xs
xsm
sm
md
lg

“หลวงปู่”ชี้ความขัดแย้งต้องแก้ที่สาเหตุ ฝากข้อคิดซื่อตรงต่อธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หลวงปู่พุทธะอิสระ” ร่วมสนทนาธรรมในสภาท่าพระอาทิตย์ (12 พ.ค.49) ชี้ความขัดแย้งต้องแก้ที่สาเหตุไม่ใช่การไกล่เกลี่ยให้หยุดทะเลาะกัน โดยที่ไม่มีการไต่สวนให้รู้แน่ชัดว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก เพราะเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง พร้อมฝากธรรมะเตือนใจเนื่องในวันวิสาขบูชา ขอให้ทุกคนซื่อตรงต่อธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วธรรมจะคุ้มครองคนดี

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการสภาท่าพระอาทิตย์ 

รายการสภาท่าพระอาทิตย์ ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2549 ดำเนินรายการโดยสำราญ รอดเพชร และแทนคุณ จิตต์อิสระ

สำราญ – สวัสดีครับ ต้อบรับเข้าสู่รายการสภาท่าพระอาทิตย์นะครับ ทุกวันศุกร์นะครับจะเป็นสนทนาธรรมกับหลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย กำแพงแสน นครปฐมนะครับ ศุกร์ที่แล้วหลวงปู่ก็แสดงธรรมที่ออฟฟิศ ที่สตู ที่ห้องส่งว่างั้นเถอะ วันนี้นะครับเนื่องในวันวิสาขบูชา รายการของเราก็ย้ายรายการมาที่วัดอ้อน้อย กำแพงแสน นครปฐมนะครับ ก็เป็นวันเพ็ญเดือน 6 วันวิสาขบูชา บรรยากาศก็เป็นใจนะครับ แล้วก็ท่านผู้ชมก็จะได้มีส่วนร่วมตั้งคำถาม แสดงความคิดเห็นเนื่องในวันวิสาขบูชานะครับ วันนี้นอกเหนือจากผม และก็คุณแทนคุณ จิตต์อิสระ พิธีกรร่วม อาจารย์สามารถ มังสัง ก็มาแล้วนะครับ และเป็นพิเศษก็คือหลวงปู่พุทธะอิสระ วันอ้อน้อยนี่ท่านก็อยู่ตรงนี้แล้ว ตอนนี้คุณแทนคุณ อาจารย์สามารถ ผมสำราญนะครับ กราบนมัสการหลวงปู่ครับ

หลวงปู่ – เจริญธรรม ท่านสาธุชนพุทธบริษัท ผู้รับชมรายการสภาท่าพระอาทิตย์สัญจรที่รักทุกท่าน คุณสำราญ คุณสามารถ คุณแทนคุณ ผู้ดำเนินรายการร่วม วันนี้วันประสูติ ตรัสรู้ และก็ปรินิพพาน 3 กาลมารวมกันอยู่ในวันเดียว น่าจะมีเรื่องวิสัชนากันเรื่องนี้โดยเฉพาะว่ามันเป็นไปได้หรือ คนเราอยู่ดีๆมาเกิด เรียน และก็พูดเป็นภาษาชาวบ้านนี่ว่าตายภายในวันเดียวกัน ก็คือตรงกับวันเดียวกัน

สำราญ – นั่นสิครับ อย่างมหายานนี่เขาบอกคนละวันกัน ตรงนี้เป็นยังไงครับ หลวงปู่

หลวงปู่ – ต้องถามท่านผู้เฒ่าก่อนเลย

สามารถ – คือโดยหลักฐานนี่นะ เถรวาทนี่ตรงกัน 3 วันตรงกัน แต่ของมหายานไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นเวลามหายานจัดวิสาขะนี่ เขาจัดคนละวันกับเรา เขาไม่ตรงกับเรา

หลวงปู่ – มีเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ตรง

สามารถ – หลักฐานทางที่เขาบันทึกกันมา

หลวงปู่ – นำสืบใช่ไหม

สามารถ – คือของเถรวาทเรานี่ หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ทำสังคายนาครั้งที่ 1 แล้วเกิดความขัดแย้งกันขึ้น เถรวาทก็ลงมาทางใต้ มหายานขึ้นไปทางเหนือ พอขัดแย้งกันขึ้นนี่พุทธต้องแตกไปเป็นนิกายใหญ่ๆ ทางมหายานเดิมเขาเรียก มหาสังฆีกะ ก็คือหมู่ใหญ่ ของเรานี่พวกหมู่เล็ก หินยานนี่ไม่ได้แปลว่าเลว หิน (หิ-นะ) นี่ภาษาบาลีแปลว่าเลวก็ได้ แปลว่าลดก็ได้ แปลว่าน้อยก็ได้ แต่ในความหมายนี่แปลว่าเล็ก

หลวงปู่ – คนกลุ่มน้อย

สามารถ – ฉะนั้นมหายานก็บอกว่านี่พวกกลุ่มน้อยนับถือ ทางโน้นหมู่ใหญ่นับถือ แต่ว่าใครจะถูกหรือผิดนี่นะ ท่านผู้ชมท่านผู้ฟังครับ หลักฐานไม่มีหรอกว่าอันไหนถูกอันไหนผิด เพราะเถรวาทก็บอกว่าคำว่าเถรวาทเป็นมุขปาฐ จำกันเรื่อยๆตั้งแต่ครั้งแรกจนครั้งที่ 3 ถึงได้มีการจดบันทึกที่ลังกา ก็มีการบันทึกตามครั้งแรกนั่นแหละ

หลวงปู่ – นี่ฉันมองเพดานโบสถ์นี่ เพราะฉันกำลังนึกถึงภาพว่า วันปฐมสังคายนาเท่าที่เราจำได้ในการเรียนการศึกษานี่ มันจะมีเหตุการณ์อยู่เหตุการณ์หนึ่งก็คือ พระมหากัสสปะได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม แล้วก็มีพระมหาเถระบางรูปที่มาแล้วไม่ทันปฐมสังคายนา แล้วก็พระมหาเถระบางรูปนี่แหละคือกระบวนการที่ไปแยกมหายานขึ้น เท่าที่จำได้นะ เดินทางมาจากทางเหนือ

สามารถ – หลังจากปรินิพพานเพียง 7 วันนี่นะ ก็มีการทำปฐมสังคายนา และก็ทำครั้งนั้นก็เป็นเหตุฉุกละหุกนะ ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าเพราะ 7 วันเอง ก็มีพระเถระบางรูปอย่างที่หลวงปู่ว่าไม่ได้มีร่วมประชุม เมื่อไม่ได้มาร่วมประชุมก็จะเกิดทิฐิมานะ หรืออะไรก็แล้วแต่นะ ก็ไม่รับรองผลของการประชุม เมื่อไม่รับรองก็เป็นการแตกแยกความคิด เพราะว่าความขัดแย้งครับมันจะมีอันหนึ่งที่เกิดแน่ๆ คือ ทิฎฐิสามัญญตา ลองความเห็นไม่เสมอกันเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็แตกแยกแล้ว

แทนคุณ – ถึงแม้บางเรื่องนั้นจะถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ด้วยความที่เราถือว่าฉันไม่เกี่ยว ฉันไม่ได้รับรู้ ไม่ให้ความสำคัญต่อฉัน บอกเพราะฉะนั้นฉันไปตั้งกลุ่มของตัวเอง อันนี้จะเป็นไปได้ไหมครับ

หลวงปู่ – คือโดยหลักของพระอริยะนี่ ถ้าอะไรที่ท่านไม่ได้รู้เอง ไม่ได้เห็นเอง ท่านก็จะแสดงความร่วมรับผิดชอบไม่ได้ โดยวิสัยนะ ถ้าอะไรที่เรารู้ดี เห็นก็ดี สัมผัสจับต้องได้ก็ดี อันนั้นคือสิ่งที่เรายืนยันได้ว่าใช่ แต่อะไรที่เราไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้สัมผัสจับต้อง เราไม่รู้ว่าสิ่งที่คุณพูด คุณคุย คุณประชุมกันนี่เรื่องอะไร เอาเป็นว่าท่านทำในสิ่งที่ท่านพูด ท่านคุย ท่านประชุมก็แล้วกัน ส่วนข้าพเจ้าก็จะทำในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังจากครูบาอาจารย์มา นั่นคือที่มา

สามารถ – เรื่องมันอย่างนี้ เวลาประชุมนี่อันหนึ่งที่เขาถือมากคือกายสามัคคี หมายความว่าต้องมีการส่วนร่วมทางกาย ทีนี้ท่านก็เมื่อไม่ได้ทำ ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างที่หลวงปู่ว่า ท่านก็บอกว่างั้นก็ท่านคิดยังไงก็ทำอย่างนั้น ส่วนตัวเราคิดยังไงเราก็ทำอย่างนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าใครผิดใครถูกนะ

หลวงปู่ – ยังไม่ผิด ยังไม่ถูก เพราะว่าต่างฝ่ายต่างก็ยังยึดถือพระธรรมวินัยอยู่ แต่ว่าเป็นพระธรรมวินัยที่ไม่ได้ผ่านองค์คณะใหญ่ กับพระธรรมวินัยที่ทำตามๆกันมาโดยเหตุปัจจัยของครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน นั่นก็เลยเป็นที่มาของคำว่ามหายานกับหินยาน

สามารถ – ก็มีคนยกปัญหานี้มาถามเหมือนกันว่า เป็นไปได้ไหมที่วันเกิด วันตาย วันตรัสรู้วันเดียวกันนี่นะ ถามว่าตรงนี้ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้าเป็นอัจฉริยะ เป็นมหาบุรุษ ซึ่งไม่ใช่คนธรรมดา การที่เกิดขึ้นผิดปกตินี้พิเศษกว่าคนธรรมดา น่าจะมีข้อสงสัยว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่สำหรับคนระดับนั้นเป็นไปได้

หลวงปู่ – เหตุผลก็เพราะว่าท่านมีอะไรที่เหนือกว่าคนทั่วๆไป

สามารถ – ผมยกตัวอย่างง่ายๆ วันเกิดท่านนี่กำหนดไม่ได้ วันประสูตินะ แต่วันตรัสรู้นี่นะอันนี้เป็นไปตามโพธิญาณนี่ทำได้ แล้วต่อมาก็คือวันตายนี่ก็ง่ายมากเพราะว่ากำหนดวันไหนก็ได้

หลวงปู่ – มีตัวอย่างเช่นนักศึกษาปัจจุบันนี้ เรื่องการแอดมิชชั่น

สามารถ – หลวงปู่อย่าไปเอาโอเน็ต เอเน็ต เป็นผลผลิตของคนมีกิเลสไปเทียบกับของคนไม่มีกิเลส

หลวงปู่ – ฉันกำลังจะยกตัวอย่างว่า โดยสามัญนี่เราก็สามารถจะกำหนดได้ว่าเราจะจบในกี่ปีข้างหน้าใช่ไหม แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านี่ อันนั้นเรามีหลักสูตร โดยสามัญนี่เขามีหลักสูตรที่จะเรียน แต่พระผู้มีพระภาคเจ้านี่ไม่ได้มีหลักสูตรอะไรที่ปรากฏไว้ในโลก ในยุคสมัยนั้น แต่พระองค์ก็ทรงสามารถค้นคว้า อนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณจนบรรลุมรรคผลได้ เราดูเหตุปัจจัยว่ามันอาจจะเป็นเพราะว่าความคล้องจองหรือเหมาะเจาะ หรือเหมาะสม และดูบุญญานุภาพหรือพุทธานุภาพของพระองค์ก็ได้ ที่ทำให้วันที่พระองค์ทรงประสูติ และก็ทรงเรียนรู้เรียนจบ และก็ปรินิพพานมันตรงกับวันนี้

สำราญ – คือจะคิดแบบชาวบ้านแบบเราๆ ก็เป็นไปได้อย่างที่อาจารย์สามารถว่า คือวันเกิดนี่รู้แล้วเกิดวันนั้น เมื่อปี พ.ศ.นั้น ดังนั้นพอถึงวันสำคัญซักวันหนึ่งที่ทำอะไรให้กับชีวิตนี่ก็กำหนดได้

สามารถ – เพราะว่ามหาบุรุษนี่กำหนดได้อยู่แล้ว แต่วันเกิดนี่ก็กำหนดไม่ได้แน่ แต่วันตรัสรู้กับวันตายนี่กำหนดได้แน่

สำราญ – คือมาทำ 2 วันหลังให้ตรงกับวันแรก

สามารถ – ผมยกตัวอย่างทำไมถึงว่าวันตายกำหนดได้ การละอายุสังขารนี่ ปลงสังขารนี่นะ รู้มาตั้งหลายเดือนนี่ บอกก่อนน่ะ ก็แปลว่ากำหนดได้ใช่ไหม

หลวงปู่ – ใช่ เพราะว่ามันมีหลักฐานชัดเจนอยู่ในพระคัมภีร์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดวันปลงพระชนมายุสังขาร

แทนคุณ – น้องอีกคนนึงนะครับ ก็มองในมุมของเขาเรียกว่าทางธรรม เขาบอกว่าวันตรัสรู้นี่ถือว่าเป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า เพราะว่าก่อนหน้านี้เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ขณะเดียวกันการดับขันธ์ปรินิพพานคือการ เมื่อตรัสรู้แล้ว กิเลสก็ดับไปหมดแล้ว จะมองอย่างนี้มันจะเป็นไปได้ไหมครับ คือในวินาทีเดียวกันกับการตรัสรู้นี่ก็ถือว่าเกิดการประสูติ

หลวงปู่ – ฉันเคยได้พูดเอาไว้ว่า สำหรับฉันแล้ววันที่พระองค์ทรงเกิดก็คือวันที่พระองค์ทรงรู้ แล้วความดับเย็นก็คือตัณหาดับไปในวันนั้นวันเดียวกัน แต่ก็เป็นคำอธิบายที่ใกล้เคียงกับของพวกมหายาน หรือพวกนิกายเซน เอาคำอธิบายของนิกายเซนเขาก็จะมีคำว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่เกิดวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเกิด แต่พระพุทธเจ้าเกิดในวันที่ได้ตรัสรู้อนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ

สามารถ – นี่แหละเป็นที่มาของคนที่ใช้คำว่าธรรมกาย เพราะพระพุทธเจ้านี่เกิดครั้งแรกนี่เกิดด้วยกายที่เป็นมนุษย์ เกิดครั้งสองนี่เป็นเกิดด้วยธรรมกาย อันนั้นคือตรัสรู้ เพราะฉะนั้นวันตรัสรู้ตรงกับวันนิพพาน เขาถือว่าตรงนี่ อันนี้มหายานนะ

หลวงปู่ – คือเกิด และก็รู้ และก็ตาย ความตายนี่ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทรงตาย แต่ว่ากิเลสได้ตายลง โดยความรู้สึกที่คุยกันนี่นะฉันหมายถึงเรื่องตรงนี้

สามารถ – ถ้าเรามองว่านิพพานมี 2 อันนะ นิพพานแล้วขันธ์อยู่กับนิพพานแล้วขันธ์ดับ ถ้ามองอย่างนี้นะพระพุทธเจ้าดับกิเลสพร้อมกับตรัสรู้ ก็วันเดียวกันนั่นแหละ

แทนคุณ – วินาทีเดียวกับที่ตรัสรู้

สามารถ – พอตรัสรู้ กิเลสดับ ก็ถือว่าเกิดกับตายพร้อมกัน

หลวงปู่ – แต่ถ้าเป็นฉัน ฉันชอบที่จะอธิบายตรงนี้มากกว่า อธิบายว่าวันที่พระพุทธเจ้าเกิดคือวันที่พระพุทธเจ้ารู้ และก็สิ่งที่พระองค์ได้เสียไป หรือว่าสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาที่อยู่ในกายพระองค์ก็ได้ตายไป อยู่ในใจของพระองค์ก็ได้ตายไป น่าจะเป็นวันนี้มากกว่า

สำราญ – เอาล่ะครับ ท่านผู้ชมคิดอย่างไรนะครับ ก็โทรศัพท์มาแสดงความคิดเห็นได้นะครับ วันนี้เราจัดสดจากวัดอ้อน้อย กำแพงแสน นครปฐมนะครับ เบอร์โทรศัพท์เราเปลี่ยนไปนะครับ 3 เบอร์ 05-1100087 , 09-7795888 และก็ 06-8060890 เดี๋ยวจะขึ้นที่หน้าจอนะครับ คือบอกนี่เผื่อท่านผู้ฟังทางวิทยุนะครับ

หลวงปู่ – คุณสามารถ คุณสำราญ ฉันยังมีมุมมองที่ยังค้างอยู่ ยังไม่ได้ระบายนะ

สำราญ – เรื่องนี้หรือครับ เรื่องวิสาขะ

หลวงปู่ – ใช่ ในฐานะที่เราเป็นนักเผยแพร่นี่นะ มันง่ายต่อการที่จะนำเสนอ ฉันว่าพระองค์ ไม่ทราบว่าพระองค์ทรงคิดด้วยหรือเปล่านะ คิดเผื่อไว้ว่ามันง่ายมากเลย จำได้ง่ายเลย เกิด รู้ ตาย วันเดียว มันโปรโมชั่นและมันโปรโมตง่าย

สามารถ – คือโดยทั่วไปสมัยก่อนนะ ต้องย้อนนึกเลยถ้าใครเรียนศาสนาเปรียบเทียบ เราจะพบว่าประวัติศาสดานี่ต้องมีความมหัศจรรย์เหนือมนุษย์อยู่ทุกๆศาสดา ไม่ว่าศาสดาไหนไปดูเอาเถอะ

หลวงปู่ – แต่จากที่เราเรียนรู้หลากหลายศาสนามันจะทำให้เรารู้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นเอกอุในการที่จะเผยแพร่ เป็นผู้เริ่มในการเผยแพร่ แม้กระทั่งวันเกิด วันรู้ วันตายนี่ พระองค์ก็ทรงกำหนดให้ชัดเพื่อจะได้ง่ายต่อการจดจำ เพราะเวลาจะนำเสวอมันไม่ต้องวันเกิดวันนี้นะ วันตายอีกวันหนึ่ง และก็วันเรียนรู้อีกวัน มันเปิดปฏิทินกันยาว ขนาดวันเดียวยังจำไม่ค่อยได้เลย บางคนยังไม่รู้เลยวันนี้วันอะไร

สามารถ – สิ่งที่หลวงปู่เมื่อกี๊ นักวิชาการสมัยใหม่อาจจะไม่ได้คิด วิชาการตลาดที่พูดกันนักหนานี่นะครับ พระพุทธเจ้าทำก่อน พระพุทธเจ้านี่เป็นนักการตลาดคนแรกเลย เพราะว่าก่อนจะไปสอนใครนี่ต้องดูก่อนว่าสอนได้หรือเปล่า สอนไม่ได้ไม่ไป หรือเหมือนการผลิตสินค้านี่ ขายไม่ได้ไม่ผลิต

หลวงปู่ – ตลาดไม่ซื้อไม่เอา

สามารถ – ดูก่อนว่าน่าสอนแล้วจะเกิดผลไหม ไม่เกิดไม่ไป นักการตลาดรุ่นหลังนี่นะ 2000 ปีนะ

หลวงปู่ – คุณต้องไปศึกษาวิถีชีวิต

สามารถ – อันที่ 1 อันที่ 2 นักการตลาดไปโยงอีกอันหนึ่งนะ ดูเมื่อไปแคว้นมคธน่ะ ทำไมต้องไปหาชฎิล 3 คนก่อน เพราะว่าถ้าไปสอนคน 3 คนจะได้คนเป็นพันคนเห็นไหม แล้วเรื่องอะไรจะไปไล่ต้อนทีละร้อยทีละหนึ่งล่ะ ก็เอาคน 3 คนได้พัน นี่ไม่ใช่การตลาดหรือ

หลวงปู่ – นี่ฉันกำลังจะมองการตลาดนี่ ว่าจะไปหาหัวหน้าพรรคการเมือง สอนคนเดียวได้ 19 ล้านเลยน่ะ

สามารถ – เขาถามว่าค่ายไหนครับ หลวงปู่

หลวงปู่ – พอไหวไหม เราดำเนินรอยตามพุทธกิจของพระองค์

แทนคุณ – แต่ว่าหลวงปู่ลืมข้อแรกไป ว่าลืมว่าสอนได้หรือเปล่าด้วย

สามารถ – จริงๆแล้วไม่ว่านักการเมืองหรือใครก็ตามนะ สอนได้แต่ต้องไปสอนตอนไหนรู้ไหม สอนตอนนักการเมืองสอบตก พอมีความทุกข์นี่เห็นสัจธรรมเชื่อผมเถอะ คนใกล้ตาย คนมีความทุกข์นี่หลวงปู่ไปสอนเถอะ

หลวงปู่ – ไปสอนตอนพะงาบๆ

สามารถ – ได้ผลแน่นอน

หลวงปู่ – ได้ผล แต่ตอนนั้นก็ไม่เหลือ 19 ล้านแล้วล่ะ อาจจะเหลือซัก 9 เสียงอะไรอย่างนี้

สามารถ – ตอนที่ยังอยู่ในอำนาจนี่อย่าไปสอนนะ

หลวงปู่ – ดีไม่ดีมันจะเทศน์สอนเราอีกนะ พอแล้วจบแล้ว ข้อมูลนี้ประเด็นนี้ไม่มีติดค้าง

แทนคุณ – มีอีกนิดหน่อยครับ คือเรื่องของการที่จะเข้าสู่การตรัสรู้ 1. ก็คือประเด็นที่ว่าทำให้เห็นว่ามนุษย์นี่สามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้

หลวงปู่ – มนุษย์สามารถพัฒนาได้

แทนคุณ – 2. คือว่าธรรมะ หรือว่าอริยมรรคต่างๆที่พระองค์ตรัสรู้นี่ ก็จะต้องถามในรายละเอียดสั้นๆซักนิดนึงเพื่อให้หลวงปู่ได้แจกแจง เพราะว่าอันนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้คนเปลี่ยนไปสู่อีกสถานภาพหนึ่ง คือแม้แต่จะเรียกว่าผู้ที่บำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างพระพุทธเจ้าเอง อย่างเจ้าชายสิทธัตถะเอง เป็นพระโพธิสัตว์มาหลายชาติ ก็ต้องใช้ความเพียรพยายามอยู่นานพอสมควร หรือ 6 ปีทีเดียว เยอะไหมครับหลวงปู่ ธรรมะที่ช่วยทำให้มนุษย์พัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงศักยภาพ หรือพัฒนาศักยภาพของตัวเอง จนเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมะได้คืออะไร

หลวงปู่ – มีเยอะนะคุณ ท่านผู้เฒ่าตอบก่อนสิ

สามารถ – มนุษย์นี่นะ สิ่งหนึ่งที่เอากันว่าวิชาที่โลกเขาเรียนก่อน แล้วผมจะพูดเพิ่มให้ โลกเขาบอกว่าในวิชาจริยศาสตร์นี่ มนุษย์นี่ต่างจากสัตว์อยู่ 2 ประการ 1. ในเรื่องของ Physical คือในด้านร่างกายนี่ มนุษย์จะเดินเป็นแนวดิ่งของโลก สัตว์เดรัจฉานไปตามแนวนอน คำว่าเดรัจฉานนี่แปลว่าไปทางขวาง เพราะฉะนั้นไอ้ที่เขาด่าคนขวางโลกนี่เขาด่าว่าสัตว์นะ

แทนคุณ – ก็ถูกแล้วไงครับ

สามารถ – ขวางโลกนี่คือสัตว์นะครับ เดรัจฉาโนนี่แปลว่าไปทางขวาง เพราะฉะนั้นนี่ในแง่ของร่างกายนะ ในง่าของจิตใจมนุษย์นี่มีเหตุผลอยู่เหนือความต้องการ สัตว์นี่มีความต้องการอยู่เหนือเหตุผล ก็คือสัตว์ไม่มีเหตุผลนั่นเอง สัตว์อาศัยสัญชาตญาณในการตอบสนองต่างๆ แต่มนุษย์ใช้เหตุผลในการตอบสนอง เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ตอบสนองอะไรก็แล้วแต่นะ โดยไม่ใช้เหตุผล ไม่ใช้ธรรมะ ไม่ใช้ความจริงนี่นะ รับรองได้เป็นสัตว์ จริงๆแล้วในธรรมะ มนุษย์นี่เป็นสถานีสับเปลี่ยน จากมนุษย์นี่จะไปเป็นเทวดา จากเทวดาภูมิหนึ่งไปภูมิหนึ่งนี่ก็ต้องผ่านสถานีมนุษย์นะ จากเทวดาจะไปเป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องผ่านสถานีมนุษย์นะ เพราะอะไร เพราะมนุษย์เท่านั้นที่บำเพ็ญบารมีได้ครบ เทวดาบำเพ็ญไม่ได้

แทนคุณ – อันนั้นผมจำได้ หลวงปู่บอกว่าเพราะว่ามันเห็นเปรียบเทียบความทุกข์กับความสุข เทวดาก็คือสุขมากเกินไป สัตว์ก็เห็นทุกข์มากจนไม่เห็นสุข แต่มนุษย์นี่เห็นเปรียบเทียบ

สามารถ – เอาอย่างนี้ดีกว่า อริยสัจ 4 ไม่มีในเทวดา เพราะเทวดาไม่ทุกข์

แทนคุณ – ก็เลยมองไม่เห็นความทุกข์

สามารถ – พอไม่มีอริยสัจ 4 มันจะตรัสรู้ได้ยังไง

หลวงปู่ – ในเทวดาจะมีอยู่ประโยคหนึ่งก็คือเบื่อในสุข สุขมากไป และก็แสวงหาสุขยิ่งขึ้น มันจำเจซ้ำซาก ไม่ต้องออกแรงอะไรก็อิ่ม คิดก็ได้

สามารถ – หลวงปู่กำลังจะพูดถึงว่าศัพท์ทางจิตวิทยาใช่ไหม ว่าความเบื่อหน่ายนี่เกิดจากความจำเจ ความจำเจทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายต้องการการเปลี่ยนแปลง

สำราญ – สุขก็ทำให้เบื่อหน่ายได้

หลวงปู่ – ไม่เชื่อคุณลองสุขดูสิ

แทนคุณ – แต่ว่ามันเบื่อยากกว่าทุกข์ เพราะว่าทุกข์นี่มันทันที มันอยากจะหาทางออก

หลวงปู่ – ทุกข์นี่มันไม่ใช่เบื่อ แต่ว่ามันเกิดจากความขยาดหวาดกลัว หวาดผวา สะดุ้งกลัว แต่ว่าความเบื่อนี่มันได้มาจากความจำเจซ้ำซาก ซึ่งเทวดานี่จะมีวิสัยแบบนี้ แล้วก็ถามว่าเมื่อถึงคราวเบื่อแล้วนี่พวกนี้จะทุกข์มาก จะทุกข์มากกว่าคนที่ทุกข์โดยปกติ

แทนคุณ – เพราะมันเหมือนกับว่าเขาหาทางออกไม่ได้

หลวงปู่ – มันก็วนอยู่กับที่ เพราะว่าเหมือนกับอยู่ในครอบแก้ว มันดิ้นออกไม่ได้ นั่นคือเทวดา

สำราญ – จริงๆสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นี่ พอเราค้นลึกๆมันมีมากกว่าอริยสัจ 4 นะ อาจารย์สามารถ

สามารถ – ไม่มี มันจบแค่นั้น 4 ข้อนี่คือหัวใจ ส่วนที่มากขึ้นนี่เป็นรายละเอียด

หลวงปู่ – ปลีกย่อย เล็กๆน้อยๆ ที่อยู่เป็นองค์ประกอบของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

สามารถ – คุณลองไล่สิ มีอะไรมากกว่า 4 ไหม ไม่มี

หลวงปู่ – 4 ก็ย่อเหลือ 3 ศีล สมาธิ ปัญญา 3 ก็เหลือ 2 คืออะไร

แทนคุณ – คือศีลกับธรรม

สามารถ – คือโดยจริงๆแล้วนี่ถูก

หลวงปู่ – และ 2 เหลือ 1 คือปัญญาตรัสรู้ชอบ

แทนคุณ – แล้วที่เห็นอยู่ด้านหน้าท่านผู้ชมทุกท่านนี่ คือผู้ที่สนใจที่จะหาทางดับทุกข์ และก็มาปฏิบัติธรรมกัน ถามว่ามันจะเข้าสู่การปฏิบัติในเรื่องของอริยสัจได้มากมายขนาดไหน ระหว่างอยู่ในวัดที่ปฏิบัติธรรม อยู่ในความสงบ ไม่ค่อยเห็นทุกข์เท่าไหร่

หลวงปู่ – สำหรับฉัน ฉันจะไม่มองเรื่องของสูง อย่างที่เราชอบพูดกันเวลามีเหตุปัจจัย หรือเหตุการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นในบ้านในเมืองเรา ก็มักจะมีนักบวชก็ตาม ท่านผู้รู้ก็ตาม ปราชญ์ก็ตามออกมาพูดว่า สงบเถอะ อย่าตีกันเลย รักกันเถอะ แล้วก็สามัคคีกลมเกลียวกันเถอะนี่ ฉันมองว่ามันพูดได้แต่ทำไม่ได้

สามารถ – คือจริงๆแล้ว หลวงปู่ ที่เขามาบอกว่าคนตีกันนี่นะ และมาพูดผลนะไม่ใช่พูดเหตุ ถ้าตามหลักพุทธว่าต้องถามทำไมมันถึงตีกัน และจะเลิกสิ่งที่จะทำให้ตีกันได้ไหม

หลวงปู่ – นั่นแหละคือเหตุ

สามารถ – ทั้งหมดนี่มาพูดผลหมดเลย ผิดหลักอริยสัจ 4

หลวงปู่ – คือส่วนใหญ่แล้วชอบออกมาพูดว่ารักกันเถอะ สงบกันเถอะ สามัคคีกันเถอะ นั่นคือพูดในสิ่งที่ทำไม่ได้ เพราะคนกำลังตบหน้ากันแล้วบอกให้สงบนี่ มันคงจะยาก ต้องถามว่าทำไมถึงตบ ด้วยเหตุปัจจัย

สำราญ – คือต้องแก้ที่ต้นเหตุว่าอย่างนั้น

หลวงปู่ – ใช่ พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุและความดับเหตุแห่งธรรมนั้น เหมือนกันกับการที่จะบรรลุว่าเหมือนผลที่คุณถาม อยู่ดีๆจะจัดว่าคนอยู่ตลาด แม่ค้า ตำรวจ ทหารมาบอกว่าบรรลุมรรคผล และก็ให้มานั่งอยู่วัดบรรลุมรรคผลไม่ได้ เพราะว่ามันต้องมีพัฒนาการ สำหรับฉันแล้วทีนี่จะสอนว่าเรื่องการเปลี่ยนฐานที่ตั้งของจิตก่อนเบื้องต้น เพราะโดยปกติแล้วเรามีฐานที่ตั้งที่เป็นราคะ ที่ตั้งโทสะ ที่ตั้งแต่เป็นโมหะ ที่ตั้งที่เป็นโลภะ ทำยังไงเราจะให้เขาเปลี่ยนฐานที่ตั้งจากความดำมากลายเป็นความขาวในเบื้องต้น นั่นคือพัฒนาการของที่นี่

แทนคุณ – ซึ่งไม่ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมจากภายนอก เข้าไปขัดเกลาสิ่งที่มาจากภายในด้วยไหมครับ

หลวงปู่ – อาศัยความตั้งใจดีๆ ความมีปัญญาอันเหมาะสม และก็ความตั้งมั่นที่เราจะพยายามเปลี่ยนฐานที่ตั้งของจิต อย่างเคยเปลี่ยน เราเคยมีจิตที่ตั้งไว้ในอารมณ์โกรธเป็นนิจ เราก็เปลี่ยนมาเป็นอารมณ์เมตตาบ้าง มีจิตตั้งไว้ในอารมณ์โลภ อารมณ์หลง เราก็เปลี่ยนมาตั้งไว้ในความสันติสุข สงบ และศีลธรรมอย่างนี้เป็นต้น เมื่อเรามีที่ตั้งอันเหมาะสมสมบูรณ์แล้ว เราก็พัฒนาต่อยอดขึ้นไปสู่คำว่ารู้

แทนคุณ – โดยสรุปแล้วนี่ ถ้าเราเห็นว่าวิถีชีวิตคือความพอเพียง ความพอเพียงคือการดับความความโลภ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งถ้าไม่มีความปรารถนา ไม่มีความต้องการ การเคลื่อนไปข้างหน้ามันก็จะน้อยลง

หลวงปู่ – ความพอเพียงนี่มันเหมือนกับจับฉ่ายหม้อใหญ่ แต่เราแยกแยะสำหรับวิถีทางแห่งพุทธธรรมและก็พัฒนาจิตนี่ มันต้องแยกออกมาเป็นชนิดให้ได้ว่าอะไรที่เราพอ ความหมายของคำว่าพอเพียงนี่ มันรวมไปถึงคำว่าพอที่จะทำดีด้วยหรือเปล่า

แทนคุณ – ถ้าอย่างนั้นไม่น่า

หลวงปู่ – ใช่ไหม มันก็เลยต้องไปแยกออกว่าจับฉ่ายหม้อนึงนี่ มันมีผักกี่ชนิด และแต่ละชนิดมันให้รสอะไร ให้กลิ่นอย่างไร และถ้าเอามาผสมรวมกัน มันจึงจะเป็นจับฉ่ายหม้อที่เราต้มและเราต้องการ ไม่ใช่บางอย่างเหม็นเขียว บางอย่างขมปิ๊ด บางอย่างกินไม่ได้ และมาผสมกันมันก็กินไม่ได้อยู่ดีนั่นแหละ เพราะฉะนั้นก็ต้องหาความพอดีว่า ความหมายของคำว่าพอเพียงนี่เราชอบพูดกันเหมือนกัน

สามารถ – คำสอนของพระพุทธศาสนามันมี 2 ระดับ คือ เป็นสมมุติสัจจะ พอเพียงนี่พูดในขั้นสมมุติสัจจะแต่ไม่ใช่ปรมัตถ์ เพราะฉะนั้นอย่าเอามาปนกัน เราพูดว่าพอเพียงคือสันโดษนั่นเอง บอกว่าใช้กับคนที่มีกิเลส ก็คือเอากติกา เอาธรรมะไปควบคุมกิเลสอย่าให้มันออกมามากนักเท่านั้นเอง คุมให้มันน้อยลง

หลวงปู่ – เพราะว่าถ้ามันออกมามากจะทำให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อน

สำราญ – ถ้าไปแบบปรมัตถ์นี่เป็นยังไงครับ

สามารถ – ปรมัตถ์นี่ไม่มีบุคคลตัวตนเราเขาไง พูดธรรมอย่างเดียว ทีนี้ไปดูในมหายาน มหายานบอกอาศัยตัณหาละตัณหา การอยากทำดีนี่เป็นตัณหาใช่ไหม ทำดีไปเรื่อยๆถ้าคุณจะไปนิพพานคุณต้องละความดี ก็คือละตัณหาตัวนั้นด้วย เพราะฉะนั้นที่เราพูดพอเพียงนี่มันยังไม่ใช่ถึงขั้นตัณหาละตัณหา

หลวงปู่ – สรุปก็คือว่าความพอเพียงไม่มีกับคำว่าความดี

สามารถ – อาศัยตัณหาละตัณหาก็คือคุณต้องทำความดีต่อไปเรื่อยๆ

หลวงปู่ – ความพอเพียงไม่มีสำหรับคนทำดี

สำราญ – คือไม่ใช่ทำดีแค่พอเพียง

สามารถ – สรุปก็คือเอาคำว่าพอดีพอเพียงมาควบคุมกิเลสที่มันออกมามาก ให้มันพอดีๆน่ะ

สำราญ – แต่ว่าพอเพียงมีสำหรับการ

หลวงปู่ – ทำชั่ว ชัดๆเลย

แทนคุณ – ไม่ให้ความชั่วมันครอบงำ

สำราญ – เลิกชั่ว

สามารถ – ชั่วน้อยกว่านี้ได้ไหม

หลวงปู่ – รู้จักชั่วพอเพียงบ้างอะไรอย่างนี้

สำราญ – คือมองโลภให้เป็นความชั่ว โลภพอแล้ว

สามารถ – ที่จริงคำว่าพอเพียงนะจริงๆแล้วมันคือสันโดษ มันพูดกับคนที่โลภะนั่นเอง อย่าโลภจนเกินเหตุ

หลวงปู่ – ตนมีโลภะเป็นตัวนำ ถามว่าทำไมปัจจุบันเราชอบพูดคำนี้มากๆ ก็เพราะว่า ณ วันนี้นี่โลกและสังคมมันเดือดร้อนเท่าไหร่ มันเดือดร้อนเพราะโลภะ

สามารถ – วันนี้มันโลภะไร้พรมแดนด้วยนะครับ

สำราญ – แต่ถ้าโลภะความดีไม่เป็นไรนะครับ

หลวงปู่ – ไม่เป็นไร

แทนคุณ – เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเอาไว้ ว่า 2 เรื่องที่พระองค์จะไม่ยอม 1. ก็คือว่าไม่สันโดษในกุศลธรรม และก็ไม่หันหลังให้กับความเพียรใช่ไหมครับ หลวงปู่

หลวงปู่ – ถ้าเมื่อใดที่เราสันโดษในกุศลธรรมนี่อย่าไปคบเลย ใครก็ตามที่สันโดษในกุศลธรรมนี่ พวกนั้นคบไม่ได้แล้ว ประเภทว่าสอนไม่ได้ สั่งไม่ได้ ลูบคลำจับต้องไม่ได้ พอจะแตะเข้าเดี๋ยวบาดมือด้วยซ้ำ

สำราญ – ซักครู่นี่ถามมาจากไหน คำว่าพอเพียงมาจากไหน

แทนคุณ – คือผมมองถึงภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นของคน สมมุติว่าคนตีกันแล้วเราถามหาสาเหตุ ถามไปถามมามันเกิดจากความโลภของคนไม่กี่คน

หลวงปู่ – สมมุติว่าคุณ 2 คนตีกัน ถ้าเป็นฉันฉันก็จะบอกว่าตีกันด้วยเหตุอะไร แต่อีกคนนึงบอกว่าตีกันทำไม รักกันดีกว่า หยุดเถอะ คุณลองคิดดูว่าสองคนนี่ใครถูก คำว่าตีกันด้วยเหตุอะไรกับรักกันเถอะนี่ใครถูก

แทนคุณ – ผมว่าถูกทั้งคู่

สามารถ – ไม่ใช่ ถูกคนเดียว ต้องตีด้วยเหตุอะไรเพื่อหาเหตุมาให้เลิกตี

หลวงปู่ – รักกันเถอะนี่มันแก้เหตุการณ์ตีได้ไหม แต่ถ้าถามว่าตีกันทำไมนี่มันแก้เหตุการณ์ตีได้ไหม

แทนคุณ – ทำให้หยุดไงครับ ไม่หยุดหรือครับ

หลวงปู่ – มันไม่ได้หยุด มันหยุดต้อหน้าคุณนั่นแหละคนถามน่ะ แล้วมันก็แอบไปตีกันใหม่

สามารถ – ขอให้ 2 คนนี่หาสาเหตุการตี พูดไปพูดมาเผลอๆผิดทั้งคู่ เวลาคนเถียงกัน 2 คนนี่นะครับ 1. ผิดทั้งคู่ 2. ผิดคนใดคนหนึ่ง ถูกทั้งคู่ไม่มีนะครับ เพราะความถูกมีอันเดียว ความผิดมีหลายอย่าง

แทนคุณ – 3. คือไม่มองว่าตัวเองผิด

หลวงปู่ – เขายังไม่มีลูกน่ะ ถ้ามีลูกแล้วถ้าลูกมี 2 คนนะ แล้วเขาจะรู้ว่าเมื่อลูกตีกันนี่ เขาควรจะมีคำถามอะไร

สามารถ – เพราะฉะนั้นไม่ใช่คน 2 คนหาสาเหตุการตีนะ หาสาเหตุการตีก็จะพบว่าคนใดคนหนึ่งผิด และคนผิดนี่หยุดเสีย และคนถูกก็ให้อภัยกันไป

หลวงปู่ – แล้วลูกจะไม่ตีกันเลย แต่ถ้าบอกว่าอย่าตีกันนะ รักกันเดี่ยวนี้ เราไม่รุ้ว่ามันจะไปแอบฆ่ากันเมื่อไหร่

สามารถ – พอหาสาเหตุปั๊บ พอรู้ว่าใครผิดนะ คนผิดก็ขอโทษ คนถูกก็ให้อภัย ก็จบแล้ว เรื่องนี้จบไป

หลวงปู่ – ต้องแก้ที่เหตุ เพราะฉะนั้นที่พูดๆกันออกมานี่ ฉันฟังแล้วฉันรู้สึกว่าเขาพูดในสิ่งที่เราทำไม่ได้ มันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วยิ่งถ้าเป็นนักบวชออกมาพูดนี่นะ มันจะทำให้โลกต่างชาติต่างศาสนาเขามองว่าเราไม่มีเหตุผล ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาในการคิด

สามารถ – ถ้าพูดให้แรงนะหลวงปู่ ไม่น่าจะเรียกว่าสาวก เพราะอะไร เพราะสาวกแปลว่าผู้ฟังและทำตาม

หลวงปู่ – คุณสำราญ คุณสังเกตไหมว่า เวลามีเหตุการณ์บ้านเมืองหรือมีเรื่องร้อนแรงอะไรนี่ หรือมีใครทะเลาะกับใครนี่ฉันจะไม่พูดเรื่องนี้ จะไม่พูดว่ารักกันเถอะ อย่าตีกันเลย ฉันจะไม่พูด แต่ฉันจะพูดว่าเขาตีกันด้วยเรื่องอะไร เขาตีกันด้วยเหตุอะไร แล้วทำไมจึงต้องตี แล้วหาวิธีแก้เหตุนั้นได้ไหม ถ้านักบวชพูดอย่างนี้ไม่อายโลกหรอก ไม่อายสังคม ไม่อายคนในแผ่นดินหรือในสากลโลก แต่ถ้านักบวชออกมาพูด อย่าตีกันเลย รักกันเถอะ น่าละอาย เพราะไม่มีวิถีทางสำนึกในหลักอริยสัจ 4

สามารถ – และที่สำคัญหลวงปู่ถ้าออกมาพูดแบบนี้นะ ไม่เป็นธรรมกับคนที่ทำถูกและคนอื่นมาตี

หลวงปู่ – มันจะทำให้โลกนี้ไม่มีความเป็นธรรม และก็โลกนี้ไม่มีใครถูก อย่างนั้นทุกคนก็เอาแรงเข้าว่า เอากำลังเข้าสู้

สำราญ – อย่างนี้คนถูกกระทำก็เสียเปรียบ

หลวงปู่ – แต่สังคมนี้มันจะอยู่ได้ด้วยสังคมจำนวนมาก

สามารถ – ใช้หมู่มากตัดสิน แต่ว่าจริงๆแล้วพระพุทธเจ้าใช้อันนี้สุดท้ายเลยนะ หลังจากที่ไม่รู้จะใช้อะไรแล้ว เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยที่บอกว่าเสียงข้างมากชนะ นี่อันสุดท้ายของพระพุทธเจ้านะ แปลว่าอย่างอื่นใช้ไม่ได้ถึงมาใช้อันนี้นะ นี่ล้าหลังที่สุด

สำราญ – คือไม่รู้จะใช้อะไรแล้ว

หลวงปู่ – คือใช้มา 6-7 อย่างแล้ว ก็เป็นครั้งสุดท้าย

สำราญ – เอาเป็นว่าประเด็นที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่นี่นะครับ วิสาขะมาถึงตรงนี้นี่คือหลวงปู่ก็กำลังบอกว่า ทุกอย่างนี่ควรแก้ที่เหตุ เน้นตรงนี้หน่อย

สามารถ – เพราะวันนี้นะเรากำลังหลงประเด็นนะ ให้คนตีกัน 2 คนสามัคคีนี่มันผิด

หลวงปู่ – มันไม่ถูก

แทนคุณ – มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วย เพราะในที่สุดปัญหาไม่ได้ถูกแก้

หลวงปู่ – ไม่ได้รับการแก้ แล้วก็แถมไม่สนใจในปัญหาของเขาด้วย

แทนคุณ – บางทีกลายเป็นเพิ่มปัญหาด้วย

สำราญ – อันนี้เราก็สามารถจะมาใช้กับระดับชาติได้ด้วย

หลวงปู่ – ระดับชาติ ประเทศ ทั้งโลกได้เลย และก็พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ทำให้เห็นเหตุแห่งปัญหาชัดเจน เห็นไหมวันที่พระองค์ทรงออกมามีพระราชดำรัส นั่นแหละพระองค์ทรงชี้ให้เห็นถึงปัญหา ปัญหามันเกิดขึ้น ไม่ใช่บอกว่าถ้าพระองค์ทำตามคนอื่นๆ พระองค์ก็คงมาบอกว่ารักกันเถอะ อย่าทะเลาะกันเลย แต่นี่พระองค์ทรงมาชี้ให้เห็นแล้วว่าปัญหามันเกิดจากอะไร จากเหตุปัจจัยอะไร

แทนคุณ – และจะแก้ยังไง

หลวงปู่ – จะแก้ยังไง ช่วยกันไปแก้

สำราญ – มาตรา 7 ใช้ไม่ได้ตรงโน้น แต่เลือกตั้งที่ผ่านมานี่ไม่เป็นประชาธิปไตย

หลวงปู่ – มันโมฆะ มันมั่ว มันเป็นยังไง พวกมากลากไปเป็นยังไง ก็ต้องหาวิธีแก้ไขให้ถูกต้อง นั่นแหลือเหตุปัจจัยที่พระองค์ทรงยืนอยู่บนพื้นฐานของหลักอริยสัจ 4 ฉันอยากเห็นความงดงามอย่างนี้ มีเผื่อแผ่ไปถึงนักบวชด้วย นักบวชบางคนที่ออกมาไม่ได้มีความงดงาม นี่ไม่ได้ตำหนินะ แต่พูดให้เห็นชัดๆเลยว่าของจริงมันเป็นอย่างนี้ อยู่ดีๆจะมาบอกว่ารักกันเถอะๆ มันจะรักกันได้ยังไงถ้ายังตีกันอยู่ ยังทะเลาะกันอยู่ แล้วเหตุแห่งความตีกันทะเลาะกันยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะฉะนั้นคุณพระทั้งหลายอย่า ใช้คำรุนแรงไปหรือเปล่าวันวิสาขะก็อย่าบ้องตื้น

สามารถ – ผมว่าตอนนี้ใช้คำอะไรก็ได้กับคนที่พูดภาษาธรรมดาไม่เข้าใจ

หลวงปู่ – เพราะว่าถ้าเมื่อใดที่พระบ้องตื้นหรือนักบวชบ้องตื้น ก็ไม่มีใครจะนำใครแล้ว มันไม่มีใครจะชี้ปัญญาให้แก่ใครแล้ว

สามารถ – คือถ้าคนเดินหน้าตาบอดเลย คนเดินตามหลังก็ตาบอด ตาบอดจูงตาบอดลงไหนก็ลงคุณคิดดูก็แล้วกัน

สำราญ – บังเอิญว่าเวลาเราจะหมดแล้วนะครับ คำถามที่เพิ่งส่งเข้ามาทั้งที่คุณแทนคุณและผม ก็ยกยอดไปวันศุกร์หน้าแล้วกันนะครับ ตอนนี้เหลือ 2 นาทีสุดท้ายนะครับ พวกเราทั้งที่นี่และก็ผู้ชมทางบ้านขอรับพรจากหลวงปู่ เนื่องในวันวิสาขบูชานะครับ

หลวงปู่ – เนื่องในวันวิสาขะ อยากวิงวอน เรียกร้อง และก็เร่งเร้าให้บรรดาสาธุชนคนดีที่รักทุกท่าน ไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาใดนี่ หันมาสนใจใส่ใจต่อคำสอนของพระศาสดาของตนอย่างซื่อตรง ซื่อสัตย์ และปฏิบัติอย่างจริงจัง ฉันเชื่อว่าสันติสุข สันติภาพ และสันติธรรม จะบังเกิดขึ้นกับทุกคนในทุกศาสนา อย่างที่พวกเราซื่อตรงกับคำสอนของพระศาสดาตน ท้ายที่สุดนี่ก็ขออำนาจแห่งการประพฤติปฏิบัติในคำสอนแห่งศาสดาของตนๆ จงอภิบาลรักษาคุ้มครองให้ท่านรุ่งเรืองเจริญ คิดหวังสิ่งใดสมความปรารถนา เจริญธรรม.
กำลังโหลดความคิดเห็น