xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ส.ส.ร.เตือนตั้ง “รองพล-พีรพันธุ์” ขัด รธน. ส่อถูกฟ้องโมฆะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต ส.ส.ร.เตือน “ทักษิณ” ตั้ง “รองพล- พีรพันธุ์” ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 227 เปิดช่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งได้ ชี้ถ้าศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำสั่ง ผู้ออกคำสั่งต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น


วันนี้ (8 ก.ค.) นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้ความเห็นกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง นายรองพล เจริญพันธ์ ไปปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และให้ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ ไปปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่รอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งว่า แม้จะมีคำสั่งของนายกรัฐมนตรีให้บุคคลทั้ง 2 ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว แต่บุคคลทั้งสองก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หากบุคคลทั้งสองกระทำการใดๆ ในหน้าที่ใหม่จะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจตกเป็นโมฆะได้ เพราะตำแหน่งข้าราชการระดับ 11 จะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 227 ก่อน

“การออกคำสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ให้บุคคลทั้งสองไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่รอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จึงเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 227 และอาจถูกยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) และมาตรา 72 (1) ฐานเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่มีอำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน และหากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาอันเป็นที่สุด ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ผู้ที่ออกคำสั่งจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น” นายคณิน กล่าว

ทั้งนี้ นายคณิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 227 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย ดังนั้น ตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่ง พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ดำรงอยู่ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง การจะให้บุคคลเหล่านั้นพ้นจากตำแหน่งเดิม และไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงให้พ้นจากตำแหน่งเดิม และให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ก่อน

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น