม่มีการบั่นทอน ไม่มีการทำลายไง เป็นความใจกว้างไม่ผิด

สำราญ – คือผมนี่ชอบคนที่มีมุทิตา

สามารถ – คนที่มีมุทิตานี่ใจกว้างเป็นมหาสมุทรเลยนะ เห็นคนอื่นได้ดีนี่ดีแล้ว สมควรจะได้ ไม่ใช่บอกว่าได้ได้อย่างไร งานก็ไม่ทำ ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นไม่ใช่มุทิตาแล้วครับแบบนั้นน่ะ

สำราญ – ยังมีอีกคำนึงนะครับที่น่าสนใจ คำว่า “หิริโอตตัปปะ”

สามารถ – คือจริงๆแล้วนี่คนทั่วไปพูดคำนี้จนติดปาก ที่จริงแล้วคำนี้ความหมายลึกๆมันจริงๆนี่นะ ก็คือว่าละอายนี่ไม่ใช่เหมือนกับคนละอายนี่ไม่ใช่ หมายถึงรู้สึกในจิตใจว่าอันนี้ไม่ดี อันนี้ชั่ว อันนี้เลว และไม่ทำ รู้สึกนี่ไม่ใช่เพราะว่ากลัวคนอื่นนะ รู้สึกเอง ไม่ทำบาปเพราะว่าละอายต่อการกระทำ เห็นว่าเป็นสิ่งเลวร้าย เห็นผลไม่ดีอย่างนี้นะ ไม่ใช่เกิดจากภายนอกนะเกิดจากภายใน โอตตัปปะก็เหมือนกันก็เกิดจากภายในเหมือนกัน ไม่ทำบาปเพราะกลัวผลของบาป คือรู้สึกเองนะไม่ใช่ว่าคนอื่นมาบังคับ

สำราญ – โอตตัปปะนี่ความหมายของมันคืออะไร

สามารถ – กลัวผลบาป หิริเกิดก่อน โอตตัปปะเกิดหลัง หิรินี่ละอาย รังเกียจ ไม่อยากทำ ไม่ทำ โอตตัปปะนี่กลัวผลของบาปก็เลยไม่ทำ มันต่างกันนะ หิรินี่คือรังเกียจว่าบาปเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทำ ไม่ควรเข้าใกล้ แต่โอตตัปปะนี่เกรงกลัวผลของมันเลยไม่ทำ

สำราญ – มีหิริก็ได้ แต่ว่าถ้ามีโอตตัปปะได้ก็ยิ่งดี

สามารถ – เป็นการตอกย้ำ คนไม่ทำบาปเพียงแต่ว่าเห็นว่ามันไม่ดี มันเป็นสิ่งเลว ไม่อยากทำ ไม่เข้าใกล้ก็พอแล้ว แต่ว่ายิ่งมีโอตตัปปะคือกลัวก็ยิ่งดีขึ้นไป ยิ่งชัด

สำราญ – ก็เลยเป็นที่มาของละอายชั่วกลัวบาปนะ เขาบอกว่าธรรมะข้อนี้นี่เหมาะกับนักการเมืองมาก

สามารถ – นี่หนักเลย ควรอย่างยิ่งเลย ทันทีที่ได้รับตำแหน่งนะ มองดูอะไรผิดอะไรถูกนะ ทำสิ่งถูกสิ่งผิดไม่ทำก็พอแล้วนะ ไม่ทำอย่างเดียวไม่พอทำให้มันถูกด้วย ทำสิ่งผิดให้ถูกนี่คือหน้าที่ของนักการเมือง ไม่ใช่ผิดก็ปล่อย

สำราญ – แต่คนที่จะละอายได้นี่ มันต้องยังไงครับ

สามารถ – มันต้องคนมีศีล คนมีธรรม ศีลกับธรรมนี่มันเป็นพื้นฐานของคนละอายบาป ละอายความชั่ว อยู่ๆคนไม่มีศีลไม่มีธรรม ความละอายไม่มีหรอก มันจะละอายยังไง

สำราญ – เอาล่ะครับ ก็ฝากไว้ตามนี้ก่อนนะครับ และย้ำอีกทีนะครับ เสาร์-อาทิตย์หน้า 29-30 กรกฎาคม 2549 มีงานอนุรักษ์สุขภาพครั้งที่ 21 มีทั้งสาระและก็มีกิจกรรมมากมายที่อาคารบ้านเจ้าพระยาแห่งนี้ เรียนเชิญทุกท่านนะครับ และก็วันอาทิตย์นี้ใครที่อยู่ กทม.ก็ไปเลือกตั้ง สก.สข.นะครับ ที่ชัดเจนก็คือเย็นวันนี้เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร-คอนเสิร์ตการเมือง ที่สวนลุมพินี พบกับคุณสนธิ คุณสโรชา คุณอัญชลี และก็คุณยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที และก็แขกรับเชิญอีกมากมายหลายท่านนะครับ ที่จะร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกและก็เสวนาสัมมนานะครับ เอาล่ะครับ เวลาหมดจริงๆ วันนี้อาจารย์สามารถ มังสัง ผมสำราญ รอดเพชร นะครับ ก็ต้องกราบลาไปก่อนติดตามรับชมได้ใหม่ในวันศุกร์หน้า วันนี้ลาแล้วครับ สวัสดีครับ

************************************************************************
กำลังโหลดความคิดเห็น