xs
xsm
sm
md
lg

"สุรินทร์"ชำแหละ"แม้ว"แหกธรรมเนียมการทูต - หวังยกตัวเป็น"ฮีโร่ ปชต."

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีต รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสภาท่าพระอาทิตย์ (13 ก.ค.49) เผย “แม้ว” ทำผิดธรรมเนียมการทูต เพราะทำจดหมายไปยังประเทศต่างๆด้วยเรื่องภายใน ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จำเป็นต้องชี้แจง คาดพยายามสร้างตัวเองให้เป็นฮีโร่พิทักษ์ประชาธิปไตยในสายตาของนานาชาติ และบล็อกการเปลี่ยนแปลงไปในประเทศ หากชี้ต่างชาติล้วนเข้าใจดีว่าการเมืองไทยในขณะนี้มีสถานการณ์เป็นอย่างไร

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสัมภาษณ์  สุรินทร์ พิศสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

รายการสภาท่าพระอาทิตย์ ประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2549 ดำเนินรายการโดยคำนูณ สิทธิสมาน และปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ปานเทพ – เดี๋ยวเราจะไปสนทนากับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ นะครับ สวัสดีครับ ดร.สุรินทร์ครับ

ดร.สุรินทร์ – สวัสดีครับ

ปานเทพ – เท่าที่ดูข่าวสารซึ่งปรากฏในตอนนี้นี่ คุณทักษิณทำหนังสือไปในหลายประเทศ เพื่อชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทย ดร.สุรินทร์ได้อ่านแล้วมีความเห็นยังไงบ้างครับ

ดร.สุรินทร์ – มันเป็นความเห็นส่วนตัว เป็นเรื่องส่วนตัวที่ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้อง และก็มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนแปลงต่างๆมันกำลังเกิดขึ้นและยังไม่เสร็จสิ้น โดยปกตินี่เรื่องแบบนี้เขาถือเป็นเรื่องภายใน โดยปกติแล้วนี่มันเป็นเรื่องที่บุคคลคนนั้นจำเป็นจะต้องรับผิดชอบ และก็ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวส่วนตัว มันไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ จะสังเกตเห็นว่าจดหมายตอบจากประธานาธิบดีบุชนี่ ขึ้นต้นนี่ใช้คำว่า The United State แปลว่ารัฐบาลสหรัฐหรือสหรัฐ เฝ้ามองอยู่ด้วยความสนใจและด้วยความเป็นห่วง แต่ว่าทางจดหมายของฝ่ายเรานี้เป็นเรื่องของ I คือเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะฉะนั้นในภาวะที่มันยังไม่ชัดเจน ยังเป็นเรื่องของการต่อสู้ในเรื่องของการแข่งขันกันในเชิงอำนาจ กระบวนการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้นนี่ ปัญหาต่างๆเหล่านี้มันควรจะเป็นเรื่องภายใน ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทราบ แต่ว่าการที่ลงมือทำหนังสือไปนี่ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม การเขียนจดหมายทำหนังสือระหว่างหัวหน้ารัฐบาลกับหัวหน้ารัฐบาลไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่มันต้องเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาของประเทศชาติที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน มันไม่ใช่เรื่องการเมืองภายในของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมเองยังไม่เคยทราบหรือยังไม่เคยเห็นจดหมายในลักษณะนี้ครับ

คำนูณ – ไม่เคยมีใช่ไหมครับ

ดร.สุรินทร์ – เอาเป็นว่าผมไม่เคยเห็นและไม่เคยทราบก็แล้วกัน

คำนูณ – จดหมายอย่างนี้นี่นะครับ จะถือว่าเป็นจดหมายส่วนตัวหรือว่าทำเป็นทางการยังไงก็แน่ครับ

ดร.สุรินทร์ – มันมีตราครุฑ มันมีตำแหน่งอยู่นะครับ เพราะฉะนั้นจะบอกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวมันก็ไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวมันควรจะเป็นว่า Dear George ไม่ใช่ Your Excellency หรือ Excellency และก็คงจะไม่ยืนยันผูกพันว่าจะดำเนินการเรื่องนั้นเรื่องนี้ เหมือนกับว่าจะให้เขาสบายใจน่ะ เรื่องอย่างนี้ถ้าดูการตอบจากฝ่ายจอร์จ บุช ของเขานี่จะเห็นว่า มันเป็นเรื่องของรัฐต่อรัฐไม่ใช่เรื่องของบุคคล

คำนูณ – ถ้าพูดกันเป็นภาษาเชิงมวยทางการทูตนี่ ก็ต้องถือว่าทางบุชนี่เขาเป็นมวยกว่ามากใช่ไหมครับ

ดร.สุรินทร์ – ครับ เขาค่อนข้างจะฟอร์มอร์ และค่อนข้างจะตีตัวออกห่างจากปัญหาต่างๆที่เกดขึ้นในเมืองไทย และคล้ายๆกับจะพูดว่าอย่าถือเป็นเรื่องส่วนตัว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยนี่อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ และก็ใครก็ตามที่ผ่านกระบวนการนี้มานี่ เราทำงานด้วยได้ทั้งนั้นแหละ

คำนูณ – คือคล้ายๆกับบอกอย่างนั้น คล้ายๆจะบอกออกมาอย่างนั้นใช่ไหมครับ

ดร.สุรินทร์ – ใช่ครับ จะบอกออกมาอย่างนั้นครับ ฟังแล้วนี่ ฝ่ายเราต่างหากที่บอกว่า I จะทำโน่น I จะทำนี่ I ถูกทำอย่างนั้น I ถูกทำอย่างนี้ ซึ่งมันอ่านยังไงมันก็ไม่พ้นไปจาก เหมือนกับว่าไปบ่นให้คนอื่นเขาฟัง ปัญหาก็คือคนอื่นคือใคร แต่ในอดีตนี่เคยตั้งประเด็นเอาไว้ว่าประเทศไทยต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ UN ไม่ใช่พ่อคงจำกันได้ คือภาพเหล่านี้ที่สร้างกันขึ้นมานี่ มันก็สร้างปัญหาให้กับประเทศเราพอสมควรอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีหักมุมออกมาเป็นอย่างนี้ ผมคิดว่าหลายคนก็มีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมไม่เหมือนกับที่เคยได้พยายามชี้นำพี่น้องประชาชน ให้มีความรู้สึกในทางที่เป็นอิสระแน่นอน ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยอม ไม่เป็นคนที่จะอยู่ในภาวะที่จำเป็นจะต้องไปชี้แจงไปอะไรกับใคร

คำนูณ – อาจารย์คิดว่าคุณทักษิณแกมีเจตนารมณ์อะไรครับ เพื่ออะไรครับ นี่เอาความเห็นส่วนตัวก็ได้

ดร.สุรินทร์ – ผมคิดว่าน่าจะต้องการที่จะแสดงให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำเหล่านี้เห็นว่าเป็นผู้ที่พยายามต่อสู้เพื่อที่จะปกป้อง พิทักษ์กระบวนการประชาธิปไตย ค่านิยมประชาธิปไตย เป็นวีรบุรุษประชาธิปไตย ซึ่งถ้ามองจากข้างในความรู้สึกของคน อย่างน้อยๆจำนวนมากจำนวนมากอาจจะไม่ถึง 16 ล้าน 19 ล้านที่มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่น่ะ หลายสิ่งหลายอย่างค่านิยมประชาธิปไตย อุดมการณ์ประชาธิปไตย กระบวนการวิธีการประชาธิปไตย รวมทั้งกระบวนการวิธีการรัฐธรรมนูญนี่ มันถูกควบคุม ถูกทำลาย ถูกเบียดบังไปมาก จนกระทั่งจำเป็นจะต้องมีการเคลื่อนไหวกัน ซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ จะไปบอกว่า Extra Constitutional ก็คงไม่ได้ครับ เพราะว่าทั้งหมดทั้งหลายนี่มันเป็นไปด้วยความสงบ มันเป็นไปตามสิทธิตามกรอบของรัฐธรรมนูญครับ

คำนูณ – มันจะเป็นไปได้ไหมครับที่คุณทักษิณนี่แก ผมลองอ่านดูนะคืออาจจะผิดก็ได้ แกอาจจะแบบว่าคล้ายๆแบบถ้าเผื่อสมมุติว่าต่างประเทศหรือนานาชาตินี่เข้าใจตามที่แกพยายามจะบอกเล่าไปนี่ มันจะเท่ากับเป็นการบล็อกการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย เพราะว่าคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ดี หรือเกิดมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็จะได้ไม่กล้า ว่าเดี๋ยวนานาชาติเขาจะคิดยังไง ไม่เอาด้วยกับเราอะไรอย่างนี้

ปานเทพ – คล้ายๆกับเอาต่างชาติมากดดันอะไรอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ไหมครับ

ดร.สุรินทร์ – มองอย่างนั้นก็น่าจะได้ส่วนหนึ่งครับ แต่ผมคิดว่าคงจะไม่ครบถ้วน ผมคิดว่าพยายามที่จะ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเปิดเผย มันต้องตั้งแต่ต้นว่าได้ทำได้ดำเนินการอย่างนี้ไป ข้างนอกเขาเห็นเป็นอย่างนี้ มันก็ต้องเปิดเผยให้คนไทยรู้ว่าข้างนอกเขาเห็นเป็นอย่างนี้นะ ตามที่ได้ติดต่อไป ตามที่ได้ชี้แจงไป เพราะฉะนั้นพวกท่านทั้งหลายขอให้สงบ ขอให้อยู่ในกรอบ ขอให้ยอมรับในชัยชนะที่เกิดขึ้นอะไรทำนองนี้ แต่นี่มันไม่ใช่นี่ นี่มันแอบเก็บเอาไว้จนกระทั่งมีข่าวขึ้นมา โดยท่านวุฒิสมาชิกไกรศักดิ์ถึงได้เปิดเผยออกมา เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามุมหนึ่งนี่ที่น่าจะมองคือ พยายามที่จะทำตัวเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย คล้ายๆกับนักประชาธิปไตยที่เป็นที่ยอมรับทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคาร์เตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเมลสัน แม้แต่กอร์บาชอฟ คือผมคิดว่าสร้างสถานภาพให้เห็นว่าเป็นผู้พิทักษ์ เป็นผู้ปกป้อง เป็นผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือสร้างสถานภาพให้กับตนเอง
และก็อันหลังนี่เป็นความพยายามที่พูดกับคนไทยด้วย ถึงได้มีข้อความว่ามีผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ คือทั้งหมดทั้งหลายนี่ต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งประชาธิปไตย แต่ว่าอย่างที่รู้ๆกันน่ะครับ กระบวนการประชาธิปไตย การตรวจสอบ องค์กรอิสระ ทั้งหมดทั้งหลายนี่มันถูกควบคุม ถูกแทรกแซงไปหมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการดำเนินการในกระบวนการประชาธิปไตย ที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่พอใจของพี่น้องประชาชน การตรวจสอบอะไรก็ไม่เกิดขึ้น ความรู้สึกว่าทุกอย่างมันโปร่งใส มีธรรมาภิบาล การได้มีส่วนร่วม สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชน ยกเว้น ASTV แล้วมีทีวีอะไรบ้างที่เป็นเสรีอยู่ในขณะนี้พูดได้ไหม นี่ผมคิดว่าทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้มันขัดแย้งกับความพยายามที่จะแสดงออก

คำนูณ – ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นะครับ นอกจากชี้แจงแถลงข่าวในประเทศไทยต่อคนไทยแล้วนี่นะครับ ในฐานะที่ก็ตกเป็น 1 ในจำเลยของคุณทักษิณเหมือนกันว่า ไอ้ที่บอยคอตการเลือกตั้งนี่คล้ายๆกับมันไม่ถูก เป็นวิธีการนอกรัฐธรรมนูญนี่ พรรคประชาธิปัตย์นี่มีแนวทางที่จะชี้แจงต่อนานาชาติอย่างไรบ้าง

ดร.สุรินทร์ – เราได้เชิญเอกอัครราชทูต ได้เชิญที่ปรึกษาทางด้านการเมืองมาพูดคุยกัน 2-3 ครั้งครับ และก็สื่อมวลชนทั้งหลายก็มีโอกาสได้คุยได้ชี้แจง ก็สิ่งที่ประสบและก็ได้รับมาก็คือว่า เขารู้ เขาเข้าใจ และเขาตระหนักในทุกสิ่งที่เกิดขึ้น

คำนูณ – ก็คือเราทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว

ดร.สุรินทร์ – ก็ทำด้วย และก็เขาเองก็สังเกตอยู่ด้วย และก็มีโอกาสได้พบปะในโอกาสต่างๆ และก็ใช้โอกาสนั้นเชิญมาที่พรรคบ้าง ก็เหมือนกับที่เป็นข่าวไปน่ะครับ เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าจุดยืนของเราเป็นยังไง ความคิดของเราเป็นยังไง ความเข้าใจของเราเป็นยังไง ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนะครับ ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกปรักปรำอยู่ตลอดเวลา

ปานเทพ – ดร.สุรินทร์ครับ ถ้ามองในแง่ของผู้นำต่างประเทศนี่ เวลาประเทศหนึ่งเขามาอธิบาย ทำจดหมายที่อ้างว่าเป็นการส่วนตัว และก็เราพูดถึงเป็นนักรักษาประชาธิปไตย ด้วยข้อความที่ปรากฏดั่งที่ ดร.สุรินทร์ได้เห็นนี่นะครับ คิดว่าผู้นำต่างประเทศเขามองยังไงครับกับท่าทีอย่างนี้ครับ

ดร.สุรินทร์ – ผมคิดว่าประการแรก เขาคิดว่านี่มันเป็นเรื่องภายในของท่าน ไม่อย่างนั้นประโยคแรกสองประโยคแรกของบุชก็คือ The US ไม่ใช่ I มันเป็นเรื่องของรัฐกับรัฐไม่ใช่เรื่องส่วนตัว อย่าไป Personalize สิ่งเหล่านี้ ความไม่แน่นอนมันเกิดขึ้นเสมอภายในกระบวนการประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดมั่นถือมั่น คือต้องเอาให้เป็นอย่างนี้ตามที่ตนต้องการนี่ไม่ใช่ ผมถึงบอกว่าไม่เคยเห็นและไม่เคยทราบไงครับ ว่าขณะที่อยู่ในกระบวนการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้นนี่ มีการทำจดหมายไปชี้แจงสถานการณ์ภายใน เพราะตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ ตัวเองเกี่ยวข้องอยู่ และถ้ามองจากทัศนะของหลายคนตัวเองมีส่วนสร้างให้มันเป็นปัญหา

ปานเทพ – ทีนี้ถ้ามองในแง่ของการชี้แจง เหมือนที่ ดร.สุรินทร์ บอกว่ามีการเชิญเรา เชิญพรรคประชาธิปัตย์ไปชี้แจงนี่ ในแง่ของหนังสือเพื่อทำถึงประธานาธิบดีหรือว่าผู้นำนี่ มีความจำเป็นไหมครับที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทำส่งไปด้วยเช่นกันครับ

ดร.สุรินทร์ – มันเป็นเรื่องภายในน่ะครับ ถ้าหากว่ามันเป็นเรื่องภายในสำหรับหัวหน้ารัฐบาลที่ไม่ควรจะทำ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ควรจะทำ เพราะว่าถือเสียว่ามันเป็นเรื่องที่เขารับรู้รับทราบ และก็มันมีช่องทางทางการทูตที่ทำได้กันอยู่เป็นปกติอยู่แล้วอย่างเปิดเผย ไม่จำเป็นจะต้องมีหนังสือชี้แจง คำถามที่ถามก็คือเขาคือใคร เราคือใครที่จะต้องไปชี้แจงกัน นึกออกไหมครับ สถานภาพนี่ต้องเข้าใจและก็พิธีการทางการทูตนี่มันต้องเคารพ และก็วิธีปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมต่างๆนี่ ถ้าทำผิดไปมันอาจจะตีความหมายไปอย่างอื่นได้ เหมือนที่กล่าวหากันอยู่ในขณะนี้แหละครับ เขาคือใคร เราคือใคร ที่จำเป็นจะต้องไปชี้แจง ในเมื่อทั้งหมดทั้งหลายเป็นกระบวนการทางการเมือง ที่เป็นการต่อสู้เพื่อที่จะได้มาซึ่งอำนาจในการที่จะขึ้นไปเป็นผู้นำ

คำนูณ – ถ้าเผื่อขณะนี้มีรัฐสภาเปิดอยู่นี่นะครับ พฤติกรรมของคุณทักษิณที่เปิดออกมาอย่างนี้นี่ เราสามารถที่จะดำเนินการทางใดได้บ้าง

ดร.สุรินทร์ – ทั้งหมดทั้งหลายนี่ มันเป็นเรื่องทางการเมืองและความสำนึกในเรื่องของความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ก็ทำได้อยู่ในเฉพาะกรอบของเวทีทางการเมือง เพราะชี้แจงให้สื่อมวลชน ให้พี่น้องประชาชนรับทราบ ว่าความเหมาะสมมันอยู่ตรงไหน ความไม่เหมาะสมมันอยู่ตรงไหน คงไม่มีใครที่จะดำเนินการนอกเหนือไปจากนั้น เพราะว่ามันเป็นอยู่ในระดับของการเมืองของการทูต ของพิธีกรรมพิธีการทางการทูต ธรรมเนียมปฏิบัติครับ

คำนูณ – เอาล่ะครับ ขอบคุณมากครับ

ดร.สุรินทร์ – ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น