“อลงกรณ์ พลบุตร” เดินหน้า แฉ 3 บิ๊ก ทอท.ฮั้วประมูลรถเข็นกระเป๋าสนามบินสุวรรณภูมิ เผย มีชื่อเป็นกรรมการถือหุ้นบริษัทชนะประมูล จี้ “สมชาย” สอบล็อกสเปกด่วน จวก “ศรีสุข” อย่าทำไทยฉาวทั่วโลก เตรียมตรวจสอบอีก 46 รายการ เชื่อไม่โปร่งใส
วันนี้ (2 ก.ค.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงความคืบหน้าในการตรวจสอบสัมปทานจ้างบริการรถเข็นกระเป๋าของสนามบินสุวรรณภูมิ ว่า จากการที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ได้เปิดประมูลให้บริษัทเอกชนยื่นซองประกวดราคาประมูลงานรถเข็นกระเป๋าของสนามบิน มูลค่า 534 ล้านบาท อายุสัมปทาน 7 ปี โดยมีบริษัทผ่านเกณฑ์และเทคนิครายเดียว คือ บริษัท ไทยแอร์พอร์ตกราวน์เซอร์วิสเซส จำกัด (แท็กส์) ส่วนบริษัทอื่นได้รับแจ้งจาก ทอท.ว่าไม่ผ่านการพิจารณา ทำให้บริษัท แท็กส์ ชนะการประมูล
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัท แท็กส์ นั้น ซื้อรถเข็นจากโรงงานที่ไม่เคยผลิตรถเข็นกระเป๋าสนามบินนานาชาติมาก่อน ต่างกับบริษัทที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์การผลิตรถเข็นกระเป๋าให้กับสนามบินทั่วโลกหลายแห่ง ดังนั้น การประมูลดังกล่าวส่อว่าไม่โปร่งใส และมีการแก้ไขสเปกรถเข็นกระเป๋า เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่เข้าประมูลเพียงรายเดียว
“นอกจากนี้ คณะทำงานตรวจสอบการทุจริตของพรรค ยังพบข้อมูลล่าสุด ว่า บริษัท ทอท.ถือหุ้นอยู่ในบริษัท 28 เปอร์เซ็นต์ และกรรมการ ทอท.3 คน คือ ร.อ.อ.ม.ล.ย่อม งอนรถ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ร.อ.อ.พินิจ สาหร่ายทอง ผอ.การท่าอากาศยานดอนเมือง และนายสมชัย สวัสดิผล ผอ.การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นกรรมการของบริษัท แท็กส์ ทั้งนี้ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2549 ระบุว่า บุคคลทั้ง 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท แท็กส์ ดังนั้น แสดงให้เห็นชัดว่า การประมูลครั้งนี้ ผิดปกติ มีพิรุธ เอื้อประโยชน์ระหว่างกัน และไม่มีการแข่งขันการปะมูลอย่างเป็นธรรม เพราะ ทอท.และแท็กส์ มีความสัมพันธ์กันในเชิงทุน และการบริหารระหว่างกัน” นายอลงกรณ์ กล่าว
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายชัยเกษม นิติสิริ รองอัยการสูงสุด ที่เป็นบอร์ด ทอท.ตรวจสอบกรณีดังกล่าวเป็นพิเศษ และขอให้ นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานบอร์ด ทอท.ทบทวนการประมูล เพื่อสร้างความถูกต้อง มิฉะนั้น ประเทศไทยจะขายหน้าไปทั่วโลก ต้องตระหนักว่าสนามบินสุวรรณภูมิไม่ใช่สนามบินท้องถิ่น จะใช้สินค้า หรือบริการต้องเข้ามาตรฐานสากล ไม่ใช่ของโชวห่วยอะไรก็ได้
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การร้องเรียนในเรื่องนี้เกิดเมื่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย เปิดประมูลสัมปทานงานบริการรถเข็นกระเป๋า จำนวน 9,034 คัน พร้อมแรงงาน 250 คน เป็นเวลา 7 ปี หลังจากนั้น ได้ออกประกาศขายแบบพร้อมรายละเอียดคุณลักษณะพิเศษ (ทีโออาร์) โดยผู้ประกอบการต้องส่งตัวอย่างรถเข็นจำนวน 11 คัน ประกอบด้วย รถขนาดใหญ่ 1 คัน ขนาดกลาง 5 คัน ขนาดเล็ก 5 คัน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า หลังจากผู้ประกอบการได้ซื้อแบบและจัดซื้อระวางตัวอย่าง 11 คัน เงินประกันจำนวน 26.7 ล้านบาท พร้อมซองเสนอราคาและซองคุณสมบัติของรถเข็น และคุณภาพของโรงงานที่ผลิต แต่ก่อนส่งตัวอย่างรถซองเสนอราคา เงินประกัน 1 วัน ทางบริษัทการท่าอากาศยาน ได้แจ้งว่า ขอเลื่อนการประมูลไว้ก่อน และได้แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบว่าขอยกเลิกการประมูล ซึ่งไม่ได้แจ้งเหตุผล แต่หลังจากนั้น อีก 13 วัน ได้แจ้งว่าจะมีการประชุมใหม่ มีการแก้ไขเอกสาร โดยเฉพาะการแก้ไขสเปกของรถเข็นกระเป๋าขนาดกลางใหม่ “ให้มีคุณสมบัติในการบรรทุกกระเป๋าสามารถขึ้น-ลงบันไดเลื่อนเป็นขั้นๆ” ได้ และยังตัดข้อความเก่าที่ว่า “โรงงานที่ผลิตรถเข็นต้องเป็นโรงงานที่เคยผลิตและส่งออกไปใช้สนามบินนานาชาติ” ซึ่งแก้ไขสเปกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางรายเท่านั้น
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะทำงานจะตรวจสอบอีก 46 โครงการ ในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีการเร่งรัดและประมูลด้วยวิธีพิเศษ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ทำ กลับมาเร่งช่วง 2-3 เดือนสุดท้าย โดยอ้างเงื่อนไขเวลาที่จำกัด ซึ่งคณะทำงานได้รับเรื่องร้องเรียนมาเป็นระยะ
/0101/0111