พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งลงมาแล้ว โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.เป็นต้นไป โดยจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันนี้ (21 ก.ค.) เผยทรงกำชับให้เรียบร้อยและยุติธรรม
วันนี้ (21 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายรองพล เจริญพันธุ์ รักษาราชการเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงรายละเอียดของพระราชกฤษฎีกา ดังนี้
พระราชกฤษฎีกา แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2549
(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2549
เป็นปีที่ 61 ในรัฐกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 กำหนดให้ยุบสภาผู้แทรราษฎรและกำหนด ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เม.ย.พ.ศ.2549 ต่อมามีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าการดำเนินการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พ.ค.พ.ศ.2549 ว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เม.ย.พ.ศ.2549 เป็นการเลือกตั้งที่ทำให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 2 มาตรา 3 มาตรา 104 วรรคสาม และมาตรา 144 และเมื่อกำหนดระยะเวลาที่จะต้องจัดให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร
ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ได้ล่วงพ้นหกสิบวันตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 116 วรรคสองไปแล้ว จึงให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป อันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้มีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวัน นับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 116 วรรคสองต่อไป
บัดนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งว่า ได้หารือพรรคการเมืองแล้วจึงเสนอให้วันที่ 15 ต.ค.2549 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม และเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งมีเวลาเพียงพอในการเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างทัดเทียมกัน และให้เป็นไปตามคำวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ สมควรตรากฤษฎีกาขึ้นไว้เป็นการล่วงหน้า โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงระยะเวลาที่แน่นอน ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยทั่วกัน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 116 มาตรา 221 และมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณราโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2549”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2549 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่อันเนื่องมาจากบยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ต.ค. 2549
มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ได้อ่านพระราชกฎษฎีกาเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว นพ.สุรพงษ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักราชเลขาธิการฯ ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ข้อ ได้แก่ 1.เหตุผลที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฤษฎีการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยเพราะมีพระราชประสงค์ให้ประเทศชาติกลับไปสู่ความสงบโดยเร็ว 2.มีพระราชประสงค์ให้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไปให้มีความเรียบร้อย และยุติธรรม
ด้าน นายรองพล กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้รับพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันนี้ (21 ก.ค.) และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหา 2549 เป็นต้นไป ก่อนจะส่งเรื่องไปรัฐสภา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องที่ยังเป็นคดีอยู่ในศาลที่ให้ยุบพรรคและมีการฟ้องร้องกกต.จะดำเนินการต่ออย่างไร นายรองพล กล่าวว่า การประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาจะทำให้กฤษฎีกานี้มีผลบังคับในวันที่ 24 ส.ค.ส่วนคดีในศาลคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญคงไต่สวนไม่แล้วเสร็จ เพราะเป็นการไต่สวนหลายพรรคด้วยกัน แต่ถึงอย่างไรการเลือกตั้งได้กำหนดแล้งต้องเลือกตั้งในวันที่ 15 ต.ค.และศาลต้องทำหน้าที่ต่อไป ไม่มีผลกระทบ เป็นการทำงานคู่ขนานกันไป รวมทั้งถึงคดีที่ฟ้องกกต.ด้วย
เมื่อถามว่า ถ้าผลการตัดสินคดี กกต.มีความผิดจะมีผลอย่างไรต่อการจัดการเลือกตั้งหรือไม่ นายรองพล กล่าวว่า กรณีนั้นอย่าเพิ่งไปคิดว่า กกต.เขาทำผิด อย่าเพิ่งให้ความสนใจปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลทำการไต่สวนจะดีกว่า จะผิดหรือถูกอย่าเพิ่งไปคาดหมาย
ต่อข้อถามว่าใครจะเป็นคนกำหนดรายละเอียดขั้นตอนการรับสมัครเลือกตั้ง นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องการประกาศรับสมัครนั้นให้เป็นเรื่องของกกต.เป็นผู้กำหนดรายละเอียดต่อไป ซึ่งในพระราชกฤษฎีระบุไว้ว่าให้นายกรัฐมนตรี และกกต.รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
เมื่อถามต่อว่า ศาลฎีกาชี้ว่า กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งต่อไปได้อีก นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนการประกาศพระราชกฤษฎีกาก็ต้องเป็นไปตามที่ประกาศในวันนี้ ส่วนเรื่องอื่นให้เป็นเรื่องที่ว่าไปตามกระบวนการ เรายังไม่สามรถคาดหมายได้ว่าขบวนการดังกล่าวจะมีผลออกมาในทางใด ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ เพียงแต่ว่าเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาผู้ที่รักษาการต้องดำเนินการไปตามพระราชกฤษฎีกา
ผู้สื่อข่าวถามว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาออกมาจะมีผลดีหรือผลเสีย นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามันชัดเจนอยู่แล้ว เพราะได้มีพระราชกระแสประกอบพระราชกฤษฎีกาที่ได้อัญเชิญมาเปิดเผยมาแล้วในข้างต้นเหตุผลที่ทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะประสงค์อยากเห็นประเทศชาติสงบเรียบร้อย อันนั้นถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงประสงค์ให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย
เมื่อถามว่า การออกกฤษฎีกาจะแก้ปัญหาประเทศชาติได้หรือไม่ เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่มีการแก้ไข นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตนอยากให้ไปฟังพระราชกระแสในข้อที่ 1 เชื่อว่าพระราชกระแสที่ราชเลขาฯ ได้อัญเชิญมาเพื่อที่จะให้เห็นว่าทรงมีพระราชประสงค์ในการออกพระราชกฤษฎีกานี้มาเพื่อความสงบสุขเรียบร้อยมาสู่บ้านเมือง ตนถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกฝ่ายในบ้านเมืองจะต้องตอบสอนงกระแสพระราชกระแสนี้ว่า เราน่าจะได้เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อที่จะให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบเรียบร้อย และที่มีพระราชกระแสในข้อที่ 2 ในทุกฝ่ายช่วยกันทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องสนองกระแสนี้ให้ดีที่สุด
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าบ้านเมืองไม่ปกติใช่หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่เป็นห่วงบ้านเมืองในขณะนี้ จึงคิดว่าเป็นหน้าที่ของพสกนิกรทุกคนจะต้องตอบสนองพระกระแสนี้เพื่อให้กลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว ซึ่งการเป็นห่วงเช่นนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนคงตระหนักดีอยู่แล้วและต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เมื่อถามเป็นกระแสพระราชดำรัสถึงนายกฯโดยตรงใช่หรือไม่ โฆษกฯ กล่าวว่า เป็นพระราชกระแสที่ให้ราชเลขาธิการอัญเชิญมาให้นายกฯ ส่วนกฎหมายเลือกตั้งก็จะต้องดำเนินการต่อไป แต่ที่สำคัญคือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยทำให้เดินหน้าต่อไปเพื่อให้มีการเลือกตั้งใน วันที่ 15 ต.ค. ซึ่งจะช่วยทำให้สถานการณ์ต่างๆ ในขณะนี้ดีขึ้น และจะได้มีครม.ชุดใหม่มาฟื้นฟูการทำงานของรัฐบาลที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่จะเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการเลือกตั้งครั้งใหม่ และกกต.ชุดเดิม คนก็จะไม่ยอมรับอีก นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในพระราชกฤษฎีกา ให้ประธาน กกต.เป็นผุ้รักษาการตามกฎหมายนี้ ดังนั้นเขาก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเรื่องอื่นๆ เรายังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะเรื่องยังอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไปเพื่อให้ทุกอย่างกลับคืนสู่ปกติ และเชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กกต. พรรคการเมือง องค์กรต่างๆ จะมีบทบาทที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งก็จะต้องช่วยกัน ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามที่ทรงมีพระราชกระแสไว้
เมื่อถามว่า ต่อไปนี้ผู้ที่เคลื่อนไหวก็ควรหยุดใช่หรือไม่และปฏิบัติตามพระราชกระแส โฆษกฯ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องรับพระราชกระแสนี้ไปปฏิบัติ เพราะพระราชกระแสนี้ชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อถามว่าพระราชกระแสนี้ให้ศาลดำเนินคดีกับ กกต.โดยเร็วหรือไม่ โฆษกฯ กล่าวว่า อย่าตีความไปอย่างนั้น เมื่อถามต่อว่าแต่ศาลชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ระบุว่าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม โฆษกฯ กล่าวว่า ก็กระแสพระราชฯ ชัดเจนอยู่แล้วว่าให้ผู้ที่รับผิดชอบหน้าที่เหล่านี้ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด อะไรที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินไปตามนั้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องสำนึกและนำพระราชกระแสนี้ไปปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีโปรดเกล้าฯ ลงมา รัฐบาลโล่งอกเลยใช่หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นรัฐบาล ตนมองว่าทุกฝ่ายอยากเห็นทางออกของบ้านเมืองว่าอยู่ที่ใด ในการที่ทรงโปรดเกล้าฯลงมา ก็ถือว่าทำให้บ้านเมืองมีทางออก ทุกฝ่ายจะเห็นว่าเรากำลังเดินไปสู่ทางออกที่เป็นไปตามประชาธิปไตย จะมีการเลือกตั้งวันที่ 15 ต.ค. เมื่อถามว่าในส่วนของพรรคจะดำเนินการอย่างไร นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ก็จะมีการเรียกแกนนำพรรคมาหารือเพื่อเตรียมความพร้อมรับการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ หนังสือที่ราชเลขาฯส่งมาเป็นหัวกระดาษตราครุฑ ลับเฉพาะ เลขที่ รล.009.2/14050 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2549 โดยระบุเป็นหนังสือที่ส่งถึงรักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้รับหนังสือเมื่อเวลา 10.50 น.