xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมเผยแพร่ความรู้สู่เยาวชนกับโครงการสารานุกรมไทยฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายการรู้ทันประเทศไทย ร่วมเผยแพร่ความรู้มหาศาลจากสารานุกรมไทยกับ พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี และ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ซึ่งโครงการสารานุกรมไทยนี้ จัดเป็นโครงการโดยพระราชประสงค์ฯ ให้ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งเรื่องสากลและความรู้รอบๆ ตัว ได้เผยแพร่สู่เยาวชนอย่างกว้างขวางที่สุด

รายการรู้ทันประเทศไทยกับ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ออกอากาศทาง News 1 เวลา 19.30-21.00 น. วันที่ 20 มิ.ย. 49 ดำเนินรายการโดยสันติสุข มะโรงศรี

สันติสุข – วันนี้สิ่งที่เราจะเรียนรู้กัน ผมไปพบอาจารย์ ไปผลิตรายการเป็นรายการเกี่ยวกับความรู้ที่เกิดขึ้นจากคนปัจจุบัน เป็นรายการนักสำรวจที่ออกอากาศวันอาทิตย์ ผมรู้สึกว่าเป็นรายการที่น่าสนใจมาก อันนี้เขาเอาข้อมูลมาจากไหน

ดร.เจิมศักดิ์ – แน่นอนเลยว่ามาจากสารานุกรมไทย สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนนี้มีประมาณ 30 เล่มแล้ว และยังมีสารานุกรมไทยในพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับเสริมการเรียนรู้อีก 4 เล่มกะทัดรัดอย่างนี้ด้วย

สันติสุข – ทีนี้ผมก็ต้องสงสัยต่อไปอีกว่า สารานุกรมไทยเหล่านี้นี่เป็นมายังไง ใครเป็นคนทำและก็ทำมาได้ยังไง

ดร.เจิมศักดิ์ – ผมรู้ว่าคุณต้องถามแน่ วันนี้ผมเลยได้กราบเรียนเชิญ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรีและเป็นประธานกรรมการโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ซึ่งท่านอยู่ตรงนี้แล้วครับ สวัสดีครับ และผมได้เชิญคุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช นะครับ เป็นกรรมการโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนอยู่ร่วมด้วยครับ สวัสดีครับ

ดร.กัลยา – สวัสดีค่ะ

ดร.เจิมศักดิ์ – ผมต้องขอเรียนถามท่านองคมนตรีก่อนนะครับ ว่าพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี่ มีพระราชประสงค์อย่างไรที่ทำให้โครงการนี้คิดทำสารานุกรมไทยขึ้นมาครับ

พลอากาศตรีกำธน – ครับ เป็นอะไรที่ซึ่งมีมานานแล้วเกือบจะ 40 ปีมาแล้วนะครับ ซึ่งในระยะนั้นก็เป็นที่ทราบกันว่าในตอนเรียนก็ไม่พอ การเรียนก็มีน้อย การคมนาคมก็ไม่ค่อยดีนักนะครับ แต่ในพระราชดำริของท่านก็คือว่า ท่านอยากให้มีหนังสืออะไรซักเล่มหนึ่งที่เด็กๆจะสามารถหาความรู้ได้ ความรู้นั้นก็เป็นสิ่งที่เยาวชนหรือเด็กๆอยากจะรู้ ซึ่งเกิดจากรอบๆตัวของเด็ก จะกิจกรรม จะเรื่องปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรืออะไรนี่นะครับ เด็กจะหาความรู้ได้จากหนังสือเล่มดังกล่าว แล้วก็อยากจะให้หนังสือนี้ไปอยู่ตามบ้านหรือเป็นตำราอยู่ที่บ้าน

ดร.เจิมศักดิ์ – ทีนี้หนังสือดังกล่าวนี่ก็จะต้องมีความรู้หลายด้านถูกไหมครับ

พลอากาศตรีกำธน – อันนี้ก็เป็นข้อที่จะต้องชี้แจงว่ามันไม่เป็นสารานุกรม หรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Encyclopedia ที่มีตามลำดับตัวอักษร มี 10 เล่มหรือ 12 เล่มจบนะครับ ท่านมีเป็นตามเนื้อเรื่องเรียงมา และเนื้อเรื่องนี้เป็นอย่างที่คุณเจิมศักดิ์ถามว่ามีทุกเรื่องในแง่วิชาการ แล้วแต่ทางนักวิชาการจะแบ่งว่าเป็น 4 ประเภทหรือ 7 ประเภท ถ้ากล่าวก็คือว่าเกี่ยวข้องกับทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ เกษตร สังคม มนุษย์ ชีวะ มีทุกอย่างหมด เพราะฉะนั้นก็จะมีเรื่องเหล่านี้รวมเข้ามาผสมกันเป็น 1 เล่มแล้วก็ไม่ซ้ำกัน เพราะว่าอ่านเรื่องนี้แล้วที่สนใจ พลิกๆไปดูเรื่องนี้ก็น่าอ่านเหมือนกัน เขาจะเกิดความรู้กว้างขวางเข้าไปอีก

ดร.เจิมศักดิ์ – ตกลงวิธีทำก็จะต้องตั้งทีมทางวิชาการใช่ไหมครับ แล้วในเรื่องอะไรที่ไปโจทย์และไปค้นคว้าและก็เรียบเรียงขึ้นมา เพราะฉะนั้นก็มีหลายทีมสิครับ

พลอากาศตรีกำธน – ครับ มีหลายทีมในสาขาวิชาต่างๆอยู่เป็นคณะๆไป และก็มีผู้ที่ดูแลประสานงานกันว่า ในตัวเล่มนี่เล่มนี้เราจะเอาเรื่องอะไรมาบ้างนะครับ ก็สลับหมุนเวียนกันไปนะครับ แล้วก็ที่สำคัญก็คือว่าต้องมีคณะหนึ่งนี่ที่จะกล่อมเกลาถ้อยคำให้เป็นที่เรียบร้อยก่อนที่จะพิมพ์ เพราะว่านักวิชาการที่เขียนมาบางครั้งก็ท่านสนใจเรื่องไหนท่านก็จะละเอียดเรื่องนั้นนะครับ แต่คณะกลางนี่ก็จะต้องดูว่าแล้วเด็กอ่านนี่จะเป็นยังไงนะครับ และข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าจะต้องดูแลถ้อยคำเพื่อให้เป็นกลางๆ เป็นของสารานุกรม อ่านสำนวนดูต้องเป็นกลางๆเรียบร้อย แล้วก็หาภาพประกอบที่ชัดเจน และก็ที่จะเรียนให้ทราบคือว่าสมมุติเหมือนเป็นคล้ายๆแหล่งความรู้ของบ้านด้วยนะ ท่านให้เขียนแต่ละเรื่องนี่เป็น 3 ส่วนด้วยกัน สำหรับเด็กพออ่านหนังสือออกได้ ตัวหนังสือต้องโตหน่อย มีรูปภาพที่ชัด ส่วนที่ 2 ก็ขยายความมากขึ้นไปอีก ส่วนที่ 3 ก็เป็นเด็กโตหรือพูดง่ายๆว่าเป็นผู้ใหญ่นั่นเองนะ เพราะฉะนั้นมี 3 ส่วนอย่างนี้ถ้าเด็กอยู่ในบ้านเหงา ไปซนที่ไหนหมดที่ซนก็มาอ่าน

สันติสุข – หมายถึงว่าในเรื่องเดียวกันนี่ จะจัดการนำเสนอไป 3 ส่วนสำหรับคนอ่าน 3 ระดับ

พลอากาศตรีกำธน – ครับ แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คืออยากให้เกิดความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว พอเด็กตัวน้องอ่านแล้วถ้าเข้าใจก็ดีไปนะครับ แต่เกิดไม่เข้าใจก็ไปถามพี่ พี่อ่านรู้เรื่องมากขึ้นก็อธิบายให้น้องได้ ถ้าเกิดยังไม่ชัดเจนมีคำถามอีกทั้งตัวพี่ตัวน้องนี่ พ่อกับแม่พี่ป้าน้าอาเอาไปอ่าน ถึงแม้ว่าพี่ป้าน้าอาไม่ได้จบปริญญาตรีไม่ได้เรียนอะไรมา แต่ความเป็นผู้ใหญ่นี่อ่านมันก็รู้เรื่อง ก็มาอธิบายให้แก่ลูกหลานฟังได้นะครับ

สันติสุข – อย่างนี้ภาพที่เห็นมันจะเป็นการผูกร้อยความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ด้วยการแสวงหาความรู้ผ่านหนังสือสารานุกรม น่าสนใจมากครับ อาจารย์

ดร.เจิมศักดิ์ – คุณหญิงครับ ผมเห็นตอนท้ายของหนังสือนี่จะมีดัชนี ซึ่งหนังสือไม่มากนักที่จะทำดัชนี ตอนทำนี่คิดยังไงจึงทำดัชนี เพื่อที่จะบอกว่าถ้าอยากจะรู้เรื่องนกนะครับ ก็จะบอกว่านกให้ดูหน้านั้นๆได้ ถ้าอยากจะดูจักรเฟืองให้ไปดูหน้านั้นๆ เป็นคำให้กลับไปค้นได้นี่ อันนี้ทำได้ง่ายไหมครับหนังสือแบบนี้

ดร.กัลยา – อาจารย์คะ ทำไม่ง่ายและใช้เวลานานนะคะ แต่ละเล่มใช้เวลาอย่างน้อยเป็นปีค่ะ บางเล่มตั้งหลายปีนะคะ แต่ว่าดัชนีนี้ที่อาจารย์เห็นของท้ายเล่มนี่นะคะ เรายังทำเล่มรวมดัชนีของ 25 เล่มด้วยค่ะ เอา 25 เล่มมาร้อยเรียงเป็น ก.ข.ค.ง. และก็จะบอกด้วยว่าหน้าไหนของเล่มไหน เรื่องอะไร

ดร.เจิมศักดิ์ – ตกลงถ้าอยากจะรู้เรื่องอะไรนี่ เปิดดัชนีดูเราก็สามารถจะรู้ว่าเรื่องนี้อยู่ในเล่มนั้นหน้านั้น อยู่ในเล่มโน้นหน้านี้ แล้วก็จะตามดูได้ครบ

ดร.กัลยา – ใช่ค่ะ

พลอากาศตรีกำธน – อันนี้คืออยากจะเรียนเสริมว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนะครับ และโดยเฉพาะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดานี่ทรงเป็นองค์ที่ปรึกษานะครับ สนพระทัยให้ดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างดี สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี่ได้พระราชทานให้ฟังเลยนะครับว่า หลังจากเปลี่ยนทางวิชาช่างที่ท่านสนพระทัยมา เรียนวิชาที่จะเป็นพระมหากษัตริย์นี่นะครับ ท่านก็ฟังดูเหมือนท่านรอบรู้หลายๆอย่าง ท่านก็ไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง พระราชทานให้ดูด้วยนะครับ ว่าพอมีคำที่สนพระทัยท่านก็ไปเปิดดู พอดูแล้วเขาก็อธิบายไว้พอสมควร แต่จากดัชนีหรือสิ่งอ้างอิงนี่นะครับ ทำให้ท่านกลับไปค้นดูต้นตอว่าจริงๆยาวๆนี่มันว่ายังไง ท่านหาความรู้มาก แล้วก็โยงไปในเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง และท่านรับสั่งว่าความรู้นี้มันเกี่ยวข้องโยงกันหมด อย่างผึ้งถ้าดูในเรื่องผึ้งเป็นสัตว์ก็แค่นี้ก็พอ แต่ถ้าเชิงที่ทำประโยชน์อะไร เกิดประโยชน์อะไรนี่มันก็จะตามไปหาความรู้ได้ให้แตกฉาน จะดูเรื่องช้าง สมมุติว่าช้างนอนยังไง กินยังไงนะครับ แต่พอมาดูประวัติศาสตร์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะอยู่อีกเล่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นดัชนีหรือสิ่งนี้ที่คุณหญิงกล่าวเมื่อกี๊นะ ทำให้ถ้าสนใจก็คืบไปหาความรู้ในเรื่องนั้นกว้างขวางขึ้นไปอีกครับ

ดร.เจิมศักดิ์ – คุณหญิงครับ ท่านองคมนตรีได้พูดถึงสมเด็จพระเทพรัตนฯนะครับ ที่ทรงเป็นองค์ที่ปรึกษาของโครงการนี้นี่นะครับ ผมก็เลยนึกถึงว่าจะด้วยเหตุนี้หรือเปล่า รู้สึกว่าจะเป็นเดือนกันยายน 2542 ได้มีการจัดงานตอนนั้นจัดงานอะไรนะครับ

ดร.กัลยา – งานครบรอบอายุ 5 ปีของสารานุกรมไทยค่ะ

ดร.เจิมศักดิ์ – แสดงว่าบัดนี้ก็ 30 กว่าปีแล้ว และบัดนี้ก็มีถึง 30 เล่มแล้วนี่นะครับ ตอนนั้นนี่ได้มีการพูดคุยกัน และก็มีสมเด็จพระเทพฯได้มีพระราชดำรัสบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับสารานุกรมด้วย

ดร.กัลยา – ก่อนถึงตรงนั้นนะคะ ขออนุญาตนิดเดียวค่ะว่าที่ท่านประธานพูดถึงว่าให้เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องอื่น ถ้าอาจารย์สังเกตดีๆ ท่านผู้ชมหรือท่านผู้อ่านจะสังเกตว่าทุกๆเรื่องที่จบลงนี่นะคะ จะบอกตอนท้ายเรื่องว่าสามารถหาความรู้เพิ่มเติมในเล่มใดบ้างที่มีความเกี่ยวข้องกันค่ะ อาจจะเล่ม 1 นี้เมื่ออ่านจบเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีอยู่ในเล่ม 3 เล่ม 5 ที่จะมีเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราอ่านอยู่ค่ะ

สันติสุข – เป็นเหมือนลายแทงขุมทรัพย์ชี้ไว้

ดร.กัลยา – ใช่ค่ะ เพื่อให้ผู้อ่านมีความสนุกมากขึ้น

พลอากาศตรีกำธน – สิ่งที่คิดว่าจะได้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง คือจะสามารถหาความรู้ได้นอกห้องเรียน อย่างสมมุติโจทย์จันทรุปราคา สุริยุปราคานะครับ วิชานี้มันอยู่ในชั้นไหนชั่วโมงไหนก็ไม่ทราบ แต่ถ้ามาเปิดหนังสือสารานุกรมซึ่งเดี๋ยวนี้มี 30 กว่าเล่มแล้ว มีเกือบๆ 300 เรื่องแล้วนะครับ ก็อาจจะมีเรื่องเหล่านี้ปนอยู่ ท่านก็อาจจะหาดูได้ หรือแม้แต่เรื่องสึนามิเรื่องอะไรก็เริ่มจะมีขึ้นมา เพราะฉะนั้นอันนี้ก็จะเป็นหนังสือที่เด็กหาความรู้ได้เป็นอย่างดี

สันติสุข – แสดงว่าตอบสนองความอยากรู้ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น ก็สามารถไปหาความรู้ได้ อย่างสมัยนี้มีเรื่องฟุตบอลโลก ก็อยากรู้ว่าฟุตบอลมีที่มาที่ไปยังไง ก็ลองไปพลิกดูว่ามีในสารานุกรมหรือเปล่า

พลอากาศตรีกำธน – ครับ มันก็เหมือนกับที่ในคอมพิวเตอร์ มันมาอย่างไรก็หาความรู้ได้จากที่นี่แหละครับ เพราะฉะนั้นวิทยาการใหม่ๆเข้ามานี่ เราก็มีไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น 30 เล่มนั้นมันก็ยังไม่จบ มันก็มีความรู้ซึ่งก็มีนักวิชาการบอกว่ามันไม่ใช่สารานุกรมซึ่งต้องจบ เป็นหนังสือแห่งความรู้ คือเขามาเป็นรุ่นๆและก็ตายไปหลายคน ที่ยังอยู่ก็ทำไปๆ

สันติสุข – เพราะว่าความรู้มันไม่มีที่สิ้นสุด

พลอากาศตรีกำธน – ไม่จบครับ

ดร.กัลยา – เสริมนิดเดียวค่ะ ที่ทำให้ท่านพูดถึงสึนามินี่นะคะ ในสารานุกรมไทยมีเรื่องสึนามิก่อนที่เกิดสึนามิค่ะ ซึ่งน่าทึ่งมากที่เราได้ให้ความรู้กับประชาชน เรามีในหนังสือสารานุกรมไทยก่อนที่จะเกิดสึนามิ

ดร.เจิมศักดิ์ – ทีนี้ทำมาก็ตั้ง 30 กว่าปีแล้ว ต้องกราบเรียนถามท่านองคมนตรีตรงๆว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี่ทรงพอพระทัยมากน้อยแค่ไหน และก็ทรงแนะนำเพิ่มเติมยังไงบ้างไหมครับ

พลอากาศตรีกำธน – ครับ ก็สิ่งหนึ่งที่กราบเรียนได้ว่าท่านสนพระทัยในการทำหนังสือนี้นะครับ ไม่ใช่ทำแล้วก็แล้วไปไม่ใช่ ท่านดู แล้วก็ข้อสำคัญยิ่งซึ่งกล้ากราบเรียนได้ว่ามีข้อบกพร่องอยู่ท่านเห็น ท่านทอดพระเนตรเห็นว่าบกพร่อง และมีพระเมตตาอย่างสูงเห็นโน้ตสั้นมาบอกว่ามันไม่ถูกนะ ไม่ได้ทำให้เราเสียใจหรือว่าอะไรเลยนะครับ แต่ด้วยความรับผิดชอบนี่เราก็รู้สึกว่ามันไม่ถูก เดือดร้อน เพราะฉะนั้นมีโอกาสไปเฝ้าท่านท่านก็คงทราบ ท่านก็บอกว่าบางทีก็รู้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำเองนะ คนอื่นทำ แต่เมื่อเป็นผู้รับผิดชอบก็ต้องดูให้มันเรียบร้อย นี่ก็เป็นหลักที่จะใช้กับใครก็ไม่ไปใช้ว่า ต้องดูแล ต้องตรวจตรา และก็ต้องรับผิดชอบ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ท่านสนพระทัย ทอดพระเนตรเห็นก็มาเตือน เพราะว่าหนังสือนี้จะเป็นหลักฐาน จะเป็นที่อ้างอิงได้ และเรื่องหนึ่งที่อยากจะขอนำมากล่าวก็คือว่า การเรียบเรียงเป็นถ้อยคำนี่ก็สำคัญ เมื่อกี๊ผมเรียนไว้นิดนึงนะครับ ไม่ใช่มาอ่านสำนวนผู้เขียนนะ มันเป็นสำนวนสารานุกรมกลางๆ ซึ่งเป็นภาระหนักของผู้กระทำ
ทีนี้อยากจะเน้นว่าอาจารย์หลายท่านนี่เหนื่อยนะครับ วิทยากรของเรานี่เหนื่อยมาก และก็โดยเฉพาะจากความรู้ซึ่งท่านอาจจะไม่มี เพราะผู้รู้มันเป็นหลายแขนงแต่ท่านมาเป็นคล้ายๆคนเรียบเรียงนี่นะ ก็จะต้องดูถึงความถูกต้องในเรื่องของภาษา และเหตุไม่ทราบอาจารย์เจิมศักดิ์จำได้หรือว่าเมื่อปีซัก 2505 นี่นะ คณะอักษรศาสตร์มีการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องภาษา พระเจ้าอยู่หัวไปร่วมประชุมด้วยทางวิชาการ และก็ผมอยากให้หนังสือนี้เป็นที่แพร่หลายไปอ่านกัน ทำให้เรารู้สึกว่ารักหนังสือไทยขึ้นอีกเยอะ เพราะเหตุว่าเรานี่มีตัวหนังสือ มีสระ มีตัวครบทุกอย่าง หลายชาติไม่มี มีภาษาต้องอาศัยตัวหนังสือคนอื่น ของเรามีพร้อม ท่านก็รับสั่งไว้ว่ามันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย เป็นสิ่งที่สื่อสารกัน และท่านบอกว่าเป็นคนไทยนี่ต้องรู้ภาษาไทย นั่นก็คือพูดให้ถูกต้องหมายถึงการออกเสียง เขียนให้ถูกอักขรวิธี และก็ให้เข้าใจความหมายของคำเหล่านั้นด้วย ท่านรับสั่งไว้ในที่ประชุมซึ่งเขาบันทึกไว้

ดร.เจิมศักดิ์ – และไม่ควรพูดภาษาอังกฤษคำไทยคำสิครับ

พลอากาศตรีกำธน – ครับ ก็ด้วยเหตุนี้นะครับ ก็อยู่ในวงการศึกษาก็มีศัพท์ใหม่ๆมาเยอะ ความจริงภาษาไทยนี่อาจจะคิดขึ้นมาใหม่ๆ หรือเก่านี่นะ โทรศัพท์ โทรคมนาคม คือหลายอย่างเกิดขึ้นได้ แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่ทันจะหมดคำที่เราจะเอามาขึ้นใหม่นะครับ เราไปทับศัพท์เสียแล้ว ถ้ายังหาไม่ได้ทับศัพท์มันก็ไม่เป็นไร แต่ยังทำได้ก็ควรจะทำก่อนนะครับ และอีกอย่างหนึ่งถ้าอย่างหนังสือนี้ก็จะได้รับความรู้สึกว่าภาษาไทยเรายังเป็นภาษาที่ไม่ตาย ไม่ใช่เป็นละตินหรือเป็นภาษาบาลีนะครับ เพราะฉะนั้นมันอาจจะเจริญงอกงามเกิดคำใหม่ๆได้ แต่สิ่งที่จะต้องระวังก็คือว่าภาษาวิบัติเพราะว่ามันใกล้กัน คำใหม่ๆออกดีออกถูก แต่คำไหนออกไม่รู้เรื่องก็ผิด ผมอยากจะยกตัวอย่างอันนี้ก็ไม่ทราบว่าจะเหมาะหรือไม่ คนใหม่ๆเวลาพูดเร็วเกินไป อย่างคำว่ามหาวิทยาลัยอย่างนี้นะ กลายเป็นหมาลัย ท่านก็ไม่ได้ตำหนิไม่ได้อะไรนะ แต่ว่าท่านบันทึกไว้บอกคำนี้เขานิยม มหาวิทยาลัยเขาเรียกหมาลัยเฉยๆ อันนี้สิ่งที่ผมถึงนำมากล่าวก็เพราะว่าภาษามันเติบโตเจริญได้ แต่มันอาจจะวิบัติได้ 2 อันนี้ผู้ใช้ก็โปรดระมัดระวังด้วย อะไรไม่ถูกต้องจะวิบัติก็หยุดเสีย เป็นข้อเตือนใจ เพราะฉะนั้นถ้อยคำในหนังสือสารานุกรมนี่ก็เป็นปัญหาหนักของผู้ที่เรียบเรียงมา ไม่อยากให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี หรือเป็นไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นนอกจากความรู้แล้วนะ การเขียนยังจะต้องหาถ้อยคำให้ถูกต้องด้วย เป็นภาระของวิทยากรนะ ของท่านอาจารย์ที่เรียกว่ากองบรรณาธิการ ความจริงผมไม่รู้จะเรียกอะไรเหมือนกัน ท่านใช้งานท่านทำงานอย่างนี้

ดร.เจิมศักดิ์ – แต่ว่า 10 กว่าปีนี่ยังเป็นทีมอยู่ได้ เป็นที่น่าประทับใจเพราะว่าคนไทยอย่างไรที่เรียนว่า ทำกันซักพักนึงก็มักจะแตก แต่นี่ยาวนานพอสมควรนะครับ

พลอากาศตรีกำธน – ครับ เรามองไม่เห็นที่จะแตก เรามองว่าจะทำไปจนกว่าจะเสียชีวิต

สันติสุข – มีนักวิชาการรุ่นใหม่ๆเข้ามาช่วยงานใหม่ๆไหมครับ

พลอากาศตรีกำธน – มีมากครับ เพราะว่าเดิมเราต้องการผู้เขียนหนังสือเป็นผู้ที่คนรู้จักแล้ว เพราะต้องการศรัทธาว่าถ้าอาจารย์คนนี้ต้องถือว่าดี แต่ท่านก็ชราและก็มีน้อยลงๆ เราเริ่มหาคนที่มีความรู้ในเรื่องนี้มาแล้วช่วยกันดูแลนะ และชื่อเสียงท่านก็จะเกิดขึ้นอีกรวมทั้งความรู้ เราก็เปลี่ยนหลักการที่ว่าไม่ใช่ต้องเอาคนมีชื่อเสียง ท่านอาจารย์นั้นๆมาจนได้ มันเหลือน้อยตัวเหลือเกินนะ น้อยลงไป มันก็เปิดโอกาสที่คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ที่จะเข้ามาใช้หนังสือเล่มนี้เป็นโอกาสที่ท่านจะได้มีประสบการณ์ และได้รับความมั่นใจว่าความรู้ของท่านใช้ได้ และยังมีรุ่นที่จะคอยดูแลอยู่

ดร.เจิมศักดิ์ – ท่านองคมนตรีครับ ท่านองคมนตรีชอบเล่มไหน

พลอากาศตรีกำธน – ผมเองอยากจะเรียนว่าผมชอบทุกเล่ม เพราะว่าเป็นผลงานที่เกิดจากความตั้งอกตั้งใจอย่างสูงสุดของผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้เขียน ตั้งแต่ผู้ทำประสานงาน เพราะฉะนั้นผมเรียนได้ว่าในงานที่ผมมารับผิดชอบ ผมพูดให้ทราบว่า 1. ต้องทำหนังสือให้ดีที่สุด ผมไม่ค่อยหนักใจเพราะแต่ละคนนี่ มีความรู้ความสามารถและท่านทำด้วยใจ เพราะฉะนั้นก็มั่นใจว่าคงจะได้ผลงานที่ดี อันที่ 2 ที่ผมจำเป็นต้องเรียนถึงว่า หนังสือที่ดีจะได้ไปถึงผู้อ่าน เล่มละ 250 บาทดูว่ามันแพง เราก็เลยไม่เคยเปลี่ยนแปลงราคาเลยตั้งแต่เล่มแรกจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นขอเรียนว่าที่หัวเล่มแรกๆนั้น ท่านพระราชทาน 5000 เล่มทุกเล่มที่ออกมาให้แก่โรงเรียนทั้งหลาย แต่ต่อมาเมื่อสถานศึกษาเพิ่มขึ้น พวกเราคิดว่าท่านคงจะขยายเป็นพระราชทานเล่มละ 7500 เล่ม ทีนี้ของเราเที่ยวไปดูตามโรงเรียนรวมแล้วนะครับก็ 33000 โรงเรียน ทรงพระราชทานไปรุ่นแรก 7500 เมื่อไหร่โรงเรียนนี้จะได้พระราชทานเล่มแรก เมื่อไหร่เล่มที่ 2 จะมา อันนี้แหละครับก็เป็นเหตุที่ทางคณะกรรมการจะอาจจะไปรบกวนท่านผู้มีจิตศรัทธา ช่วยซื้อช่วยอะไรให้นี่นะครับก็ได้อีกส่วนหนึ่ง อันนี้เป็นข้อที่ 2 ที่อยู่ในความพยายามที่เป็นประโยชน์ในคณะที่ทำงานด้วยกัน

ดร.เจิมศักดิ์ – ผมกราบเรียนท่านองคมนตรีว่า ตอนที่ผมทำสารานุกรมเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนนี้คุณอากร ฮุนตระกูล ยังมีชีวิตอยู่ คุณอากรดูรายการแล้วบอกผมว่าผมจำไม่ได้แล้วว่าจำนวนเท่าไหร่ ส่งเงินมาทันทีบอกว่าช่วยซื้อแล้วก็ไปหาโรงเรียนให้ด้วย ที่ไหนต้องการแล้วก็ส่งเป็นกุศลอย่างยิ่งนะครับ

พลอากาศตรีกำธน – ทีนี้เรื่องนี้นะครับหลายโรงเรียนพอได้เล่ม 1 อีกโรงเรียนกว่าจะได้ก็คอยนานเหลือเกิน เพราะฉะนั้นก็ได้แต่เรียนว่าโรงเรียนเอง หรือท่านผู้มีจิตศรัทธาช่วยซื้อแล้วก็แจก ทางโครงการเรามีสถิติอยู่เรียบร้อยนะครับว่า โรงเรียนไหนมีเล่มไหนบ้างขาดอะไรบ้าง ก็กำลังต้องการทรัพย์ส่วนหนึ่งนะครับ ทีนี้ผมอยากเรียนปัญหาสุดท้ายเสียเลยนะครับ ว่าถึงโรงเรียนแล้วนี่ทำยังไงถึงจะให้เขาอ่าน อย่าไปคิดว่ามันไม่เป็นปัญหานะครับ ทำยังไงถึงจะยุยงให้นักเรียนอ่าน

ดร.เจิมศักดิ์ – ไม่อย่างนั้นก็จะไปเก็บไว้เฉยๆ

พลอากาศตรีกำธน – ครับ โดยเฉพาะสำหรับพระราชทาน เป็นของพระราชทานก็ไม่แตะนะครับ ก็จะต้องพูดกันเลยว่าโปรดอ่าน แล้วก็บอกว่าถ้าชำรุดจะมีให้ใหม่ไม่ต้องซื้อ เพราะฉะนั้นอ่านกันจนชำรุดเถอะครับ

ดร.เจิมศักดิ์ – คือไม่ต้องกลัวว่านักเรียนไปอ่านแล้วเดี๋ยวจะเลอะเทอะ หรือไม่ก็คงจะเห็นตราของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เลยคิดว่าลายทองด้วยนี่ สีน้ำเงินก็เอาไปใส่ตู้ แล้วก็เอาไว้ให้บุคคลมองหน้าปก ก็เลยไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร

ดร.กัลยา – ตอนต้นๆนี่ใส่พานไว้บูชาด้วยค่ะ

พลอากาศตรีกำธน – เพราะฉะนั้นนี่สิ่งที่พยายามจะทำต่อนะครับ ก็ให้มีการตอบคำถามเพื่อให้มีแข่งขันกัน และก็มีรางวัล ตรงนั้นก็ทำให้เด็กอ่าน เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็ดีขึ้นตรงที่ว่าเล่มเดียวนี่ไม่พอสำหรับโรงเรียน เราก็มียอดว่าโรงเรียนนี้เด็กน้อย กลาง มาก นะครับ พยายามที่จะบริจาคให้มากกว่า 1 เล่ม เพื่อจะได้ไม่ต้องไปแย่งกันอ่าน คือการตอบคำถามนี่ยังคิดวิธีการอย่างอื่นที่เหมาะกว่านี้ไม่ได้นะครับ ก็พยายามจะเอาเด็กเข้ามาเพื่อจูงใจให้แข่งขันกัน เพื่อมีชื่อเสียง เพื่อจะได้อ่านกันมากๆ วัตถุประสงค์ให้ความรู้นะครับ

ดร.เจิมศักดิ์ – คุณหญิงครับ ผมก็ไม่ได้คิดมาก่อน พอถึงช่วงตรงนี้ทำให้ได้คิดว่า ท่านผู้ชมที่คิดว่าเห็นประโยชน์ของความรู้ แล้วเรามีผู้ชมอยู่ต่างประเทศด้วยนะครับ ที่เห็นว่าจะได้ช่วยกันสนับสนุนให้คนไทยมีความรู้นี่ จะช่วยได้ยังไง ผมเรียนเดี๋ยวนี้นะครับไม่ได้เตรียมมา เผื่อคนอยากจะสนับสนุนนี่จะทำยังไง

ดร.กัลยา – ก็คงทำได้ 2 ทางนะคะ เริ่มต้นก็ซื้อให้ลูกหลานอ่าน หรือเอาไปอ่านเอง เพราะว่าแม้เราจะเรียนโจทย์วิชาใดตามมานี่นะคะ เรื่องที่เรายังไม่รู้มีอีกเยอะ และการดำรงชีพของแต่ละคนก็ต้องอาศัยหลากหลายสาขา อันนั้นเป็นเรื่องที่หนึ่ง อันที่สองถ้ามีศรัทธามากกว่านั้น ก็บริจาคเงินมาที่โครงการสารานุกรมไทยได้นะคะ

สันติสุข – แต่ว่ามีอีกแหล่งข้อมูลอีกแหล่งข้อมูลหนึ่ง เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสารานุกรมที่ท่านผู้ชมฟังแล้วอยากจะทราบรายละเอียดเพิ่มเติม หรือว่าอยากจะได้ความรู้ หรือไม่ก็อยากที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุน สามารถเข้าไปดูได้ในอินเตอร์เน็ตนะครับ ที่เว็บไซด์ www.kanchanapisek.or.th ท่านผู้ชมสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นั่นด้วยนะครับ

ดร.เจิมศักดิ์ – หรือว่าถ้าจะส่งแฟกซ์มาให้เรา เราจะเป็นตัวกลางได้อีกนะครับที่ 02-2582324 เราก็เป็นตัวกลางเชื่อมกับโครงการ แล้วก็ทำให้โครงการนี้ติดต่อกัน

ดร.กัลยา – ค่ะ ทางกรรมการของโครงการนี่ เราคิดขึ้นมาโครงการหนึ่งว่าจะเป็นโครงการทดลองนำร่อง ที่จะใช้สารานุกรมไทย เพื่อให้เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ซึ่งจะเริ่มต้นกับโรงเรียนใน กทม.ค่ะ อันนี้ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่โรงเรียนต่างๆที่บูรณาการอยู่นะคะ ก็สามารถที่จะติดต่อมาว่าอยากจะร่วมอยู่ในโครงการ การใช้หนังสือสารานุกรมไทยเพื่อการเรียนรู้แบบบูรณาการ เพราะสารานุกรมไทยเป็นหนังสือที่บูรณาการอยู่แล้ว

พลอากาศตรีกำธน – คือผมเสริมนิดนึงครับ เรื่องตอบคำถามเมื่อกี๊นะครับ ก็จะให้ความรู้ที่ว่าคำถามที่ไปเปิดมาไปเปิดหน้าไหนก็ไม่มี แต่จากที่ท่านอ่านแล้วได้ความรู้จากหนังสือนี้จึงจะมาตอบหรือมาทำได้ อันนี้ก็กำลังจะคิดวิธีการที่จะให้นักเรียนให้คิด

ดร.เจิมศักดิ์ – ไม่อยากให้จำ แต่อยากให้คิดแล้วก็จดจำหยั่งรู้เข้าไปในสมอง ในตัว แล้วถ้ามีคำถามออกมาก็สามารถที่จะเอาความรู้นั้นออกมาใช้งาน

พลอากาศตรีกำธน – ครับ เพราะว่าท่านได้ความรู้จากหนังสือนี่ ไม่ใช่ไปเปิดหน้าไหนเป็นคำตอบ

ดร.เจิมศักดิ์ – คือผมยังไม่ได้คำตอบเลยครับ ท่านองคมนตรีครับว่าท่านชอบทุกเล่ม ผมก็ชอบทุกเล่ม ทีนี้ติดใจที่สุดที่รู้สึกดูแล้วได้ประโยชน์ และคิดว่าเหมาะสมนี่มีไหมครับ

พลอากาศตรีกำธน – ครับ ก็เรียนจริงๆผมเองพื้นฐานศึกษามาทางช่างนะครับ และก็สำนักพระราชวังก็มอบหมายให้มาทำหนังสือซึ่งถือว่าผมไม่มีความรู้เลย แต่ว่าด้วยศรัทธาด้วยความตั้งใจของทุกท่านทำงานถวายก็ได้มานะครับ ตกลงถ้าจะถามว่าเล่มไหนนะครับ ตอบแบบสมัยนี้การเมืองก็ต้องบอกชอบทุกเล่มเพื่อให้ลูกน้องดีใจนะครับ แต่ถ้าจะถามอีกนิดนึงผมก็กล่าวได้ว่าผมเป็นทหารอากาศ ถึงแม้ไม่ใช่โดยตรงจากโรงเรียนทหาร ก็จิตใจอยู่กับกองทัพอากาศ เพราะผมได้รับความรู้จากการเป็นทหารอากาศนี้มาก เพราะเข้าไปเป็นทหารนี่ถ้าเขาไม่ให้เป็นคุณครูนี่ เขาก็ไม่ให้ผมเป็นนักเรียน ก็ถือว่าความรู้เยอะเอามาใช้ประโยชน์มากมายนะครับ และก็ตัวเองผมสนใจที่จะอยากจะรู้ว่าการบินเป็นยังไง ผมก็เป็นสมัครเป็นนักบินของสโมสรการบินพลเรือน ก็บินได้นะครับ สารานุกรมก็ถ้าพูดถึงผมก็จะสนใจในเล่มแรกนะครับ ซึ่งเกี่ยวกับเครื่องบิน เกี่ยวกับหลักวิชาการ เครื่องบินบินได้ยังไง ซึ่งผมจะถือว่าชอบก็เพราะว่าไปเป็นทหารอากาศ ความจริงก็มีเรื่องอื่นอีกเยอะนะครับ อย่างที่บอกว่าก็ชอบทุกเล่ม

สันติสุข – แล้วถ้าเกิดเอาในหนังสือมาทำเป็นในรูปแบบสารคดีออกทางโทรทัศน์นี่จะเป็นยังไงครับ

ดร.เจิมศักดิ์ – ผมเคยพาเด็กๆ 2 คนไปที่กองทัพอากาศ และก็ไปเพื่อที่จะเรียนรู้เอานายทหารอากาศมาอธิบายด้วย และก็ใช้สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนประกอบในการอธิบาย

สันติสุข – เด็กๆเขาอยากรู้เรื่องเครื่องบิน อาจารย์ก็ใช้สารานุกรมนี่แหละพาไปเรียนรู้

ดร.เจิมศักดิ์ – ให้เขาอ่านก่อนแล้วก็ไปหาของจริง ขึ้นไปนั่งแล้วก็จะได้เรียนรู้ว่าที่มันยกตัวนี่มันยกได้ยังไง

สันติสุข – ตอนนี้อยากจะเรียนถามท่านองคมนตรีเป็นคำถามท้ายๆนะครับว่า อนาคตของสารานุกรมนี่จะเป็นไปยังไง

พลอากาศตรีกำธน – ผมยังมีความเชื่อว่าคณะที่ทำนี่นะครับ มีความตั้งใจทำด้วยศรัทธา ด้วยจิตใจไม่ใช่ด้วยว่าอย่างอื่นนะครับ อันที่ 2 เราได้ปรับปรุงดูแลแก้ตัว แก้ข้อขัดข้องของเราอยู่เสมอก็เชื่อว่าจะดีขึ้น เรารับว่าการประชาสัมพันธ์ของเราอาจจะยังอ่อนไปที่คนไม่ทราบ แล้วสนใจที่ว่า 250 บาทต่อเล่มมันแพง แต่ก็ไม่รู้จะทำให้ถูกได้ยังไง ทุกวันนี้จึงพยายามเป็นอย่างมากที่จะปรับปรุงพัฒนา ไม่มีนโยบายจะขึ้นราคานะครับ ผมยังเชื่อมั่นว่าคงจะพัฒนาให้อยู่ในความนิยมหรือในวิสัย ความจริงที่ทำไปแล้ว ถ้าว่าครูก็คือว่าทำดีเกินกรอบเวลา เพราะฉะนั้นเวลาผ่านมาก็ยังหันมาทำดีของเราที่มีหนังสือ เราก็จะทำความดีความเหมาะสมนี้ให้เกินไว้ เพื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่เศรษฐกิจพอเพียง มีปัญญาพอซื้อได้ ผู้ที่มีจิตศรัทธาหรือที่เห็นความเจริญของบ้านเมือง อยากเห็นเยาวชนของบ้านเรานี่ดีขึ้น ฉลาดขึ้นนะครับ ก็คงจะช่วยสนับสนุน
เมื่อกี๊ที่คุณหญิงพูดว่าสั่งซื้อสั่งบริจาคนี่ เราจัดทำเลยนะครับ ใครจะให้โรงเรียนไหนบอกมา เราก็มีถ้อยคำสรรเสริญส่งไปให้ทุกเล่มที่ออกนะครับ ถ้ามีปัญหาว่าไม่อยากได้หนังสืออยากจะให้เงินเฉยๆได้ไหม ให้เงินเฉยๆก็ได้ เราไม่เอาไปไหนหรอกครับ เอามาจัดหนังสือนี่โดยไม่ต้องขึ้นราคา และที่บริจาคเป็นเงินนี่ก็จะได้รับใบเสร็จ ใช้ใบเสร็จไปยกเว้นภาษีได้อีกด้วย แต่ถ้าซื้อหนังสือแจกไม่ได้เพราะว่าได้หนังสือแลกเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าท่านไม่รู้ว่าจะให้โรงเรียนไหนใช่ไหม ให้เงินมาเป็นก้อนท่านก็จะใช้ประโยชน์ได้ เราไม่ได้เอาไปไหนเลยนอกจากเรื่องหนังสือเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็ตอบว่าหนังสือเราจะยังอยู่ในความนิยมหรือความต้องการ เพราะเราคิดว่าเราตั้งใจทำดี ทำเกินความต้องการไว้หน่อยนึงแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะทำหนังสือเพื่อให้มันอยู่ได้จริงๆ

สันติสุข – ถ้าเกิดมองว่าโครงการสารานุกรมเป็นโครงการที่รวบรวมข้อมูลความรู้ที่จำเป็น ก็คงต้องมีเล่มต่อๆไปเพิ่มไปเรื่อยๆ

พลอากาศตรีกำธน – ความรู้มีอยู่เยอะครับ เพราะฉะนั้นที่เราเล่าเรื่องตามพระราชดำรินะครับมันยังมีไม่กี่เรื่อง แต่เดี๋ยวนี้เราเกือบ 300 กว่าเรื่องแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นมีอะไรเกิดขึ้นมา เด็กรุ่นหลังมานะครับอ่านได้ เรื่องที่มันเกิดขึ้นรอบๆตัวเรา เพราะฉะนั้นหลักที่ผมเรียนเมื่อกี๊ว่าเราไม่ใช่เอาเรื่องสากลทั้งหมด เราเอาใกล้ตัวเรา รอบๆชีวิตของพวกเรา หนังสือนี้นี่มีเป็นหนังสือแปลนะครับ จากคนไทยเขียนเพื่อคนไทยอะไรนี่นะ เพื่อให้มันเป็นหนังสือของเรา สำหรับเด็กๆก็จะเป็นประโยชน์มาก

ดร.กัลยา – ก็อยากจะฝากบอกกับคนรุ่นใหม่นิดนึงว่า นอกจากหนังสือเล่มหนาๆอย่างนี้แล้วนี่ ทางสารานุกรมไทยยังทำซีดีรอม เอาทั้ง 25 เล่มไปอยู่ในซีดีแผ่นเดียว ขณะนี้ก็จะพัฒนาให้ครบจำนวนเล่มมากขึ้นค่ะ

ดร.เจิมศักดิ์ – แล้วนักสำรวจที่เราดูกันไม่ว่าจะเป็นช้าง หรือว่าเป็นเครื่องบิน ผมก็มีเป็นซีดี ก็ถ้าสนใจติดต่อได้นะครับไปเปิดดูได้เลย จะเป็นประโยชน์ให้เด็กว่าสนใจเรื่องไหนก็ไปดูต่อได้อีก วันนี้คงต้องกราบขอบพระคุณท่านองคมนตรี และท่านคุณหญิงกัลยาอย่างสูงนะครับ ที่กรุณามาให้ความรู้กับเราในรายการนะครับ

สันติสุข – วันนี้เวลาหมดแล้วครับ รู้ทันประเทศไทยต้องลาท่านผู้ชมไปก่อน พบรู้ทันประเทศไทยได้ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ วันนี้ลาไปก่อนครับ สวัสดีครับ

*********************************************************************


กำลังโหลดความคิดเห็น